xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรธน.เรียกนพดลชี้แจงด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลรัฐธรรมนูญถกด่วน คำร้อง"แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา" ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ เรียก"นพดล" ชี้แจง 9โมงเช้าวันนี้ ด้าน"นพดล"ยืนกราน ผลการลงนาม 22 พ.ค. ไม่มีผลผูกพัน แถมอ้างเซ็นต์แค่ชื่อย่อ "N.P." ไม่ใช่ชื่อเต็ม อ้างผอ.ยูเนสโกแถลงข่าวผิดพลาด แต่ไม่ยอมเปิดเผยเอกสาร ด้าน"ม.ร.ว.ปรียนันทนา" วอนเผยแถลงการณ์ร่วมปารีสให้ประชาชนรับทราบ หวั่นตีความมั่ว ด้านยูเนสโกไทยสุดมั่ว แจงน้ำขุ่นๆ อ้างหนังสือที่ส่งให้ ส.ว.ลงวันที่ผิด "อภิสิทธิ์" แนะเลิกคิดรักษาหน้าตัวเอง มากกว่ารักษาผลประโยชน์ชาติ ขณะที่ผบ.สส. ลั่นหากเกิดความผิดพลาด ครม.ทั้งคณะต้องรับผิดชอบ "อดุล" ย้ำถ้ากัมพูชาได้ขึ้นทะเบียน จะมีผลให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (3 ก.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายชัช ชลวร ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุม นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงหลังการประชุมว่า ได้มีการพิจารณาคำร้องของประธานวุฒิสภาที่ส่งความเห็นของส.ว. 77 คน และคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งความเห็นของ ส.ส. 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา190 ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 เป็นหนังสือสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องรับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าจำนวนของส.ว.และส.ส.ที่เสนอความเห็นมีไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่ใน 2 สภา คำร้องทั้ง 2 จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคหก ประกอบ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องทั้ง 2 ไว้พิจารณา และให้มีคำสั่งรวมการพิจารณาคำร้องทั้ง 2 เข้าด้วยกัน เนื่องจากมีประเด็นพิจารณาอย่างเดียวกัน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 มีมติเรียกนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ มาชี้แจงและให้ถ้อยคำพร้อมเอกสารประกอบในประเด็นที่เกี่ยวกับคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 3 ก.ค. หรือในวันที่ 4 ก.ค. เวลา 09.00 น. หากไม่มาตามกำหนดนัด ให้ถือว่าไม่ติดใจชี้แจงและให้ถ้อยคำ และขั้นตอนต่อไปคณะตุลาการฯ ก็จะประชุมเพื่ออภิปราย ซึ่งหากข้อมูลเพียงพอก็อาจจะสามารถวินิจฉัย และลงมติได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำร้องของประธานวุฒิสภานั้น ได้ส่งมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในวันที่ 30 มิ.ย. ในขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งให้พิจารณาในวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา และได้กำหนดในวาระการประชุมในวันที่ 3 ก.ค. เนื่องจากคณะตุลาการฯเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณา และระเบียบวิธีพิจารณาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ สามารถใช้ดุลพินิจหยิบยกคำร้องมาพิจารณาได้ตามดุลพินิจของตุลาการฯ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ระบุให้หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขตไทย จะต้องออกเป็น พ.ร.บ. และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และ มาตรา 154 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาคำร้องว่า ร่าง พ.ร.บ.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่า ร่าง พ.ร.บ.นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้น ให้ส่วนที่ขัดหรือแย้งนั้นตกไป และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้ ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการไว้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

หลังการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อ นายนพดล ถึงการมาชี้แจง แต่ได้รับทราบจากเลขาฯ ส่วนตัวของนายนพดล จะไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เวลา 09.00น.วันนี้ (4 ก.ค.) เนื่องจากช่วงบ่ายวานนี้ ติดงานเลี้ยงที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีนักร้องสาว"ลีเดีย" มาร่วมงานด้วย และได้เชิญ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ประจำประเทศไทย มาหารือในเรื่องนี้ด้วย

