xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (2) (ว่าด้วยประชาธิปไตยประชาชนเอกลักษณ์ไทย)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ไหนๆ ได้พูดถึงเรื่องการทำงานของนักคิดทฤษฎีแล้ว ก็ขอขยายความต่ออีกเล็กน้อย ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันในระหว่างผู้ทำงานด้านนี้ก็แล้วกัน

ด้วยปัจจุบันนี้ ยังปรากฏมีนักคิดนักทฤษฎีหลากสำนัก ไม่ “ปลดปล่อยความคิด” ไม่ “หาสัจจะจากความเป็นจริง” ไม่สนใจเข้าไปสัมผัสหรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติทางสังคมของมวลชน มัวแต่สาละวนกับการหาคำตอบในตำราและการค้นคว้าเชิงวิชาการ เน้นการรวบรวมตัวเลขข้อมูลข้อเท็จจริงทั่วๆ ไป มิใช่การเข้าถึงความจริงที่กำลังดำเนินไปอย่างเป็นพลวัตในระดับบูรณาการ โดยเฉพาะคือตัวเหตุหรือปัจจัยหลักที่กำหนดกฎเกณฑ์ของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินไป โอกาสที่จะได้คำตอบที่ผิดไปจากความเป็นจริงก็มีมาก เมื่อบวกกับอัตตาเฉพาะตัว ติดยึดกับ “ตัวกู ของกู” ก็จะถูกตรึงอยู่กับที่ และถูกต้อนเข้ามุมอับทางความคิด พูดซ้ำซากในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับแก่นแท้ของปัญหา ไม่เกิดมรรคผลแก่การเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือกระทั่งสร้างความสับสนทางความคิด เกิดการโต้เถียงแบบหาสาระไม่ได้

จึงขอเรียกร้องให้ท่านเหล่านั้น ปรับเปลี่ยนแนวทางการศึกษาวิจัย หันมาหามวลชน เข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมของมวลชนอย่างแท้จริง

หลักยึดของผู้ทำงานด้านความคิดทฤษฎีที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวปฏิบัติทางสังคมของมวลชน ทำการวิเคราะห์วิจัย โดยใช้ทักษะทางทฤษฎีวิชาการที่เพียรฝึกปรือมานานจนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็จะนำไปสู่การเกิดมรรคผล มีผลงานสร้างสรรค์ทางทฤษฎีออกสู่สังคมได้อย่างไม่ขาดสาย และจะเป็นที่ยึดถือปฏิบัติของมวลชนได้เป็นอย่างดี

การทำงานทางด้านความคิดทฤษฎี มีลักษณะของความเป็นวิทยาศาสตร์สูง เพราะมีเป้าหมายที่จะเข้าถึงสัจธรรมหรือแก่นแท้ของปัญหา เพื่อนำไปสู่การอรรถาธิบายถึงความเชื่อมโยงและบทบาทต่างๆ ของตัวแปรหรือเหตุปัจจัยหลักที่กำลังแสดงบทบาท เพื่อเป็นกุญแจให้มวลชนนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวปฏิบัติ ขับเคลื่อนสังคมไทยจากมิติหนึ่งไปสู่อีกมิติหนึ่งได้อย่างถูกต้อง ไม่วกวน

ในการนี้ ผู้ทำงานด้านความคิดทฤษฎี จำเป็นจะต้องอาศัยทักษะและการสั่งสมทางปัญญา จะต้องทุ่มเทและอุทิศตัวเข้าสู่กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงอย่างปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

อีกทั้งการจับแก่นแท้ของกฎเกณฑ์ใหม่ได้ในทันทีเป็นเรื่องยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ มีแต่จะต้องตามติดความจริงแบบ “ถึงตัว” ต้องสัมผัส ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ต้องอยู่ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวของมวลชน และจะต้อง “ไว” ในสิ่งเกิดใหม่ที่ไม่เคยแสดงบทบาทหลักในอดีต แต่มี “แวว” ที่จะกลายเป็นตัวแปรหลักอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัจจุบันนี้ก็คือ บทบาทของ “ความเป็นเจ้าภาพ” ของขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่นี้

การค้นให้พบคำตอบ ทำได้ด้วยวิธีการทิ้งกากเอาแก่น ไม่ติดอยู่กับเรื่องที่เป็นกระพี้ หรือปรากฏการณ์ผิวนอก เช่น คำพูด ภาษา อารมณ์ หรือการแสดงออกของตัวบุคคลในบางเรื่องบางเวลา

การมองต้องมองให้เห็นทั้งหมด เห็นกระแส เห็นทิศทาง เห็น “ตัวการ” ที่เคลื่อนไหวอย่างเงียบเชียบอยู่เบื้องลึก

ในบริบทดังกล่าว ใครทำอะไรได้ก่อน ทำไปเลย เพราะกระบวนการถักทอต่อเชื่อมทางปัญญาที่เปรียบได้กับ “มือที่มองไม่เห็น” จะทำหน้าที่เชื่อมโยงผลงานของแต่ละคนเข้าหากัน ดึงดูดบุคลากรทางด้านความคิดทฤษฎีเข้าไปอยู่บนฐานเดียวกัน แล้วทำงานใหญ่ไปในทางเดียวกัน

