xs
xsm
sm
md
lg

ไทยคดีศึกษาสู้ต่อ ดัน"แขวนพระวิหาร" ชะลอการขึ้นมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันไทยคดีศึกษาขอสู้ต่อ แนะ ปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ยื่นต่อยูเนสโก ให้ชะลอขอแขวนปราสาทเขาพระวิหารไว้ก่อนชี้เป็นเรื่องกระเทือนความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ

บ่ายวันนี้ (8 ก.ค.) ในการประชุมของนักวิชาการที่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ทำการหารือภายหลังที่ยูเนสโก มีมติให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยได้มีแถลงการณ์ร่วมกันหนึ่งฉบับต่อกรณีดังกล่าวภายใต้ชื่อ “กลุ่มประชาชนชาวไทย ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย”ว่า

กรณีปราสาทเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชานั้น 1.ถือเป็นเรื่อง ละเมิดสิทธิพลเมือง เพราะการบริหารจัดการประเทศ กรณีการดำเนินการเจรจาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกนั้น มีผลผูกผันต่อประเทศเท่ากับว่ารัฐบาลไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทเขาพระวิหาร และบริเวณ พื้นที่โดยรอบ

นอกจากนี้ ข้อสงวนของไทยครอบคลุมถึงสิทธิของไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ และ/หรือจะพึงมีในอนาคต ตามกฎบัตรสหประชาชาติและรัฐธรรมนูญศาลยุติธรรม ระหว่างประเทศทุกข้อบท รวมทั้งข้อ 60 ซึ่งไม่มีการจำกัดเวลา 10 ปี ดังเช่นข้อ 61 ซึ่งมักมีผู้เข้าใจที่สับสนและคลาดเคลื่อน และ ข้อ 33 ของกฎบัตรสหประชาชาติ รับรองสิทธิของประเทศคู่พิพาทอย่างกว้างขวางตามที่ไทยสงวนสิทธิ์ไว้นั้น ถูกเพิกถอนไปด้วยแถลงการณ์ร่วมนี้

ผลผูกพันต่อประเทศอีกหนึ่งข้อคือ ไทยเสียอธิปไตยในเขตพื้นที่ N3 (หรือ พื้นที่อนุรักษ์)โดยยอมรับการบริหารจัดการตามที่กัมพูชาเสนอ และในที่สุดแล้วไทยจะเป็น 1 ใน 7 ประเทศผู้บริหารจัดการ และการขึ้นทะเบียนของปราสาทเขาพระวิหารสำเร็จในครั้งนี้จะมีผลให้ไทยยอมรับรองแผนที่ของกัมพูชา(แผนที่ซึ่งถืออัตราส่วนแตกต่างจากของไทยมาโดยตลอด)

โดยทางกลุ่มประชาชนชาวไทย ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย ข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการเยียวยาแก้ไข ดังนี้ คือ 1. ให้รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมอย่างเร็วที่สุด 2. ยกเลิกการรับรองแผนที่ของกัมพูชา และ เร่ง สำรวจและจัดการหลักเขตแดนให้ชัดเจน 3.หากรัฐบาลจะบอกขอขึ้นทะเบียนร่วมองค์ประกอบอื่นๆ ในปีหน้าอย่างไรนั้น ขอให้ฟังความคิดเห็นของประชาชน และขอให้คำนึงถึงมิติเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์และความเป็นธรรมของประชาชนและประเทศทั้งสองพึงมี ทั้งสองฝ่าย

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แกนนำรวบรวมรายชื่อประชาชนไทยค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก กล่าวถึงทิศทางการแสดงความชัดเจนของประเทศไทย ที่ควรทำต่อไปหลังจากคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า