ยันแถลงการณ์ 22 พ.ค.ไม่มีผลผูกพัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเที่ยงวานนี้ นายนพดล ให้สัมภาษณ์ทางรายการ"เที่ยงวันทันเหตุการณ์" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ถึงกรณีที่ นายเชลดอน เชฟเฟอร์ ผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพ ได้ทำจดหมาย ตอบหนังสือที่ ส.ว.คัดค้าน นำโดย ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต คัดค้านขอให้เลื่อนการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปก่อนว่ามันสายไปเสียแล้วนั้น นายนพดล ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า การลงนามในร่างคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 51 ที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นการลงนามเพื่อระบุว่า ได้ตรวจสอบเอกสารนั้นแล้ว ซึ่งยังไม่มีผลผูกพัน จนกว่า ครม.จะอนุมัติ ซึ่งในเอกสารจะเขียนระบุว่าไม่เป็นทางการ ( Initial) ซึ่งเป็นเพียงการลงนามเพื่อไม่ให้มีการแก้ไขเอกสารในภายหลัง ซึ่งตนได้เชิญผู้อำนวยการยูเนสโก ประเทศไทย มารับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศว่า การลงนามครั้งนั้นไม่ได้มีผลผูกพันตามที่ได้ระบุ

ดังนั้น ที่มีการระบุว่ามีการเซ็นต์หนังสือไป 2 ครั้ง ไม่เป็นความจริง เพราะหากจะต้องมาเซ็นต์ในวันที่ 18 มิ.ย. ก่อนนั้นตนจะอาสาไปเซ็นต์ก่อนทำไม เพราะอย่างไรก็ต้องนำเข้า ครม. อีก ตนคงไม่เอาคอขึ้นเขียงคนเดียว

อ้าง ผอ.ยูเนสโกรายงานผิดพลาด

นายนพดล กล่าวอีกว่า ในการเซ็นต์เอกสารในวันที่ 22 พ.ค.นั้น ตนลงนามเป็นตัวย่อเพียง "N.P." ซึ่งย่อมาจากชื่อนพดล ปัทมะ ซึ่งตามปกติหากมีการลงนามที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จะต้องเซ็นต์ด้วยลายเซ็นต์สมบูรณ์ หรือชื่อเต็ม แต่การลงนามเบื้องต้น เป็นธรรมเนียมของการเจรจาที่ต้องลงนามร่วมกัน เพื่อไม่ให้มีการนำเอกสารเพิ่มเติมภายหลังเท่านั้น

เมื่อถามว่า ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ระบุว่า เอกสารที่ได้ลงนามร่วม เมื่อวันที่ 22 พ.ค.นั้น จะมีผลผูกพัน นายนพดล กล่าวว่า ไม่มี ไม่ได้เซ็นต์ เป็นร่างเบื้องต้นที่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน ซึ่งประเด็นนี้ นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงไปแล้วว่า ผู้อำนวยการยูเนสโก้ ได้รายงานผิดพลาดที่บอกว่า การลงนามดังกล่าวมีข้อผูกพัน ซึ่งผอ.ยูเนสโกไม่มีอำนาจในการพิจารณา การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมือง ควิเบก ประเทศแคนนาดา ไทยได้แจ้งไปยังเอกอัครราชทูตไทยประจำแคนนาดา ให้แจ้งไปยังสำนักงานใหญ่ยูเนสโก ให้เข้าใจว่าประเทศไทยไม่สามารถสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกได้ เพราะมีคำสั่งศาลปกครองให้ชะลอ มติ ครม. วันที่ 17 มิ.ย.51 ไทยจึงต้องตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด

เมื่อถามว่า จะขอให้คณะกรรมการมรดกโลก ชะลอการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไปก่อนได้หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า ต้องถามทางยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลก แต่ประเทศไทยเคยขอเลื่อนการพิจารณามาครั้งหนึ่งแล้ว ตั้งแต่การประชุมเมื่อปี 2550 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งไทยขอให้คณะกรรมการมรดกโลกเข้าใจ

เมื่อถามว่า ต้องคุยกับนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกให้เข้าใจ เพื่อให้มีท่าทีในแนวทางเดียวกัน ให้มีการจดทะเบียนร่วมกัน โดยเลื่อนไปพิจารณาในการประชุมครั้งหน้า นายนพดล กล่าวว่า การจดขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้ กัมพูชาเป็นฝ่ายยื่นจดทะเบียนฝ่ายเดียว จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการมรดกโลกต้องพิจาณาเอง กระทรวงการต่างประเทศ ทำได้เพียงปกป้องไม่ให้ไทยเสียอธิปไตย

