นักวิชาการสุดทนรัฐบาลหุ่นเชิด-นพดล หลังยูเนสโกมีมติให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ออกแถลงการณ์ประณาม 3 ข้อ จวกรัฐบาลไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร และบริเวณพื้นที่โดยรอบ เสียอธิปไตยในเขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยยอมรับการบริหารจัดการตามที่กัมพูชาเสนอ ลั่นในที่สุดแล้วไทยจะเป็นเพียง 1 ใน 7 ประเทศผู้บริหารจัดการ จี้ ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมเร็วที่สุด
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มประชาชนชาวไทยที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ได้มีการประชุมหารือหลังยูเนสโกมีมติให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว
ทั้งนี้ โดยมีนักวิชาการ ทหาร เข้าร่วม ได้แก่ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นายเทพนตรี ลิมปพยอม นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล รวมทั้ง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ฯลฯ
นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มอ่านแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวจำนวน 3 ข้อดังต่อไปนี้
1.ขอแถลงว่า เป็นเรื่องละเมิดสิทธิพลเมือง เพราะการบริหารจัดการประเทศ กรณีการดำเนินการเจรจาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น มีผลผูกพันต่อประเทศ
2.ผลผูกพันต่อประเทศตามแถลงการณ์ร่วม มี
2.1 รัฐบาลไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร และบริเวณพื้นที่โดยรอบ
2.2 ข้อสงวนของไทยครอบคลุมถึงสิทธิของไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ และ/หรือจะพึงมีในอนาคต ตามกฎบัตรสหประชาชาติ และธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทุกข้อบท รวมทั้งข้อ 60 ซึ่งไม่มีการจำกัดเวลา 10 ปี ดังเช่น ข้อ 61 ซึ่งมักมีผู้เข้าใจที่สับสนและคลาดเคลื่อน และข้อ 33 ของกฎบัตรสหประชาชาติ รับรองสิทธิของประเทศคู่พิพาทอย่างกว้างขวางตามที่ไทยสงวนสิทธิไว้นั้น ถูกเพิกถอนไปด้วยแถลงการณ์ร่วมนี้
2.3 เสียอธิปไตยในเขตพื้นที่ N3 (หรือพื้นที่อนุรักษ์) โดยยอมรับการบริหารจัดการตามที่กัมพูชาเสนอ และในที่สุดแล้วไทยจะเป็นเพียง 1 ใน 7 ประเทศผู้บริหารจัดการ
2.4 มีผลให้ไทยยอมรับรองแผนที่ของกัมพูชา
3. ข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการเยียวยาแก้ไข
3.1ให้รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมอย่างเร็วที่สุด
3.2 ยกเลิกการรับรองแผนที่ของกัมพูชา และเร่งสำรวจและจัดการหลักเขตแดนให้ชัดเจน
3.3 หากรัฐบาลจะบอกขอขึ้นทะเบียนร่วมองค์ประกอบอื่นๆ ในปีหน้า อย่างไรนั้น
3.3.1 ขอให้ฟังความคิดเห็นของประชาชน
3.3.2 ขอให้คำนึงถึงมิติเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์และความเป็นธรรมของประชาชนและประเทศทั้งสองที่พึงมี ทั้งสองฝ่าย
กลุ่มประชาชนชาวไทย ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย
8 กรกฎาคม 2551
สำหรับรายละเอียด “ผู้จัดการออนไลน์” จะนำเสนอต่อไป