xs
xsm
sm
md
lg

รุมต้านร่าง กม.คลื่นความถี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์กรสื่อ ภาคประชาชน และนักวิชาการผนึกกำลังต้าน ร่างกม.จัดสรรคลื่นความถี่ จี้รัฐบาลถอนออกจากการพิจารณาของบสภา ระบุร่างออกมาโดยขัด รธน. หวังปล้นสาธารณะสมบัติของชาติ ลั่นหากดื้อดึงยื่นศาล รธน.ตีความ

จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่านความเห็นชอบในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ...เมื่อวันอังคารที่ 10 มิถุนายน 2551 และกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 มิถุนายน 2551

องค์กรเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว 18 องค์กร ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านกระบวงนการและการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเนื่องจาก ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมรวมมูลค่าหลายแสนล้านบาท และมีผลกระทบต่อการเข้าถึง และปิดกั้นโอกาส ในการได้ใช้คลื่นความถี่ อันเป็นสาธารณะสมบัติของชาติของภาคประชาชน

ด้วยกระบวนการในการจัดทำที่ฉ้อฉลและรวบรัด โดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันขัดต่อเจตนารมณ์เดิมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ต้องการให้เกิดกระบวนการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง อีกทั้งมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่ง พ.ศ. 2550 ระบุว่า “การออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”

ซึ่งเนื้อหาหลายประเด็นของร่างกฎหมายนี้ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงและบิดเบือน ไปจากเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อในสาระสำคัญ ดังนี้

ที่มาและกระบวนการสรรหา กสช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ แต่กลับไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เนื่องจากให้อำนาจคณะรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือกแทนวุฒิสภา

ตัดสิทธิภาคประชาชนที่จะได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ออก และเปิดช่องให้ใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไร โดยให้อำนาจ กสช.กำหนดจำนวนและวิธีการหารายได้ ให้กำไรตกเป็นขององค์การปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) และให้อำนาจ อปท.ติดตามและตรวจสอบการนำส่งรายได้นั้น

การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานและข้อมูลรายจ่ายของ กสช. กำหนดให้มีการชี้แจงโดยสรุป แทนที่จะเปิดเผยโดยละเอียด เพราะเกี่ยวพันกับประโยชน์มหาศาลของชาติ

การติดตามและตรวจสอบประเมินผล กสช. กำหนดให้ กสช. ซึ่งจะต้องเป็นผู้ถูกตรวจสอบ มีอำนาจแต่งตั้ง ว่าจ้าง รวมทั้งกำหนดค่าตอบแทนคณะกรรมการที่จะมาประเมินตนเอง รวมถึงไม่มีกระบวนการกำหนดให้มีการรับผิดรับชอบ (Social Accountability) นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล

มีผลเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่ใช้คลื่นความถี่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนหน้าที่กฎหมายจะบังคับใช้ (ผู้ใช้คลื่นความถี่อยู่ก่อนวันที่ร่างมีผลใช้บังคับมีสิทธิได้ใช้คลื่นอยู่ต่อไป)

มีบทบัญญัติที่ถือเป็นการ ให้อภิสิทธิ กระบวนการสรรหา กสช. ไม่ต้องปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล เพราะเมื่อ กสช. รับจดทะเบียนองค์กรและสถาบันใดแล้ว การวินิจฉัยของศาลในภายหลังว่าการจดทะเบียนนั้นมิชอบ ไม่ให้มีผลกระทบต่อการที่สำนักงาน กสช. ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่ศาลมีวินิจฉัย

ร่างกฎหมายนี้ตัดมาตรา 80 ในร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 ซึ่ง ห้ามหน่วยงานใดๆ พิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการหรือให้ใบอนุญาตประกอบกิจการเพิ่มเติม ในระหว่างที่การสรรหาและแต่งตั้งองค์กรอิสระยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งอาจนำไปสู่การทิ้งทวนสัมปทานคลื่นความถี่ครั้งใหญ่

ด้วยเหตุนี้ องค์กรดังมีรายนามข้างท้าย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความ จริงใจ และแสดงความรับผิดชอบต่อการปกป้องคลื่นความถี่อันเป็นสาธารณสมบัติของชาติ ด้วยการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แล้วจัดให้มีกระบวนการเปิดรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมอย่างกว้าง ขวางจากทุกฝ่าย มิฉะนั้น องค์กรผู้มีรายชื่อข้างท้ายนี้ จำเป็นต้องอาศัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่ง เพื่อแก้ไขให้กระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้มีความถูกต้องและความชอบธรรมต่อไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ผู้คัดค้านจะไปยื่นหนังสือต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และจะไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ สิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ด้วย

นอกจากนี้ ในภาควิชาการก็จะมีการล่ารายชื่อนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนทั่วประเทศ เพื่อเคลื่อนไหวต่อไป

สำหรับองค์กรที่ร่วมเคลื่อนไหวประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) สมาคมนักบริหารสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.) สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เครือข่ายสื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายวิทยุเด็กและครอบครัว เครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะ เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)
กำลังโหลดความคิดเห็น