นี่คือสัจธรรม ที่ผมประสบมากับตัวเอง

เอาละ ต่อจากนี้ก็มาทำความเข้าใจกันในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยที่กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งแบบ “วันต่อวัน” ในทิศทางที่ภาคประชาชนสะสมชัยชนะได้อย่างต่อเนื่อง ขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนับวันเติบใหญ่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ได้รับการยอมรับจากมวลชนที่ตื่นตัวขึ้นทุกหัวระแหงทั่วประเทศและในต่างประเทศ

อำนาจของประชาชนได้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ประชันกับอำนาจรัฐกลุ่มทุน มีแนวโน้มที่จะแสดงบทบาทนำและกำกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มอำนาจต่างๆ ในสังคมค่อยๆ ปรับตัวเข้าหา เพื่อประกอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจการเมืองใหม่ที่มีขบวนการการเมืองภาคประชาชนเป็นแกนนำ ตามแนวทาง “ภาคประชาชนเป็นเจ้าภาพ”

มองให้ถึงที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ของประเทศไทย นอกจากแรงกระตุ้นของ “ยุคเอเชีย” ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสำคัญภายนอกแล้ว มีสาเหตุสำคัญโดยตรงจาก “ภายใน” อันเป็นความขัดแย้งหลักของประเทศระหว่างกลุ่มทุนสามานย์ในระบอบทักษิณกับขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำ

ความจริงแล้ว ในระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีการรวมตัวกันเข้าเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ความขัดแย้งหลักดำเนินไปในระหว่างกลุ่มทุนใหม่ (ต่อมากลายพันธุ์เป็นกลุ่มทุนสามานย์ในระบอบทักษิณ) กับกลุ่มทุนเก่า (ประกอบด้วยทุนเชื้อเจ้าและทุนเชื้อจีนทั่วไป) แต่ด้วยความอ่อนล้าของกลุ่มทุนเก่า ทำให้กลุ่มทุนใหม่พองตัวอย่างรวดเร็ว และพัฒนาสู่ความเป็นทุนสามานย์ในระบอบทักษิณ และทำท่าว่าจะฮุบประเทศไทยไว้ในอุ้งมืออย่างง่ายดาย

ทว่า การผูกขาดประเทศไทยของกลุ่มทุนสามานย์ในระบอบทักษิณ ที่มากด้วยวิธีการฉ้อฉลเอาแต่ได้ แม้จะสามารถฉกฉวยโอกาสและช่องว่างในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เสริมสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือรัฐไทย แต่พฤติกรรมของกลุ่มทุนสามานย์ในระบอบทักษิณ สวนทางอย่างยิ่งกับกระบวนการพัฒนาทางการเมืองของกลุ่มประเทศก้าวหน้าในย่านเอเชียแปซิฟิก ที่มุ่งไปในทิศทางการสนองตอบต่อผลประโยชน์ของประชาชน เคารพสิทธิประโยชน์ของประชาชน เน้นความโปร่งใสของรัฐบาล และความเป็นธรรมาภิบาลในการใช้อำนาจของกลไกรัฐ

ที่สำคัญคือ กลุ่มทุนสามานย์ในระบอบทักษิณ ได้จงใจทำลายดุลอำนาจที่มีอยู่เดิมลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยการสถาปนาอำนาจการเมืองเหนืออำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ

ภายหลังพรรคไทยรักไทยได้ชัยชนะการเลือกตั้งทั่วไปและเข้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ก็ได้เร่งดำเนินการผูกขาดอำนาจไว้ในมือ ด้วยวิธีการซื้อบุคลากรในกลไกรัฐ แปลงทรัพย์สินของชาติเป็นของตัวเอง ใช้กลไกการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือควบคุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงเกิดแรงต้านจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากขบวนการการเมืองภาคประชาชน ที่มองเห็นความหายนะที่จะเกิดแก่ประเทศชาติและประชาชน

โดยเฉพาะแนวคิดเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปเป็นระบอบการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นความ “ถวิลหา”ตามใจอยากมากกว่าที่จะเคารพกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมไทย ไม่สอดคล้องอย่างยิ่งกับลักษณะสังคมไทยและเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องพัฒนาไปตามทิศทางพัฒนาการทางการเมืองของประเทศเอเชียแปซิฟิกใน “ยุคเอเชีย” ที่เน้นความเป็นประชาธิปไตยของประชาชน เน้นความโปร่งใส ความเป็นธรรมาภิบาล คำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการเปิดช่องโอกาสให้แก่ประชาชนในการพัฒนาชีวิตของตนเองให้สมบูรณ์รอบด้านจริงๆ เพื่อให้ประชากรของประเทศตนเป็นประชากรคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดีบนผิวโลกดวงนี้ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น