xs
xsm
sm
md
lg

"ชัยเกษม"ดิ้นสู้คดีซีทีเอ็กซ์ อ้างใช้กม.ปปช.ส่งฟ้องไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คตส.ยังพิจารณาคดีซีทีเอ็กซ์ไม่เสร็จ ต้องนัดประชุมอีก 2 ครั้ง ไม่แย้ง อสส. ที่อ้างว่าถูกแจ้งข้อกล่าวขณะเป็นรอง อสส. จึงนำ ม.97 ของ กม.ป.ป.ช.มาบังคับใช้ในการส่งฟ้องไม่ได้ ด้าน"อภิรักษ์" เตรียมชี้แจงคดีดับเพลิงฉาวด้วยตัวเอง 28 เม.ย.นี้

วานนี้ (21 เม.ย.) นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แถลงภายหลังการประชุมคตส. ว่า อนุกรรมการไต่สวนการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มี นายอำนวย ธันธรา กรรมการ คตส. เป็นประธาน ได้รายงานสรุปสำนวนต่อ คตส. ซึ่งมีทั้งสิ้น 624 หน้า และยังมีเอกสารประกอบการพิจารณาอีก 60 แฟ้ม แฟ้มละ 400 หน้า โดยส่วนใหญ่เป็นเอกสารหลักฐานจากกระทรวงยุติธรรมประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องซึทีเอ็กซ์ดังกล่าว โดยในวันเดียวกันนี้ที่ประชุม คตส. ได้พิจารณาข้อวินิจฉัยไปแล้ว 5 ข้อ จากทั้งหมด 16 ข้อ ดังนี้ คือ

1. คตส.มีอำนาจในการตรวจสอบไต่สวนได้โดยชอบหรือไม่ 2. อนุกรรมการไต่สวนฯ กรณีนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาโดยชอบหรือไม่ 3. ประธานรองประธาน กรรมการ และพนักงานของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) มีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร

4. ประธาน รองประธาน กรรมการ และพนักงานของบริษัทท่าอากาศยานแห่งใหม่ (บทม. ) มีสถานะเป็นพนักงานของรัฐหรือไม่อย่างไร และ 5. ประธาน รองประธาน กรรมการ คณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) มีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร ซึ่งทั้ง 5 ประเด็นนี้คตส.ได้มีข้อยุติแล้ว

ทั้งนี้ได้นัดพิจารณาในประเด็นที่เหลืออีก 2 นัด คือวันที่ 25 เม.ย. และวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปแล้ว จะแถลงให้ทราบอีกครั้ง แต่วันนี้ไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นมติที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายชัยเกษม นิติศิริ อัยการสูงสุด แย้งว่าในขณะนั้นเป็นรองอัยการสูงสุด ยังไม่เป็นอัยการสูงสุด ทาง คตส.ไม่สามารถนำ มาตรา 97 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาใช้ในการส่งฟ้องต่อศาลได้ ต้องรายงานสรุปสำนวนให้อัยการสูงทราบอย่างเดียว นายสัก กล่าวว่า เรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวนฯ ที่จะไปพิจารณา ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ และถ้ามีประเด็นในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก็เป็นหน้าที่ของ คตส. ที่จะนำไปวินิจฉัยในทุกประเด็น

มีรายงานว่า ในประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของ คตส.ในการไต่สวน และการแจ้งข้อกล่าวกับผู้ถูกกล่าวหา ที่ประชุม คตส. มีมติว่า คตส.มีอำนาจหน้าที่โดยชอบตามกฎหมายและคตส.ได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยชอบแล้ว แต่สำหรับประเด็นสถานภาพทางกฎหมายของประธาน รองประธาน กรรมการ ทอท. บทม. และ กทภ. ที่ประชุม คตส.เห็นว่าต้องมีการแยกบุคคลใดบ้างที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ และพนักงานของรัฐ เนื่องจากมีบางส่วนที่แต่งตั้งมาโดยผู้ถือหุ้น และบางส่วนก็เป็นข้าราชการ โดยตำแหน่ง พวกนี้จะมีสถานะความผิดตามกฎหมายต่างกัน คือ ถ้าเป็นบุคคลที่เป็นข้าราชการ แล้วมาเป็นบอร์ด จะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นๆ ก็ให้ถือว่าเป็นพนักงานของรัฐ

ทั้งนี้ ถ้าบุคคลที่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนพนักงานของรัฐ จะมีความผิดตาม มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ความผิดพนักงานองค์กรของรัฐ ซึ่งในประเด็นนี้ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ได้ชี้แจงมาว่า ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เพราะเป็นประธาน กทภ. โดยตำแหน่ง แต่อนุกรรมการไต่สวนฯ เห็นว่าได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับหนึ่ง ระบุไว้ว่า บุคคลที่ถูกแต่งตั้งตามระเบียบนี้ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ประกอบกับมีคำพิพากษาศาลฎีกา ในเรื่องนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน ในประเด็นอื่นๆ ที่ยังต้องมีการพิจารณาในการประชุม คตส.ครั้งต่อไป เช่น การที่ไอทีโอ มีการเปลี่ยนแปลง ระบบสายพานลำเลียง เป็นการแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ การที่ไอทีโอไปจ้างบริษัทเคส มาออกแบบระบบสายพานลำเลียง เป็นการกระทำที่แสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ รวมไปถึงการที่ ไอทีโอจ้างบริษัทแพรทริออท เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากบทม.โดยมิชอบหรือไม่ และมีบุคคลใดบ้างต้องรับผิดในคดีนี้ เป็นต้น

นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงกทม. กล่าวว่า ในวันเดียวกันนี้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ได้ส่งเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามาแล้ว แต่ตนยังไม่ได้อ่าน ทั้งนี้ทราบว่า นายอภิรักษ์ ได้นัดเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยตัวเองในวันที่ 28 เม.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น