xs
xsm
sm
md
lg

ร้องศาล ปค.ระงับใช้แถลงการณ์ร่วมฯ ค้านเขมรฮุบ"พระวิหาร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"นพดล" โยนขี้รัฐบาล"สุรยุทธ์" ลงนามหนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ส่งผลให้ไม่มั่นใจ แม้จะไปยืนยันห้ามใช้ประโยชน์จากแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ลงนามไป จะสามารถเบรกการขึ้นทะเบียนฯได้ ขณะเดียวกันเตรียมเจรจาขอเลื่อนการขึ้นทะเบียน หวังเปิดเจรจาใหม่เพื่อขอขึ้นทะเบียนร่วมในส่วนควบรวม ด้านศาลรธน.นัดพิจารณาอีกครั้ง 7 ก.ค.นี้ ขณะที่ นายกสภาทนาย จี้รัฐบาล เร่งแจ้งผลคำสั่งศาลปค. ให้กก.มรดกโลกรับทราบ ยันไทยขอสงวนสิทธิ์กรณีปราสาทพระวิหาร เตรียมร้องศาลปกครองบังคับคดี "ครม.-นพดล" ระงับใช้แถลงการณ์ร่วมขึ้นทะเบียนมรดกโลก "ม.ล.วัลย์วิภา" แฉ บัวแก้วทำหนังสือราชการแจ้งหน่วยงานสำคัญ บิดเบือนข้อมูลปราสาทพระวิหาร ส่วนภาคประชาชนนัดชุมนุมใหญ่ที่เขาพระวิหารวันนี้

เมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ ( 4 ก.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับฟังคำชี้แจงของนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องรวมประมาณ 10 คนในกรณีที่ประธานวุฒิสภาที่ส่งความเห็นของ ส.ว. 77 คน และคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ส่งความเห็นของส.ส. 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 เป็นหนังสือสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 ซึ่งต้องรับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพดล ได้เดินทางไปยังศาลรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมสนธิสัญญาฯประมาณ 10 คน เพื่อชี้แจงต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายนพดลมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงได้ ซึ่งได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่ใช้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาด้วย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของกรมสนธิสัญญา และกฎหมายระหว่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังยืนยันอยู่หรือไม่ว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ยังไม่เข้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ตามที่เคยชี้แจงในสภา นายนพดล กล่าวว่า ยังไม่สามารถออกความคิดเห็นอะไรได้ เพราะอาจจะเป็นการละเมิดอำนาจศาลปกครอง ซึ่งต้องขอฟังศาลรัฐธรรมนูญก่อน ว่าสนใจสอบถามในประเด็นใดบ้าง

"วันนี้ในฐานที่เป็นคนเซ็นคำร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่ใช่จำเลย ซึ่งก็ให้ความร่วมมือกับศาลท่านถามอะไร ก็ต้องตอบตามนั้น คิดว่าไม่มีปัญหาทุกอย่างก็จะเรียบร้อย" นายนพดลกล่าว

เมื่อถามว่า การไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการมรดกโลกที่แคนนาดา จะขอถอนแถลงการณ์ร่วมฯ ออกมาหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า อยากจะขอเลื่อน และเราไม่สามารถให้การสนับสนุนได้

ภายหลังการเข้าชี้แจงกว่า 2 ชั่วโมงเศษ นายนพดล ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้เล่าถึงความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวตั้งแต่การมีคำพิพากษาของศาลโลก การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ซึ่งในวันเดียวกันนี้ก็จะได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ศาลรัฐธรรมนญด้วย ทั้งนี้ได้ยืนต่อศาลว่า กระทรวงต่างประเทศได้ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติมาอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่ทำไปก็นึกถึงแต่ประเทศชาติ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศแคนาดาในวันนี้ ( 5 ก.ค.) นอกจากจะไปบอกว่าไทยไม่สามารถสนับสนุนกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารได้ตามเนื้อหาคำแถลงการณ์ร่วม เพราะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครอง ก็จะมีการไปขอเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เพราะที่ผ่านมาไทยเคยพยายามขอขึ้นทะเบียนร่วมในส่วนควบรวมของปราสาทฯ แต่ทางกัมพูชาปฏิเสธ ถ้าหากมีการเลื่อนออกไปและมีการเจรจากันด้วยดี ในการขึ้นทะเบียนฯร่วม ก็น่าถูกใจคนไทยทุกคน

