xs
xsm
sm
md
lg

รุมบี้"ปองพล" แขวนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการรุมบี้ "ปองพล" ขอแขวน "ปราสาทพระวิหาร" เป็นมรดกโลก เนื่องจากข้อตกลงร่วมไทย-กัมพูชาขัด กม.ตามคำตัดสินของศาล รธน. ชี้หาก "ยูเนสโก" ยังเฉยให้ลาออกจากภาคีสมาชิกและถอนมรดกโลกออกจากการขึ้นทะเบียนทั้งหมด ระบุหลังเป็นมรดกโลกไทยเสียอธิปไตยใน"บัฟเฟอร์โซน" กลายเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่เข้ามาบริหารจัดการร่วม เผย"กัมพูชา" ว่าจ้างฝรั่งเศสบูรณะตัวปราสาทและพื้นที่ ให้จับตาคนไทย "ทุรยศ" เอาบริษัทไปรับงานร่วมบูรณะด้วย "อดุล" เตือนคนไทยรับกรรมจากแผนพัฒนาเขมร อัด"ปองพล" มีใครเคยทำ ระบุถ้าเป็นจริงไทยเสียหายมาก ด้าน "ชาวศรีสะเกษ" เศร้าทั้งเมือง ขณะที่ชาวกัมพูชาฉลองชัยทั้งคืน

วานนี้ (8 ก.ค.) ที่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักวิชาการ นายทหาร และประชาชนได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางการดำเนินการของไทยภายหลังคณะกรรมการมรดกโลก ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามการเสนอของประเทศกัมพูชา

บี้ "ปองพล" ขอแขวนมติมรดกโลก

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ และอดีตอนุกรรมการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตนขอแนะนำให้นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย ควรทำเรื่องขอแขวนปราสาทพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ต่อคณะกรรมการมรดกโลก ออกไปก่อน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ ในประเทศไทยได้มีคำตัดสินแล้วว่า ข้อตกลงร่วมที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ทำร่วมกับกัมพูชานั้นขัดกับกฎหมาย ให้รอจนกว่าขั้นตอนกระบวนการทางฝ่ายไทยจะผ่านความเห็นชอบจากสภาเสียก่อน จึงค่อยพิจารณาในเรื่องดังกล่าว และอาศัยมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 ที่เมืองไครเชิร์ต ซึ่งระบุว่า การขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกกัมพูชาต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายไทย ไปคัดง้างกับมติครั้งที่ 32 ที่เมืองควิเบก เพราะขณะนี้ข้อตกลงร่วมที่ทำไปผิดกฎหมาย ก็เท่ากับไทยไม่มีความร่วมมือกับกัมพูชาแล้ว และขอคัดค้านทุกประการ

"หากยูเนสโก แจ้งว่าทำไม่ได้ก็ขอให้นายปองพล ลาออกจากการเป็นประเทศภาคีสมาชิกของยูเนสโก เพราะยูเนสโกไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่ยูเนสโกเป็นผู้กำหนด โดยการขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องพิจารณาให้ผ่านอย่างน้อย 3 หลักเกณฑ์ แต่กลับให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนโดยผ่านเพียงเกณฑ์เดียว โดยไทยจะขอสงวนสิทธิการลาออกจนกว่ารัฐสภาไทยจะพิจารณาเรื่องนี้ และขอให้ถอนมรดกโลกที่เราเคยขึ้นทะเบียนไว้ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, สุโขทัย, บ้านเชียง, ห้วยขาแข้ง, เขาใหญ่ และที่กำลังขอขึ้นบัญชีมรดกโลก คือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี และปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง เมืองต่ำ และอโรคยาศาลา จ.บุรีรัมย์ ก็ควรถอนเรื่องออกมาด้วยเพื่อเป็นการประท้วง และเพื่อให้ประเทศภาคีสมาชิกอีก 100 กว่าประเทศมาเป็นแนวร่วมของไทย และหันมาดูปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งนายปองพล น่าจะเดินเกมให้ฉลาดกว่านี้ และที่ระบุว่า ไทยจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกในพื้นที่ที่อยู่เขตไทยปีหน้านั้น คงไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแล้ว เหมือนโดนเจาะไข่แดงแล้ว ของเราเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้นจึงเสียเปรียบกัมพูชา"

