xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อโต้แย้งคดีซีทีเอ็กซ์ คตส.สวนอัยการสูงสุดยิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-เปิดข้อโต้แย้งของคตส.ต่อข้อไม่สมบูรณ์ของอัยการสูงสุดกรณียื้อให้สอบสวนเพิ่มเติม ‘คดีซีทีเอ็กซ์’ พบว่า หลายความเห็นของอัยการสูงสุดไร้เหตุผล เป็นแค่ข้อกล่าวอ้างลอยๆ ทั้งที่การไต่สวน มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว

จากกรณีที่ที่ประชุมคณะทำงานร่วมกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) -อัยการ มีมติให้สอบสวนข้อเท็จจริงสำนวนคดีการทุจริตโครงการปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 เพิ่มเติม โดยไม่มีกรอบระยะเวลา และ จะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่นั้น

ข้อสรุปดังกล่าวทำให้มีข้อสังเกตกันว่าเป็นการเตะถ่วงของอัยการหรือไม่ เพราะผู้ถูกกล่าวหาสำคัญนอกจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม คณะกรรมการและพนักงาน บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และบริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) แล้วยังมีอัยการสูงสุดตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย

ทั้งนี้มีรายงานว่า ในวันประชุมก่อนที่คณะทำงานร่วมป.ป.ช.-อัยการจะมีมติดังกล่าว ทางฝ่ายอัยการมีพฤติกรรมคล้ายรวบรับตัดความ โดยให้อัยการที่เตรียมไว้ชี้แจงแสดงเหตุผลที่แจ้งว่า สำนวนคดีมีข้อไม่สมบูรณ์แต่ละข้อ (ตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส.0022/633 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2551) โดยผลัดกันชี้แจงอย่างละเอียดจนครบทุกข้อซึ่งมีประมาณ 20 ข้อใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่ง ประธานในที่ประชุมได้สรุปว่าเห็นควรตามอัยการให้สอบสวนเพิ่มเติมแล้วกล่าวปิดประชุม โดยไม่ได้มีการลงมติแต่อย่างใด.

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ :คตส.) มีข้อโต้แย้งข้อไม่สมบูรณ์ของอัยการสูงสุด ‘ผู้จัดการรายวัน’ จึงขอเสนอข้อมูลดังนี้

1.ข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าดำเนินการ ราคาค่าจ้าง จัดหา ติดตั้งระบบสายพานลำเลียงและราคาสินค้า**

1.1 ค่าเสียหาย
(1) มูลค่าความเสียหาย เดิมกลุ่มบริษัท MJTA ออกแบบระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยแยกสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารขาออกในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศออกจากกัน และระบบตรวจวัตถุระเบิดเป็นแบบ ‘Stand alone’ หรือ แยกออกไปต่างหาก เฉพาะค่าก่อสร้างสายพานลำเลียงกระเป๋าดังกล่าวกิจการร่วมค้า ITO คิดค่าจ้างเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,602 ล้านบาท

เมื่อบทม.เปลี่ยนระบบตรวจวัตถุระเบิดใหม่เป็นระบบ HBS จึงออกแบบใหม่โดยรวมระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน ต่อมาคณะกรรมการบทม. ประชุมครั้งที่ 2/2547 วันที่ 29 ม.ค.2547 มีมติให้อนุมัติให้ว่าจ้างเพิ่มเติมสำหรับงานก่อสร้างอาคารโดยสารให้แก่กิจการร่วมค้าITO ส่วนของงานปรับปรุงระบบขนส่งกระเป๋าให้เป็น ‘Single system’ และปรับเปลี่ยนระบบการตรวจสอบความปลอดภัยเป็นแบบ 100% (In Line Hold Baggage Screen System )ในระบบ CTX ในราคาค่าจ้างเพิ่มเติม (ไม่รวมงานส่วน Original BHS Contract) เป็นจำนวนเงินประมาณ 4,335 ล้านบาท

ดังนั้น โครงการจัดซื้อจัดจ้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร และ เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจึงบคิดเป็นจ้างรวมเป็นเงินประมาณ 6,937 ล้านบาท

(2) ถือว่า มีการร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกงแล้วหรือไม่
ศาลฏีกาวางหลักเกี่ยวกับการร้องทุกข์ว่า

-ผู้เสียหายเพียงแต่ระบุพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ไม่จำต้องระบุรายละเอียดในการกระทำความผิด แต่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนในรายละเอียด(ฎีกาที่ 3966/2534)

-ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยยักยอกทรัพย์พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วสั่งฟ้องในข้อหายักยอก แต่โจกท์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง กรณีนี้เป็นความเห็นต่างในการปรับบทกฎหมายกับการกระทำของจำเลยถือว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนในข้อหาฉ้อโกงแล้ว(ฎีกาที่ 3308/2547)

-ข้อหาความผิดฐานบุกรุกกับข้อหาความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน และ เป็นกรรมเดียว การที่ได้ร้องทุกข์ข้อหาความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เท่ากับได้ร้องทุกข์ในข้อหาความผิดฐานบุกรุกด้วย เมื่อมีการสอบสวนความผิดทั้งสองข้อหานี้แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องทั้งสองข้อหา(ฎีกาที่ 2429/2537)

-ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาจำเลยยักยอกเงินสี่แสนบาทเศษพนักงานสอบแจ้งข้อหายักยอกทรัพย์ให้จำเลยทราบแล้วก่อนทำการสอบสวน แม้ต่อมาปรากฎว่า จำเลยถูกกล่าวหาความผิดเดียวกันหลายกระทงและกระทำต่อเนื่องรวมเป็นเงิน 674,653.65 บาท พนักงานสอบสวนไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบทุกกระทง ถือว่า คดีได้มีการสอบสวนโดยถูกต้องแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยว่า ยักยอกเงิน(ฎีกาที่ 2071/2527)

สำหรับคดนี้ผู้ชำระบัญชีของบทม.และ นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ คตส.ให้ดำเนินคดีกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวก ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83,86,90 นอกจากนั้น บันทึกคำร้องทุกข์/กล่าวโทษ(เพิ่มเติม) ยังระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า หากพบบุคคลที่คตส.ชี้มูลความผิดกระทำความผิดกฎหมายอื่นอีก หรือ พบบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าและสัมภาระผู้โดยสาร และ เครื่องตรวจสอบระเบิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปจนถึงที่สุด

เมื่อพิจารณาคำร้องทุกข์/กล่าวโทษประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น ย่อมถือได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกง และ คตส.ได้ทำการสอบสวนข้อหาความผิดนี้โดยชอบแล้ว

หากป.ป.ช.ยอมรับข้อโต้แย้งของอัยการสูงสุดว่า ผู้เสียหายยังมิได้ดำเนินการร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกง และ เรียกผู้เสียหายมาร้องทุกข์ความผิดข้อหานี้ใหม่ แสดงว่า ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และเมื่อตวามผิดฐานฉ้อโกงขาดอายุความดังกล่าวแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเฉพาะความผิดข้อหานี้เป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(6) โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินที่จำเลยฉ้อโกงไปแทนผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43(ฎีกาที่1497/2531,ฎีกาที่ 268/2536 และ ฎีกาที่ 3746/2542)

1.2มีความจำเป็นต้องไต่สวนนายโยสุเกะ คาจิยาม่า ผู้จัดการอาวุโส บริษัท คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ จำกัด (ผู้ได้รับว่าจ้างจัดหา และ ติดตั้งระบบสายพานลำเลียง)เพิ่มเติมหรือไม่

ส่วนที่อัยการสูงสุดโต้แย้งว่า คำให้การของนายโยสุเกะ คาจิยาม่า ขัดแย้งกับหนังสือโต้ตอบระหว่าง บริษัท คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ จำกัด กับกิจการร่วมค้า ITO หลายฉบับด้วยกัน เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างลอยๆไม่มีรายละเอียดว่าคำให้การของนายโยสุเกะ คาจิยาม่า ขัดแย้งกับเอกสารฉบับใด ในสำนวนการตรวจสอบไต่สวน จึงไม่มีเหตุผลและ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไต่สวนนายโยสุเกะ คาจิยาม่า เพิ่มเติม

1.3 ใบอนุญาตส่งออกหรือ Export License เป็นราคาขายที่แท้จริงหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่าไม่ใช่ราคาขายที่แท้จริง

1.4 กรณีราคาซอฟท์แวร์ ของเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX9000 เห็นว่า ไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็น จึงไม่จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติม

1.5 กรณีราคาเครื่องตรวจสอบละอองวัตถุระเบิด(ETD) มีประเด็นว่ายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยืนยันว่า บทม.ติดตั้งเครื่องตรวจละอองวัตถุระเบิดเกินความจำเป็น และ ไม่มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคคนใดให้การแสดงข้อเท็จจริงนั้น จากการสอบสวนทั้งหมดได้ชี้ให้เห็นว่า พยานแต่ละคนมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตามประเด็นทั้งสิ้น จึงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องสอบพยานเพิ่มอีก

