xs
xsm
sm
md
lg

ยัน”นพดล”เซ็นยกดินแดน ไทยเสีย4.6 ตร.กม.ให้เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรรายวัน – “ม.ล.วัลย์วิภา” ยันไทยเสียดินแดนให้กัมพูชา 4.6 ตารางกิโลเมตรตามข้อผูกพันในแถลงการณ์ร่วมที่ “นพดล ” ลงนาม พร้อมนัดระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน 24 มิ.ย.นี้ที่สถาบันไทยคดีศึกษา ด้านรมว.ต่างประเทศไทยหัวใจแขมร์เพิ่งตื่นเตรียมขอมติที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้กรรมสิทธิ์สระตราว บันได เป็นมรดกโลก ท้าหากผิดจริงพร้อมติดคุก อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ยันไม่จำเป็นต้องนำเข้ารัฐสภา ขณะเดียวกันยืนยันทบทวนคำพิพากษาศาลโลกไม่ได้แล้ว ทัพธรรมยาตราฯปักหลักชุมนุมเขาวิหารเตรียมบุกยื่น"ฮุนเซน"จี้คืนอธิปไตยไทย

วานนี้(22 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 9 ตึกอเนกประสงค์ สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ สถาบันไทยคดีศึกษา เปิดเผยข้อมูลในประเด็นที่นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา (Joint Communique) และแผนผังที่แนบท้ายแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2551 ซึ่งมีทั้งหมด 6 ข้อด้วยกัน

แต่ที่น่าสนใจก็คือในข้อที่ 1.ที่ระบุว่าไทยสนับสนุนการลงทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการพิจารณามรดกโลกครั้งที่ 32 เมื่อเดือน ก.ค.2551 ณ Quebec ประเทศแคนาดา โดยการกำหนดเขตรอบดินแดนนั้นระบุตามหมายเลข 1 ในแผนที่ซึ่งจัดทำโดยกัมพูชา รวมถึงหมายเลข 2 คือด้านตะวันออกและด้านใต้ของปราสาทก็ถูกรวมเข้าไปในแผนที่ดังกล่าวด้วย และในข้อที่ 2.ที่ระบุว่าเพื่อเห็นแก่ความปรองดอง กัมพูชาจะยอมรับการเสนอให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยละเว้นการระบุว่าพื้นที่บริเวณด้านเหนือและด้านตะวันตกของตัวปราสาทว่าเป็นของใคร และในข้อที่ 5 ที่ระบุว่า การลงทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกจะต้องปราศจากการละเมิดสิทธิของกัมพูชาและไทย ในการกำหนดเขตแดนในการทำงานของคณะทำงานร่วม The Joint Commission for Land Boundary (JBC) ของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมทั้ง 3 ข้อนั้นบ่งชี้ว่าไทยยอมรับแผนที่ปักปันที่ทางกัมพูชาทำเสนอในขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในมาตรการส่วน 1:200,000 โดยไม่ได้ยอมรับแผนที่ของฝ่ายไทยที่ยึดถือแผนที่มาตรส่วน 1:50,000 ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 ซึ่งถือเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และการที่ไทยยอมรับพื้นที่ตามแผนผังจะถือว่าเป็นการยอมรับพื้นที่ตามพระราชกฤษฎีกาของกัมพูชาเท่ากับว่าไทยต้องเสียดินแดนที่เป็นปัญหาทับซ้อนกันให้กับกัมพูชาถึง 4.6 ตารางกิโลเมตร

“ที่นายกฯสมัคร ในรายการสนทนาประสาสมัครโดยบอกว่าเป็นเรื่องของเขา ไม่ได้มีการชี้แจงอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างดูง่ายไปหมด ทั้งที่มันเป็นเรื่องเสียดินแดน และที่พูดก็พูดจากความเข้าใจพื้นฐานจากรูปภาพเท่านั้น ซึ่งรูปภาพที่พูดถึงกันนี้ไม่มีผลอะไรนอกจากความเข้าใจ ซึ่งเรื่องเส้นเขตแดนจะต้องมีการรับรองทางกฎหมาย เวลามีกรณีพิพาทจะไม่มีผลเลย และครั้งนี้มีการกระทำที่รองรับจากรมว.ต่างประเทศของไทยเราก็จะไม่มีประเด็นที่สามารถโต้แย้งได้อีกเพราะเราได้ยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชาไปในตัวจากแถลงการณ์ร่วมนี้แล้ว”