ชี้พิรุธ 7 ประเทศบริหาร

นายเทพมนตรี กล่าวต่อว่า ผลจากการที่คณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบแผนที่ที่ทางกัมพูชาเสนอซึ่งใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 จะทำให้กินพื้นที่ดินไทยเข้ามาถึงบริเวณบาราย อีกทั้งคณะกรรมการมรดกโลกระบุให้มี 7 ประเทศเข้ามาบริหารจัดการรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งน่าสังเกตว่าหากกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเพียงอย่างเดียวก็น่าจะมีประเทศที่เข้าไปบริหารจัดการเพียงประเทศเดียว ไม่จำเป็นต้องมีถึง 7 ประเทศ ซึ่งเท่ากับว่าบริเวณพื้นที่โดยรอบจะมีประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศมาตั้งอาณานิคมในพื้นที่เขตแดนไทย
 
"ผมสามารถบอกได้เลยว่าประเทศที่จะมามีส่วนในการบริหารจัดการนั้น ประกอบด้วยอเมริกา จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น กัมพูชา ส่วนอีกประเทศหนึ่งอาจเป็นอินเดีย ลาว หรือเบลเยียม ซึ่งการให้มิตรประเทศเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยจะกลายเป็นความวุ่นวาย และเป็นการยอมรับแผนที่ของกัมพูชาไปโดยปริยาย โดยการอ้างถึงการประกาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทั้งที่ไทยแสดงความไม่เห็นด้วยกับแผนที่ฉบับนี้มาตลอด ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของไทย แต่หลังเป็นมรดกโลกไทยจะกลายเป็นเพียง 1 ใน 7 ประเทศที่เข้าไปบริหารจัดการเท่านั้น"

จับตาคน "ทุรยศ" ร่วมบูรณะ

นายเทพมนตรี กล่าวอีกว่า ล่าสุดตนมีเอกสารที่คณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศได้รับเป็นเอกสารยัดไส้ที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน คือ เอกสารเมื่อวันที่ 6 พ.ค.51 ที่กรุงปารีส ลงนามโดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตอนท้ายระบุว่า การกำหนดพื้นที่มรดกโลกจะไม่มีพื้นที่ที่เป็นกรณีพิพาท หรือเขตบัฟเฟอร์โซน และในข้อตกลงร่วมที่นายนพดล ไปลงนามกับกัมพูชาก็ยกพื้นที่พิพาทออก ซึ่งหมายความว่า กัมพูชาสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ และถ้ากัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนแต่ตัวปราสาทพระวิหาร ก็ไม่จำเป็นต้องมีประเทศต่างๆ เข้ามาบริหารจัดการถึง 7 ประเทศ แต่เพราะกัมพูชารู้ว่าแผนที่ที่เสนอไปนั้นกินพื้นที่อาณาเขตไทยมากกว่าจึงเสนอถึง 7 ประเทศให้เข้ามาบริหารจัดการ

"ขณะนี้ผมทราบว่า กัมพูชามีแผนบูรณะปราสาทพระวิหารแล้ว โดยได้ว่าจ้างบริษัทประเทศฝรั่งเศสไปทำผังปราสาทพระวิหารอย่างละเอียด โดยมีเทคนิคการบูรณะต่างๆ พร้อมแล้ว ซึ่งจะมีกลุ่มคนไทยที่ทุรยศกลุ่มหนึ่ง เอาบริษัทในประเทศไทยขอไปร่วมบูรณะปราสาทพระวิหารด้วย พร้อมทั้งอยากให้คนไทยทุกคนช่วยกันจับตาดูความคิด และการกระทำของนายปองพลด้วย"

