นักวิชาการลั่นหลังเป็นมรดกโลกไทยเสียอธิปไตยในบัฟเฟอร์โซน กลายเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่เข้ามาบริหารจัดการร่วม เผยกัมพูชาว่าจ้างฝรั่งเศสบูรณะตัวปราสาทและพื้นที่ ให้จับตาคนไทย “ทุรยศ” เอาบริษัทไปรับงานร่วมบูรณะด้วย “พล.อ.ปฐมพงษ์” สงสัยกรมแผนที่ทหารได้ดูแผนที่ฉบับเดียวกับที่ใช้แนบท้ายเพื่อยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักวิชาการ นายทหาร และประชาชนได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางการดำเนินการของไทย ภายหลังคณะกรรมการมรดกโลก ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามการเสนอของประเทศกัมพูชา
นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ และอดีตอนุกรรมการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขอแนะนำให้นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย ควรทำเรื่องขอแขวนปราสาทพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ต่อคณะกรรมการมรดกโลกออกไปก่อน เนื่องจากศาลในประเทศไทยมีคำตัดสินว่าข้อตกลงร่วมที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ทำร่วมกับกัมพูชานั้นขัดกับกฎหมาย ให้รอจนกว่าขั้นตอนกระบวนการทางฝ่ายไทยจะผ่านความเห็นชอบจากสภาเสียก่อน จึงค่อยพิจารณาในเรื่องดังกล่าว และอาศัยมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 ที่เมืองไครส์เชิร์ช ซึ่งระบุว่าการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกกัมพูชาต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายไทย ไปคัดง้างกับมติครั้งที่ 32 ที่เมืองควิเบก เพราะขณะนี้ข้อตกลงร่วมที่ทำไปผิดกฎหมาย ก็เท่ากับไทยไม่มีความร่วมมือกับกัมพูชาแล้ว และขอคัดค้านทุกประการ
“หากยูเนสโกแจ้งว่าทำไม่ได้ ขอให้นายปองพลลาออกจากการเป็นประเทศภาคีสมาชิกของยูเนสโก เพราะยูเนสโกไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่ยูเนสโกเป็นผู้กำหนด โดยการขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องพิจารณาให้ผ่านอย่างน้อย 3 หลักเกณฑ์ แต่กลับให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนโดยผ่านเพียงเกณฑ์เดียว โดยไทยจะขอสงวนสิทธิการลาออกจนกว่ารัฐสภาไทยจะพิจารณาเรื่องนี้ และขอให้ถอนมรดกโลกที่เราเคยขึ้นทะเบียนไว้ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, สุโขทัย, บ้านเชียง, ห้วยขาแข้ง, เขาใหญ่ และที่กำลังขอขึ้นบัญชีมรดกโลก คือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี และปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง เมืองต่ำ และอโรคยาศาลา จ.บุรีรัมย์ ก็ควรถอนเรื่องออกมาด้วยเพื่อเป็นการประท้วง และเพื่อให้ประเทศภาคีสมาชิกอีก 100 กว่าประเทศมาเป็นแนวร่วมของไทยและหันมาดูปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งนายปองพลน่าจะเดินเกมให้ฉลาดกว่านี้ และที่ระบุว่าไทยจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกในพื้นที่ที่อยู่เขตไทยปีหน้านั้น คงไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแล้ว เหมือนโดนเจาะไข่แดงแล้ว ของเราเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้นจึงเสียเปรียบกัมพูชา” นายเทพมนตรีกล่าว
