xs
xsm
sm
md
lg

เร่งแก้รธน.ประเด็นร้อน ไม่สนผลศึกษาของกมธ. -"ชัย"เด้งรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (28 ก.ค.) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่มี ผช.ศ.วุฒิศักดิ ลาภเจริญทรัพย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญตัวแทนจากองค์กรอิสระ มาร่วมชี้แจงปัญหาในการใช้รัฐธรรมนูญปี 50 อาทิ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. นายวุฒิพงษ์ เจริญวงศ์ ผู้ตรวจการอัยการ และผู้แทนพรรคการเมือง ร่วมเข้าสังเกตการณ์ อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายเอกพจน์ ปานแย้ม รองโฆษกพรรคชาติไทย
นายสุทธิพล กล่าวว่า ถ้าเราดูใน รธน. 50 ที่เกี่ยวข้องกับ กกต. ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบสรรหา ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่น การสรรหาของประเทศไทยค่อนข้างจะเป็นระบบ ส่วนปัญหาภายในสำหรับ กกต.นั้น เรามีปัญหาเรื่องการคุ้มครองพยานในคดีเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครกล้ามาเป็นพยาน ดังนั้นก็ควรมีการแก้ไขในส่วนตรงนี้ ว่า จะแก้ไขใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการเลือกตั้ง หรือจะแก้ไขในรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่ข้อสรุป เพราะมีทั้งคนชอบ และคนไม่ชอบ ถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งการเมืองเปลี่ยนแล้วก็แก้ไขกันอีก เพราะเอาทุกอย่างไปรวมไว้ก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม จากที่ได้มีการพูดคุยกันใน กกต. พบว่ามีปัญหาในขั้นการปฏิบัติคือ กฎหมายท้องถิ่นไม่สอดคล้องกับกฎหมายการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ซึ่งทาง กกต.จะนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ให้ทันในสมัยประชุมนิติบัญญัติ
ส่วนที่มีการถกเถียงใน มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการยุบพรรคนั้น เรื่องนี้เรายังไม่มีการหารือกันใน กกต. แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้เป็นปัญหาของนักการเมือง แต่ไม่ ได้มีปัญหากับผู้ปฎิบัติ ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดมาจากการตีความ บางส่วนก็บอกให้กกต. ตีความที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง ซึ่งทาง กกต.เห็นว่าหากตีความไป ก็จะเกิดผลกระทบ จึงได้มีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ระหว่างกกต. และอัยการสูงสุด ซึ่งเห็นตรงกันว่า ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเราก็มองในแง่ดีว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยวางบรรทัดฐานให้เป็นประโยชน์กับการเมืองไทย ซึ่งเราก็ต้องรอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ด้านผู้ตรวจการอัยการ กล่าวว่า ในมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ของสำนักงานอัยการ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังติดขัดในเรื่อโครงสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม ทางอัยการก็ยังสนับสนุนให้มีมาตรา 255 ต่อไป แต่ทั้งนี้ เรื่องปัญหาการทำงานระหว่าง คตส. และอัยการนั้น ตรงนี้กฎหมายยังเขียนไม่สมบูรณ์ในเรื่องการยื่นฟ้องว่า เมื่อทาง คตส.หรือทาง ป.ป.ช.ส่งมาอัยการต้องส่งฟ้องเลยหรือไม่ หรือว่าจะต้องมีเงื่อนเวลากำหนดอย่างไร ดังนั้นจึงอยากให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่ารธน. 50 ดีกว่า รธน.40 เพราะช่วยไม่ให้เกิดการตอบแทน หรือเกิดหนี้ทางการเมือง นอกจากนี้ในเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ก็โปร่งใสขึ้นมากกว่าเดิม เพราะนอกจากรัฐมนตรียื่นแล้วก็มีการกำหนดให้ส.ส.และส.ว.ยื่นด้วย ซึ่งหากเป็นไปได้ ในอนาคตข้างหน้าหากมีการแก้ไขรธน. ควรมีการกำหนดให้องค์กรอิสระ ข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองท้องถิ่น ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินด้วย
ขณะที่นายเอกพจน์ ปานแย้ม กล่าวว่า เรื่องประเด็นการยุบพรรค ในมาตรา 237 ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินไป และค่อนข้างที่จะร้ายแรงมาก ดังนั้นควรมีการแก้ไขในประเด็นนี้ว่า กรรมการบริหารพรรค ผู้ใดมีส่วนรู้เห็น อาจจะให้รับผิดร่วมกัน ไม่ให้มีการโยงไปถึงการยุบพรรค
**วิปรัฐบาลยันไล่แก้รธน.บางมาตรา
นายพีระพันธ์ พาลุสุข ผู้ช่วยเลขาธิการวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิปรัฐบาลเห็นร่วมกันว่า จะเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา และดำเนินการไปทีละเรื่องไป เพื่อให้มีการอภิปรายกันอย่างเต็มที่ อาทิ มาตรา 190 เรื่องการทำสัญญากับต่างประเทศ อาจต้องมีการแก้ไขก่อน หรือเรื่องระบบการเลือกตั้งที่จะต้องหารือกัน แล้วโยงไปที่เรื่องของพรรคการเมือง และมาตราอื่นๆ ต่อไป โดยมาตราที่จะต้องเริ่มดำเนินการเป็นมาตราแรกๆ นั้น นอกจากมาตรา 190 แล้ว ยังมีมาตรา 237 ที่เกี่ยวกับการยุบพรรค มาตรา 266 อำนาจของส.ส. และ มาตรา 309 ที่รับรองการกระทำและองค์กรตามประกาศ คปค.
