xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ลุยกฎหมายการเงิน 4 ฉบับ คนไทยเข้าถึงแบงก์แต่สอบเข้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เร่งจับมือหน่วยงานรัฐผลักดันปรับปรุงกฎหมายการเงิน 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ,ข้อมูลเครดิต,ล้มละลายและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หวังขยายขอบเขตหลักประกัน ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น เผยข้อมูลเครดิตครอบคลุมสหกรณ์ออมทรัพย์ แฟคตอริ่งและประกัน ส่วนล้มละลายจะยากขึ้น

นายโอรส เพชรเจริญ ผู้บริหารส่วนฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ที่มีพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงินไทยให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ธปท.เตรียมผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายการเงิน 4 ฉบับ ที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ร.บ.ข้อมูลเครดิต พ.ร.บ.ล้มละลาย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

“เราเชื่อการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการเงินทั้ง 4 ฉบับนี้จะมีประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ลดปัญหาข้อจำกัดและขยายขอบเขตหลักประกัน รวมทั้งสามารถเข้ารับขอสินเชื่อได้ง่าย และการเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีของศาลได้เร็วขึ้น ซึ่งเฉพาะเวลานานในการบังคับหลักประกันประมาณ 1-2 ปี จึงจำเป็นที่ธปท.ต้องมีประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างๆ ด้วยทั้งกระทรวงยุติธรรม กรมบังคับคดี กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังต่อไป”

ทั้งนี้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจจะขยายประเภทของหลักประกัน โดยอนุญาตให้ลูกหนี้สามารถนำสิทธิต่างๆ มาเป็นหลักประกันได้ เช่น เงินฝากในแง่ของบัญชีเงินฝาก สัญญาเช่า กิจการ สัมปทานต่างๆ หรือรายได้ที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหลักประกันเหล่านี้ลูกหนี้ไม่ต้องมีการส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าและสามารถหาผลประโยชน์ได้ แต่ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งธปท.คาดว่าจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ภายในปี 56 หรือก่อนสิ้นสุดแผนมาสเตอร์แพลน2

“ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้มีการดำเนินการเช่นนี้ แต่กฎหมายไม่ได้คุ้มครอง คือ ไม่สามารถฟ้องร้องกันได้เมื่อเกิดปัญหาขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงนี้เอง กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์สามารถบังคับหลักประกันอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน”

ส่วน พ.ร.บ.ข้อมูลเครดิตให้มีการบันทึกข้อมูล จำนวนสมาชิก และขอบเขตธุรกิจมากขึ้น โดยข้อมูลเครดิตบูโรจะมีการบันทึกรายละเอียดของผู้ค้ำประกัน หลักประกัน หรือรูปแบบการใช้เงินต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อ รวมทั้งอาจนำข้อมูลของสหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทรับซื้อลูกหนี้การค้า (แฟคตอริ่ง) บริษัทประกันชีวิตและประกันภัยด้วย เพื่อให้ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้จะคุ้มครองข้อมูลนิติบุคคลให้มีมากขึ้นจากปัจจุบันที่ดูแลเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งจะส่งผลดีในแง่ของการทำธุรกิจของนิติบุคคลนั้นๆ และธนาคารพาณิชย์ในการพิจารณาสินเชื่อ

ขณะที่ พ.ร.บ.ล้มละลายจะส่งเสริมให้มีกระบวนการประนอมหนี้ก่อนฟ้องล้มละลายได้ เพื่อลดจำนวนคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล และนำหลักความสามารถในการชำระหนี้มาใช้ในการพิจารณาลูกหนี้สมควรล้มละลายหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศจะพิจารณาถึงโครงการต่างๆ ที่ลูกหนี้มีอยู่นำมาชำระหนี้ได้ นอกเหนือจากปัจจุบันที่ดูเฉพาะว่าลูกหนี้มีหนี้สินน้อยกว่าทรัพย์สิน ถือเป็นบุคคลล้มละลาย นอกจากนี้แก้กฎหมายให้ตั้งเอกชนที่เป็นผู้ชำระบัญชีแบบมืออาชีพ (Professional liquidators) ทำหน้าที่รวบรวมและจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ จากปัจจุบันที่ทำได้เฉพาะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น รวมถึงให้สิทธิลูกหนี้รายย่อยขอฟื้นฟูกิจการได้ด้วย นอกจากนิติบุคคลหรือลูกหนี้รายใหญ่ที่มีหนี้เกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป

นอกจากนี้ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจะผลักดันให้ตั้งศูนย์ข้อมูลกลางและขายทรัพย์ทอดตลาดทางไปรษณีย์ได้ กำหนดวงเงินมัดจำสูงขึ้นแยกการบังคับชำระหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันออกจากกัน รวมถึงให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบังคับคดีได้ในบางขั้นตอน
กำลังโหลดความคิดเห็น