ซอกเกอร์เน็ต/ผู้จัดการรายวัน - “อีเอสพีเอ็นซอกเกอร์เน็ต” สื่อออนไลน์ชื่อดังด้านฟุตบอล จี้ “พรีเมียร์ลีก” ต้องรับผิดชอบที่ปล่อยให้ “แม้ว” ซื้อ “แมนเชสเตอร์ซิตี” จนทำให้สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ตลอดจนผู้จัดการทีม “มาร์ก ฮิวจ์ส” ประสบความลำบากในเวลานี้ ขณะที่สื่อนอกด้านการเมืองเศรษฐกิจ ก็ยังคงให้ความสนใจวิเคราะห์วิจารณ์อนาคตของประเทศไทย
ซอกเกอร์เน็ต เผยแพร่บทวิจารณ์ที่เขียนโดย นายจอห์น เบรวิน ที่กล่าวว่า ตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาซื้อสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ท่ามกลางการตีข่าวป่าวร้องอย่างเอิกเกริกนั้น ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากก็สงสัยอยู่แล้วว่า บุรุษผู้ต้องข้อหาทุจริตคอร์รัปชันหลากหลายเรื่อง ตลอดจนถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนมานานแล้วผู้นี้ ได้รับอนุญาตให้เทกโอเวอร์สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้อย่างไร
“แน่ใจหรือว่ามีมาตรการป้องกัน” ไม่ให้เกิดเรื่องที่ไม่เหมาะสมขึ้นมาแล้ว บทวิจารณ์นี้ตั้งคำถามต่อพรีเมียร์ลีก พร้อมกับตอบว่า ไม่ว่าจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถผ่านฉลุยการตรวจสอบคุณสมบัติความเหมาะสม ซึ่งพรีเมียร์ลีกกำหนดไว้สำหรับผู้ที่คิดจะเป็นเจ้าของสโมสรทุกราย
แต่แล้ว “ในวันอังคาร (12) ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็น ริชาร์ด สคูดามอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรีเมียร์ลีก ออกมากล่าวว่า องค์การของเขากำลังติดตามตรวจสอบสถานการณ์ในแมนฯซิตีอย่างใกล้ชิด ช่างเป็นตัวอย่างคลาสสิกของคำพังเพยที่ว่า วัวหายล้อมคอก มันน้อยเกินไปและก็สายเกินไปแล้วด้วย เพราะความเสียหายดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว” ซอกเกอร์เน็ต กล่าวต่อ
บทวิจารณ์ชิ้นนี้ บอกว่า จากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และภริยา หนีประกันมาจากประเทศไทย ทำให้โอกาสของแมนเชสเตอร์ซิตี ที่จะได้เข้าถึงทรัพย์สมบัติมูลค่า 800 ล้านปอนด์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในระดับ “แค่สูงกว่าศูนย์”
ขณะที่ “มีรายงานหลายกระแส บ่งชี้ว่า การใช้จ่ายอย่างหนักมือของ สเวน โกรัน อีริคส์สัน เมื่อฤดูร้อนที่แล้ว ยังคงไม่ได้มีการชำระ โดยที่เงินใช้จ่ายเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวเป็นเงินที่ติดค้างพวกแบงก์ในยุโรป” ซอกเกอร์เน็ต ระบุ พร้อมกับแจกแจงต่อไปว่า ฮิวจ์ส ซึ่งเป็นผู้จัดการคนใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามา กำลังประสบภาวะแทบไม่มีเงินทุนให้ใช้ในขณะที่ช่วงเวลาแห่งการซื้อขายนักเตะก็กำลังใกล้จะปิดลง
บทวิจารณ์ชิ้นนี้เปรียบเทียบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเจ้าของสโมสรรายอื่นๆ เหมือนกันที่ถูกระแวงสงสัย อาทิ โรมัน อบราโมวิช เมื่อตอนเข้าซื้อสโมสารเชลซี และ ซาชา เกย์ดามัก เจ้าของสโมสรปอร์ตสมัธ “อย่างไรก็ตาม ชาวรัสเซียผู้โยกย้ายมาอยู่ต่างแดนทั้งสองคนนี้ ไม่ได้เผชิญข้อกล่าวหากระทำความผิดทางอาญา ในเวลาที่พวกเขาเข้าซื้อสโมสรของพวกเขา”
แต่ “พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถที่จะเข้าควบคุมแมนเชสเตอร์ซิตีได้ ทั้งๆ ที่เป็นความรู้ของสาธารณชนทั่วไป ว่า ทรัพย์สินของเขาส่วนข้างมากทีเดียวกำลังถูกรัฐบาลไทยสั่งอายัด นี่ยังน่าจะหมายถึงการหลีกเลี่ยงไม่ตั้งคำถามว่าเขาเป็นเจ้าของตัวจริงของทรัพย์สินที่จะใช้ซื้อและจากนั้นก็บริหารสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกหรือเปล่า” ซอกเกอร์เน็ต บอก
