xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ความหาญกล้าของสื่อในห้วงวิกฤตปัญญา (4)

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ถอยหลังไปในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยจะพบว่ามีจุดร่วมสำคัญหนึ่งคือ ทั้งแรกเริ่มระหว่างทาง และสุดสิ้นจะมีสื่อมวลชนเข้าร่วมขบวนเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมเสมอ ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภา 35, 19 กันยา 49 รวมถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะมาถึงด้วย

สื่อสารมวลชนจึงเป็นหนึ่งกลจักรผลักหน้าประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทย

บทบาทหัวหอกของวิทยุยานเกราะนับแต่เริ่มถึงภายหลังอาชญากรรมรัฐล้อมปราบนิสิตนักศึกษาคือรูปธรรมชัดเจนถึง ‘โทษมหันต์’ ของสื่อที่ปลุกระดมคนไทยลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยมอัปลักษณ์ เช่นเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมก็เริ่มจากฟรีทีวีที่อยู่ใต้อาณัติอิทธิพลการเมืองขลาดกลัวเกินกว่าจะนำเสนอการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของประชาชน กว่าจะได้สถานี ITV ที่นำเสนอข่าวสารปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองตามกระแสสังคมเรียกร้องก็ต้องรอหลังเหตุการณ์คลี่คลาย แต่แล้วท้ายสุดกลับพ่ายแพ้ทุนธุรกิจชาติและข้ามชาติ

ด้าน ‘คุณอนันต์’ ก่อนวันมหาวิปโยคหนังสือพิมพ์และสถาบันหนังสือพิมพ์แทบทุกสังกัดก็ร่วมกันทำจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไทยเพื่อขอประชามติให้รัฐบาลเผด็จการปล่อยตัวผู้ต้องหากรณีเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คน กาลต่อมาก็ได้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันและม็อบมือถือโค่นล้มรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ล่วงถึงการร่วงหล่นเก้าอี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณก็มาจากถูก ASTV เปิดโปงคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

สื่อมวลชนจึงไม่เคยตัดขาดจากกระแสธารการเมืองและสังคม เพียงแต่ว่าองค์กรสื่อที่ลุกขึ้นขับเคลื่อนประเด็นแหลมคมเหล่านั้นจักต้องมี ‘ภูมิต้านทาน’ มากเพียงพอต่อเสียงปรามาสจากองค์กรวิชาชีพและสถาบันวิชาการว่าเป็นแกะดำ ขาดจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่เป็นกลาง

ชะตากรรมผู้หาญกล้านำเสนอความจริงจึงได้ดอกผลทารุณมากกว่าชื่นชม โดยเฉพาะในห้วงมืดบอดทางปัญญาอันเนื่องมาจากแรงกดทับของเผด็จการทหารและธนบัตร ดังฉากชีวิตของสรรพสิริ วิริยศิริ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ที่ต้องถูกปลดหลังยืนหยัดจรรยาบรรณวิชาชีพนำเสนอภาพความรุนแรงของ 6 ตุลา 19 ทางโทรทัศน์ ซึ่งต้องรอเนิ่นนานกว่าสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยจะประกาศผลรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประจำปี 2549 ให้

มาถึงยุครัฐบาลไทยรักไทย เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ ที่นำเสนอข่าวรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิร้าวก็ต้องพ้นสถานภาพนักข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เพียงเพราะเผยแพร่ข่าวสารอีกด้านที่รัฐบาลไม่อยากฟัง ต้องรอจนศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าการกระทำของเขาไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบ

ละม้ายคล้ายกรณีสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและ ASTV ก็ถูกถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์จากช่อง 9 อสมท.ถูกฟ้องหมิ่นประมาทด้วยวงเงินหลักร้อยล้าน และถูกคุกคามจากหน่วยงานรัฐที่รับใช้การเมืองอย่างกรมประชาสัมพันธ์ที่พยายามปิด ASTV ด้วยการฟ้องร้องต่อศาลปกครองในข้อหาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายควบคุมวิทยุโทรทัศน์

แต่แล้วศาลปกครองก็มีคำสั่งศาลให้ความคุ้มครองตามหลักเหตุผลเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะจากสื่อมวลชน และในวันที่ 31 มกราคม 2551ศาลปกครองกลางก็พิพากษาให้กรมประชาฯ เพิกถอนคำสั่งให้ กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ระงับบริการดาวเทียมแก่ ASTV และให้เพิกถอนคำสั่ง กสท ที่สั่งระงับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ ASTV พร้อมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายทางธุรกิจอีก 1.2 แสนบาทภายใน 60 วัน

ตราบใด ASTV และสื่อเครือผู้จัดการยังยืนหยัดตรวจสอบรัฐบาลไทยรักไทยในนามพลังประชาชน ตลอดจนรัฐบาลฉ้อฉลชุดต่อไป ตราบนั้นการตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มการเมืองสูญเสียประโยชน์ก็ยังคงดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด ยิ่งปวารณาตัวเป็นหางเสือเคลื่อนขับรัฐนาวาไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้การฉ้อราษฎร์บังหลวงจากนักเลือกตั้งด้วยแล้ว การกลายเป็นเป้ายิงของสายเหยี่ยวจากฟากนักการเมืองทั้งระดับพรรคและปัจเจกจึงคงอยู่นิรันดร

ด้วยเหตุว่าปัญญาที่ก่อตัวจากการรับรู้ข่าวสารคอร์รัปชันของรัฐบาลผ่าน ASTV นั้นจะกระตุกต่อมจริยธรรมที่เคยฝ่อของภาคประชาชนจากการถูกอำนาจรัฐครอบงำให้กลับมาร่าเริงกระปรี้กระเปร่า ไม่ยอมจำนนศิโรราบต่ออำนาจขาดจริยธรรมอีกต่อไป

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเปิดรับข้อมูลข่าวสารการคอร์รัปชันของ ASTV ได้ฟาดฟันขวากหนามการเปลี่ยนเป็นพลเมืองผู้รู้เท่าทันนักการเมืองและสื่อมวลชนกระแสหลักจนเหี้ยนเตียน

อีกทั้งยังสอดคล้องกับการอรรถาธิบายธรรมของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ว่าจะแก้การเมืองไม่ดีได้ต้องพัฒนาคนเสียก่อน เพราะปัญหาไม่ได้อยู่แค่ตัวนักการเมือง แต่อยู่ที่สังคมทั้งหมด คุณภาพคนมีแค่นั้น ถ้าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยแท้จริงจักต้องพัฒนาคุณภาพประชาชน ด้วยนักการเมืองมาจากประชาชน คุณภาพประชาธิปไตยอยู่ที่คุณภาพประชาชน

มากกว่านั้นองค์ประกอบของสังคมไทยแทบทุกส่วนยังเป็นปัจจัยเอื้อต่อความโดดเด่นของผู้มีบาปธรรม ไม่ใช่เอื้อแก่คุณธรรม และสังคมหมักหมมอยู่ในห้วงประมาทมานานจนนักการเมืองเหล่านี้เถลิงอำนาจ จึงไม่อาจแก้ปัญหาฉับพลันทันทีได้

อย่างไรก็ดี หากยอมรับร่วมกันว่าทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพประชาชนคือการติดอาวุธทางปัญญาให้รู้เท่าทัน ‘การเมืองเรื่องผลประโยชน์’ ที่มักจบด้วยฉากคอร์รัปชันอย่างเอิกเกริกมโหฬารของนักการเมืองที่แก่งแย่งแข่งขันกันเป็นรัฐบาล กีดกันประชาชนออกจากนโยบายสาธารณะ และตัดประชาชนออกจากพัฒนาการประชาธิปไตยยกเว้นช่วงลัทธิพิธีเลือกตั้งแล้ว ก็นับได้ว่า ASTV บุกเบิกและสานต่อหน้าที่นี้สมบูรณ์สุดเมื่อเทียบกับทีวีช่องอื่นๆ

เพียงแต่ที่ผ่านมา ASTV ยังตามตรวจสอบนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลฉ้อฉลก่อไว้ค่อนข้างมากกว่าจะรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ การผสานจุดหมายร่วมกับการเมืองภาคประชาชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเพิ่มบทบาทเชิงรุกที่โดดเด่นยิ่งในห้วงวิกฤตปัญญาที่สื่อมวลชนกระแสหลักมักถอยห่างจากการขัดอำนาจรัฐหรือจะกระทั่งสร้างดุลอำนาจในนโยบายสาธารณะ (มีต่อตอน 5)

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น