xs
xsm
sm
md
lg

กรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล
คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
12 กรกฎาคม 2551


1. คดีปราสาทพระวิหาร

ไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2502-2505

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 กัมพูชาเป็นโจทย์ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเพื่อฟ้องไทยเป็นจำเลย ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

2. คำพิพากษาของศาล

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิจารณาพิพากษาดังนี้

(2.1) ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

(2.2) สืบเนื่องมาจาก (1) วินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ว่าไทยมีพันธกรณีจะต้องถอนทหารและตำรวจหรือยามผู้รักษาการณ์ออกจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงที่อยู่บนดินแดนกัมพูชา

(2.3) ด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 วินิจฉัยว่าไทยมีพันธะจะต้องคืนให้กัมพูชาบรรดาวัตถุที่กัมพูชาอ้างถึงในคำแถลงสรุปข้อ 5 ซึ่งอันตรธานไปจากปราสาท หลังจากที่ไทยเข้าครอบครองเมื่อ พ.ศ. 2497

3. สถานภาพของแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา

ศาลไม่เห็นความจำเป็นตามคำขอของกัมพูชาที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่อง (3.1) สถานภาพของแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา หรือ

(3.2) เส้นเขตแดนในบริเวณที่พิพาท

ดังนั้น ศาลฯ จึงงดเว้นการวินิจฉัยความถูกต้องของเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา รวมทั้งสถานภาพของแผนที่ผนวก 1 ทั้งฉบับ หรืออีกนัยหนึ่ง ศาลไม่ทำหน้าที่กรรมการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

4. คำพิพากษาของศาล และทางปฏิบัติของรัฐคู่กรณี

(4.1) ผลผูกพันของคำพิพากษาข้อ 59 ของธรรมนูญศาลกำหนดว่า

“คำพิพากษาของศาล ไม่มีผลผูกพันผู้ใดนอกจากคู่กรณี และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น”

ฉะนั้น คำพิพากษาของศาล จึงผูกพันเฉพาะไทยและกัมพูชาใช้อ้างยันกับผู้อื่นมิได้ และไม่ผูกพันประเทศที่ 3 หรือองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ยูเนสโกหรือคณะกรรมการมรดกโลก และไม่มีผลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่อย่างใด เนื่องจากการขึ้นทะเบียนมิใช่ข้อพิพาทในคดีที่ศาลตัดสิน

(4.2) ข้อ 60 ของธรรมนูญศาลกำหนดว่า

“คำพิพากษาของศาลนั้นถึงที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์ ในกรณีที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลจะเป็นผู้ตีความเมื่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ”

โดยที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีมาตรการบังคับคดี จึงสุดแต่ความสมัครใจของคู่คดีที่จะพิจารณาดำเนินการ หากคู่กรณีไม่เห็นด้วยและไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลก็ไม่มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแต่ประการใด

ฉะนั้น ถึงแม้คำพิพากษาของศาลจะถึงที่สุด แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมีผลในการระงับกรณีพิพาท หากคู่กรณีโต้แย้ง คัดค้าน และไม่ยอมรับคำพิพากษาเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม กรณีพิพาทนั้นๆ ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้รับการพิจารณาใหม่หรือจนกว่าจะระงับไปโดยสันติวิธีอื่นๆ อาทิ โดยการเจรจา การประชุมปรึกษาหารือ หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน ไกล่เกลี่ย กรรมการประนอม หรืออนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ตามข้อ 33 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

5. จุดยืนและท่าทีของประเทศไทย

(5.1) ประเทศไทยพิจารณาเห็นว่า ศาลมิได้วินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหารตามกระบวนการที่ชอบ และได้ตัดสินคดีโดยขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ให้ประกาศจุดยืนของประเทศไทยให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล แต่ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ จึงได้ปฏิบัติตามพันธะข้อ 94 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งนี้โดยยื่นคำประท้วงคัดค้านไปยังสหประชาชาติและตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนว่าไทยสงวนสิทธิที่มีอยู่หรือพึงมีในอนาคตที่จะดำเนินการเรียกคืน ซึ่งการครอบครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี

(5.2) รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 และในวันรุ่งขึ้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แจ้งให้ประชาชนทราบทั่วกัน

(5.3) ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ถึง ฯพณฯ อู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก อ้างถึงคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยว่าไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านคำพิพากษาซึ่งขัดต่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ 1907 นอกจากนั้นยังขัดโดยตรงต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จะปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ นอกจากนั้น ไทยยังได้ตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่และจะพึงมีในการครอบครองปราสาทพระวิหารในอนาคตตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย อนึ่ง ข้อสงวนดังกล่าวมีผลตลอดไปโดยไม่จำกัดเวลา

