ผู้จัดการรายวัน - เปิดข้อโต้แย้งของ คตส.ต่อข้อไม่สมบูรณ์ของอัยการสูงสุด กรณียื้อให้สอบสวนเพิ่มเติม “คดีซีทีเอ็กซ์” พบว่า หลายความเห็นของอัยการสูงสุดไร้เหตุผล เป็นแค่ข้อกล่าวอ้างลอยๆ ทั้งที่การไต่สวน มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว
จากกรณีที่ที่ประชุมคณะทำงานร่วมกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) - อัยการ มีมติให้สอบสวนข้อเท็จจริงสำนวนคดีการทุจริตโครงการปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 เพิ่มเติม โดยไม่มีกรอบระยะเวลา และจะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่นั้น
ข้อสรุปดังกล่าวทำให้มีข้อสังเกตกันว่าเป็นการเตะถ่วงของอัยการหรือไม่ เพราะผู้ถูกกล่าวหาสำคัญนอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม คณะกรรมการและพนักงาน บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และบริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) แล้วยังมีอัยการสูงสุดตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในวันประชุมก่อนที่คณะทำงานร่วม ป.ป.ช.-อัยการ จะมีมติดังกล่าว ทางฝ่ายอัยการมีพฤติกรรมคล้ายรวบรับตัดความ โดยให้อัยการที่เตรียมไว้ชี้แจงแสดงเหตุผลที่แจ้งว่า สำนวนคดีมีข้อไม่สมบูรณ์แต่ละข้อ (ตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส.0022/633 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2551) โดยผลัดกันชี้แจงอย่างละเอียดจนครบทุกข้อ ซึ่งมีประมาณ 20 ข้อ ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่ง ประธานในที่ประชุมได้สรุปว่าเห็นควรตามอัยการให้สอบสวนเพิ่มเติมแล้วกล่าวปิดประชุม โดยไม่ได้มีการลงมติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ :คตส.) มีข้อโต้แย้งข้อไม่สมบูรณ์ของอัยการสูงสุด “ผู้จัดการรายวัน” จึงขอเสนอข้อมูลดังนี้
1.ข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าดำเนินการ ราคาค่าจ้าง จัดหา ติดตั้งระบบสายพานลำเลียงและราคาสินค้า
1.1 ค่าเสียหาย
(1) มูลค่าความเสียหาย เดิมกลุ่มบริษัท MJTA ออกแบบระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยแยกสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารขาออกในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศออกจากกัน และระบบตรวจวัตถุระเบิดเป็นแบบ ‘Stand alone’ หรือ แยกออกไปต่างหาก เฉพาะค่าก่อสร้างสายพานลำเลียงกระเป๋าดังกล่าวกิจการร่วมค้า ITO คิดค่าจ้างเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,602 ล้านบาท
เมื่อ บทม.เปลี่ยนระบบตรวจวัตถุระเบิดใหม่เป็นระบบ HBS จึงออกแบบใหม่โดยรวมระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน ต่อมาคณะกรรมการ บทม.ประชุมครั้งที่ 2/2547 วันที่ 29 ม.ค.2547 มีมติให้อนุมัติให้ว่าจ้างเพิ่มเติมสำหรับงานก่อสร้างอาคารโดยสารให้แก่กิจการร่วมค้า ITO ส่วนของงานปรับปรุงระบบขนส่งกระเป๋าให้เป็น “Single system” และปรับเปลี่ยนระบบการตรวจสอบความปลอดภัยเป็นแบบ 100% (In Line Hold Baggage Screen System) ในระบบ CTX ในราคาค่าจ้างเพิ่มเติม (ไม่รวมงานส่วน Original BHS Contract) เป็นจำนวนเงินประมาณ 4,335 ล้านบาท
ดังนั้น โครงการจัดซื้อจัดจ้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร และ เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจึงบคิดเป็นจ้างรวมเป็นเงินประมาณ 6,937 ล้านบาท
(2) ถือว่า มีการร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกงแล้วหรือไม่
ศาลฎีกาวางหลักเกี่ยวกับการร้องทุกข์ว่า
- ผู้เสียหายเพียงแต่ระบุพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ไม่จำต้องระบุรายละเอียดในการกระทำความผิด แต่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนในรายละเอียด (ฎีกาที่ 3966/2534)
- ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยยักยอกทรัพย์พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วสั่งฟ้องในข้อหายักยอก แต่โจกท์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง กรณีนี้เป็นความเห็นต่างในการปรับบทกฎหมายกับการกระทำของจำเลยถือว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนในข้อหาฉ้อโกงแล้ว (ฎีกาที่ 3308/2547)