"หากผมเดินทางไปร่วมประชุมแล้วนั่งเฉยๆ ขอถามว่าจะถูกด่าหรือไม่ เขาก็ต้องด่าว่ารมว.ต่างประเทศงอมืองอเท้าไม่ยอมขอเลื่อนอีก"

นายนพดล กล่าวว่า ได้ยืนยันกับคณะตุลาการฯ ว่า การลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ไม่น่าจะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เพราะการลงนามฯไม่เคยมีเจตนาที่จะสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือทำเป็นหนังสือสัญญา เป็นเพียงแค่แถลงการณ์ร่วมฯ ที่พูดถึงกรอบความร่วมมือการเจรจาเรื่องนี้ ขณะเดียวกันการลงนามฯ ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อเขตแดนไทยไม่เสีย ขณะที่กัมพูชาก็ไม่ได้ เขตแดนยังคงเหมือนเดิม จึงถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบรัฐธรรมนูญ

"สิ่งที่เป็นห่วงในการไปร่วมประชุมครั้งนี้ คือจะสามารถเลื่อนการพิจารณาหัวข้อนี้ออกไปได้หรือไม่ เพราะสมัยที่ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยไปตกลงกับทางกัมพูชาไว้ในมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในสมัยประชุมครั้งที่ 31 ที่เมืองไครซ์เชิร์ท ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.-2 ก.ค.50 ว่าประเทศไทยสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารของประเทศกัมพูชาในการประชุมครั้งที่ 32 ดังนั้นจึงเกรงว่าแม้ว่าตนจะไปขอถอนแถลงการณ์ร่วม และห้ามใช้ประโยชน์จากแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว แต่การที่ประเทศไทยเคยไปสนับสนุนในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ข้อเท็จจริงคือการที่ประเทศไทยได้มีการสนับสนุนเขาตั้งแต่ปี 50 แล้ว ซึ่งเรื่องนี้เคยชี้แจงสังคมบางส่วนไปแล้ว แต่ไม่ฟัง ผมอยากขอความเป็นธรรมด้วย เพราะการสนับสนุนมันเกิดขึ้นตั้งแต่ที่ไปลงนามกันในประเทศนิวซีแลนด์แล้ว บ้านเมืองนี้ใครจะอยู่ ใครจะไปไม่สำคัญ แต่ความถูกต้องและความชัดเจนต้องมี กระทรวงการต่างประเทศต้องรักษาความสัมพันธ์ไว้"

ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์ นายนพดล ยังได้นำเอกสารทั้งฉบับภาษาอังกฤษ และคำแปลไม่เป็นทางการของการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 31 ที่ประเทศนิวซีแลนด์เพียงแค่หน้าแรก มาแจกจ่ายผู้สื่อข่าว เพื่อยืนยันว่า รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ เคยไปลงนามสนับสนุนการที่กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร นอกจากนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์ช่วงท้าย ปรากฏว่าได้มีชายคนหนึ่งถือป้ายมีข้อความว่า "ไอ้ลูกปัทแม้ว เขมมะ" และตะโกนข้ามกำแพงรั้วของศาลรัฐธรรมนูญว่า "ไอ้ขายชาติ" เป็นระยะๆ ทำให้นายนพดล ซึ่งกำลังให้สัมภาษณ์อยู่ถึงกับหน้าเจื่อน และยุติการให้สัมภาษณ์ทันที ในขณะที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนก็มายืนให้กำลังใจอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้า-ออก ของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมตะโกนว่า "นพดลสู้ๆๆ" เป็นเหตุให้มีการปะทะคารมกันเล็กน้อยระหว่างกลุ่มผู้คัดค้านและกลุ่มผู้สนับสนุน

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญหลังรับฟังคำชี้แจงแล้ว ก็ได้กำหนดนัดพิจารณาคำร้องดังกล่าวอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 7 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม .กล่าวว่า การลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ารมว.ต่างประเทศ ดำเนินการผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมือง และทางอาญา โดย ส.ว.จะศึกษาขั้นตอนทางกฎหมายว่า ใครจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการต่อไป

สภาทนายค้านใช้แถลงการณ์ร่วม

ในวันเดียวกันนี้ ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ แถลงข่าวกรณีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ของกัมพูชาว่า สภาทนายความ เห็นว่า แถลงการณ์ร่วม ถือเป็นสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา190 เพราะตามหลักสนธิสัญญาที่ทั่วโลกใช้ สนธิสัญญาต้องประกอบด้วย หนังสือที่มีลายลักษณ์อักษร สัญญาดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ คู่สัญญาเป็นรัฐ หรือรัฐบาล มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศนั้น มีสิทธิมีอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมอย่างกว้างขวาง มีผลผูกพันทางการค้า การลงทุนและงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