“ดังนั้นการเจรจาต่อไปต้องยึดตามที่ลงนามไว้ และจะมีผลต่อการพัฒนาร่วมกัน หลังจากการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว ส่วนที่มีการออกมาระบุว่าแถลงการณ์ร่วมนี้เป็นเพียงบันทึกเท่านั้นคงต้องให้นักกฎหมายมาตีความแต่หากดูตามข้อ 5 ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าห้ามละเมิดสิทธิของกัมพูชา”ม.ล.วัลย์วิภา กล่าว

**นัดระดมความเห็น 24 มิ.ย.
ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวต่อว่า อยากให้ภาคประชาชนรวมตัวกันทำหนังสือคัดค้านผ่านยูเนสโก ไทยไปถึงคณะกรรมการมรดกโลกรวมถึงส่งหนังสือคัดค้านไปยังสถานทูตกัมพูชา หรือขอความร่วมมือไปยังอีโคโมส ประเทศไทยเพื่อให้แจ้งต่อคณะกรรมการมรดกโลกว่าประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วย หรืออาจจะมีกลไกตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อทำให้เรื่องนี้ตกเป็นโมฆะ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เวลา 13.00 น. ที่สถาบันไทยคดีศึกษา ตนอยากเชิญชวนนักกฎหมาย นักวิชา องค์กรภาคเอกชน และผู้ที่มีความสนใจเรื่องเขาพระวิหารร่วมระดมความคิดเห็นและศึกษาแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา และเอกสารการยื่นขอจดทะเบียนมรดกโลก เพื่อดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชนในการคัดค้านการยื่นขอจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อไป

**นพดลเพิ่งคิดได้ขอครม.
ขึ้นทะเบียนสระตราว-บันได


นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กล่าวในรายการ “สังคมพิพากษ์” ทางคลื่นวิทยุ 100.5 ถึงการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า ขณะนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่เตรียมเอกสารที่เคยขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ร่วมกับกัมพูชา แต่ถูกปฏิเสธมาพิจารณาใหม่ เพราะเห็นว่า ควรจะขึ้นทะเบียนที่อยู่ ในส่วนกรรมสิทธิ์ของประเทศไทยด้วย คือ สระตราวและบันได โดยจะเร่งเสนอเอกสาร ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ ที่แคนาดา ในต้นเดือนหน้า

รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า การพิจารณาอาจจะไม่ทันให้ความเห็นชอบ แต่เรื่องจะเข้าไปอยู่ในการพิจารณาและมีความเป็นไปได้ว่า จะได้รับความเห็นชอบ สำหรับในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนนั้น จะต้องบริหารจัดการร่วมกัน โดยจะเจรจา ให้ร้านค้าออกไป อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว เปิดเผยและทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่

นายนพดล กล่าวอีกว่า ทุกอย่างทำอย่างถูกต้อง ไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า หนักใจและเหนื่อยใจ แต่ไม่เคยถอดใจ เพราะถ้าถอดใจเท่ากับความไม่ถูกต้องบิดเบือนชนะความถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ถ้าทำผิดไม่เพียง จะลาออก แต่จะยอมติดคุกด้วย

**อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ยันไม่ต้องนำเข้ารัฐสภา
นายกฤช ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวชี้แจงประเด็นเขาพระวิหาร โดยเฉพาะประเด็นที่มีการตั้งกระทู้ถามของวุฒิสภาที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า แถลงการณ์ร่วมที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ได้ไปร่วมลงนามกับรองนายกฯกัมพูชาและยูเนสโกนั้น เป็นหนังสือที่เข้าข่ายตามรธน.มาตรา 190 วรรค 2 ต้องให้รัฐสภาให้การรับรองก่อนหรือไม่ ขอชี้แจงว่า แถลงการณ์ร่วมที่ได้ลงนามไปนั้นไม่มีสถานะเป็นสนธิสัญญา เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างไทยและกัมพูชาแต่เป็นบันทึกการประชุมเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับกรณีที่กัมพูชาที่ยื่นแผนผังปราสาทเขาพระวิหาร และรวมถึงพื้นที่ในเขตที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์ซับซ้อนกันซึ่งก็เป็นที่ทราบแล้วว่าที่กัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนปราสาทใหม่จำกัดอยู่ในพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารซึ่งอยู่ใต้อธิปไตยและดินแดนของกัมพูชาเอง