- ข้อหาความผิดฐานบุกรุกกับข้อหาความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน และ เป็นกรรมเดียว การที่ได้ร้องทุกข์ข้อหาความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เท่ากับได้ร้องทุกข์ในข้อหาความผิดฐานบุกรุกด้วย เมื่อมีการสอบสวนความผิดทั้งสองข้อหานี้แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องทั้งสองข้อหา (ฎีกาที่ 2429/2537)
- ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาจำเลยยักยอกเงินสี่แสนบาทเศษพนักงานสอบแจ้งข้อหายักยอกทรัพย์ให้จำเลยทราบแล้วก่อนทำการสอบสวน แม้ต่อมาปรากฏว่า จำเลยถูกกล่าวหาความผิดเดียวกันหลายกระทงและกระทำต่อเนื่องรวมเป็นเงิน 674,653.65 บาท พนักงานสอบสวนไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบทุกกระทง ถือว่า คดีได้มีการสอบสวนโดยถูกต้องแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยว่า ยักยอกเงิน (ฎีกาที่ 2071/2527)
สำหรับคดีนี้ผู้ชำระบัญชีของ บทม.และ นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ คตส.ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวก ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83, 86, 90 นอกจากนั้น บันทึกคำร้องทุกข์/กล่าวโทษ (เพิ่มเติม) ยังระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า หากพบบุคคลที่ คตส.ชี้มูลความผิดกระทำความผิดกฎหมายอื่นอีก หรือ พบบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าและสัมภาระผู้โดยสาร และ เครื่องตรวจสอบระเบิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปจนถึงที่สุด
เมื่อพิจารณาคำร้องทุกข์/กล่าวโทษประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น ย่อมถือได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกง และ คตส.ได้ทำการสอบสวนข้อหาความผิดนี้โดยชอบแล้ว
หาก ป.ป.ช.ยอมรับข้อโต้แย้งของอัยการสูงสุดว่า ผู้เสียหายยังมิได้ดำเนินการร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกง และ เรียกผู้เสียหายมาร้องทุกข์ความผิดข้อหานี้ใหม่ แสดงว่า ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และเมื่อตวามผิดฐานฉ้อโกงขาดอายุความดังกล่าวแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเฉพาะความผิดข้อหานี้เป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(6) โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินที่จำเลยฉ้อโกงไปแทนผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 (ฎีกาที่1497/2531,ฎีกาที่ 268/2536 และ ฎีกาที่ 3746/2542)
1.2 มีความจำเป็นต้องไต่สวน นายโยสุเกะ คาจิยามา ผู้จัดการอาวุโส บริษัท คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ จำกัด (ผู้ได้รับว่าจ้างจัดหา และ ติดตั้งระบบสายพานลำเลียง) เพิ่มเติมหรือไม่
ส่วนที่อัยการสูงสุด โต้แย้งว่า คำให้การของ นายโยสุเกะ คาจิยามา ขัดแย้งกับหนังสือโต้ตอบระหว่าง บริษัท คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ จำกัด กับกิจการร่วมค้า ITO หลายฉบับด้วยกัน เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีรายละเอียดว่า คำให้การของ นายโยสุเกะ คาจิยามา ขัดแย้งกับเอกสารฉบับใด ในสำนวนการตรวจสอบไต่สวน จึงไม่มีเหตุผลและ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไต่สวน นายโยสุเกะ คาจิยามา เพิ่มเติม
1.3 ใบอนุญาตส่งออกหรือ Export License เป็นราคาขายที่แท้จริงหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่าไม่ใช่ราคาขายที่แท้จริง
1.4 กรณีราคาซอฟต์แวร์ ของเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX9000 เห็นว่า ไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็น จึงไม่จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติม
1.5 กรณีราคาเครื่องตรวจสอบละอองวัตถุระเบิด (ETD) มีประเด็นว่า ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ยืนยันว่า บทม.ติดตั้งเครื่องตรวจละอองวัตถุระเบิดเกินความจำเป็น และ ไม่มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคคนใดให้การแสดงข้อเท็จจริงนั้น จากการสอบสวนทั้งหมดได้ชี้ให้เห็นว่า พยานแต่ละคนมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตามประเด็นทั้งสิ้น จึงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องสอบพยานเพิ่มอีก