(5.4) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ 17 พ.ศ. 2505 นายสมปอง สุจริตกุล ผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่ 6 (กฎหมาย) ได้รับมอบหมายจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยให้เป็นผู้แถลงย้ำให้ผู้แทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติในคณะกรรมการกฎหมายได้ทราบถึงจุดยืนของประเทศไทย ตลอดจนเหตุผลทางกฎหมายในการคัดค้านคำพิพากษาโดยละเอียด ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าผู้แทนประเทศอื่น รวมทั้งกัมพูชาได้แสดงความคิดเห็นหรือโต้แย้งแต่ประการใด

(5.5) ไทยได้ดำเนินการถอนบุคลากรจากปราสาทพระวิหาร และได้ล้อมรั้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบตัวปราสาทตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย และได้ย้ายเสาธงไทยออกจากบริเวณปราสาทโดยไม่มีการลดธง ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กัมพูชาส่งบุคลากรเข้าไปในบริเวณปราสาท โดยไทยมิได้สละอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ หรือยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาแต่อย่างใด บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่เดียวซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่ทับซ้อน”

6. ปฏิกิริยาของกัมพูชา

หลังจากไทยได้ถอนบุคลากรจากปราสาทพระวิหารตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กัมพูชาก็ยอมรับสภาพโดยดี และมิได้โต้แย้งในการที่ไทยได้แสดงความไม่เห็นด้วย และตั้งข้อสงวนไว้อย่างชัดเจน กัมพูชานิ่งเฉยตลอดระยะเวลา 4 ทศวรรษโดยมิได้เรียกร้องอะไรอื่นอีก

กัมพูชาเพิ่มเริ่มมีปฏิกิริยาเมื่อประมาณ 5-6 ปีมานี้ โดยแสดงเจตจำนงที่จะขยายอาณาเขตรุกล้ำเข้ามาในพระราชอาณาเขตของประเทศไทย เริ่มจากรื้อรั้วที่ไทยสร้างไว้รอบปราสาท นอกจากนั้น คนชาติกัมพูชายังลอบเข้ามาตั้งถิ่นฐานในวนอุทยานเขาพระวิหารในเขตแดนไทย รวมทั้งตั้งร้านค้าและแผงลอยซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพื่อขายสินค้าให้นักทัศนาจร ทั้งยังมีการกล่าวถึง “พื้นที่ทับซ้อน” ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนโดยพยายามขยายขอบเขตคำพิพากษาของศาล เมื่อ พ.ศ. 2505 โดยแอบอ้างว่าศาลให้ความเห็นชอบแผนที่ผนวก 1 ซึ่งไม่มีมูลความจริง ทั้งนี้ เนื่องจากในคำพิพากษานั้นเอง ศาลได้พิจารณาแล้วพบว่าแผนที่ผนวก 1 มีข้อผิดพลาดตามที่ปรากฏในรายงานคณะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกัมพูชาก็ไม่อาจหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่า “เส้นสันปันน้ำ” บนขอบหน้าผาคือเส้นเขตแดนที่แท้จริงระหว่างไทยกับกัมพูชา เส้นเขตแดนดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนไทย

7. การแปรเปลี่ยนท่าทีอย่างกะทันหัน

ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2551 ไทยได้แปรจุดยืนอย่างกะทันหัน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมแผทนที่ได้พร้อมใจกันยอมรับนับถืออำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ไทยได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 โดยลงนามย่อตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2551 เป็นเอกสารประกอบการเสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยกัมพูชาฝ่ายเดียวโดยไทยเป็นผู้สนับสนุนที่เข้มแข็ง

ในประเด็นที่ว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นสนธิสัญญาหรือไม่นั้น ไม่มีนักกฎหมายระหว่างประเทศคนใดสามารถปฏิเสธความจริงข้อนี้ได้ อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาได้ให้นิยามสนธิสัญญาไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นความตกลงระหว่างรัฐซึ่งทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะทำขึ้นในรูปแบบใดรวมทั้งอนุสัญญา ปฏิญญา หนังสือแลกเปลี่ยน หรือแถลงการณ์ร่วม ฯลฯ ให้ถือว่าเป็น “สนธิสัญญา” ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาของแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จึงเป็นการสละข้อสงวนของไทยเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารซึ่งมีผลต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 45 ปี ทั้งเป็นการถอนคำคัดค้านและยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารอย่างสิ้นเชิง โดยยกประโยชน์ให้กัมพูชาเต็มที่ นอกจากนั้น ยังอาจนำมาซึ่งการสูญเสียดินแดนเพิ่มมากขึ้น โดยไทยเป็นฝ่ายหยิบยื่นให้โดยปราศจากเงื่อนไขและปลอดผลตอบแทนต่อประเทศชาติ

8. การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ด้วยเหตุใดก็ตาม กัมพูชาได้พยายามขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว ทั้งที่โครงการมรดกโลกนี้ ถ้าเสนอโดยไทยร่วมด้วย จะเป็นโอกาสทองของทั้งสองประเทศในการประสานสัมพันธไมตรี และระงับข้อพิพาทที่ค้างคากันมาเนิ่นนามโดยไม่มีฝ่ายใดเสียประโยชน์ ทั้งยังจะนำมาซึ่งประโยชน์ร่วมอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายังไม่มีการเผยแพร่มติเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก คำขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชาได้อ้างอิงคำพิพากษาของศาลในคดีปราสาทพระวิหารอย่างผิดพลาด โดยอ้างว่าศาลรับรองแผนที่ผนวก 1 ท้ายคำฟ้องของกัมพูชาซึ่งแสดงเขตแดนเกินเลยเข้ามาในพระราชอาณาเขตหลายกิโลเมตรนั้นเป็นแผนที่ที่ถูกต้อง ความจริงศาลได้พบแล้วว่าแผนที่ฉบับนี้ผิดพลาด จึงมิอาจรับรองความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าวตามที่กัมพูชาแอบอ้างต่อคณะกรรมการมรดกโลก อนึ่งแผนที่ฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสโดยไทยมิได้เคยให้ความเห็นชอบหรือยอมรับมาก่อน

9. การยกเลิกแถลงการณ์ร่วมโดยรัฐบาลไทย

โดยที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้ปฏิบัติตาม และได้แจ้งให้กัมพูชาและคณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศได้รับทราบทั่วกัน เพื่อขจัดความเคลือบแคลงสงสัยอันอาจเกิดขึ้นได้ รัฐบาลไทยชอบที่จะแจ้งการเพิกถอนแถลงการณ์ร่วมฉบับดังกล่าวโดยด่วนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอีกต่อไป และเพื่อให้ประเทศไทยพ้นพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับข้อมติของกรรมการมรดกโลกโดยสิ้นเชิง อนึ่ง คณะกรรมการมรดกโลกไม่มีอำนาจใดๆ เหนือประเทศไทยอันเป็นรัฐเอกราชที่มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตน ไทยไม่ควรยินยอมให้ผู้ใด รัฐใด และองค์การใดเข้ามาใช้สิทธิอธิปไตยเหนือดินแดนไทย

ท่าทีที่ถูกต้องและมั่นคงของประเทศไทยจะโน้มน้าวให้กัมพูชาหันมาพึ่งไทย เนื่องจากกัมพูชาไม่อาจใช้ประโยชน์จากคำพิพากษาของศาลหรือมติของคณะกรรมการมรดกโลก เว้นเสียแต่ไทยจะตกลงยินยอมหยิบยื่นดินแดนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชาและพวกอีก 7 ประเทศโดยสมัครใจ
หนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่ส่งถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ลงวันที่ 6 ก.ค.2505 คัดค้านคำตัดสินของศาลโลกที่ให้ปราสาทพระวิหารตกเป้นของกัมพูชา
คำแปล
หนังสือจาก ฯพณฯ พ.อ.ถนัด คอมันตร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ถึง เลขาธิการสหประชาชาติ
เลขที่ (0601) 22239/2505

                                                                      กระทรวงการต่างประเทศ
                                         กรุงเทพฯ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962)

เรียน ฯพณฯ อู ถั่น
        รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ
        นิวยอร์ก

ข้าพเจ้าขออ้างถึงคดีปราสาทพระวิหารซึ่งกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) และศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร

ในคำแถลงเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวขัดอย่างชัดแจ้งต่อบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 ในข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตลอดจนขัดต่อหลักกฎหมายและหลักความยุติธรรม ถึงกระนั้นก็ตาม ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีแห่งคำพิพากษาตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ภายใต้ข้อ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ

ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่าการตัดสินใจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาจะตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนเพื่อสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต และขอยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งวินิจฉัยให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ข้าพเจ้าจึงขอเรียนมาเพื่อทราบพร้อมทั้งขอให้ท่านส่งเวียนหนังสือฉบับนี้ไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ

                                                       ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

                                                           (ลงนาม) ถนัด คอมันตร์
                                                               (ถนัด คอมันตร์)
                                 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทย

*แปลโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล
วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

รุมบี้"ปองพล" แขวนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก
นักวิชาการรุมบี้ ปองพล ขอแขวน ปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก เนื่องจากข้อตกลงร่วมไทย-กัมพูชาขัด กม.ตามคำตัดสินของศาล รธน. ชี้หาก ยูเนสโก ยังเฉยให้ลาออกจากภาคีสมาชิกและถอนมรดกโลกออกจากการขึ้นทะเบียนทั้งหมด ระบุหลังเป็นมรดกโลกไทยเสียอธิปไตยในบัฟเฟอร์โซน กลายเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่เข้ามาบริหารจัดการร่วม เผยกัมพูชา ว่าจ้างฝรั่งเศสบูรณะตัวปราสาทและพื้นที่ ให้จับตาคนไทย ทุรยศ เอาบริษัทไปรับงานร่วมบูรณะด้วย อดุล เตือนคนไทยรับกรรมจากแผนพัฒนาเขมร อัดปองพล มีใครเคยทำ ระบุถ้าเป็นจริงไทยเสียหายมาก ด้าน ชาวศรีสะเกษ เศร้าทั้งเมือง ขณะที่ชาวกัมพูชาฉลองชัยทั้งคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น