xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเท็จจริงและมุมมองกรณีปราสาทพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ข้อเท็จจริง

1. คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตัดสินกรณีพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย-ราชอาณาจักรกัมพูชา กรณี “ปราสาทพระวิหาร” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย (1) ลงความเห็นว่า “ปราสาทพระวิหาร” ตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 (2) ลงความเห็นว่า ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหาร หรือตำรวจผู้เฝ้ารักษาหรือดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียง ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3

2. คำฟ้องของกัมพูชาระบุเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ มิอาจขยายให้กว้างออกไปนอกพื้นที่จนครอบคลุมเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาดงรัก ฉะนั้น การกล่าวถึงข้อพิพาทในคดีว่าเป็น “คดีเขาพระวิหาร” หรือ “คดีปราสาทเขาพระวิหาร” จึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ที่ถูกต้องคือ “คดีปราสาทพระวิหาร” โดยจำกัดพื้นที่เฉพาะบริเวณที่ตั้งของปราสาท

คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงจำกัดเฉพาะภายในกรอบคำร้องที่กัมพูชายื่นฟ้องโดยไม่อาจขยายพื้นที่นอกเหนือจากบริเวณที่ตั้งของปราสาท

3. ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตข้าราชการระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงความเห็นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551 ชี้ให้เห็นประเด็นข้อเท็จจริงสำคัญ ได้แก่

3.1 คำพิพากษาของศาลไม่มีกลไกบังคับคดี ในทางปฏิบัติจึงไม่อาจนำมาบังคับคดีได้ แต่ไทยก็ได้ปฏิบัติตามโดยไม่ขัดขืนหรือละเมิดคำพิพากษา โดยไทยได้ถอนบุคคลากรไทยผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาปราสาทพระวิหาร ย้ายเสาธงชาติไทยออกมานอกพื้นที่ปราสาทพระวิหารและสร้างรั้วล้อมตัวปราสาทไว้ เป็นการถอนการครอบครองปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษา

3.2 เนื่องจากไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา จึงไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาและยื่นประท้วงคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวและตั้งข้อสงวนไว้ โดยไทยถือว่าปราสาทพระวิหารยังอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย และจะกลับไปครอบครองปราสาทพระวิหารอีกเมื่อคำพิพากษาได้รับการพิจารณาทบทวนแก้ไขอีกครั้ง

3.3 ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไทยจึงไม่สมควรเปลี่ยนท่าทีหรือยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบในระดับรัฐบาลและประชามติ

3.4 หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นว่า ศาลเชื่อในหลักการว่าเส้นสันปันน้ำยังคงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณเทือกเขาดงรัก เส้นสันปันน้ำที่เขาพระวิหารอยู่ที่ขอบหน้าผา ฉะนั้น ถ้าจะมีการสำรวจใหม่ เส้นแบ่งเขตน่าจะเป็นเช่นเดิมโดยใช้สันปันน้ำเป็นหลัก ปราสาทพระวิหารจึงยังอยู่ในเขตแดนไทย

4. ปัจจุบัน แนวรั้วลวดหนามที่กั้นปราสาทพระวิหารส่วนที่ยกให้แก่กัมพูชา ตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ.2505 นั้น ได้ถูกประชาชนกัมพูชารื้อถอนนำไปจำหน่ายจนหมดไม่เห็นแนวรั้วเดิมแล้ว

การที่กัมพูชาได้ครอบครองพระวิหารที่ยอดเขา และยังอ้างเส้นเขตแดนบริเวณดังกล่าวตามแผนที่ท้ายฟ้องของกัมพูชาเอง จึงก่อให้เกิดปัญหาการทับซ้อนเส้นเขตแดนขึ้น โดยที่กระทรวงการต่างประเทศไทยถือว่าอาณาเขตไทยต้องยึดตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2505 ซึ่งในปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า มีพื้นที่หลายส่วน เช่น บริเวณทางทิศตะวันตกของปราสาทพระวิหาร ฝ่ายกัมพูชาได้ก่อสร้างชุมชนและวัด ก่อสร้างถนนขึ้นมาจากประเทศกัมพูชา รวมทั้งกรณีชุมชนร้านค้า โรงแรม สถานบันเทิง คาราโอเกะ และที่ทำการช่องปราสาทพระวิหาร ก็อยู่นอกแนวเขต 20 เมตรจากบันไดนาค ซึ่งในกรณีเหล่านี้ กรมแผนที่ทหารชี้ว่าเป็นดินแดนของประเทศไทย

5. ท่าทีของฝ่ายกัมพูชาที่มีมาโดยตลอด คือ รัฐบาลกัมพูชาพยายามผลักดันการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว

6. วันที่ 28 มิถุนายน 2550 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 31 ที่เมืองไครส์เซริต์ ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีมติเกี่ยวกับการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เห็นว่า ปราสาทพระวิหารมีคุณค่าที่เป็นสากลอย่างเด่นชัด และสมควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยให้ไทยและกัมพูชาตกลงที่จะร่วมกันจัดทำแผนอนุรักษ์และบริหารจัดการบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยให้มีการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนอีกครั้งหนึ่งในการประชุมสมัยที่ 32 ณ เมืองคิวเบกท์ ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคม 2551