ไม่ยอมเปิดแถลงการณ์ร่วม

เมื่อถามถึงท่าทีของกัมพูชาเป็นอย่างไรบ้าง นายนพดล กล่าวว่า ได้เชิญเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย นายอึง เซียน มารับหนังสือชี้แจงมติ ครม. และคำสั่งศาล ว่าเราไม่สามารถสนับสนุนการขึ้นทะเบียนได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ไม่อยากให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทย และกัมพูชา ต่อข้อถามว่า จะมีการคุยนอกรอบกับกัมพูชาในการหารือนอกรอบที่ประชุมที่ ควิเบก หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า ก็ต้องคุยอยู่แล้ว ทั้งนอกรอบ ในรอบ ว่าเราไม่สามารถสนับสนุนได้ แต่การจะเลื่อนการพิจารณา ต้องรอมติของคณะกรรมการมรดกโลก

เมื่อถามว่า ได้มีการโทรศัพท์คุยกับนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า ไม่ได้คุยเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี ส่วนตนได้คุยกับนายสกอาน รองนายกฯกัมพูชา เพื่อบอกว่า ไทยต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด ซึ่งคิดว่าทางกัมพูชาน่าจะเข้าใจ แต่ไม่ขอยืนยัน เพราะไม่อยากให้มีปัญหาในอนาคต แต่ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง จะแจ้งผ่านทางการทูต และจะเจรจาอย่างนุ่มนวล

อย่างไรก็ตาม นายนพดล ไม่ยอมเปิดเผยแถลงการณ์ร่วมฉบับจริง ในวันที่ 22 พ.ค.ที่ลงนามที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยอ้างว่า มีคำสั่งศาลห้ามอ้างถึงมติครม. หากเปิดเผยจะทำให้มีปัญหา

ส.ว.ยันการลงนามเมื่อ 22 พ.ค.มีผล

ด้าน ม.ร.ว.ปรียนันทนา กล่าวชี้แจงว่า จากการแปล คำว่า Just Commitment แปลว่า ข้อผูกมัด หรือข้อผูกพัน ซึ่งตนได้แปลตามที่ยูเนสโกระบุนั้น แสดงว่า ข้อผูกพันดังกล่าวได้มีการย้ำ และรับเป็นทางการด้วย จากการลงนามในแถลงการณ์ร่วม เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เมื่อถามว่าทางกระทรวงการต่างประเทศจะเชิญมาชี้แจงว่า สิ่งที่ม.ร.ว.ปรียนันทนา แปลนั้นมีความคลาดเคลื่อน ม.ร.ว.ปรียนันทนา กล่าวว่า ตนได้เห็นแถลงการณ์ร่วมฉบับวันที่ 22 พ.ค. ที่ กรุงปารีส แต่ไม่เห็นมีการระบุถึงข้อแม้ ที่นายนพดล กล่าวอ้างว่าจะต้องได้รับการอนุมัติในครม. ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมกรุงปารีส เป็นการแพร่หลายอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งตนไม่มั่นใจว่าเป็นฉบับจริงหรือไม่ ส่วนที่นายนพดล กังวลถึงคำสั่งศาลนั้น ตนก็หวังว่านายนพดล จะทำตามที่ได้แถลงไว้ต่อยูเนสโก

จี้"นพดล"ถอนแถลงการณ์ร่วม

อย่างไรก็ตาม คำแถลงการณ์ร่วมวันที่ 22 พ.ค. ควรจะต้องไปแจ้งถอนคำแถลงการณ์ร่วมเสียก่อน ไม่ว่าจะมีผลผูกมัดหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยมีความกังวล นายนพดล ควรนำจดหมายแถลงการณ์ร่วมฉบับดังกล่าว เผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนให้ประชาชนรับทราบ โดยทำตามคำสั่งศาลปกครองอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเกรงว่าจะมีการตีความได้หลายอย่างที่แตกต่างกัน ทางที่ดีควรถอนแถลงการณ์ ซึ่งตนก็ยังไม่หมดหวัง เพราะคณะกรรมการมรดกโลก จะเป็นผู้ชี้ขาดในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทเขาพระวิหาร ไทยมีโอกาสชะลออยู่จนกว่าจะมีการพิจารณา