นายเทพมตรี กล่าวต่อว่า ผลจากการที่คณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบแผนที่ที่ทางกัมพูชาเสนอซึ่ง ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 จะทำให้กินพื้นที่ดินไทยเข้ามาถึงบริเวณบาราย อีกทั้งคณะกรรมการมรดกโลกระบุให้มี 7 ประเทศเข้ามาบริหารจัดการรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งน่าสังเกตว่าหากกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเพียงอย่างเดียว ก็น่าจะมีประเทศที่เข้าไปบริหารจัดการเพียงประเทศเดียว ไม่จำเป็นต้องมีถึง 7 ประเทศ ซึ่งเท่ากับว่า บริเวณพื้นที่โดยรอบจะมีประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศมาตั้งอาณานิคมในพื้นที่เขตแดนไทย ซึ่งตนสามารถบอกได้เลยว่า ประเทศที่จะมามีส่วนในการบริหารจัดการนั้น ประกอบด้วย อเมริกา จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น กัมพูชา ส่วนอีกอีกประเทศหนึ่งอาจเป็นอินเดีย ลาว หรือเบลเยียม ซึ่งการให้มิตรประเทศเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยจะกลายเป็นความวุ่นวาย และเป็นการยอมรับแผนที่ของกัมพูชาไปโดยปริยาย โดยการอ้างถึงการประกาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทั้งที่ไทยแสดงความไม่เห็นด้วยกับแผนที่ฉบับนี้มาตลอด ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของไทย แต่หลังเป็นมรดกโลกไทยจะกลายเป็นเพียง 1 ใน 7 ประเทศที่เข้าไปบริหารจัดการเท่านั้น
นายเทพมนตรี กล่าวอีกว่า ล่าสุดตนมีเอกสารที่คณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศได้รับ เป็นเอกสารยัดไส้ที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน คือ เอกสารเมื่อวันที่ 6 พ.ค.2551 ที่กรุงปารีส ลงนามโดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตอนท้ายระบุว่า การกำหนดพื้นที่มรดกโลกจะไม่มีพื้นที่ที่เป็นกรณีพิพาทหรือเขตบัฟเฟอร์โซน และในข้อตกลงร่วมที่นายนพดลไปลงนามกับกัมพูชาก็ยกพื้นที่พิพาทออก ซึ่งหมายความว่า กัมพูชาสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ และถ้ากัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนแต่ตัวปราสาทพระวิหาร ก็ไม่จำเป็นต้องมีประเทศต่างๆเข้ามาบริหารจัดการถึง 7 ประเทศ แต่เพราะกัมพูชารู้ว่าแผนที่ที่เสนอไปนั้นกินพื้นที่อาณาเขตไทยมากกว่าจึงเสนอถึง 7 ประเทศให้เข้ามาบริหารจัดการ
“ขณะนี้ผมทราบว่ากัมพูชามีแผนบูรณะปราสาทพระวิหารแล้ว โดยได้ว่าจ้างบริษัทประเทศฝรั่งเศสไปทำผังปราสาทพระวิหารอย่างละเอียด โดยมีเทคนิคการบูรณะต่างๆ พร้อมแล้ว ซึ่งจะมีกลุ่มคนไทยที่ทุรยศกลุ่มหนึ่ง เอาบริษัทในประเทศไทยขอไปร่วมบูรณะปราสาทพระวิหารด้วย รวมทั้งอยากให้คนไทยทุกคนช่วยกันจับตาดูความคิด และการกระทำของนายปองพลด้วย”
พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ข้อสงสัยที่หลายฝ่ายออกมาระบุว่า พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร ได้ยืนยันแล้วว่าไทยจะไม่เสียดินแดนให้เขมรนั้น ตนคิดว่าเอกสารที่ พล.ท.แดนได้รับจากกระทรวงการต่างประเทศนั้น เป็นแผนที่ฉบับเดียวกับที่ใช้แนบท้ายเพื่อยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่ หรือเป็นแผนที่เดียวกับที่เอามาให้คนไทยทั้งประเทศดู ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอาจจะถามเจ้ากรมแผนที่ทหารไปเพียงว่า แผนที่ดังกล่าวกินดินแดนของประเทศไทยไปหรือไม่ ซึ่งเมื่อไม่กินดินแดนทหารก็ตอบว่าไม่กินดินแดน ซึ่งตนเชื่อว่าทหารอาจจะรู้อะไรมาก แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาไม่พูดก็ต้องเก็บเงียบเอาไว้ และไม่เชื่อว่าทหารจะไม่รู้อะไรเลย นอกจากนี้ ในพื้นที่พิพาทที่ถูกนำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยให้ 7 ประเทศเข้าไปบริหารนั้น หากมีการถอนจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไทยก็จะสูญเสียพื้นที่ดังกล่าวไป