1.6กรณีราคาซอฟท์แวร์ตรวจยาเสพติดที่เป็นประเด็นว่า บทม.ได้จ่ายค่างานซอฟท์แวร์ ตรวจยาเสพติดไปหรือยังนั้น สาระสำคัญของประเด็นอยู่ที่ในปีที่จัดหาเทคโนโลยีของเครื่องCTX 9000 Dsi ยังไม่สามารถตรวจสอบวัตถุระเบิดพร้อมยาเสพติดได้ แต่การที่บทม.จะจ่ายเงินค่าซอฟท์แวร์ ดังกล่าวแล้วหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็น ไม่จำเป็นต้องสอบเพิ่ม

1.7 กรณีใช้จ่ายในการรับประกันการใช้งานของเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดที่ให้สอบสวนเพิ่มก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญเช่นกัน

1.8 กรณีหลีกเลี่ยงการเสนอราคาที่ว่า “มติคณะกรรมการบทม.ที่ให้กิจการร่วมค้า ITO เป็นผู้ปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างตามเงื่อนไข Variation ข้อ 56 จึงเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ปฎิบัติตามข้อบังคับ...” และเห็นควรไต่สวนเพิ่มเติมว่าเหตุใดจึงไม่มีการประกวดราคา การทำสัญญา S.A.# 1 กับITO เป็นการสั่งงานตาม Variation ข้อ 56 หรือไม่ และ เป็นการจัดซื้อด้วยวิธีใด ตามข้อบังคับ ว่าด้วยการพัสดุนั้น ตามประเด็นนี้ไม่มีความจำเป็นต้องสอบเพิ่มอีก เพราะรายละเอียดชัดเจนแล้ว

2.ข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับพยานบุคคล

2.1 ที่อสส.อ้างว่า นายบิลลี่ เอช.วินเซนต์ อาจเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการเสนองานจึงเป็นการสมควรให้ไต่สวนเพิ่มเติมนั้น

คณะอนุกรรมการได้ไต่สวนผู้เกี่ยวข้องรวม 6 ครั้ง ส่วนคำให้การพยานบุคคลจะมีน้ำหนักรับฟังได้หรือไม่เพียงใดนั้น ต้องพิจารณาเป็นรายๆไปว่า พยานให้การสมเหตุและสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นหรือไม่

บทม.ว่าจ้าง ASI ซึ่งมีนายบิลลี่ เอช.วินเซนต์เป็นประธานมาเป็นที่ปรึกษาและประเมินศักยภาพระบบรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมแก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

2.2 จดหมายอิเลกทรอนิกส์(E-mail) ที่คตส.อ้างถึงนั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนมิได้จัดหาและรวบรวมไว้สำนวนการไต่สวนโดยลำพัง แต่เป็นเอกสารได้มาจากการตรวจสอบของทางการสหรัฐอเมริกา รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับรองความถูกต้องและมีอยู่จริงของจดหมาย ศาลจึงสามารถรับฟังข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์

2.3 พยานหลักฐานเอกสารที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาพ.ศ.2535 จะมีน้ำหนักรับฟังได้หรือไม่นั้น ต้องประมวลข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีทั้งหมด จะนำข้อเสนอความตอนหนึ่งตอนใดของเอกสารซึ่งมีจำนวนหลายร้อยหน้ามาเป็นข้อโต้แย้งว้าไม่มีหลักฐานของการให้ค่าตอบแทน โดย อินวิชั่น เทคโนโลยี่ หรือ ตัวแทนบริษัทให้เจ้าหน้าที่คนไทยหรือว่าหากมีการเสนอให้ค่าตอบแทนได้มีการยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ดังข้ออ้างของอัยการสูงสุดหาได้ไม่ เพราะการเสนอให้สินบนกระทำในประเทศไทยมิได้กระทำในสหรัฐอเมริกา หากไม่มีการเสนอสินบนในเรื่องนี้ ก็ไม่มีเหตผลและความจำเป็นที่ อินวิชั่น เทคโนโลยี จะต้องทำบันทึกข้อตกลงกับทางการสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

