xs
xsm
sm
md
lg

“มั่น” ผวาเสียงต้าน ชะลอ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ไว้ก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายฝ่ายรุมต้าน พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ “มั่น” เปลี่ยนแผน ชะลอการนำเข้าสภาไว้ก่อน รอคุยกับองค์กรสื่อให้ได้ข้อสรุป ด้านนักวิชาการสื่อ รุมจวกงุบงิบเสนอ พ.ร.บ. ส่อเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองครอบงำสื่อ

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการคมชัดลึก

วานนี้ (17 มิ.ย.) ดร.มั่น พัฒโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล ดำเนินรายการโดย นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ถึงการนำร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับใหม่) เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ว่า ในขณะนี้ทางกระทรวงไอซีที คงจะเลื่อนการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อน จากเดิมที่คาดว่าจะนำขึ้นเป็นญัตติพิจารณาของสภา ในวันนี้ แต่หลังจากได้รับข้อท้วงติงจากหลายฝ่าย ตนจึงเห็นว่า ควรระงับไว้ก่อน เพื่อไปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ก่อน ดังนั้น ในวันจันทร์ที่ 23 มิ.ย.นี้ จะนัดเจรจาและรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อสารมวลชนก่อนจึงค่อยนำ พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา

ดร.มั่น กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดี ที่จะสามารถพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารของประเทศให้ก้าวหน้าไปได้ ส่วนการที่ร่างดังกล่าวระบุว่า การคัดเลือกคณะกรรมการ กสช.ในขั้นสุดท้ายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น ตนคิดว่า สาเหตุที่รัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วมคัดสรรกรรมการด้วย ก็เนื่องจากตนเห็นว่าการดำเนินการเรื่องจัดสรรสื่อ รัฐบาลควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลการสื่อสารของประเทศ เพื่อเวลามีการติดต่อเจรจาเรื่องโครงข่ายระหว่างประเทศจะเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น และถึงแม้ ครม.จะเป็นด่านสุดท้ายที่เลือก แต่ก่อนหน้านั้นก็มีองค์กรสื่อมวลชนอื่นๆ ทำการคัดเลือกมาก่อนถึง ครม.อยู่ดี จึงไม่น่าจะกล่าวว่า อำนาจคัดเลือกทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายการเมือง

ด้าน รศ.จุมพล รอดคำดี อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเพิ่งได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อวานนี้ จึงทำให้แปลกใจมากว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการสื่อสารมวลชนของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นก่อนนำเสนอเข้าสภาก็น่าจะมีการนำมาเผยแพร่ให้ประชาชน หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงสื่อสารมวลชนได้ศึกษาเพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เร่งรัดนำเข้าสู่สภาอย่างนี้

อีกทั้งร่างดังกล่าวเท่าที่ตนเห็นก็มีข้อบกพร่องและไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง โดยเฉพาะในประเด็นการสรรหาบุคคลเข้ามาเป็น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสช.) ทั้ง 10 คน ซึ่งตามร่างดังกล่าวระบุว่าเบื้องต้นจะให้องค์กรสื่อต่าง ๆ ร่วมพิจารณาสรรหาบุคคลเข้าไป แต่โดยท้ายที่สุดคณะรัฐบาลก็จะเลือกคณะกรรมการในขั้นสุดท้ายจนเหลือ 10 คนอยู่ดี ดังนั้นตนจึงมองว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระโดยรัฐบาล “องค์กรนี้เป็นองค์กรอิสระ แล้วเมื่อกระบวนการได้มาของกรรมการ รัฐบาลมีส่วนเข้ามาแทรกแซงอย่างชัดเจน แล้วองค์กรนี้จะยังเป็นองค์กรอิสระได้อย่างไร”

ขณะที่ ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัตน์ รองประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ตนคิดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่น่าจะผ่านการพิจาณาจากสภา เพราะมีหลายภาคส่วนในสังคมไม่เห็นด้วย แต่หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของสภาจริง ทางองค์กรสื่อมวลชน 18 องค์กรก็จะมีการรวมตัวกัน ไปยื่นคัดค้านต่อศาลปกครอง เพราะหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้จริง จะส่งผลเสียต่อวงการสื่อสารมวลชนของไทยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างยุติธรรมแล้ว ยังทำให้อำนาจของรัฐเข้ามาครอบงำสื่อ อันจะเป็นการบิดเบือนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย

นายบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี ผู้ประสานงานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กระบวนการ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผิดต่อเจตนารมณ์ของ รธน.มาตรา 57 อย่างชัดเจน เนื่องจากมาตราดังกล่าวระบุว่า การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก จะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แต่การกระทำในครั้งนี้ไม่ใช่เลย เพราะไม่มีใคร หรือสื่อใดได้รับรู้หรือแสดงความคิดเห็นเลย อยู่ ๆ ก็มีตัวร่างออกมาแล้วก็บอกว่า ต้องรีบนำเข้าพิจารณาในสภา ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เกี่ยวของกับผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่ซึ่งมีรายได้นับแสนล้านต่อปี ดังนั้น กระบวนการร่าง หรือจัดทำควรทำอย่างโปร่งใส ให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ และแสดงความคิดเห็นในวงกว้างไม่ใช่งุบงิบทำเช่นนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น