สิ่งที่รัฐบาลไทยและประชาชนไทยจะทำได้ต่อจากนี้ไป คือ การขอแขวนปราสาทเขาพระวิหารไว้ก่อน โดยคุณปองพล อดิเรกสาร ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก สามารถทำได้ต้องยื่นต่อยูเนสโกโดยเร็ว เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาระหว่างความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ ซึ่งไทยสามารถกระทำได้ในฐานะประเทศภาคีสมาชิกของยูเนสโก
เทพมนตรี ลิมปพยอม
ตนอยากฝากไปถึงประชาชนคนไทยทั้งหลาย ที่ยังไม่เข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ภายหลังจากที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกสำเร็จ ว่า เมื่อเขาได้เป็นมรดกโลกแล้วไม่มีทางที่จะยอมให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับฝ่ายไทยแน่นอน ชาวศรีสะเกษที่ขาดความเข้าใจอาจมองว่าการที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกย่อมเป็นผลดีในแง่ธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยว แต่หารู้ไม่ว่ากำลังจะถูกหลอก เพราะทันทีที่แผนพัฒนาเส้นทางมรดกโลกของกัมพูชาสำเร็จ เขาจะปิดตายฝั่งไทยอย่างแน่นอน ผลสุดท้ายฝ่ายไทยจะไม่สามารถดำเนินการใดได้เลยในเขตพื้นที่เขาพระวิหาร

ทางด้าน เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ อดีตอนุกรรมการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เสนอแนวทางภายหลังคณะกรรมการมรดกโลกประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามการเสนอของประเทศกัมพูชา

“ขอให้ยื่นอนุสัญญามรดกโลกไทย เพื่อขอแขวนปราสาทพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ไว้ก่อน เนื่องจากศาลในประเทศไทยมีคำตัดสินว่าข้อตกลงร่วมที่นาย นพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ทำร่วมกับกัมพูชานั้นขัดกับกฎหมาย”เทพมนตรีกล่าว

เทพมนตรีชี้ว่า สามารถแจ้งต่อทางยูเนสโกได้ว่า เรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ให้รอจนกว่าขั้นตอนกระบวนการทางฝ่ายไทยจะผ่านความเห็นชอบจากสภาเสียก่อน จึงค่อยพิจารณาในเรื่องดังกล่าวซึ่งหากทางคณะกรรมการมรดกโลกแจ้งว่าไม่สามารถกระทำได้ ก็ขอให้นายปองพล อดิเรกสาร ในฐานะตัวแทนของไทย ลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิก เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลกไม่เคารพกฎระเบียบที่ตนเองตั้งขึ้น ที่ระบุว่าการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องมีความสมบูรณ์ แต่การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาเพียงแค่ตัวปราสาทเท่านั้น ซึ่งนายปองพลในฐานะตัวแทนประเทศไทยมีสิทธิ์ที่จะเห็นว่าไม่ยุติธรรม

“ขอลาออกจากประเทศภาคีสมาชิก จนกว่าจะมีการอนุมัติให้แขวนปราสาทพระวิหาร และขอถอนมรดกโลกของไทยที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้ง 5 แห่งออกจากการเป็นมรดกโลก รวมทั้งขอถอนคำขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีก 2 แห่งที่ยื่นไว้ด้วยการกระทำดังกล่าวจะทำให้ประเทศภาคีสมาชิก 150 ประเทศได้หันมามองปัญหาและเห็นใจประเทศไทย”เทพมนตรีกล่าว

ส่วนทาง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ว่า ส่วนตัวแล้วตนไม่ขอยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว พร้อมนำแผนที่ทั้งเอกสารมาชี้แจงว่า หากพิจารณาตามแผนที่ที่ถูกต้องแล้ว ปราสาทพระวิหารยังเป็นของไทยตามภาคภูมิศาสตร์

และกล่าวถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้ทางทหารเคยรับรองแผนที่ของกัมพูชา ว่า อาจเป็นเพราะเอกสารที่ได้รับจากกระทรวงการต่างประเทศไม่ถูกต้อง และเป็นคนละชิ้นกับที่นำไปแสดงต่อคณะกรรมการมรดกโลก โดยมักจะได้รับคำอ้างว่าเป็นเอกสารลับ ไม่สามารถขอดูได้ และขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว และทหาร ที่มักจะถูกมองว่าเป็นเผด็จการ แต่ก็ไม่เคยขายชาติเหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดนี้