"พล.อ.ปฐมพงษ์"ไม่ยอมรับมติ

ด้าน พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ข้อสงสัยที่หลายฝ่ายออกมาระบุว่า พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร ได้ยืนยันแล้วว่าไทยจะไม่เสียดินแดนให้เขมรนั้น ตนคิดว่าเอกสารที่ พล.ท.แดนได้รับจากกระทรวงการต่างประเทศนั้น เป็นแผนที่ฉบับเดียวกับที่ใช้แนบท้ายเพื่อยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่ หรือเป็นแผนที่เดียวกับที่เอามาให้คนไทยทั้งประเทศดู ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอาจจะถามเจ้ากรมแผนที่ทหารไปเพียงว่า แผนที่ดังกล่าวกินดินแดนของประเทศไทยไปหรือไม่ ซึ่งเมื่อไม่กินดินแดนทหารก็ตอบว่าไม่กินดินแดน ซึ่งตนเชื่อว่าทหารอาจจะรู้อะไรมาก แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาไม่พูด ก็ต้องเก็บเงียบเอาไว้ และไม่เชื่อว่าทหารจะไม่รู้อะไรเลย นอกจากนี้ในพื้นที่พิพาทที่ถูกนำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยให้ 7 ประเทศเข้าไปบริหารนั้น หากมีการถอนจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไทยก็จะสูญเสียพื้นที่ดังกล่าวไป

"ทุกคนด่าว่ารัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่รัฐบาลทหารก็ไม่เคยทำสิ่งเลวทรามต่ำช้าเช่นนี้มาก่อน แต่รัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้ง ทำไมถึงได้กระทำสิ่งเลวทรามเช่นนี้ได้ ดังนั้น ประชาชนก็ควรออกไปด่ารัฐบาลชุดนี้ และไม่ว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติอย่างไร ผมก็จะไม่รับมตินั้น และไม่ยอมเสียอธิปไตยของชาติอย่างเด็ดขาด"

ทางด้าน น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานสมัชชาประชาชน กทม.กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลไทยจะยืนยันมาตลอดว่าประเทศไทยไม่ได้สูญเสียดินแดน แต่ในความเป็นจริงเราสูญเสียอธิปไตยในเขตพื้นที่ N3 หรือพื้นที่อนุรักษ์ ที่เป็นของเรา แต่ต้องให้ประเทศอื่นอีก 6 ประเทศเข้ามาร่วมจัดการ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวกินอาณาบริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,900 ไร่ อย่างที่ไม่ควรจะต้องเสียไป

นอกจากนี้ การที่หลายฝ่ายออกมาโจมตีว่านักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เป็นการปลุกระดมให้คลั่งชาติ หรือมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ขอยืนยันว่าเกลุ่มประชาชนชาวไทยผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย ดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 ที่ระบุว่าประชาชนชาวไทยทุกคน มีหน้าที่พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ซึ่งนักวิชาการ และภาคประชาชนจะดำเนินการทวงคืนปราสาทพระวิหารอย่างกล้าหาญต่อไป

แถลงการณ์ประณามรัฐบาล

ขณะที่ นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล ผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อ่านคำแถลงการณ์ กรณีปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ในนามกลุ่มประชาชนชาวไทยผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย ซึ่งมีใจความสำคัญ ดังนี้...เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเมิดสิทธิพลเมือง เพราะการบริหารจัดการประเทศ กรณีการดำเนินการเจรจาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้นมีผลผูกพันต่อประเทศ

โดยผลผูกพันต่อประเทศตามแถลงการณ์ร่วมนั้นรัฐบาลไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร และบริเวณพื้นที่โดยรอบ ซึ่งข้อสงวนของไทยครอบคลุมถึงสิทธิของไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ และ/หรือจะพึงมีในอนาคต ตามกฎบัตรสหประชาชาติและธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทุกข้อบท รวมทั้งข้อ 60 ซึ่งไม่มีการจำกัดเวลา 10 ปี ดังเช่น ข้อ 61 ซึ่งมักมีผู้เข้าใจที่สับสนและคลาดเคลื่อน และข้อ 33 ของกฎบัตรสหประชาชาติ รับรองสิทธิของประเทศคู่พิพาทอย่างกว้างขวางตามที่ไทยสงวนสิทธิไว้นั้นถูกเพิกถอนไปด้วยแถลงการณ์ร่วมนี้

นอกจากนี้ไทยยังเสียอธิปไตยในเขตพื้นที่ N3 (หรือพื้นที่อนุรักษ์) โดยยอมรับการบริหารจัดการตามที่กัมพูชาเสนอ และในที่สุดแล้วไทยจะเป็นเพียง 1 ใน 7 ประเทศผู้บริหารจัดการและมีผลให้ไทยยอมรับรองแผนที่ของกัมพูชา ข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการเยียวยาแก้ไขให้รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมอย่างเร็วที่สุด ยกเลิกการรับรองแผนที่ของกัมพูชาและเร่งสำรวจและจัดการหลักเขตแดนให้ชัดเจน หากรัฐบาลจะบอกขอขึ้นทะเบียนร่วมองค์ประกอบอื่นๆ ในปีหน้า อย่างไรนั้นขอให้ฟังความคิดเห็นของประชาชนและให้คำนึงถึงมิติเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์และความเป็นธรรมของประชาชนและประเทศทั้งสองที่พึงมีทั้งสองฝ่าย