สำหรับการแก้ไขมาตรา 299 นั้น ตามหลักการแล้ว เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว มีการกำหนดโครงสร้าง และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ องค์กรเดิมควรมีเวลาทำงานไปสักระยะ เพื่อให้กลไกใหม่เข้าสู่บทถาวรโดยเร็วที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ให้อยู่จนครบวาระอย่างนี้
นายพีระพันธ์ กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ละมาตรา และแก้ไขเฉพาะมาตรา ที่มีปัญหาก่อนนั้น เป็นแนวทางที่วิปรัฐบาลได้เสนอเอาไว้ในช่วงแรก ที่มีแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะเห็นว่าการแก้บางมาตรานั้น จะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองน้อย แต่เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมพรรคพลังประชาชน ทางพรรคเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการแก้ไขยกฉบับ และทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งครั้งนี้เป็นการกลับมาใช้แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางมาตรา ที่สำคัญก่อนเหมือนเดิม ซึ่งเชื่อว่า จะไม่ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองมากขึ้น
ด้านนายไพจิตร ศรีวรขาน รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะดำเนินการโดย ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีความเห็นร่วมกัน มาเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะดำเนินการในมาตราที่มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะมีการแก้ไขก่อน อาทิ มาตรา 190 เรื่องสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรือมาตรา 266 ที่กำหนดหน้าที่ ส.ส. และเรื่องของระบบการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ส.ระบบสัดส่วน ที่จะยกร่างแก้ไขก่อนเป็นส่วนแรก สำหรับประเด็นที่ยังไม่ตกผลึกระหว่างพรรคการเมือง ประชาชนและสังคมก็จะเอาไว้อีกร่างฯ หนึ่งเพื่อคอยความชัดเจน
**"ชัย"พร้อมบรรจุญัตติแก้ไขรธน.
นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล จะยื่นแก้ไขรธน.หลังมีการเปิดสภา ว่า ยังไม่ทราบ เมื่อทำถูกต้องตามกม. ก็มีสิทธิ์ที่จะยื่นมาได้ จากนั้นก็ตรวจสอบความถูกต้องภายใน 7 วัน ส.ส.ต้องเข้าชื่อ 96 คน ถ้าเป็นสองสภา ก็ 126 คน ถ้าทุกอย่างถูกต้อง ก็ไม่มีปัญหา
ส่วนที่ หลายฝ่ายมองว่า การแก้ไขรธน. จะนำไปสู่ความขัดแย้ง นายชัย กล่าวว่า กระบวนการนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออก และแก้กฎหมาย ถ้ากระบวนการใดไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมไม่รอคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อน นายชัย กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่ถ้าเป็นมติพรรคร่วมรัฐบาล ก็เสนอได้
เมื่อถามว่า สมัยนิติบัญญัติ จะสามารถแก้ไขรธน. เสร็จหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า อยู่ที่อภิปรายของสมาชิก ถ้ามีความเห็นสอดคล้องกันมันก็เร็ว แต่ถ้าเห็นค้านกันมันก็ช้า ส่วนจะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ ต้องดูตัวบทกฎหมายว่าแก้ทั้งฉบับ หรือแก้เป็นบางส่วน อย่างไรก็ตาม กฎหมายรธน. เป็นเรื่องใหญ่ จะทำทันทีไม่ได้ ต้องเป็นเดือน
ผู้สื่อข่าวถามว่าญัตติของนายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ที่ค้างอยู่ในสมัยประชุม จะบรรจุเป็นวาระหรือไม่ นายชัย กล่าวว่าไม่สามารถบรรจุได้ เพราะส่งคืนไปแก้ไขแล้ว แต่ถ้าส่งมาใหม่ถูกต้อง ก็นำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คืนมา
กำลังโหลดความคิดเห็น