“หากไทยยอมรับให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในครั้งนี้ได้ ก็จะส่งผลกระทบกับพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่คาบเกี่ยวด้านชายแดนอื่นๆเช่นกัน”พล.อ.ปฐมพงษ์กล่าว
พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์
ทั้งนี้ทางด้าน สำนักงานองค์การยูเนสโกในกรุงเทพได้ส่งเอกสารที่มีเนื้อหายอมรับว่า “ปราสาทเขาพระวิหาร”เป็นมรดกโลกแล้ว ภายใต้การประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก โดยขั้นตอนกระบวนการต่างๆนั้น ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และ ข้อสรุปของการรับรอง การเป็นมรดกโลก ของ ปราสาทเขาพระวิหาร จาก คณะกรรมการมรดกโลกนั้นจะรู้ผลภายในอาทิตย์นี้

เขาพระวิหารได้ถูกประกาศเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ หลังจากที่คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาคุณสมบัติ ของข้อเสนอในการประชุมครั้งที่ 32 ใน เมือง ควิเบก ประเทศแคนาดา ในคณะกรรมการนี้มี สมาชิก ทั้งหมด 21 คนประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐบาล และ บุคคลธรรมดาอื่นๆ ซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมในการตัดสิน ว่าจะเป็นหรือไม่เป็น มรดกโลก

การประกาศครั้งนี้เป็นผลมาจาก 2 ข้อเสนอ ของ รองนายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา และ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย และในภายหลังประเทศไทยได้ ขอเลื่อนการประกาศรับมรดกโลกทางยูเนสโกยืนยันว่า การประกาศครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของ แผนการณ์ใหม่ ซึ่งแตกต่างจาก หนังสือแถลงการณ์ ที่ทั้งสองประเทศลงนามร่วมกันเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 2551

ในการตัดสินนี้ คณะกรรมการมรดกโลกได้ยอมรับว่าหนังสือแถลงการณ์ วันที่ 18 มิถุนายน นั้น หมดอายุ และไม่สามารถใช้ประกอบการพิจารณาได้ ทำให้มีการอ้างอิงถึงแผนที่ใหม่ที่เขียนขึ้นโดยทางกัมพูชา ซึ่งแตกต่างจากแผนที่ ที่แสดงอยู่ ในหนังสือแถลงการณ์ ซึ่งแผนที่ใหม่นี้ ได้ ระบุให้ ลด อาณาเขตในข้อเสนอ เพื่อ การประกาศเป็นมรดกโลก ทั้งยังเป็นที่ยอมรับอีกด้วยว่าในอนาคต การค้นหาทางประวัติศาสตร์ สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการตัดสินเพื่อเป็นมรดกโลก

คณะกรรมการมรดกโลก ยอมรับว่าภายใต้กฎหมาย มาตรา ที่ 11 วรรค 3 ของการประชุมเพื่อประกาศว่า เขาพระวิหารเป็น มรดกโลกนั้นไม่มีความนัย ที่จะเป็นมูลเหตุให้ มีการต่อรองเกี่ยวกับ เขตชายแดน ระหว่างสองประเทศ อีกทั้งการตัดสินครั้งนี้ก็ไม่มีความลำเอียงต่อ ความชอบธรรมของรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะทำข้อตกลงฉันท์มิตร ในการถกกันเรื่องเขตแดน

การตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ สนับสนุนให้ ประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ร่วมมือกัน เพื่อปกป้องทรัพย์สินของโลกชิ้นนี้ และ ทางกัมพูชาก็ได้เรียกร้องให้มีการประชุม คณะกรรมการการร่วมมือนานาชาติในเรื่องการป้องกันทรัพย์สิน

โดยได้เชิญประเทศไทยและสมาชิกที่เหมาะสม เข้าเป็น สมาชิกของคณะกรรมการนี้ อีกทั้งทางประเทศกัมพูชาได้เรียกร้องให้มีการจัดการพื้นที่ทับซ้อนให้ชัดเจน และทำแผนการจัดการทรัพย์สินใน พื้นที่ทับซ้อนนั้นๆอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น