ฉะนั้นแถลงการณ์ร่วมก็เป็นการแถลงเจตนารมณ์ของไทยในเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาซึ่งก็เป็นเรื่องระหว่างกัมพูชาและยูเนสโก ไทยเราเพียงแต่ให้การสนับสนุนตามที่กัมพูชาร้องขอมา เพราะเราเห็นถึงคุณค่าของเขาพระวิหารและคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับกัมพูชา

ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่งขึ้นเฉพาะตัวปราสาทและอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่ไทยได้คืนไปให้ตามคำพิพากษาของศาลโลกปี 2505 ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเสียดินแดนใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้อนุสัญญายูเนสโก ข้อ 11 วรรค 3 ระบุชัดเจนว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกในโบราณสถาน หรือสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่หรือดินแดนที่มีรัฐอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันจะไม่มีผลใดๆต่อสิทธิ์เหนือดินแดนอธิปไตย ดังนั้นในแถลงการณ์ร่วมยังได้ยืนยันและย้ำสิ่งที่มีอยู่ตามอนุสัญญายูเนสโก

“การสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก เป็นเรื่องที่ขอให้ไทยสนับสนุน เนื่องจากกัมพูชาได้ยื่นข้อลงทะเบียนต่อคณะกรรมการมรดกโลก ไทยเป็นเพียงสมาชิกหนึ่งในสหประชาชาติการที่ไทยให้การสนับสนุนก็สะท้อนให้เห็นว่าเราส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกโลก การตัดสินใจว่าจะได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่เป็นเรื่องที่กัมพูชาจะต้องไปยืนยันกับคณะกรรมการว่าปราสาทเขาพระวิหารมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ควรได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่”

**ชี้ยังไม่มีการตกลงเรี่องพื้นที่ทับซ้อน-ยันไม่เสียดินแดน
นายกฤชกล่าวว่า สำหรับข้อความในแถลงการณ์ร่วมที่บอกว่าไทยและกัมพูชาจะไปจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกันในพื้นที่อนุรักษ์ขอเรียนว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตกลงเรื่องการทำแผนบริหารจัดการในพื้นที่ทับซ้อน แต่ตามหลักการไทยและกัมพูชาจะต้องเสนอแผนไปยังยูเนสโกภายในสองปีรวมทั้งในแถลงการณ์ร่วมยังระบุว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะไม่มีผลกระทบต่อการสำรวจ และจัดทำเขตแดนตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาเรื่องการสำรวจปักปันเขตแดน พ.ศ.2543 ซึ่งในสมัยนั้น มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ขณะนั้นเป็น รมช.ต่างประเทศเป็นผู้ลงนามซึ่งเป็นสิ่งที่ย้ำ และยืนยันสิทธิ์ของเราที่มีอยู่ตามอนุสัญญายูเนสโก ข้อ 11 วรรค 3 ว่า การขึ้นทะเบียนไม่ได้มีผลกระทบต่อสิทธิ์เหนือดินแดนในพื้นที่ที่เราอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน

ทั้งนี้ขอย้ำในสิ่งที่ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงไปแล้วว่า ไทยไม่ได้เสียดินแดนให้กับกัมพูชาแต่อย่างใด ยืนยันได้จากการที่กรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบแล้ว และเห็นว่าแผนผังใหม่ที่กัมพูชาทำมาจำกัดอยู่ในเฉพาะพื้นที่ในปราสาทพระวิหารที่รัฐบาลไทยได้ส่งคืนให้กัมพูชาไปแล้ว ตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ฉะนั้นการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนก็ไม่มีผลกระทบใดๆทั้งสิ้นต่อเขตแดนของไทย

ส่วนที่มีผู้วิจารณ์ว่า การที่ไทยไปสนับสนุนการขึ้นทะเบียนจะเป็นการสละสิทธิ์ที่ไทยเคยสงวนไว้ในตอนส่งมอบปราสาทให้กัมพูชาหรือไม่ ยืนยันว่า การขอทบทวนคำพิพากษาของศาลโลกไม่สามารถทำได้ เพราะตามกฎหมายคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและอุทธรณ์ไม่ได้ ขณะเดียวกันการขอให้ทบทวนคำพิพากษาจะต้องทำภายใน 10 ปี ดังนั้นสิทธิ์ที่จะขอรื้อฟื้นจึงได้สิ้นสุดไปแล้ว

