“สมชัย” ไม่หวั่นโดนถอดถอน ย้อนถามหาก กกต.มาโดยไม่ชอบ แล้ว ส.ส.ที่อยู่ในสภามาโดยชอบด้วยหรือไม่ แจงเหตุส่ง “ชิมไปบ่นไป” ให้ ศาล รธน.วินิจฉัย เหตุเพราะกฎหมายหาข้อข้อยุติไม่ได้กรณี “หมัก” เป็นพิธีกร เข้าข่ายตำแหน่งต้องห้ามหรือไม่
วานนี้ (21 ก.ค.) นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชน มีมติจะยื่นถอดถอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน และ กกต. เนื่องจากเข้ารับตำแหน่งโดยไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ว่า ไม่เป็นไร เพราะมาด้วยกันก็ไปด้วยกัน และ กกต.ก็ไม่ได้เป็นห่วงอะไร แต่ กกต.เคยหารือกันในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งแล้วว่าจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ ก่อนหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนระบุไว้ว่าให้รับเงินเดือนหลังจากที่รับการโปรดเกล้าฯ แล้ว กกต.จึงเกรงว่าจะไม่ได้รับเงินเดือน เพราะเข้ารับตำแหน่งอย่างไม่สมบูรณ์
“แต่ผมได้รับทราบคำตอบจากที่ประชุม กกต.ว่า ได้มีการสอบถามไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว และก็ได้รับการยืนยันว่าการเข้ารับตำแหน่งนั้นมีผลตามกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับการโปรดเกล้าฯ เนื่องจากขณะนั้นได้มีการปฏิวัติ จึงอยู่ในช่วงอำนาจของคณะปฏิวัติที่จะจัดตั้งอะไรก็ได้ จึงถือว่าการทำหน้าที่ของ กกต.ทำโดยชอบแล้ว ถ้าการทำงานของ กกต.ไม่ชอบ แล้วจะมีรัฐบาลได้อย่างไร” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่มาของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า คตส.มีอำนาจตรวจสอบ เนื่องจากมีกฎหมายรองรับ ซึ่งตนก็เห็นว่าเมื่อที่มาเหมือนกัน ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากจะมีการยื่นถอดถอนก็คงไปห้ามอะไรไม่ได้ กกต.จะอยู่หรือไปไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ว่าขณะนี้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งให้สมบูรณ์ หากจะมีองค์กรอื่นมาทำหน้าที่ที่ดีกว่าก็คงไม่ว่าอะไร
เมื่อถามว่า หาก กกต.เข้ามาโดยมิชอบ จะกระทบต่อผลการเลือกตั้ง และมติที่ กกต.ดำเนินการไปแล้วหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า คงไม่มีปัญหา เพราะมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนแล้ว แต่ตนถามว่าหากบอกว่า กกต.มาโดยมิชอบ แล้ว ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งมาทั้งหมดนั้น เข้ามาโดยชอบด้วยหรือไม่ เมื่อถามอีกว่า หากมีการถอดถอนจริง จะทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า กกต.ไม่เป็นปัญหา แต่คนอื่นจะเป็นปัญหาหรือไม่นั้นไม่ทราบ เพราะไม่สามารถรู้ใจคนอื่นได้
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงการที่ กกต.ไม่ชี้มูลความผิดกรณีการจัดรายการชิมไปบ่นไป แต่กลับส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถือว่าผิด เพราะหากจะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กกต.จะต้องชี้มูลความผิดไปด้วยนั้น กรณีดังกล่าว ในที่ประชุม กกต.พิจารณาสำนวนชิมไปบ่นไป และมีมติเช่นนั้น เนื่องจากคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้แยกพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ เรื่องการเป็นลูกจ้าง โดยรับจ้างจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด หรือไม่ และกรณีที่เป็นพิธีกรจะถือว่ามีตำแหน่งในบริษัทดังกล่าวด้วยหรือไม่
โดยคณะอนุกรรมการฯ ไม่ติดใจสงสัยในเรื่องความเป็นลูกจ้าง เนื่องจากไม่มีเอกสารชัดเจน ส่วนในประเด็นการเป็นพิธีกรนั้น ไม่สามารถสรุปได้ว่าจะเรียกได้ว่ามีตำแหน่งในบริษัทดังกล่าวหรือไม่ เพราะในทางกฎหมายแล้ว การห้ามดำรงตำแหน่งใดๆ ในบริษัท ไม่ได้ระบุถึงตำแหน่งพิธีกร ดังนั้นจึงไม่ได้สรุปว่าการจัดรายการชิมไปบ่นไปของนายกฯ มีความผิดทำให้ขาดคุณสมบัติหรือไม่ ทั้งนี้เมื่อสำนวนเข้าสู่ที่ประชุม กกต.เสียงส่วนมากจึงมีความเห็นตามที่อนุกรรมการฯ เสนอมา เพราะไม่อาจก้าวล่วงอำนาจในการตีความเรื่องของขอบเขตเกี่ยวกับการมีตำแหน่งในบริษัทได้
อย่างไรก็ตาม กรณีที่นายสมัคร เห็นว่า กกต.จะต้องชี้มูลความผิดก่อนจะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจาก พ.ร.บ.กกต.มาตรา 10 (11) ระบุว่า กรณีที่ กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.หรือ ส.ว.คนใดสิ้นสุดลง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ กกต.เห็นว่ามีปัญหาข้อกฎหมายอยู่ และคณะอนุกรรมการก็ได้สรุปมาอย่างนี้ จึงเห็นควรที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และวินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป