xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชี้ขาดพระวิหารวันนี้"อนุพงษ์"โผล่หัวคุมเชิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - รัฐบาลลุ้นระทึกวันนี้ ศาล รธน.นัดตัดสินแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เข้า ม.190 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผบ.สูงสุดสั่งทูตทหารในกัมพูชาเช็คปฎิกริยาชาวเขมร หากวุ่นวายพร้อมอพยพคนไทยกลับประเทศ ส่วนทหารชื่อ "อนุพงษ์" โผล่หัวแต่ยังอมภูมิ บอกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นักวิชาการและภาคประชาชน เตรียมบุกถามข้อเท็จจริง ผบ.ทบ. ไทยเสียอธิปไตยและดินแดนหรือไม่ กลุ่มธรรมญาติตรารณรงค์ประชาชนฟ้องรัฐบาลทำผิด รธน.มาตรา 77

วานนี้ ( 7 ก.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาที่ส่งความเห็นของ ส.ว. 77 คน และคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ส่งความเห็นของส.ส. 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 เป็นหนังสือสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 ที่ต้องรับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่

นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงหลังการประชุมว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาคือนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ เข้าชี้แจงด้วยตนเอง และเป็นเสนอเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ที่ประชุมคณะตุลาการฯก็ได้มีการอภิปราย และได้นัดอภิปรายด้วยวาจา เพื่อนำไปสู่การลงมติในวันที่ 8 ก.ค. เวลา 08.30 น. นอกจากนี้ในวันเดียวกันก็จะมีการอภิปรายด้วยวาจาและลงมติในคำร้องที่นายกรัฐมนตรีขอให้วินิจฉัย ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพ.ร.บ.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาของคณะตุลาการฯเป็นการวินิจฉัยภายในกรอบอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้ไว้ ไม่ได้มีการนำปัจจัยอื่นเช่นเรื่องที่คณะกรรมการมรดกโลกกำลังพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร มาร่วมพิจารณาด้วย

ส่วนกรณีคำร้องเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในกรณีเป็นลูกจ้างจัดรายการ ชิมไปบ่นไป และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พานิชย์ จากกรณีถือหุ้นในบ.ทรัพย์วัฒนา จำกัด เกิน 5 % ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 269 หรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ชี้แจงข้อกล่าวหาเข้ามา และใกล้เวลาที่จะครบกำหนดเวลาการชี้แจงแล้ว แต่ทราบว่าผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้ส่งคำชี้แจงมา

คนไทยในแคนาดาประท้วง "นพดล"

สำหรับความเคลื่อนไหวของการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา จะพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 7 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศแคนาดา หรือประมาณเวลา 23.00 น.ของวันที่ 7 ก.ค.ตามเวลาในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดาได้มีกลุ่มคนไทยในแคนาดามาชูป้ายประท้วง นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ เซ็นแถลงกาณณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อสนับสนุนให้กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกเพียงประเด็นเดียว

ปราสาทพระวิหารส่อเป็นมรดกโลก

นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศมีเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ควรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารตามที่กัมพูชาเสนอเพราะเข้าหลักเกณฑ์ 1 ใน 3 ข้อ

สำหรับทางออกของไทยทางคณะกรรมการมรดกโลกจะตั้งคณะกรรมการจาก 7 ประเทศ โดยมีประเทศไทย เป็น 1 ในนั้นเข้ามาดูแลบริหารจัดการปราสาทพระวิหารร่วมกับกัมพูชา ส่วนการพัฒนาพื้นที่พิพาทนั้นไม่เกี่ยวข้อกับคณะกรรมการมรดกโลก เพราะว่าการขึ้นทะเบียนทำเฉพาะแค่องค์ปราสาทเท่านั้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการมรดกโลกยังได้เสนอทางออกให้แก่ประเทศไทย โดยให้ไทยเสนออุทยานปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ป่าสมบูรณ์เทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งอยู่ในเขตไทยและให้สำรวจจัดทำข้อมูลแหล่งโบราณสถานในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อขอเสนอเป็นมรดกโลกให้เร็วที่สุด

สำหรับที่ประเทศไทยส่งหนังสือการคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองให้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาซึ่งที่ประชุมแจ้งว่า ได้รับทราบแต่การจะให้เลื่อนการพิจารณาปราสาทพระวิหารออกไป คงไม่ได้เพราะได้เลื่อนมาหนหนึ่งแล้ว

คณะกรรมการมรดกโลกจะตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารจะเป็นมรดกโลก หรือไม่ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ เวลาบ่ายสองโมงตามเวลาท้องถิ่นแคนาดาตรงกับเวลาของไทย กลางดึงของวันที่ 7 ก.ค. ทั้งนี้ ผมเห็นว่าการที่หลายประเทศอยากมีมรดกโลก เพราะจะช่วยกระตุ้นในเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งขณะนี้มีแหล่งมรดกโลกอยู่ 851 แห่ง ใน 141 ประเทศ

สั่งเตรียมอพยพคนไทยหากวุ่นวาย

มีรายงานว่า พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สูงสุด ได้สั่งการให้ พ.อ.ชนาวุธ บุตรกินรี ผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำกัมพูชาได้ติดตามสถานการณ์ในกัมพูชาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิกิริยาของมวลชน และ ท่าทีของพรรคการเมืองของกัมพูชาที่อยู่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง โดยให้จับตาอย่างใกล้ชิดในวันนี้ ( 8 ก.ค.) ที่จะทราบผลการประชุมอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการมรดกโลก ที่เมืองควีเบก ทั้งนี้เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินสถานการณ์ และ เตรียมการหากเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย เช่นเดียวกับทีเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนที่จะมีการเผาสถานทูตไทยที่กรุงพนมเปญ ทั้งนี้เพื่อเตรียมหากหากเกิดเหตุการณ์วุ่นวายจะได้เตรียมแผนอพยพคนไทยไว้แล้ว โดยจะประสานทางเหล่าทัพ ให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษต่างๆ ได้เตรียมพร้อม ในส่วนของกองทัพอากาศ ก็เตรียม ซี 130 ไว้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่ว่าผลการประชุมตัดสินเช่นไร ก็มีผลกระทบเช่นกัน ถ้ามีการเลื่อนไปก่อนก็อาจทำให้มีการปลุกกระแสชาตินิยมในกัมพูชาขึ้นมาได้ แต่หากตัดสินเลยและให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียว พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็จะได้คะแนนนิยม แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มที่เรียกร้องในไทยก็อาจลุกฮือ และ มีการโจมตีผู้นำกัมพูชาได้เช่นกัน

"บุญสร้าง" โต้ "ปองพล" มองตื้นไป

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สูงสุด กล่าวถึงปัญหาปราสาทพระวิหารว่า อยากให้ประชาชนนึกถึงความสัมพันธ์อันดีที่สร้างกันมานานระหว่างไทย-กัมพูชา ส่วนที่นายปองพล อดิเรกสาร ออกมรระบุว่าเรื่องปราสาทพระวิหารไทย ขาดความต่อเนื่องเพราะประเทศไทยเกิดการปฎิวัติ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ปัญหาพวกนี้ดูไปก็ซับซ้อนถ้าพูดแบบนี้อาจจะทำให้สับสนและสรุปอะไรที่ง่ายเกินไป บางคนก็อาจจะต้องตกเป็นจำเลยของสังคม โดยที่ไม่ได้คิดอย่างดี ตนไม่อยากพูดอะไรให้ลงลึกขนาดนั้น และตนไม่ได้ผู้รับผิดชอบโดยตรง

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามข้อเสนอของกัมพูชา จะกระทบต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ถ้าประชาชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันผลกระทบก็จะไม่มาก แต่หากนำไปสู่ความแตกแยก หรือใช้ความรุนแรงซึ่งกันและกัน ผลกระทบก็จะมีมากมายทุกอย่างอยู่ที่ความรู้สึก ของคน ถ้าเรามีความสัมพันธ์ดีอะไรต่างๆที่ว่าร้ายก็จะเบาบางลงไปเยอะ พูดจากันดีเสมอ แต่ถ้าใช้ความรุนแรงยิ่งเสียผลประโยชน์ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ตัดสินว่า จะให้ประเทศไหนชนะด้วยวิธีรุนแรงซึ่งถ้าใครใช้ความรุนแรงอาจจะเสียเปรียบด้วยซ้ำไป

ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัยของคนไทยในประเทศกัมพูชานั้น พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่าเราได้ประสานงานและดูแลกันอยู่แล้ว ซึ่งผู้นำของกัมพูชา ก็สามารถพูดกันได้ ไม่ให้ เกิดความรุนแรง ขอร้องเขาและเขาก็ช่วยเหลือดีเพราะเขาเข้าใจปัญหาเหมือนกัน ซึ่งเราได้สั่งการตามสายงานแต่ไม่ให้ใช้ความรุนแรง เราอยากให้ดูแลประชาชนของเราอย่างปลอดภัย

โถ!"อนุพงษ์"อ้างเรื่องละเอียดอ่อน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวว่า เรื่องปราสาทพระวิหาร เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คิดว่ารัฐบาลของ 2 ประเทศ ต้องเป็นผู้แก้ปัญหาในการหาข้อยุติ สำหรับประชาชนคิดว่าประชาชนทั้ง 2 ประเทศต้องมีความเข้าใจในเรื่องของความสัมพันธ์ของบ้านเมืองประเทศที่อยู่ติดกันต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะเราต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ส่วนการทำความเข้าใจตนได้ให้นโยบายกับผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงว่า ให้หน่วยทหารต่าง ๆ ทำความเข้าใจกับประชาชนหรือชุมชนในพื้นที่ของตัวเองว่าต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ และจะไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา หรือสร้างความบาดหมางในระหว่างประเทศเพื่อนบ้านต้องใช้กลไกกฎหมายแก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยกลไกของรัฐบาล

"ผมได้ให้กองกำลับสุรนารีที่ดูแลพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ประสานกับผู้ว่าฯและตำรวจ ในการรักษาสถานการณ์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่ให้เกิดปัญหาหรือความรุนแรง เกิดขึ้น ขณะนี้ในพื้นที่มีการดำเนินการคาดว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น"

นักวิชาการลั่นบุกถามความจริง ผบ.ทบ.

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การเคลื่อนไหวของนักวิชาการและภาคประชาชนเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยกัมพูชาประเทศเดียวว่า หากคณะกรรมการมรดกโลกมีมติ ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยกัมพูชาฝ่ายเดียว จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ต้องดำเนินการในทางระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายช่องทางที่จะทำหนังสือไปสอบถามเหตุผลว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทอย่างเดียวถือว่าไม่สมบูรณ์ จึงต้องการเหตุผลจากคณะกรรมการมรดกโลก และ 2.การเคลื่อนไหวในประเทศ เรื่องแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่ต้องทำให้ไม่มีผล และถ้ามีผลให้เสียดินแดน ครม.และนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ต้องรับผิดชอบ

"ถ้าเสียดินแดนจริง ซึ่งเราไม่รู้ว่าเสียไม่เสีย แต่ที่สงสัย คือ ทำไมรัฐมนตรีต่างประเทศต้องสั่งให้ทหารหุบปาก ให้ทหารคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทหารมีหน้าที่คือการรักษาดินแดนและอธิปไตย ซึ่งเป็นคนละหน้าที่กับกระทรวงการต่างประเทศ จึงอยากรู้ว่าทหารมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรกันแน่ หากข้อมูลขัดแย้งก็ควรออกมาบอกกล่าวกับประชาชน"

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า กลุ่มนักวิชาการและประชาชนที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาฝ่ายเดียว จะเข้าพบกรมแผนที่ทหารและผู้บัญชาการทหารบกเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้

ไทยคดีฯ จี้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วม

มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แกนนำรวบรวมรายชื่อประชาชนไทยคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก กล่าวว่า หากคณะกรรมการมรดกโลกมีมติขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ก็จะเคลื่อนไหวต่อ เพื่อให้รัฐบาลต้องยกเลิกแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ที่ทำไว้กับกัมพูชา เพราะหากไม่ยกเลิก แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว จะยิ่งมีผลกระทบกับประเทศไทย โดยจะกระทบกับพื้นที่ โดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นฝั่งไทย แม้จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทก็ตาม

"รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาอย่างรวดเร็วแล้วว่าจะยกเลิก จะล้างจะเช็ดยังไง โดยเฉพาะนายนพดลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมแผนที่ทหาร ที่เข้าไปแถลงรับรองก็ต้องร่วมรับผิดชอบ สำหรับยูเนสโกที่ไม่ได้มีหนังสือตอบภาคประชาชน ที่ยื่นเรื่องคัดค้าน แสดงเห็นว่ายูเนสโกเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของประชาชนชาวไทย ซึ่งน่าตำหนิมาก"มล.วัลย์วิภา กล่าว และว่า การทำงานของรัฐบาลแต่ละยุคสมัยย่อมมีความผิดพลาดได้ แต่ไม่ใช่ผิดแล้วไม่สะสาง และปล่อยให้ยิ่งเสียหายไปอีก

*ธรรมญาติตรายื่นยุติขึ้นทะเบียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ นายสมาน ศรีงาม เลขาธิการคณะกรรมการ แห่งชาติกอบกู้รักษาอธิปไตยของชาติด้วยอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย (คกปท.) ได้นำกลุ่มธรรมยาตรากู้ชาติเดินทางมาที่องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือขอให้ยุติการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกของประเทศกัมพูชา โดยมี หัวหน้าฝ่ายธุรการองค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ออกมารับหนังสือจากนายสมาน โดยยืนยันว่า จะส่งหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป

สำหรับหนังสือดังกล่าวมีข้อความสรุปว่า ปราสาทเขาพระวิหารไม่ใช่ของประเทศกัมพูชา ตามข้อตกลงรัฐไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ.1946 ที่ไม่ได้รับสัตยาบันจากรัฐสภา ดังนั้น คำตัดสินของศาลโลกจึงถือว่าเป็นโมฆะ ทั้งนี้ ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของประเทศไทย ตามอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 ที่ได้รับสัตยาบันจากรัฐสภา ดังนั้น ยูเนสโกกำลังทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดอธิปไตยของไทยของชัดเจน จึงขอให้ยูเนสโกทบทวนเรื่องนี้ ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป

ประกาศใช้ ม.77 เล่นงานรัฐบาล

นายสุขุม วงประสิทธิ ผู้ประสานงานสหธรรมมิกเพื่อประชาธิปไตย หรือขบวนการธรรมยาตราทวงคืนเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา ที่ปักหลักทวงคืนเขาพระวิหารบนอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กล่าวว่า แม้ว่าผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะออกมาอย่างไรทางกลุ่มสหธรรมมิกเพื่อประชาธิปไตยก็จะยังคงปักหลักทวงคืนอธิปไตยต่อไป เพราะประเด็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่ใช่ประเด็นหลักของกลุ่มสหธรรมมิกเพื่อประชาธิปไตย

นายสุขุม กล่าวว่า ประเด็นหลักคือการทวงคืนปราสาทพระวิหาร เพราะที่ผ่านมา พบว่ามีชาวกัมพูชากว่า 500 หลังคาเรือน ปักหลักอาศัยอยู่ในเขตแดนของประเทศไทย เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของประเทศไทยอย่างชัดเจน แต่ที่ผ่านมาทางรัฐบาลไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ แม้ว่าประเทศกัมพูชาจะเป็นมิตรประเทศของเรา แต่กรณีนี้จะให้ใช้การทูตไม่ได้ ต้องมีการผลักดันให้กองทัพออกมาดำเนินการ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ซึ่งระบุว่ารัฐต้องทำหน้าที่ปกป้อง อธิปไตยของประเทศ แต่รัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนของปวงชนชาวไทยได้อย่างสมบูรณ์

นายสุขุม กล่าวว่า ต่อจากนี้กลุ่มสหธรรมมิกเพื่อประชาธิปไตย จะระดมสมาชิก เพื่อทวงคืนพื้นที่เขาพระวิหารเพิ่มขึ้นอีก โดยในเร็วๆ นี้จะรณรงค์ให้ภาคประชาชนออกมาฟ้องร้องรัฐบาล โดยกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 77 จะมีการออกแถลงการณ์เรื่องนี้พร้อมกับเครือข่ายพันธมิตรอีกครั้ง ซึ่ง หลังจากนี้ฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายนักวิชาการ ต้องกลับมาทบทวนในเรื่องนี้อีกครั้ง โดยการหยิบยกเอาสนธิสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 มาทำการเปิดเวทีสัมมนา และทำการศึกษาเพื่อทวงคืนเขาพระวิหารอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น