ส่วนเรื่องพื้นที่ทับซ้อนที่มีผู้สร้างข้อสังเกตว่า เราได้เห็นประชาชนชาวกัมพูชาเข้าไปปลูกบ้านอยู่ จะทำให้เราเสียสิทธิ์เป็นเขตแดนหรือไม่ ขอชี้แจงว่าเรื่องสิทธิ์เหนือพื้นที่ที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลโลกที่ให้คืนตัวปราสาทฉะนั้นเรื่องเส้นเขตแดนที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนจึงเป็นเรื่องที่ไทยและกัมพูชายังจะต้องสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจสองฝ่ายเมื่อปี 2543 หากมีบ้านเรือนรุกล้ำเป็นเรื่องที่จะต้องหารือกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากภายในสองปีไทยและกัมพูชาไม่สามารถทำแผนบริหารจัดการเสนอได้ทันยูเนสโกมีสิทธิ์ถอนเขาพระวิหารออกจากมรดกโลกได้ใช่หรือไม่ นายกฤช กล่าวว่า ยูเนสโกมีสิทธิ์ถอนได้แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ตกลงอะไรกันเลย ซึ่งถ้าไม่ได้ทำตามมาตรฐานที่ยูเนสโกกำหนดเขาก็สามารถพิจารณาถอนออกจากมรดกโลกได้

ต่อข้อถามตามมาตรฐานของยูเนสโกไทยสามารถขอขึ้นทะเบียนร่วมกับกัมพูชาได้หรือไม่ นายกฤชกล่าวว่า ถ้ามีส่วนประกอบอยู่ในดินแดนของเราเป็นสิ่งที่ทำได้แต่ถ้ากัมพูชาจะขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารในพื้นที่ดินแดนของเขาก็เป็นเรื่องของเขาซึ่งตนคงไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้มากขอชี้แจงในเฉพาะขอบเขตประเด็นกฎหมายเท่านั้น

**กมธ.ตปท.เขมรทนไม่ไหว
รบ.เซ็นไม่ปรึกษารัฐสภา
นายสนชัย (Son Chhay) ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ซึ่งเป็น สส.พรรคสมรังสี พรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวในขณะนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของสมเด็จฯ ฮุนเซน เปิดเผยแผนที่ซึ่งฝ่ายกัมพูชาจัดร่างขึ้น และนำไปเสนอให้ฝ่ายไทยอนุมัติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งนี้ สาธารณชนต่างข้องใจและสงสัยว่า แผนที่ที่รัฐบาลจัดทำและนำไปเสนอต่อฝ่ายไทยนั้น อาจจะไม่ได้ยึดถือแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำเอาไว้เมื่อกว่า 100 ปีก่อนในการอ้างอิง

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ในกัมพูชายังกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีสมเด็จฯ ฮุนเซน จะ "ประกาศชัยชนะ" ที่สามารถฟันฝ่ายอุปสรรคนำปราสาทพระวิหารเข้าจดทะเบียนเป็นมรดกโลกจนสำเร็จ ระหว่างการหาเสียงครั้งใหญ่สำหรับการเลือกตั้งวันที่ 27 ก.ค.ศกนี้

**ทัพธรรมยาตราฯปักหลักชุมนุมเขาวิหาร

วานนี้ (22 มิ.ย.) ที่บริเวณสามแยกบ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายสมาน ศรีงาม ประธานสภาประชาธิปไตยแห่งชาติ แกนนำขบวน "ธรรมยาตรา กอบกู้รักษาแผ่นดินไทย กรณีเขาพระวิหาร มลฑลบูรพา" ที่เดินเท้าไกล 100 กิโลเมตรจาก อ.เมืองศรีสะเกษ มุ่งหน้าสู่เข้าพระวิหารชายแดนไทย-กัมพูชา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 21 มิ.ย. คณะธรรมยาตราฯ ได้พักค้างคืนที่วัดบ้านภูมิซรอล บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ โดยในช่วงกลางคืนได้นำคณะธรรมยาตราฯนั่งปฏิบัติธรรมและสนทนาธรรม พร้อมทั้งสวดมนต์เพื่อขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกดลบันดาลให้การทวงคืนเขาพระวิหารและมลฑลบูรพา เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามเป้าหมาย