1.6 กรณีราคาซอฟต์แวร์ตรวจยาเสพติดที่เป็นประเด็นว่า บทม.ได้จ่ายค่างานซอฟต์แวร์ ตรวจยาเสพติดไปหรือยังนั้น สาระสำคัญของประเด็นอยู่ที่ในปีที่จัดหาเทคโนโลยีของเครื่อง CTX 9000 Dsi ยังไม่สามารถตรวจสอบวัตถุระเบิดพร้อมยาเสพติดได้ แต่การที่ บทม.จะจ่ายเงินค่าซอฟต์แวร์ ดังกล่าวแล้วหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็น ไม่จำเป็นต้องสอบเพิ่ม
1.7 กรณีใช้จ่ายในการรับประกันการใช้งานของเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดที่ให้สอบสวนเพิ่มก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญเช่นกัน
1.8 กรณีหลีกเลี่ยงการเสนอราคาที่ว่า “มติคณะกรรมการ บทม.ที่ให้กิจการร่วมค้า ITO เป็นผู้ปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างตามเงื่อนไข Variation ข้อ 56 จึงเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ปฎิบัติตามข้อบังคับ...” และเห็นควรไต่สวนเพิ่มเติมว่าเหตุใดจึงไม่มีการประกวดราคา การทำสัญญา S.A.# 1 กับ ITO เป็นการสั่งงานตาม Variation ข้อ 56 หรือไม่ และ เป็นการจัดซื้อด้วยวิธีใด ตามข้อบังคับ ว่าด้วยการพัสดุนั้น ตามประเด็นนี้ไม่มีความจำเป็นต้องสอบเพิ่มอีก เพราะรายละเอียดชัดเจนแล้ว
2.ข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับพยานบุคคล
2.1 ที่ อสส.อ้างว่า นายบิลลี่ เอช.วินเซนต์ อาจเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการเสนองานจึงเป็นการสมควรให้ไต่สวนเพิ่มเติมนั้น
คณะอนุกรรมการได้ไต่สวนผู้เกี่ยวข้องรวม 6 ครั้ง ส่วนคำให้การพยานบุคคลจะมีน้ำหนักรับฟังได้หรือไม่เพียงใดนั้น ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ว่า พยานให้การสมเหตุและสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นหรือไม่
บทม.ว่าจ้าง ASI ซึ่งมี นายบิลลี่ เอช.วินเซนต์ เป็นประธานมาเป็นที่ปรึกษาและประเมินศักยภาพระบบรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมแก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
2.2 จดหมายอิเลกทรอนิกส์ (E-mail) ที่ คตส.อ้างถึงนั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนมิได้จัดหาและรวบรวมไว้สำนวนการไต่สวนโดยลำพัง แต่เป็นเอกสารได้มาจากการตรวจสอบของทางการสหรัฐอเมริกา รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับรองความถูกต้อง และมีอยู่จริงของจดหมาย ศาลจึงสามารถรับฟังข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์
2.3 พยานหลักฐานเอกสารที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาพ.ศ.2535 จะมีน้ำหนักรับฟังได้หรือไม่นั้น ต้องประมวลข้อเท็จจริง และพฤติการณ์แห่งคดีทั้งหมด จะนำข้อเสนอความตอนหนึ่งตอนใดของเอกสารซึ่งมีจำนวนหลายร้อยหน้ามาเป็นข้อโต้แย้งว้าไม่มีหลักฐานของการให้ค่าตอบแทน โดย อินวิชั่น เทคโนโลยี หรือ ตัวแทนบริษัทให้เจ้าหน้าที่คนไทยหรือว่าหากมีการเสนอให้ค่าตอบแทนได้มีการยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ดังข้ออ้างของอัยการสูงสุดหาได้ไม่ เพราะการเสนอให้สินบนกระทำในประเทศไทยมิได้กระทำในสหรัฐอเมริกา หากไม่มีการเสนอสินบนในเรื่องนี้ ก็ไม่มีเหตผลและความจำเป็นที่ อินวิชั่น เทคโนโลยี จะต้องทำบันทึกข้อตกลงกับทางการสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
3.ข้อไม่สมบูรณ์กรณี บทม.เชิดตัวเองเข้าเป็นคู่สัญญากับจีอี
3.1 ที่อัยการสูงสุดเห็นว่า การที่ บทม.ทำสัญญาซื้อตรงกับ จีอี อินวิชั่น ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่า เป็นการช่วยเหลือกิจการร่วมค้า ITO อย่างไร และ กิจการร่วมค้า ITO ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือไม่ ประเด็นนี้ ได้ความว่า จีอี อินวิชั่น ทำบันทึกข้อตกลงกับทางการสหรัฐฯเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 ยอมรับว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงเดือนมกราคม 2547 ผู้บริหารอินวิชั่น เทคโนโลยี่ ส่งเสริมให้บริษัท แพทริออท บิซิเนส คอนซัลแตนส์ จำกัด (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 37) ผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยและพรรคการเมืองไทย เพื่อจูงใจให้เจ้าหน้าที่ใช้อิทธิพลต่อรัฐบาลไทยหรือจูงใจให้รัฐบาลไทยตัดสินใจซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX 9000 Dsi อันเป็นการละเมิดกฎหมายว่าด้วยการทุจริตในต่างประเทศ (FCPA) ของสหรัฐฯ