ยูเนสโกไทยมั่วเอง ยอมรับเขียนวันที่ผิด

นายเชลดอน เชฟเฟอร์ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ประจำประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้าพบนายนพดล ปัทมะโดย ยอมรับว่า เอกสารที่ส่งถึงกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา มีความผิดพลาด เนื่องจากอ้างถึงแถลงการณ์ร่วมที่ลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่เป็นทางการ และระบุให้รอการอนุมัติจากครม. ของทั้ง 2 ประเทศก่อน ซึ่งความจริงจะต้องอ้างถึงแถลงการณ์ร่วมที่ลงนาม ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 18 มิ.ย. ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นทางการ และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศแล้ว จึงทำให้เกิดความสับสน โดยตนจะชี้แจงไปทางวุฒิสภา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

เตือนชาติต้องมาก่อนหน้าตาตัวเอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ยูเนสโก ระบุว่านายนพดลได้ไปลงนามแถลงการณ์ร่วมให้เสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในนามกัมพูชา ก่อนจะมีมติครม. ว่า ตรงนี้เป็นเหตุผลที่ฝ่ายค้านมองว่า รมว.ต่างประเทศ ทำความเสียหายให้เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ในส่วนของรัฐบาลต้องทำเท่าที่ทำได้ โดยต้องทำความเข้าใจภายหลังจากที่ได้มีการลงนามไปแล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และต้องแสดงความคิดเห็น จุดยืน และคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ให้คณะกรรมการมรดกโลกทราบ รวมทั้งต้องยืนยันว่า เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกับกัมพูชา และไม่ได้มีปัญหากับการที่ปราสาทพระวิหารจะเป็นมรดกโลก แต่หนทางที่ดีที่สุดของการอนุรักษ์ตัวปราสาท น่าจะเป็นเรื่องของการจดทะเบียนร่วมกัน แต่จะมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน หักล้างได้หรือไม่ เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการ ซึ่งฝ่ายค้านได้ทำหนังสือถึงกรรมการมรดกโลกทุกคน ชี้แจงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

"กระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐมนตรีต้องเลิกคิดถึงเรื่องของการรักษาหน้าทางการเมืองของตัวเอง ต้องคิดถึงว่าทำอย่างไรจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้ดีที่สุด และต้องยอมรับว่าเมื่อศาลมีคำสั่ง หรือเมื่อมีการโต้แย้งเกิดจากการกระทำของท่านก็ดี ต้องไปถ่ายทอดตรงนี้ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งกลายเป็นเหมือนกับว่า เป็นการผิดซ้ำสอง ถ้าท่านรัฐมนตรีพยายามจะมีจุดยืนต่างหาก จากที่มติครม.กำหนดไป ท่านจะมีความผิดซ้ำสอง เพราะฉะนั้นต้องจับตาดูว่า บทบาทของท่านว่าเป็นอย่างไร" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนสถานการณ์จะสายเกินไปหรือไม่นั้น หลายฝ่ายต้องพยายามทำ เท่าที่ทำได้ แต่ขณะนี้คงทำได้เพียงรอ เพราะต้องยอมรับว่าการที่รัฐมนตรีไปลงนามแถลงการณ์ร่วมแล้ว จึงเป็นปัญหา และตรงนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายค้านต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจนายนพดล

ทั้งนี้เห็นว่า หากกรรมการมรดกโลกมีความตั้งใจที่จะดูแลในเรื่องการอนุรักษ์สถานที่สำคัญอย่างนี้ ไม่อยากจะใหัด่วนตัดสินใจและไปก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง เพราะจะไม่สมเจตนารมณ์กับการที่ได้อนุรักษ์สถานที่นั้นเป็นมรดกโลก และมีการดูแลอย่างดีกับทุกฝ่าย

ผบ.สส.ลั่นทั้งครม.ต้องรับผิดชอบ

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศ ตนไม่รู้ในรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย กติกา เชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศคงพยายามทำอยู่ แต่กติกาจะเอื้ออำนวยขนาดไหน จะผูกมัดแค่ไหน ไม่ทราบต้องมาดูทางกฎหมาย และกติกา ต้องเอามาดูกัน

" กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ถ้ามีอะไรผิดพลาด และพิสูจน์ว่ามีอะไรผิดพลาด ผู้นำทุกคน ไม่ใช่เฉพาะรัฐมนตรี เมื่อเป็นผู้นำและมีอะไรผิดพลาด ก็จะต้องแสดงสปิริตด้วยกันทั้งนั้น" พล.อ.บุญสร้างกล่าว

เมื่อถามว่า หากไทยเสียดินแดน การแสดงสปิริตจะเพียงพอหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า เมื่อกลไกมีอย่างไรก็ต้องว่ากันไป ส่วนทหารรับผิดชอบในส่วนที่เราไปวัดพื้นที่เขตแดน เมื่อออกมาชัดเจนเรา ก็เป็นผู้ที่รักษาอธิปไตยดินแดน

เมื่อถามว่ารู้สึกเป็นห่วงหรือไม่ว่า ปัญหาจะบานปลาย หากตกลงกันไม่ได้ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้ดี ให้ละเอียดอ่อน และชี้แจงได้ เพราะประชาชนมีสิทธิ์จะคิด และรับรู้อะไรได้ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับการเจรจาว่าจะออกมาอย่างไร

พล.อ.บุญสร้าง กล่าวด้วยว่าตนได้พูดคุยกับ พล.อ.เตีย บันห์ รวม.กลาโหมของกัมพูชา ด้านการทหาร แต่ไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตนมีหน้าที่อยู่จำกัด คือ วัดพื้นที่เขตแดนบริเวณนั้น และรักษาอธิปไตย รวมถึงการดูแลประชาชนไม่บาดเจ็บล้มตาย หากมีการปะทะกันเกิดขึ้น

"เมื่อเร็วๆนี้ผมได้โทรศัพท์ไปหา พล.อ.เตีย บันห์ ขอให้ช่วยดูแลคนไทย บริเวณตามแนวชายแดน ดูแลคนกัมพูชา อย่าให้มามีเรื่องโดยเฉพาะคนไทยในกรุงพนมเปญ บริเวณสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ เพราะเดี๋ยวจะเกิดเหตุขึ้น พล.อ.เตีย บันห์ ก็รับปากว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล ส่วนการตรึงกำลังบริเวณชายแดนของทั้งสองฝ่ายนั้น ตนก็ขอร้องให้ พล.อ.เตีย บัน ช่วยดูแล ไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง" พล.อ.บุญสร้าง กล่าว

แถลงการณ์ร่วมทำไทยเสียอธิปไตย

ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกประจำประเทศไทย กล่าวอธิบายข้อเท็จจริง เมื่อไทยยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่เพียงผู้เดียวว่า ขณะนี้ มีการทำเสมือนหนึ่งว่า การขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทไม่ส่งผลใดๆ ต่ออธิปไตยของประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ พันธะภารกิจที่ตามมาโดยอนุสัญญามรดกโลก ที่ประเทศภาคีจะต้องมีพันธกิจปกป้องคุ้มครองอนุรักษ์มรดกโลกที่ขึ้นทะเบียน และไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อมรดกโลก กล่าวคือ เมื่อไทยหนุนให้เขมรขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว อำนาจการจัดแผนอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารก็จะตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งภายใต้ข้อบังคับของอนุสัญญามรดกโลก ไทยจำเป็นต้องยอมรับแผนพัฒนาฯ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำการพัฒนาพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งก็คือพื้นที่ของประเทศไทย

" ตัวปราสาทพระวิหารขณะนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรม เปราะบาง และเสี่ยงต่อการพังเสียหาย ยิ่งตั้งอยู่บนเขาลาด ทำให้น้ำไหลเสี่ยงต่อการพังทลาย รวมไปถึงการออกฎหมายควบคุมมิให้มีสิ่งปลูกสร้างใกล้เขาพระวิหารมากเกินกำหนด รวมไปถึงการกำหนดสีของสิ่งปลูกสร้างบริเวณใกล้เคียง ที่จำเป็นต้องทำให้กลมกลืนกัน เหล่านี้ล้วนจำเป็นจะต้องจัดการในพื้นที่ฝั่งไทย และอาจจะต้องออกกฎหมายใหม่ ซึ่งนั่นแปลว่า เราเสียอธิปไตยแล้ว แต่ถ้าหากเรายื่นขอขึ้นทะเบียนร่วม เราจะไม่ต้องรับสภาพแบบนี้ เราจะสามารถร่วมวางแผน ตัดสินใจ หรือคัดค้านเขมรได้มากกว่านี้"

