ที่ประชุมคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.-อัยการ มีมติสอบซีทีเอ็กซ์เพิ่ม โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ชี้ถือเป็นคดีสำคัญและซับซ้อน ต้องสอบสวนหาข้อเท็จริงอุดช่องโหว่ เพื่อเป็นหลักฐานมัดในชั้นศาล
วันนี้ (8 ส.ค.) นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.-อัยการ พิจารณาสำนวนคดีการทุจริตโครงการปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกันหลายครั้ง คณะทำงานร่วมได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หลังพบว่าในสำนวนที่ คตส.ส่งให้กับอัยการยังมีจุดที่น่าสงสัยและต้องสอบเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น ทั้งนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลาในการหาข้อเท็จจริงเท่าไร และเมื่อหาข้อเท็จจริงเสร็จจะส่งฟ้องได้เลยหรือไม่ เพราะการไต่สวนคดีนี้ต้องดูทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เบื้องต้นมีการวางโครงในการสอบสวนไว้คร่าวๆ จากนั้นจึงแก้ปัญหาไปทีละประเด็น ยอมรับว่าเป็นคดีสำคัญ และมีความซับซ้อนมาก
เมื่อถามว่า ตามกฎหมายหลังจากที่คณะทำงานร่วมตกลงกันได้จะต้องฟ้องศาลภายใน 14 วัน ใช่หรือไม่ นายใจเด็ด กล่าวว่า กรณีนั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อตกลงกันไม่ได้ แล้ว ป.ป.ช.ฟ้องศาลเอง แต่กรณีนี้ตกลงกันว่าจะสอบสวนเพิ่มเติม ดังนั้นจึงไม่มีกรอบเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คตส.แจ้งข้อกล่าวหาคดีซีทีเอ็กซ์ 9000 ในความผิด 2 กระทง กระทงแรก คือ การที่ บทม.เชิญตัวเองเข้าทำสัญญากับบริษัท จีอี อินวิชั่น แก้ไขสัญญาการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และล็อกสเปกการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด ส่วนกระทงที่สอง มีความผิดจากการซื้อขายตรง เข้าข่ายฉ้อโกง
โดยแบ่งผู้ถูกกล่าวหา 3 กลุ่ม คือ 1.นักการเมือง ประกอบด้วย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม และนายธีรวัฒน์ ศรีฉัตราภิมุข 2.คณะกรรมการและพนักงาน บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และบริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) 3.นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งนอกจาก คตส.จะมีมติให้ดำเนินคดีอาญาแล้ว ยังมีมติขอให้ศาลยึดทรัพย์สินที่เกิดความเสียหายจำนวน 6,936 ล้านบาทกลับคืนมาด้วย