จนกระทั่งเช้าวานนี้ (22 มิ.ย.) คณะธรรมยาตราฯได้เริ่มเดินเท้าออกจากที่พักมุ่งหน้าไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตามถนนกันทรลักษ์-เขาพระวิหาร โดยคาดว่าจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงจึงจะถึงที่หมาย ทั้งนี้ เนื่องจากเส้นทางขึ้นสู่เขาพระวิหารนั้นค่อนข้างลาดชัน ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากและล่าช้ากว่าปกติ

นายสมาน กล่าวต่อว่า สำหรับการเดินทางในช่วงสุดท้ายนี้มีขบวนรถไถนาเดินตามของชาวบ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา มาเข้าร่วมประมาณ 20 คัน ขณะเดียวกันได้มีสมาชิกสภาประชาธิปไตยแห่งชาติ จากกรุงเทพฯ และตัวแทนหลายจังหวัดทั่วประเทศเดินทางโดยรถทัวร์หลายคันมาสมทบเพื่อร่วมเดินธรรมยาตราฯ ในระยะทางช่วงสุดท้าย ด้วย

เมื่อไปถึงเขาพระวิหารแล้วจะทำการปักหลักชุมนุมใหญ่และตั้งเวทีปราศรัยเกี่ยวกับปัญหาเขาพระวิหาร จากนั้นจะทำการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ผ่านนายรั๊วะ เฮง ประธานช่องพระวิหาร กัมพูชา เพื่อขอให้ฝ่ายกัมพูชาคืนอธิปไตยไทยบนเขาพระวิหารและมลฑลบูรพาให้กลับมาเป็นของประเทศไทยเช่นเดิม พร้อมทั้งขอให้อพยพย้ายชาวกัมพูชา ที่รุกล้ำเขตแดนไทยเข้ามาตั้งชุมชนส้รางบ้านเรือน ร้านค้า วัดและถนนบริเวณเชิงเขาพระวิหารกว่า 500 ราย ออกไปอยู่ในเขตแดนของกัมพูชาโดยเร็ว

"ในการเรียกร้องต่อกัมพูชาครั้งนี้ พวกเราดำเนินการในฐานะประชาชนชาวไทยที่ต้องการพิทักษ์รักษาผืนแผ่นดินไทยให้คงอยู่คู่กับลูกหลานไทยสืบไปตลอดกาล" นายสมาน กล่าว

***ท่องเที่ยวเขาพระวิหารเหงา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นประตูสู่เขาพระวิหาร ปรากฏว่าขณะนี้บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา เพราะหลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับไทยและกัมพูชาเกิดกรณีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนที่บริเวณเขาพระวิหารขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวค่อนข้างบางตา แม้เป็นวันหยุดช่วงเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา มีเพียงทหารพรานที่คอยรักษาความสงบเรียบร้อยตามถนนไปสู่ประตูขึ้นปราสาทเขาพระวิหารเท่านั้น คาดว่านักท่องเที่ยวอาจเกิดความไม่มั่นใจในด้านความปลอดภัยที่จะเดินขึ้นไปเที่ยวชมปราสาทบนเขาพระวิหาร

นายธนัตร ตุลารัตนพงษ์ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41/16 หมู่บ้านแมกไม้ออเงิน ซ.เพิ่มศิลป์ 38 เขตสายไหม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมความสวยงามของปราสาทพระวิหาร กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าบริเวณเชิงเขาพระวิหารที่ชาวกัมพูชามาสร้างบ้านเรือนตั้งชุมชนร้านค้าอยู่นั้นเป็นเขตแดนไทยอย่างชัดเจน แต่เมื่อชาวกัมพูชามาอยู่เป็นเวลานานทำให้เกิดความรู้สึกว่าบริเวณดังกล่าวเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

"รัฐบาลหรือส่วนราชการไทยที่เกี่ยวข้องควรใช้โอกาสดำเนินการต่อรองผลักดันชาวกัมพูชาดังกล่าวออกไปจากเขตแดนไทยเสียก่อน แล้วจึงค่อยมีการเจรจาเกี่ยวกับการสนับสนุนขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่รีบเร่งดำเนินการอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้ไทยสูญเสียประโยชน์และดินแดนสูงมาก" นายธนัตร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น