3.ข้อไม่สมบูรณ์กรณี บทม.เชิดตัวเองเข้าเป็นคู่สัญญากับจีอี

3.1 ที่อัยการสูงสุดเห็นว่า การที่บทม. ทำสัญญาซื้อตรงกับ จีอี อินวิชั่น ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่า เป็นการช่วยเหลือกิจการร่วมค้าITO อย่างไร และ กิจการร่วมค้า ITO ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือไม่ ประเด็นนี้ ได้ความว่า จีอี อินวิชั่น ทำบันทึกข้อตกลงกับทางการสหรัฐฯเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 ยอมรับว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงเดือนมกราคม 2547 ผู้บริหารอินวิชั่น เทคโนโลยี่ ส่งเสริมให้บริษัท แพทริออท บิซิเนส คอนซัลแตนส์ จำกัด (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 37) ผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยและพรรคการเมืองไทย เพื่อจูงใจให้เจ้าหน้าที่ใช้อิทธิพลต่อรัฐบาลไทยหรือจูงใจให้รัฐบาลไทยตัดสินใจซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX 9000 Dsi อันเป็นการละเมิดกฎหมายว่าด้วยการทุจริตในต่างประเทศ(FCPA)ของสหรัฐฯ

3.2 ข้อโต้แย้งของอัยการสูงสุดที่ว่า ยังไม่มีการตรวจสอบว่าการที่จีอีทำสัญญาขายตรงให้แก่บทม.เป็นการปฎิบัติที่สอดคล้องและตามข้อตกลงระหว่างจีอีกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อโต้แย้งของอัยการสูงสุดเลื่อนลอยไร้เหตุผลเพราะ คตส.ได้พิจารณาแล้วว่า บทม.เชิดตัวเองเข้าเป็นคู่สัญญากับจีอีเพื่อหลอกลวงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯว่าจีอีขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดCTX ให้แก่บทม.โดยตรง ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 แต่ในความเป็นจริงนั้นบทม.เชิดตัวเองเข้าลงนามในสัญญาแทนกิจการร่วมค้า ITO เท่านั้น ส่วนที่อ้างว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯรับทราบสัญญาซื้อขายบและมีการส่งร่างสัญญาให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเพื่อขอความช่วยเห็นชอบหรือเพื่อทราบ และ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯมีข้อคัดค้านหรือไม่เพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ทั้งนี้เพราะในชั้นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามิได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ และ มิได้ขอให้คณะอนุกรรมการไต่สวนเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบคำให้การในประเด็นข้อนี้

3.3 ประเด็นที่อัยการสูงสุดยกขึ้นมาอ้างนั้น ในชั้นการประชุมคณะกรรมการทอท.วาระพิเศษเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2548 ไม่เคยพิจารณาตามข้อสังเกตของอัยการสูงสุดแต่อย่างใดทั้งผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอบคำให้การประเด็นข้อนี้อีก

4.ข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับเอกสารภาษาอังกฤษ
ที่อัยการสูงสุดอ้างว่าเอกสารภาษาต่างประเทศจะต้องมีการจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยให้ครบถ้วน แต่ในสำนวนการตรวจสอบไต่สวนปรากฏว่ามีเอกสารภาษาอังกฤษหลายฉบับไม่มีคำแปลภาษาไทยอยู่ในสำนวนนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา15 บัญญัติว่า วิธีพิจารณาข้อใดที่ซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะบังคับได้ ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 วรรค 3 บัญญัติว่า ถ้าต้นฉบับเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใดๆที่ส่งต่อศาล ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศให้ศาลสั่งคู่ความฝ่ายที่ส่งให้ทำคำแปลทั้งฉบับหรือเฉพาะแต่ส่วนที่สำคัญ โดยมีคำรับรองมายื่นเพื่อแนบไว้กับต้นฉบับ ดังนี้คู่ความฝ่ายใดอ้างพยานเอกสารที่ปรากฏถือความเป็นภาษาต่างประเทศไม่ต้องทำคำแปลยื่นต่อศาลเสมอไป นอกจากศาลสั่ง

5.ข้อไม่สมบูรณ์ในการแจ้งข้อกล่าวหา
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา134 ที่บังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ เจตนารมณ์ก็เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด และ เพื่อให้ผู้ต้องหาได้เข้าใจการกระทำของตน โดยไม่ต้องระบุอ้างถึงตัวบทกฎหมายที่กระทำผิด และ ในกรณีที่การกระทำนั้น ผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันก็ตาม พนักงานสอบสวนก็หาจำต้องระบุกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกระทงความผิดไม่ เมื่อได้แจ้งข้อหาอันเป็นความผิดทั่วไปแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ (ฎีกา 7628/2541) ดังนั้นเมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาความผิดเกี่ยวพันอีก และ ถือว่าคณะกรรมการไต่สวนได้มีการสอบสวนความผิดทุกข้อหาแล้วไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาแจ้งข้อกล่าวหาใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น