จวกยับตั้ง กก.7 ปท.ไทยเสียหายหนัก

ส่วน ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กล่าวว่า จากการติดตามการให้สัมภาษณ์ของนายปองพล ที่ระบุว่าคณะกรรมการมรดกโลกฝ่าผืนหลักการที่ให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้นั้น แท้จริงแล้วกรรมการมรดกโลก ไม่ได้ฝ่าฝืนอะไร เพราะถือว่าปราสาทพระวิหาร เข้าหลักเกณฑ์ข้อที่ 1 แต่ที่ถือว่าผิดปกติและอาจจะนอกกรอบไปมากก็คือการที่มาบอกว่าคณะกรรมการมรดกโลก แนะนำให้ไทยนำเสนอพื้นที่เชื่อมต่อในฝั่งไทย รวมทั้งอุทยานแห่งชาติ และบริเวณพื้นที่เทือกเขาพนมดงรัก ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะพื้นที่ที่เราอยากจะเสนอเชื่อมนั้นคงเป็นไปไม่ได้แล้ว การเอาพื้นที่เราไปร่วมประกอบถ้าเป็นทางวัฒนธรรม ซึ่งได้แนะตลอดว่าต้องเสนอขึ้นทะเบียนร่วมกัน ถ้าจะทำตรงนี้ ซึ่งเป็นจุดยืนมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาได้ยืนยันมาตลอดให้ขึ้นร่วมกัน เพื่อให้เป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อทำแผนอนุรักษ์ เพราะเราจะได้กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกัน

"ต้องไม่ลืมว่าองค์ประกอบหลัก คือ ตัวปราสาทพระวิหารและสิ่งที่รอบๆร่วมสมัยที่จะ เอาเข้าไปเป็นส่วนประกอบรอง การจะมาขอขึ้นเองคงไม่ได้ ถ้าจะมีการทำอย่างนั้นเขมรต้องเห็นด้วย เพราะตัวองค์ประกอบหลักอยู่ที่นั่น แต่ที่ผ่านมาทำมาเขาก็ไม่ยอม ให้ไทยเข้าร่วมอยู่แล้ว จึงออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งผมมองว่าเป็นการพูดเพื่อปลอบใจ และลดกระแสมากกว่า อีกทั้งถ้าเป็นไปตามข้อเสนอดังกล่าว ยิ่งเป็นได้ยาก มาก เพราะการเสนอขึ้นทะเบียนอุทยานนั้น ทางไอยูซีเอ็นจะเป็นหน่วยงานประเมินมรดกโลกทางธรรมชาติที่จะเสนอขึ้นทะเบียนมีความโดดเด่นและมีคุณค่า ศักยภาพหรือไม่ ทั้งนี้ขอบอกได้เลยว่าพื้นที่ที่กล่าวถึงไม่มีคุณค่าเด่นอะไร นอกจากนี้ถ้าอยากจะขึ้นทะเบียน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปผูกพันกับตัวปราสาทด้วย"

ศ.ดร.อดุล กล่าวอีกว่า สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและถือเป็นสิ่งผิดปกติอย่างมากก็คือการที่บอกว่าจะให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 7 ชาติรวมทั้งไทยและเขมรเข้ามาดูแลจัดการพื้นที่มรดกโลกปราสาทพระวิหาร นัยนี้แสดงว่าจะต้องมีการจัดทำแผนร่วมกัน ซึ่งก็รวมถึงจะมาใช้พื้นที่ฝั่งไทยด้วย ตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวนายปองพล ควรจะแถลงคัดค้านเพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจริงก็พิลึกมากและจากที่ตนมีประสบการณ์มา 10 ปีและเป็นประธานมา 2 สมัย ได้พิจารณามาและรู้ระเบียบข้อบังคับอย่างดี การที่คณะกรรมการมรดกโลกชุดนี้จะตะแบงออกมานอกกรอบแบบนี้ โดยเฉพาะการให้ชาติอื่นมาจัดการพื้นที่เป็นเรื่องประหลาดมาก