สภาทนายความจึงออกแถลงการณ์ 6 ข้อ เรียกร้องรัฐบาล เร่งรัดแก้ไขความผิดพลาดด้วยการเร่งแจ้งผลคำสั่งศาลให้คณะกรรมการมรดกโลกทราบว่า ไทยยังยืนยันสงวนสิทธิ เพราะรัฐบาล และนายนพดลไม่มีหน้าที่จะไปชี้ หรือปักปันเขตแดนของไทย หรือทำความตกลงใดๆ จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามรัฐธรรม นูญมาตรา 190 เสียก่อน หากละเว้น สภาทนายความจะดำเนินคดีตามกฎหมายทุกทาง กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะต้องรับผิดชอบต่ออำนาจอธิปไตยของไทยที่ถูกทำให้เสียหาย

"รมว.ต่างประเทศทำไม่ต้องรีบร้อน มีอะไรอยู่เบื้องหลังการออกแถลงการณ์ รัฐบาลต้องดำเนินคดี มิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และส่วนราชการที่มีหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่ควรนิ่งเฉยเพราะเรื่องนี้เกิดการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่เช่นนั้นจะถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่" นายกสภาทนายความ กล่าว

ร้องศาล ปค.ระงับแถลงการณ์ร่วม

นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีปราสาทพระวิหาร กล่าวว่าในวันที่ 7 ก.ค.เตรียมจะยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลาง ออกคำสั่งบังคับคดีให้ ครม. และนายนพดล ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ที่ระงับการใช้แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา ให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งรวมถึงไม่ให้นำผลการลงนามในสัญญาที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในวันที่ 22 พ.ค.ไปใช้กล่าวอ้าง ต่อคณะกรรมการมรดกโลกด้วย

"การที่นายนพดลลงนามในสัญญาที่กรุงปารีส โดยที่ครม.ยังไม่มีมติ แต่กลับนำผลการลงนามนั้นมาให้ ครม.อนุมัติในภายหลังหรือวันที่ 17 มิ.ย. ก็ถือว่าการลงนามสัญญากรุงปารีส เป็นเอกสารเริ่มต้นของแถลงการณ์ร่วม ที่นายนพดล ลงนามในวันที่ 18 มิ.ย. และศาลมีคำสั่งห้ามมิให้มีผลใช้บังคับ ดังนั้นคำสั่งศาลครอบคลุม" นายนิติธร กล่าว

นายนิติธร กล่าวด้วยว่า รัฐบาลและนายนพดล จึงต้องเร่งแจ้งผลคำสั่งศาลนี้ ให้คณะกรรมการมรดกโลกทราบ เพื่อระงับการขึ้นทะเบียน หากนายนพดลเพิกเฉย สภาทนายความจะดำเนินคดีอาญา ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ยูเนสโก จะถือเอาสัญญากรุงปารีสมาเป็นสาระสำคัญไม่ได้ เมื่อภายในไทยยังคัดค้าน แม้ว่ากัมพูชาจะได้แสดงสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหาร โดยอาศัยคำพิพากษาศาลโลก ประกอบกับสัญญากรุงปารีส แต่ไทยไม่ถือว่าสัญญากรุงปารีสนั้น มีผลผูกพันและศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งไม่ให้นำไปใช้ สัญญากรุงปารีส ก็นำไปใช้ไม่ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าหากยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลกยอมรับสัญญากรุงปารีส ก็เท่ากับว่ากำลังละเมิดอธิปไตยของไทย

ซัด กต.ทำเอกสารบิดเบือน

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย 9 สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าขณะนี้มีข้อมูลสำคัญที่จะต้องชี้แจงให้สาธารณชนเป็นการเร่งด่วน นั่นก็คือ กระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือด่วนที่สุดเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ลงวันที่ 20 มิ.ย. 51 ถึงหน่วยงานสำคัญของชาติหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้ตรวจสอบข้อมูล และข้อเท็จจริงทั้งหมดทำให้พบว่าเป็นเอกสารที่ผิดไปจากความเป็นจริง ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ส่งหนังสือบิดเบือนไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร

นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้แถลงการณ์ร่วมที่รัฐบาลไทยทำร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เป็นโมฆะ เพราะจะทำให้ไทยเสียสิทธิในการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกับกัมพูชา ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้ไทยเสียอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเอง

ด้าน นายพรเทพ สิมะวานิชกุล คณะทำงานภาคประชาชน กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้สิ่งที่นายนพดล ปัทมะแถลงว่าจะยกเลิกแถลงการณ์ร่วมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงหลักฐานในการยกเลิกให้ทุกคนได้เห็น ไม่อยากให้เป็นการพูดอย่าง ทำอย่าง จึงอยากให้ประชาชนติดตามต่อไปว่า สิ่งที่แถลงนั้นจะเป็นจริงหรือไม่เพียงใด
 
อีสานตื่นตัวร่วมพันธมิตรฯ กู้ชาติ

วานนี้ (4 ก.ค.) นายวิวัฒน์ อรรคบุตร ผู้ประสานงานเครือข่ายอีสานกู้ชาติ (กู้แผ่นดิน) เปิดเผยว่า ประชาชนชาวอีสาน และองค์กรเครือภาคประชาชนอีกกว่า 20 องค์กร ได้นัดระดมพลเข้าร่วมชุมนุมใหญ่รวมไม่ต่ำกว่า 1,000 คน พร้อมจัดเวทีปราศรัยที่บริเวณ ลานหิน หน้าประตูเหล็กทางเข้าปราสาทพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ในวันนี้ (5 ก.ค.) ตั้งแต่เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันแสดงพลังเรียกร้องทวงคืนเขาพระวิหารมรดกไทย และผลักดันให้ชาวกัมพูชาประมาณ 500 คน ที่รุกล้ำเข้ามาตั้งชุมนุม สร้างบ้านเรือน ร้านค้า วัดและถนน ออกไปจากเขตแดนไทย พร้อมประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลก กำหนดวาระนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครั้งที่ 32 ณ เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา วันที่ 6 ก.ค.นี้

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า การชุมนุมครั้งนี้จะมีแกนนำระดับประเทศเข้าร่วมปราศรัยจำนวนมาก นอกจากกิจกรรมการปราศรัยบนเวทีแล้ว จะมีการอ่านแถลงการณ์ เพื่อประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ ในการทวงคืนเขาพระวิหาร ขับไล่ชาวกัมพูชาออกไปจากเขตแดนไทยโดยเร็ว และคัดค้านไม่ยอมรับการขอขึ้นประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาตลอดไป

สมัชชาฯอีสานเคลื่อนปูพรม"กู้ชาติ"

ด้าน ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด เปิดเผยว่า สำหรับสมัชชาประชาชนฯ ในพื้นที่ภาคอีสานได้กำหนดการชุมนุมจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดและทวงคืนแผ่นดินไทยกรณีเขาพระวิหาร พร้อมกันในหลายจังหวัด เช่น จ.นครราชสีมา ช่วงเย็นวันที่ 4 ก.ค.ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ชาวโคราชและสมัชชาฯ ร่วมกันจัดเวทีปราศรัย พร้อมชมถ่ายทอดสดการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ จากหน้าทำเนียบรัฐบาลผ่านสถานีโทรทัศน์ ASTV โดยนักร้อง "หรั่ง ร็อคเคสตร้า" และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้เดินทางมาขึ้นเวทีปราศรัยด้วย

ส่วน จ.ร้อยเอ็ด สมัชชาประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด-มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ จัดชุมนุมใหญ่บริเวณบึงพลาญชัย อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ค.ตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป

ขณะที่ จ.สุรินทร์ ช่วงบ่ายวันนี้ ( 5 ก.ค.) สมัชชาประชาชนจังหวัดสุรินทร์ จะจัดขบวนรณรงค์ทวงคืนเขาพระวิหาร ไปตามเส้นทางหลักในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ก่อนเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือเปิดผนึก พร้อมธงชาติไทย และดาบย่าโมออกศึก ให้กับผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุรนารี) และจัดเวทีปราศรัยอยู่ในตัวเมืองสุรินทร์ พร้อมชมการถ่ายทอดการชุมนุมใหญ่พันธมิตรฯ จากหน้าทำเนียบรัฐบาล ผ่าน ASTV ในช่วงค่ำวันเดียวกันเป็นต้น

ที่ จ.อุบลราชธานี กลุ่มพันธมิตรฯอุบลราชธานี ได้ประกาศเปิดเวทีคู่ขนานกับกรุงเทพฯที่อุทยานบุญนิยม ถ.ศรีณรงค์ ต.ในเมือง อ.เมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ของมูลนิธิกองทัพธรรม ตั้งแต่เวลา 17.30 น.วานนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น