วันที่ 3-4 มกราคม 2551 คณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ กรมศิลปากร กรมแผนที่ทหาร ร่วมกับคณะกรรมการมรดกโลกจากกัมพูชา และจากต่างประเทศ ร่วมเดินทางสำรวจภูมิประเทศ จัดทำแผนผังบริเวณภาพสลักนูนต่ำผามออีแดง, สถูปคู่, สระตราว และแหล่งตัดหินในฝั่งประเทศไทย ปราสาทพระวิหาร, ช่องบันไดหัก และสระน้ำต่างๆ รอบบริเวณปราสาทพระวิหารฝั่งประเทศกัมพูชา เพื่อนำข้อมูลเข้าการร่วมประชุมจัดทำแผนร่วมกัน

การประชุมจัดทำแผนฯ ที่เมืองเสียมราฐ เมื่อวันที่ 12-13 มกราคม 2551 ปรากฏว่า รัฐบาลกัมพูชา นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีไม่ยอมรับข้อเสนอฝ่ายไทย โดยยังย้ำถึงเส้นเขตแดนที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของฝรั่งเศส เมื่อปี 2451 และการนำเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว (เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปกัมพูชาจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2551)

มุมมองต่อการดำเนินการกรณีปราสาทพระวิหาร

1.รัฐบาลไทยควรยืนยันเจตนาเดิมที่จะขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกับกัมพูชา โดยร่วมขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและบริเวณสระตราว สถูปคู่ และภาพสลักนูนต่ำ ตลอดจนผามออีแดง ซึ่งอยู่ในฝั่งประเทศไทยเป็นบริเวณทั้งหมดของมรดกโลก ในลักษณะชุมชนโบราณ และให้มีการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน

หากกัมพูชาไม่ยินยอม ไทยควรขอให้มีการยับยั้งการดำเนินการขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวของกัมพูชา

รัฐบาลไทยไม่สามารถจะสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงประเทศเดียวอย่างที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศไปลงนามเช่นนั้น เพราะการขึ้นทะเบียนตัวเขาพระวิหารนั้น ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แต่จะต้องมีการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์รอบตัวโบราณสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตไทย การจะอนุญาตให้ก่อสร้าง หรือห้ามก่อสร้าง หรือการควบคุมใดๆ ก็เป็นอำนาจอธิปไตยของไทย หากยินยอมให้กัมพูชาดำเนินการฝ่ายเดียวก็เท่ากับว่าไทยยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือแผ่นดินไทย

2.รัฐบาลไทยไม่ควรพิจารณาผ่อนผัน ผ่อนปรน เงื่อนไขของอาณาเขต เพื่อแลกกับประโยชน์ของคนไทยบางกลุ่มที่หวังไปร่วมลงทุนทางการค้า การท่องเที่ยว และ Entertainment Complex ที่บริเวณใกล้ช่องตาเฒ่า (ในเขตกัมพูชา) หรือเกาะกง หรือผลประโยชน์ในอ่าวไทย หรือที่อื่นใดในประเทศกัมพูชา

อนึ่ง มีคำยืนยันโดยบุคคลระดับรัฐมนตรีของกัมพูชาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีแผนจะเข้าไปลงทุนจำนวนมหาศาลในกัมพูชา

3.รัฐบาลไทยควรดำเนินการโยกย้ายชุมชนตลาดหน้าบันได ที่ชาวกัมพูชามาตั้งร้านค้า ที่พักนักท่องเที่ยว สถานบันเทิง คาราโอเกะ วัด และที่ทำการช่องพระวิหาร ออกจากเขตดินแดนประเทศไทย มิเช่นนั้น อนาคตกัมพูชาอาจอ้างสิทธิ์ครอบครองที่ไทยไม่ได้โต้แย้งสิทธิ์ในเขตแดน ดังเช่นในอดีต และต้องถือว่าคนกัมพูชาที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานดังกล่าว เป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและเป็นผู้บุกรุก

4.รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 บังคับว่า ก่อนดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย ก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงและจะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาและข้อตกลง และจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาด้วย

การกระทำของนายนพดล ปัทมะ น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่มีสภาพบังคับหรือผูกพันใดๆ ต่อรัฐไทยทั้งสิ้น และสมควรจะต้องมีการดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป

5. การดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในแถลงการณ์อันเป็นการยืนยันให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยฝ่ายเดียวนั้น ส่อว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่ออธิปไตยของแผ่นดินไทย เพราะเป็นการมุ่งทำลายจุดยืนและสิทธิตามข้อสงวนของรัฐไทย ในการที่จะพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิอาณาเขตและอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาตามแนวเส้นสันปันน้ำ อันเป็นหลักการที่ไทยยึดถือมาโดยตลอด

ควรจะต้องมีการดำเนินคดีกับนายนพดล ปัทมะ และคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในการดังกล่าวอย่างถึงที่สุด

น่าคิดว่า นอกจากจะต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแล้ว รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนคนไทยอย่างไร

จะรับผิดชอบต่อบรรพบุรุษ ที่เคยต่อสู้เพื่อสงวนรักษาแผ่นดินไทย อย่างไร

และจะรับผิดชอบต่ออนุชนรุ่นหลัง อย่างไร

กำลังโหลดความคิดเห็น