"โดยส่วนตัวแล้วผมรู้จักนายปองพลดีทั้งที่เคยมาปรึกษาเรื่องศิลาจารึกและในฐานะที่เป็น รมว.ศึกษาธิการในยุคทักษิณ 1 ผมรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร และเนื้อแท้เขาว่าเป็นเช่นไร ผมรู้ว่าเขาเป็น 1 ใน 111 สมาชิกไทยรักไทย ผมรู้ว่าเขาเป็นรัฐมนตรีศึกษาสมัยทักษิณ 1 แม้ว่าเขาจะย้ำตลอด มาหา มารดน้ำสงกรานต์ทั้งๆที่ช้าไปมากแล้ว ผมก็รับ ที่เขาพูดย้ำว่ายึดจุดยืนการขึ้นทะเบียนร่วม แต่มาตอนนี้กลับไปสนับสนุนนพดล ผมรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร"

อัดซ้ำไม่เห็นค่าด้าน"วัฒนธรรม"

ส่วนทางด้าน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและนักมานุษยวิทยา กล่าวว่า การที่คณะกรรมการมรดกโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้นั้นถือเป็นการลดเครดิตของคณะกรรมการอย่างมาก เนื่องจากผ่านเกณฑ์เพียง 1 ข้อเท่านั้น ซึ่งทำให้ความสง่างามและการเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านวัฒนธรรมที่สมบูรณ์เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะโบราณสถานที่สำคัญที่เป็นองค์ประกอบร่วมยังอยู่ในดินแดนไทย

"การตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลกถือว่า ลดเครดิตตัวเองอย่างมาก ทำให้เห็นว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นเพียงเรื่องของการท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งหลักการแล้วการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของมนุษย์ชาติ การที่ตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียน จึงไม่ใช่การเรียนรู้วัฒนธรรมที่สมบูรณ์"

รศ.ศรีศักร กล่าวอีกว่า การที่ไทยไปยอมรับตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมทั้ง 7 ชาตินั้น ถือว่าเป็นการโง่ซ้ำครั้งที่ 3 เนื่องจากพื้นที่อนุรักษ์ที่จะให้ 7 ชาติเข้ามาพัฒนานั้น เป็นดินแดนของประเทศไทย เราสามารถที่จะตั้งคณะกรรมการ ร่วมนักวิชาการ ประชาชนของเรามาวางแผนพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้มาจำเป็นจะต้องให้ คณะกรรมการ 7 ประเทศเข้ามาบริหาร นั้นเท่ากับเรา ตกหลุมพรางได้ เพราะ ดินแดนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนนั้นเป็นดินแดนไทย ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ ทั้ง 7 ประเทศเข้ามาช่วยบริหาร เมื่อเป็นของเราเราก็สามารถบริหารจัดการเองได้

จี้"นพเหล่"ไขก๊อกทันทีที่ถึงไทย

ผศ.ปกรณ์ ปรียากร คณบดีคณะรัฐศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลอย่างรุนแรง ดังนั้น ครม.ควรเร่งออกมาชี้แจงพร้อมกับกล่าวขอโทษประชาชนเพื่อลดกระแสทางการเมืองที่จะพุ่งเข้าสู่รัฐบาล

ขณะที่ นายนพดล ในฐานะผู้ที่ลงนามในสัญญา จะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออกทันทีที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ หากยังไม่ยอมออกจากตำแหน่งจะยิ่งกลายเป็นการเติมเชื้อให้การเมืองมีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่า ส.ส. ฝ่ายค้าน ส.ส.และประชาชนจะรวมตัวล่ารายชื่อ 20,000 รายชื่อ เพื่อขอถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกจากตำแหน่ง