บทวิจารณ์ยังเปรียบเปรยว่า “นักเตะอย่าง อลัน สมิธ, โจนาธาน วูดเกต และ ลี โบว์เยอร์ ถูกถอนชื่อออกจากการได้ลงเล่นในทีมชาติอังกฤษในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อพวกเขาเผชิญข้อกล่าวหาทำความผิดอาญา ทว่า ไม่ได้มีปฏิบัติการลักษณะเดียวกันต่อพวกเจ้าของสโมสร เพราะพรีเมียร์ลีกมัวแต่ชื่นชมยินดีกับการนับเงินและชมเชยตัวเองที่กำลังกลายเป็นแบรนด์ระดับโลก”
“บุคคลบางคน รวมทั้งประธานสโมสรที่กำลังพ้นตำแหน่ง จอห์น วอร์ดเดิล ผู้ซึ่งได้รับเงินจำนวน 81.6 ล้านปอนด์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จ่ายให้เป็นค่าสโมสร กำลังพูดแสดงความเสียใจที่ได้ตัดสินใจผิด มีข่าวลือหลายกระแสว่า ยังมีบิลเรียกเก็บเงินค่าที่ปรึกษากฎหมายจากการขายคราวนี้ ซึ่งยังไม่ได้มีการจ่ายเงินปรากฏออกมาด้วย” ซอกเกอร์เน็ต กระแหนะกระแหน
“ปัญหาของแมนเชสเตอร์ซิตีจะลึกล้ำขนาดไหน ยังมิได้รับการเปิดเผยออกมาอย่างเต็มที่ ทว่าเมื่อถึงตอนนั้น จากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ได้มอบสโมสรแห่งนี้ให้อยู่ในมือลูกๆ ของเขาโดยผ่านทางพวกบริษัท “กระดาษ” มันก็น่าจะแทบไม่มีอะไรที่พรีเมียร์ลีกสามารถทำได้เพื่อเปลี่ยนสถานการณ์” บทวิจารณ์นี้กล่าว
**ประเทศไทยหลัง “ทักษิณ” หนีคดี**
ทางด้านหนังสือพิมพ์คริสเตียนไซแอนซ์มอนิเตอร์ รายงานข่าวในฉบับวันพุธ (13) โดยชี้ว่า การหนีคดีไปอยู่อังกฤษของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจสร้างความเสียหายให้แก่พรรครัฐบาลที่เป็นพวกนิยมทักษิณ แต่ขณะเดียวกันก็อาจช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในทางการเมือง
หนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ฉบับนี้ อ้างคำพูดของ คริส เบเกอร์ นักประวัติศาสตร์ผู้ร่วมเขียนหนังสือชีวประวัติเชิงวิพากษ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาแล้ว ที่กล่าวว่า ภายในหมู่ชนชั้นนักการเมืองของไทย อาจจะมีพวกที่เชื่อถือใน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างแท้จริงอยู่บ้าง ทว่าคนอื่นๆ อีกเยอะแยะเป็นพวกที่มาอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เพราะ “เขาเป็นบุคคลแห่งช่วงเวลาขณะนั้น”
ผลก็คือ น่าจะมีการแปรพักตร์กันเป็นจำนวนมากของ ส.ส.สังกัดพรรครัฐบาล หรืออีกสถานการณ์หนึ่งที่อาจเป็นไปได้ ก็คือ มีการประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อหนีการถูกศาลสั่งยุบพรรค
ขณะที่ ไมเคิล มอนเตซาโน นักวิเคราะห์การเมืองอิสระที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า “ถ้าสมัครสามารถประคับประคองพรรคให้อยู่รวมกันได้ และจัดการประนีประนอมอย่างถูกต้องกับพวกปรปักษ์ของทักษิณ รัฐบาลของเขาก็อาจจะอยู่ได้นาน แต่คนส่วนใหญ่กำลังวางเดิมพันว่าจะอยู่ได้ไม่นานหรอก”
สำหรับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล เอเชีย ได้ให้ความเห็นไว้ในบทบรรณาธิการฉบับวานนี้ ว่า จากการหนีจากไปอังกฤษของ พ.ต.ท.ทักษิณ หนทางข้างหน้าสำหรับประชาธิปไตยไทยก็ยังไม่มีความชัดเจน
วอลล์สตรีทเจอร์นัล เอเชีย บอกว่า ในสภาพปัจจุบัน อนาคตของประเทศดูจะอยู่ในมือของศาล และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยที่ทหารก็ปรากฏตัวอยู่เป็นภูมิหลัง สภาพเช่นนี้อาจจะเป็นสูตรสำหรับเสถียรภาพในระยะสั้น
แต่บทบรรณาธิการนี้ กล่าวว่า ไทยยังคงไม่มีวิธีที่จะทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากลึก หรือทำให้บรรดาผู้นำทั้งหลายต้องถูกตรวจสอบแสดงความรับผิดชอบจากประชาชนให้มากขึ้น