แฉพิรุธแถลงการณ์ฉาว

ศ.ดร.อดุล ยังกล่าวถึงข้อพิรุธที่พบได้จากแถลงการณ์การร่วมวันที่ 18 มิ.ย. ของนายนพดล ว่ามีข้อน่าสงสัยหลายอย่าง แค่ 3 คำแรกก็แปลกแล้ว เพราะอ้างถึงการประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 22 พ.ค. แต่การลงนามของทั้งนายนพดล ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายไทยที่ลงนามในประเทศไทยก็ลงนามวันที่ 18 มิ.ย. ตัวแทนฝ่ายกัมพูชา ลงนามวันที่ 18 มิ.ย. แต่ที่กรุงพนมเปญ ในขณะที่ประจักษ์พยาน ลงนามวันที่ 18 มิ.ย. แต่ในปารีส ส่วนแผนที่ที่แนบเป็นเอกสารประกอบนั้น มีตราประทับของกัมพูชา ย้ำว่ามีตราประทับของกัมพูชาฝ่ายเดียว ไม่มีตราประทับประเทศไทย และมีการเขียนด้วยลายมือ กำกับวันที่ในแผนที่ฉบับนี้ว่า 18 มิ.ย.

"กรณีเขาพระวิหาร นพดล ก็ออกมาแก้ข่าว บอกว่าไม่เสียดินแดนอย่างงั้นอย่างงี้ และกล่าวว่าได้นำแผนที่ไปให้หน่วยงานความมั่นคง และกรมแผนที่ตรวจสอบแล้ว ถามว่าในเมื่อแผนที่ที่แนบมาในหนังสือลงนามมันถูกเขียนกำกับวันที่ว่า 18 มิ.ย. นพดล เอาแผนที่อะไรให้ความมั่นคงตรวจสอบ มันก็แปลได้อย่างเดียวว่า มันเป็นการจัดฉาก หนังสือลงนามฉบับนี้ถูกเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า"

เชื่อ"ปองพล" ค้านไม่สำเร็จ

อดีตประธานกรรมการมรดกโลก ยังกล่าวด้วยว่า ก่อนการเดินทางไปประชุมที่แคนาดาครั้งนี้ นายปองพล อดิเรกสาร ประธานกรรมการมรดกโลกคนใหม่ ก็ได้เดินทางมาพบตนที่บ้าน ซึ่งตนก็ย้ำจุดยืนว่า ประเทศไทยควรขึ้นทะเบียนร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านายปองพล จะไม่สามารถคัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้ เพราะได้ข่าวว่านายนพดล จะไปด้วย ที่สำคัญคือ นายนพดลอาจจะไปในฐานะหัวหน้าคณะเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ไทยไม่ใช่ประเทศสมาชิก 1 ใน 21 ประเทศ เป็นเพียงประเทศภาคีเท่านั้น ซึ่งโดยการปฏิบัติในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกนั้น ผู้ที่มีสิทธิออกเสียง หรือให้ความเห็นประกอบการพิจารณา ก็คือประเทศสมาชิก 21 ประเทศ โดยประเทศอื่นๆจะอยู่ในฐานะสังเกตการณ์เท่านั้น ประเทศไทยเองก็เป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน ซึ่งถ้าเขาเปิดโอกาส ไทยอาจจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็น แต่นั่นคือภายหลังการพิจารณาของประเทศสมาชิก หรืออาจจะเป็นหลังการลงมติแล้วด้วย

"ปองพล"เสนอขึ้นทะเบียนร่วม

นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กล่าวว่า การเดินทางไปแคนาดา เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกนั้น มีวัตถุประสงค์หลัก คือการให้คณะกรรมการมรดกโลก ถอนคำยินยอมในสัญญารับรองให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกของกัมพูชา โดยตนจะพูดคุยกับผู้แทนจากกัมพูชา เพื่อปรับความเข้าใจกัน และคิดว่ายังไม่ช้าเกินไปที่จะเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารออกไปก่อน จากนั้นจะพูดคุยกับตัวแทนกัมพูชาทั้งระดับบน และล่าง เพราะการให้เลื่อนพิจารณาออกไป เป็นแนวคิดของประชาชนไทยส่วนใหญ่ ที่อยากเห็นการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ

นายปองพล กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการมรดกโลกทราบเรื่องที่นายนพดล ลงนามในสัญญาที่กรุงปารีส และได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองกลางแล้ว ส่วนจะมีปัญหาใดๆหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ

ลุ้นโมฆะจากกฎยูเนสโก้ ข้อ 45

วานนี้(3 ก.ค.)ที่สถาบันไทยคดีศึกษา มีการประชุมร่วมกันของนักวิชาการประเด็นการขึ้นทะเบียนเปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยนพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา อาจขัดกฎข้อบังคับการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก ข้อที่ 45 ที่ระบุว่า การแจกจ่ายเอกสารเพื่อให้คณะกรรมการในประเทศภาคีพิจารณานั้นจะต้องส่งให้ถึงมือก่อนการประชุมอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ซึ่งจะอยู่ระหว่างวันที่ 20 พ.ค.51 แต่หากยึดการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ระหว่างนายนพดลกับฝ่ายกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 51 นั้น ถือว่าขัดต่อกฎข้อบังคับข้อที่ 45 อย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นไทยจะมีช่องทางในการยื่นทักท้วงได้

"ตอนนี้เรามองอยู่ 2 ประเด็นก็คือ การที่กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระ
วิหารเป็นมรดกโลก และที่ไทยเป็นห่วงอยู่ขณะนี้ก็คือ การที่เราจะเสียดินแดนให้กัมพูชา แต่ 2 เรื่องนี้ดูจะเป็นเรื่องคาบเกี่ยวกันอยู่ เนื่องจากในคำแถลงการณ์ร่วมข้อ 3 ว่าด้วยเรื่องการขีดเส้นเขตแดน ซึ่งกินพื้นที่ของไทยไปด้วย นั้น เป็นสิ่งที่เรายอมไม่ได้ และดูจะมีความหวังว่าสามารถทักท้วงได้โดยใช้กฎข้อบังคับของยูเนสโกเอง" นพ.ตุลย์ กล่าว

ตร.ตั้งด่านสกัดถนนมุ่งเขาพระวิหาร

วานนี้ (3 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามถนนสายหลักทุกอำเภอในจ.ศรีสะเกษ ที่เป็นเส้นทางมุ่งสู่เขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านตรวจยานพาหนะที่ผ่านไปมาทุกคันอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ที่มุ่งหน้าไปทาง อ.กันทรลักษณ์ ทางผ่านขึ้นสู่เขาพระวิหาร เพื่อตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้งเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเดินทางไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มธรรมยาตรา กอบกู้รักษาแผ่นดินไทย ที่บริเวณผามออีแดง เขาพระวิหาร เนื่องจากเกรงว่า อาจทำให้ปัญหาบานปลาย ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา

ขณะเดียวกันที่ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณประตูเหล็กทางเข้าสู่ปราสาทพระวิหาร และชุมชนชาวกัมพูชาที่รุกล้ำเขตแดนไทยเข้ามาสร้างบ้านเรือนร้านค้ากว่า 500 คน ยังคงมีกุญแจล็อกปิดประตูอยู่เช่นเดิม ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.เป็นต้นมา โดยมีกำลังทหารทั้งฝ่ายไทย และทหารฝ่ายกัมพูชา ต่างตรึงกำลังตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด

เขมรส่ง ตร.อารักขาสถานทูตไทย

ตำรวจกรุงพนมเปญได้ส่งตำรวจนับร้อยนายไปประจำที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงพนมเปญเมื่อวันพฤหัสบดี (3 ก.ค.) หลังจากได้ทราบว่ากำลังจะมีฝูงชนไปชุมนุมที่นั่น เพื่อประท้วงกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารผู้บัญชาการตำรวจกรุงพนมเปญ พล.ท.ตูจ นารัฐ (Touch Narath) กล่าวว่า การตัดสินใจส่งตำรวจไปอารักขาสถานทูตไทยมีขึ้นหลังจากได้รับการร้องขออนุญาตจากคนกลุ่มหนึ่งเพื่อจัดการชุมนุมขึ้นที่นั่น

