xs
xsm
sm
md
lg

จี้ถอนกม.คลื่นความถี่ซัดรัฐบาลส่อครอบงำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา แถลงว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ มีมติคัดค้านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... ซึ่งเป็นร่างฯของรัฐบาลที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ นี้
เนื่องจากมีเหตุผลคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังนี้ 1.ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ในมาตรา 47 ที่กำหนดให้มีองค์กรของรัฐ ที่เป็นอิสระในการจัดสรรคลื่นความถี่ อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ แต่ ร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาล กลับกำหนดให้ ครม. เป็นผู้คัดเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นผู้เสนอรายชื่อ เท่ากับว่า องค์กรฯแห่งนี้ถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหารอย่างสิ้นเชิง ถือว่าขาดความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายและแผนแม่บทในการบริหารคลื่นความถี่อย่างเป็นอิสระ
นายประสาร กล่าวว่า 2. เนื้อหาร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ปี 2543 คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยกำหนดให้ประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับตัดเนื้อหาส่วนนี้ออกไป เท่ากับปฏิเสธบทบาทและสิทธิของภาคประชาชนทั้งหมด จึงกลายเป็นการดำเนินการโดยภาครัฐและภาคพาณิชย์แบบเต็มที่ ไม่มีความหมายใดๆในเชิงของการปฏิรูปสื่อ เสียงและภาพ
3. ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังขัดกับมิติของธรรมาภิบาล เนื่องจากได้กำหนดให้มี คณะกรรมการติดตามประเมินผลที่แต่งตั้งขึ้นเอง แทนที่จะกำหนดให้การติดตามประเมินผลดำเนินการโดยบุคคลภายนอก และใน มาตรา 72 ระบุว่า พนักงาน กสช. ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตรงนี้ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงพ.ร.บ.ปรักอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. และยังปฏิเสธมูลฐานความผิด ในกฎหมาย ป.ป.ง. ส่งผลให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขาดหลักความเสมอภาคกับเจ้าหน้าที่ชองรัฐหน่วยงานอื่น และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งต่อหลักนิติรัฐในการบริหารกิจการบ้านะเมือง
นายประสาร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการมนุษยชนฯ มีความเห็นตรงกับองค์กรสื่อ คือเครือข่ายสื่อภาคประชาชนและคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ว่า รัฐบาล และ รมว.ไอซีที ควรถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปจากวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร และควรเปิดโอกาสให้องค์กรสื่อภาคประชาชน องค์กรด้านสิทธิเสรีภาพ รัฐสภา และหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมกันร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่ให้ประชาชนข้ามามีส่วนร่วม และทำให้องค์กรมีอิสระ มีความชอบธรรมมากขึ้น
ด้านนาย สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการมนุษยชนสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาลอย่างมาก แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงหวังว่าหากร่างดังกล่าวเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเราอยากเห็นองค์กรอิสระมาคุ้มครององค์กรสื่ออย่างจริงจัง เป็นกลาง เพราะถ้ามีองค์กรแล้วไม่มีความเป็นอิสระ บิดเบือน ก็ไม่ต้องมีเสียดีกว่า
อย่างไรก็ตามหากที่ประชุมสภาฯยังมีการบิดเบือนต่อเจตนารมณ์ เมื่อส่งให้ถึง วุฒิสภา แล้วยังไม่มีการแก้ไข ก็อาจมีการนำเรื่องนี้ไปสู่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญได้
กำลังโหลดความคิดเห็น