“ทุกคนด่าว่ารัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่รัฐบาลทหารก็ไม่เคยทำสิ่งเลวทรามต่ำช้าเช่นนี้มาก่อน แต่รัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้ง ทำไมถึงได้กระทำสิ่งเลวทรามเช่นนี้ได้ ดังนั้น ประชาชนก็ควรออกไปด่ารัฐบาลชุดนี้ และไม่ว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติอย่างไร ผมก็จะไม่รับมตินั้น และไม่ยอมเสียอธิปไตยของชาติอย่างเด็ดขาด” พล.อ.ปฐมพงษ์กล่าว
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานสมัชชาประชาชน กทม.กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลไทยจะยืนยันมาตลอดว่า ประเทศไทยไม่ได้สูญเสียดินแดน แต่ในความเป็นจริงเราสูญเสียอธิปไตยในเขตพื้นที่ N3 หรือพื้นที่อนุรักษ์ ที่เป็นของเรา แต่ต้องให้ประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศเข้ามาร่วมจัดการ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวกินอาณาบริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,900 ไร่ อย่างที่ไม่ควรจะต้องเสียไป นอกจากนี้ การที่หลายฝ่ายออกมาโจมตีว่านักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เป็นการปลุกระดมให้คลั่งชาติ หรือมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ขอยืนยันว่าเกลุ่มประชาชนชาวไทยผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย ดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 ที่ระบุว่าประชาชนชาวไทยทุกคน มีหน้าที่พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ซึ่งนักวิชาการ และภาคประชาชนจะดำเนินการทวงคืนปราสาทพระวิหารอย่างกล้าหาญต่อไป
อนึ่ง นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล ผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มธ.ได้อ่านคำแถลงการณ์ กรณีปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ในนามกลุ่มประชาชนชาวไทย ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย ซึ่งมีใจความสำคัญ ดังนี้
เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเมิดสิทธิพลเมือง เพราะการบริหารจัดการประเทศ กรณีการดำเนินการเจรจาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น มีผลผูกพันต่อประเทศ โดยผลผูกพันต่อประเทศตามแถลงการณ์ร่วมนั้น รัฐบาลไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร และบริเวณพื้นที่โดยรอบ ซึ่งข้อสงวนของไทยครอบคลุมถึงสิทธิของไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ และ/หรือจะพึงมีในอนาคต ตามกฎบัตรสหประชาชาติ และธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทุกข้อบท รวมทั้งข้อ 60 ซึ่งไม่มีการจำกัดเวลา 10 ปี ดังเช่น ข้อ 61 ซึ่งมักมีผู้เข้าใจที่สับสนและคลาดเคลื่อน และข้อ 33 ของกฎบัตรสหประชาชาติ รับรองสิทธิของประเทศคู่พิพาทอย่างกว้างขวางตามที่ไทยสงวนสิทธิไว้นั้น ถูกเพิกถอนไปด้วยแถลงการณ์ร่วมนี้ นอกจากนี้ไทยยังเสียอธิปไตยในเขตพื้นที่ N3 (หรือพื้นที่อนุรักษ์) โดยยอมรับการบริหารจัดการตามที่กัมพูชาเสนอ และในที่สุดแล้วไทยจะเป็นเพียง 1 ใน 7 ประเทศผู้บริหารจัดการ และมีผลให้ไทยยอมรับรองแผนที่ของกัมพูชา
ข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการเยียวยาแก้ไข ให้รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมอย่างเร็วที่สุด ยกเลิกการรับรองแผนที่ของกัมพูชา และเร่งสำรวจและจัดการหลักเขตแดนให้ชัดเจน หากรัฐบาลจะบอกขอขึ้นทะเบียนร่วมองค์ประกอบอื่นๆ ในปีหน้า อย่างไรนั้น ขอให้ฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้คำนึงถึงมิติเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์และความเป็นธรรมของประชาชนและประเทศทั้งสองที่พึงมีทั้งสองฝ่าย