รุมตราหน้า"หุ่นเชิด"ขายชาติ

ส่วนที่ จ.ศรีสะเกษ ภายหลังทราบข่าวว่าปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ปรากฏว่าบรรยากาศในเขตพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนไทย-กัมพูชาที่ตั้งของประสาทพระวิหารเป็นไปอย่างเงียบเหงา ชาวกันทรลักษ์พากันจับกลุ่มพูดคุยถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับสภากาแฟ อ.กันทรลักษ์ กลุ่มสมาชิกสภากาแฟต่างวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันเป็นหลัก รวมถึงอนาคตของรัฐบาลนายสมัครและชะตากรรมของนายนพดล ที่ถูกประชาชนรุมตราหน้าว่าเป็นรัฐบาลขายชาติไปแล้ว โดยเฉพาะนายนพดล ผู้เป็นชนวนนำประเทศไทยไปสู่การสูญเสียดินแดนและอธิปไตยบนเขาพระวิหาร

เขมรกระหึ่มเมืองฉลองชัย

ด้าน ชาวกัมพูชาที่ดีอกดีใจอย่างสุดขีดพากันเต้นรำตามเพลงไปตามถนนกรุงพนมเปญเมื่อวันอังคาร (8 ก.ค.) หลังได้ทราบข่าวการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกถึงแม้ว่าจะยังมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดนที่ตั้งและรอบๆ ปราสาทที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 11 มาเป็นเวลายาวนาน โดยคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 21 ประเทศ ที่ประชุมกันในเมืองควีเบคประเทศแคนาดาก็ได้ลงมติรับรองข้อเสนอของรัฐบาลกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

"นี่เป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งสำหรับกัมพูชากับประชาชนของเรา เช่นเดียวกันกับประชาชนในภูมิภาคและในโลกโดยรวม" นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสมเด็จฯ ฮุนเซน กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐ

ผู้ชมโทรทัศน์พากันถือธงชาติขณะยืนฟังคำแถลงของนายกรัฐมนตรีในตอนเช้าวันเดียวกัน ตามวัดต่างๆ ในเมืองหลวงมีการลั่นฆ้อง ขณะที่ชาวบ้านพากันไปตลาดและเจ้าหน้าที่ทางการเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

ขณะที่กำลังฟังผลการพิจารณา (ของคณะกรรมการมรดกโลก) ชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งวิ่งลงสู่ท้องถนนพากันร้องเพลงเต้นรำตามเพลง โบกธงชาติและเดินขบวนไปรอบๆ เมืองหลวง

แม่ค้า-นักศึกษาร่วมด้วย

"ไชโย, ปราสาทพระวิหาร, แหล่งมรดกโลก!" ผู้เดินขบวนรายหนึ่งตะโกนผ่านเครื่องโทรโข่งท่ามกลางเสียงเชียร์จากฝูงชน

มอม (Mom) แม่ค้าวัย 20 ปีเข้าร่วมการเฉลิมฉลองด้วย เธอลงสู่ท้องถนน เต้นรำตามจังหวะและเสียงกลอง โบกธงและเต้นไปรอบตลาดปสาร์ทะไมย (Psar Tmay) ในเมืองหลวง

"แม่ค้าคนอื่นบอกหนู (เกี่ยวกับการตัดสินใจขององค์การยูเนสโก) และ หนูก็อยากจะมาที่นี่เพื่อร่วมฉลองความสำเร็จ" มอมกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

นักศึกษาและอาจารย์กว่า 200 คนร่วมกันโบกธงชาติ ร้องเพลงชาติ ที่ถนนหน้ามหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และสุขศึกษา ยวดยานที่ผ่านไปมาลดความเร็วลงและกดแตรร่วมการเฉลิมฉลอง

"หนูออกจากห้องเรียนมาและทุกคนก็หนีเรียนกัน พวกเราดีใจ" วาสนา (Veasna) นักศึกษาสาวปีที่ 5 วัย 23 ปีกล่าว

นายตุ้ย จำเริญ (Tuy Chamroen) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งนี้กล่าวว่า ตนเองสนับสนุนให้นักศึกษาออกจากห้องเรียนเพื่อลงถนน ไปร่วมการเฉลิมฉลอง

"ในฐานะที่เป็นชาวกัมพูชาคนหนึ่ง ผมรู้สึกภูมิใจมากและดีใจ ในข่าวเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเรารอคอยมาเป็นเวลา 30 ปี" นายจำเริญกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

การเฉลิมฉลองในกรุงพนมเปญจัดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างกัมพูชากับไทย ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วทางการได้ระดมตำรวจปราบจลาจลไปรักษาการณ์ที่สถานทูตไทย ด้วยเกรงว่ากรณีพิพาทพรมแดนจะนำไปสู่การเกิดความรุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น