3.2 ข้อโต้แย้งของอัยการสูงสุดที่ว่า ยังไม่มีการตรวจสอบว่าการที่จีอีทำสัญญาขายตรงให้แก่บทม.เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องและตามข้อตกลงระหว่างจีอีกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อโต้แย้งของอัยการสูงสุดเลื่อนลอยไร้เหตุผลเพราะ คตส.ได้พิจารณาแล้วว่า บทม.เชิดตัวเองเข้าเป็นคู่สัญญากับจีอีเพื่อหลอกลวงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯว่าจีอีขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดCTX ให้แก่บทม.โดยตรง ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 แต่ในความเป็นจริงนั้น บทม.เชิดตัวเองเข้าลงนามในสัญญาแทนกิจการร่วมค้า ITO เท่านั้น ส่วนที่อ้างว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯรับทราบสัญญาซื้อขาย และมีการส่งร่างสัญญาให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเพื่อขอความช่วยเห็นชอบหรือเพื่อทราบ และ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯมีข้อคัดค้านหรือไม่เพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ทั้งนี้เพราะในชั้นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามิได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ และ มิได้ขอให้คณะอนุกรรมการไต่สวนเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบคำให้การในประเด็นข้อนี้
3.3 ประเด็นที่อัยการสูงสุดยกขึ้นมาอ้างนั้น ในชั้นการประชุมคณะกรรมการทอท.วาระพิเศษเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ไม่เคยพิจารณาตามข้อสังเกตของอัยการสูงสุดแต่อย่างใดทั้งผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอบคำให้การประเด็นข้อนี้อีก
4.ข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับเอกสารภาษาอังกฤษ
ที่อัยการสูงสุดอ้างว่าเอกสารภาษาต่างประเทศจะต้องมีการจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยให้ครบถ้วน แต่ในสำนวนการตรวจสอบไต่สวน ปรากฏว่า มีเอกสารภาษาอังกฤษหลายฉบับไม่มีคำแปลภาษาไทยอยู่ในสำนวนนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา15 บัญญัติว่า วิธีพิจารณาข้อใดที่ซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะบังคับได้ ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 วรรค 3 บัญญัติว่า ถ้าต้นฉบับเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใดๆที่ส่งต่อศาล ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศให้ศาลสั่งคู่ความฝ่ายที่ส่งให้ทำคำแปลทั้งฉบับหรือเฉพาะแต่ส่วนที่สำคัญ โดยมีคำรับรองมายื่นเพื่อแนบไว้กับต้นฉบับ ดังนี้คู่ความฝ่ายใดอ้างพยานเอกสารที่ปรากฏถือความเป็นภาษาต่างประเทศไม่ต้องทำคำแปลยื่นต่อศาลเสมอไป นอกจากศาลสั่ง
5.ข้อไม่สมบูรณ์ในการแจ้งข้อกล่าวหา
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 ที่บังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ เจตนารมณ์ก็เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด และ เพื่อให้ผู้ต้องหาได้เข้าใจการกระทำของตน โดยไม่ต้องระบุอ้างถึงตัวบทกฎหมายที่กระทำผิด และ ในกรณีที่การกระทำนั้น ผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันก็ตาม พนักงานสอบสวนก็หาจำต้องระบุกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกระทงความผิดไม่ เมื่อได้แจ้งข้อหาอันเป็นความผิดทั่วไปแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ (ฎีกา 7628/2541) ดังนั้นเมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาความผิดเกี่ยวพันอีก และ ถือว่าคณะกรรมการไต่สวนได้มีการสอบสวนความผิดทุกข้อหาแล้วไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาแจ้งข้อกล่าวหาใหม่