กกต.ชี้ รธน.ม.237 กรณียุบพรรค ไม่มีปัญหาในการปฏิบัติ ชี้เป็นเรื่องของนักการเมือง โยนศาล รธน.วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานให้สังคม ด้านตัวแทนอัยการสูงสุด ชี้ ปัญหาความคิดเห็นต่าง คตส.-อัยการมาจาก กม.ไม่ชัด
วันนนี้ (28 ก.ค.) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่มี ผช.ศ.วุฒิศักดิ ลาภเจริญทรัพย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ได้เชิญตัวแทนจากองค์กรอิสระ มาร่วมชี้แจงปัญหาในการใช้รัฐธรรมนูญปี 50 อาทิ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.นายวุฒิพงษ์ เจริญวงศ์ ผู้ตรวจการอัยการ และผู้แทนพรรคการเมืองร่วมเข้าสังเกตการณ์ อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายเอกพจน์ ปานแย้ม รองโฆษกพรรคชาติไทย
นายสุทธิพล กล่าวว่า ถ้าเราดูในรัฐธรรมนูญปี 50 ที่เกี่ยวข้องกับ กกต.ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบสรรหา ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่นการสรรหาของประเทศไทยค่อนข้างจะเป็นระบบ ส่วนปัญหาในสำหรับ กกต.นั้น เรามีปัญหาในเรื่องการคุ้มครองพยานในคดีเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครกล้ามาเป็นพยาน ดังนั้น ก็ควรมีการแก้ไขในส่วนตรงนี้ว่าจะแก้ไขใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือจะแก้ไขในรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ข้อสรุป เพราะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งการเมืองเปลี่ยนแล้วก็แก้ไขกันอีก เพราะเอาทุกอย่างไปรวมไว้ก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม จากที่ได้มีการพูดคุยกับใน กกต.พบว่า มีปัญหาในขั้นการปฏิบัติ คือ กฎหมายท้องถิ่นไม่สอดคล้องกับกฎหมายการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ซึ่งทาง กกต.จะนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรให้ทันในสมัยประชุมนิติบัญญัติ
เลขาธิการ กกต.กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการถกเถียงในมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการยุบพรรคนั้น เรื่องนี้เรายังไม่มีการหารือกันใน กกต.แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้เป็นปัญหาของนักการเมือง แต่ไม่ได้มีปัญหากับผู้ปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดมาจากการตีความ บางส่วนก็บอกให้ กกต.ตีความที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง ซึ่งทาง กกต.เห็นว่า หากตีความไปก็จะเกิดผลกระทบ จึงได้มีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กกต.และอัยการสูงสุด ซึ่งเห็นตรงกันว่า ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเราก็มองในแง่ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยวางบรรทัดฐานให้เป็นประโยชน์กับการเมืองไทย ซึ่งเราก็ต้องรอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ด้าน ผู้ตรวจการอัยการ กล่าวว่า ในมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ของสำนักงานอัยการก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังติดขัดในเรื่อโครงสร้าง แต่อย่างไรก็ตามทางอัยการก็ยังสนับสนุนให้มีมาตรา 255 ต่อไป แต่ทั้งนี้เรื่องปัญหาการทำงานระหว่าง คตส.และอัยการนั้นตรงนี้กฎหมายยังเขียนไม่สมบูรณ์ในเรื่องการยื่นฟ้อง ว่า เมื่อทาง คตส.หรือทาง ป.ป.ช.ส่งมาอัยการต้องส่งฟ้องเลยหรือไม่ หรือว่าจะต้องมีเงื่อนเวลากำหนดอย่างไร ดังนั้น จึงอยากให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย
ด้าน นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เพราะช่วยไม่ให้เกิดการตอบแทน หรือเกิดหนี้ทางการเมือง นอกจากนี้ ในเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินก็โปร่งใสขึ้นมากกว่าเดิม เพราะนอกจากรัฐมนตรียื่นแล้วก็มีการกำหนดให้ ส.ส.และ ส.ว.ยื่นด้วย ซึ่งหากเป็นไปได้ในอนาคตข้างหน้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรมีการกำหนดให้องค์กรอิสระ ข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองท้องถิ่นยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินด้วย
ขณะที่ นายเอกพจน์ กล่าวว่า เรื่องประเด็นการยุบพรรคในมาตรา 237 ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินไปและค่อนข้างที่จะร้ายแรงมาก ดังนั้น ควรมีการแก้ไขในประเด็นนี้ ว่า กรรมการบริหารพรรคผู้ใดมีส่วนรู้เห็นอาจจะให้รับผิดร่วมกัน ไม่ให้มีการโยงไปถึงการยุบพรรค