"เรามีประสบการที่เลวร้ายในอดีต ดังนั้นจะต้องเตรียมพร้อมป้องกันพวกที่มีเจตนาร้ายมิให้เผาสถานทูตไทยอีก" ผบ.ตร.พนมเปญกล่าว

กัมพูชาได้ยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารกับองค์การยูเนสโก คณะกรรมการมรดกโลกได้เปิดประชุมวันที่ 2-10 ก.ค.นี้ ซึ่งจะมีการพิจารณาการขอจดทะเบียนจากหลายประเทศ รวมทั้งปราสาทพระวิหารด้วยเมื่อเดือนที่แล้วศาลปกครองกลางของไทยได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมิให้มติคณะรัฐมนตรีที่สนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาจดทะเบียนปราสาทเก่าแก่อายุ 900 ปี มิให้มีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกันกับที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้

นายฮอร์นัมฮอง (Hor Nam Hong) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชากล่าวเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กัมพูชากับไทยได้ ปัจจุบันพรรคการเมืองต่างๆ ในกัมพูชากำลังรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีการหย่อนบัตรในวันที่ 27 ก.ค.ศกนี้ ท่ามกลางความวิตกว่ากรณีประสาทพระวิหารจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง

"เราไม่ต้องการเห็นการประท้วงใดเกิดขึ้น ขณะที่เรากำลังยุ่งกับการเลือกตั้ง" พล.ท.นารัฐกล่าว

ในปี 2546 ชาวกัมพูชาหลายร้อยคนแสดงความไม่พอใจหลังจากทราบข่าวเล่าลือเกี่ยวกับนักแสดงสาวของไทยคนหนึ่งกล่าวว่า ปราสาทนครวัดเป็นของไทย ได้จัดการประท้วงที่สถานทูตไทยก่อนจะลุกลามกลายเป็นการจลาจล และเผาสถานทูตไทยเสียหายหนักกลุ่มผู้ก่อจลาจลยังบุกเผาหรือเข้าทำลายข้าวของและฉกฉวยเอาทรัพย์สินของบริษัทห้างร้านของไทยในกรุงพนมเปญไป สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงรัฐบาลกัมพูชาได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายไทยรวมเป็นเงิน 2,000 ล้านบาทจากเหตุจลาจลครั้งนั้น

ส่วนธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย ได้รับการชดใช้เป็นการลดหย่อนภาษีหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ แทนเงินสดเป็นส่วนใหญ่หลังข่าวคราวเกี่ยวกับคำสั่งศาลปกครองของไทยได้รับการเผยแพร่ในกรุงพนมเปญ ชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งได้แสดงความไม่พอใจ และเริ่มก่อคลื่นใต้น้ำต่อต้านไทยมาตั้งแต่บัดนั้น
หุ่นเชิดไร้สำนึก-ไม่ออก นพดลเจอด่าขายชาติ จี้แจงมรดกโลกด่วน
ผู้จัดการรายวัน – รัฐบาลหุ่นเชิงไร้จิตสำนึกตะแบงเขาพระวิหารต่อแม้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองมติครม.อัปยศขายชาติ นักวิ่งชายเดินวิ่งการกุศล 175 ปีไทย-อเมริกัน ด่า3ครั้งนพดลขายชาติ ต่อหน้าเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ “นพดล” โยนครม.พิพากษาอุทธรณ์หรือไม่ ย้ำไม่ผิด “ปองพล-อดุล-ทนายแมกไซไซ” บี้ครม.สั่งก.ต่างประเทศแจ้งรัฐบาล-ทูตเขมรด่วน โพล่งถ้าไม่ได้แย้งไปเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องภายในยูเนสโกไม่รับรู้อดีตทูตจี้รัฐบาลหุ่นเชิด” ลาออกยกคณะแสดงความรับผิดชอบ ชี้ไทยเป็นประชาธิปไตยอาเพศไม่มีใครรับผิดชอบ มั่นใจโบ้ยขรก.ประจำรับผิด ส่วนทูตเขมรยืนยันอภิปรายไม่กระทบความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น