xs
xsm
sm
md
lg

คำวินิจฉัยกลาง แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดคำวินิจฉัยกลางคดีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ชี้ชัดเป็นหนังสือสัญญา เนื่องจากเป็นการลงนามโดยผู้มีอำนาจของ 2 ประเทศ มีพันธะสัญญาร่วมกัน ต้องผ่านการพิจารณาของสภา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจเกิดความแตกแยกระหว่างประเทศ

วานนี้ ( 9 ก.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง ในกรณีคำร้องที่ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องของส.ว. 77 คน และประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องของส.ส. 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้ตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคหก ประกอบกับมาตรา 154 (1) โดยได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงพร้อมเอกสารประกอบ

ทั้งนี้ นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลว่า การจัดทำคำแถลงการณ์ร่วม ไม่ได้มีเจตนาให้เป็นหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญาใดๆ เพียงเพื่อต้องการสะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหารร่วมกัน ไม่ได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตแดน หรืออธิปไตยของประเทศไทย พื้นที่ทับซ้อนก็ยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนเหมือนเดิม ไม่มีการสละให้กับประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด และก่อนการลงนามในแถลงการณ์ร่วม วันที่ 18 มิ.ย. 50 นั้น เจ้าหน้าที่ของไทยได้ไปตรวจสอบแผนที่ ปรากฏว่าไม่มีส่วนใดล้ำเข้ามาในประเทศไทย จึงได้เสนอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบ และครม.ก็มีมติเห็นชอบในวันที่ 17 มิ.ย. ดังนั้น การไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมวันที่18 มิ.ย. จึงเป็นการกระทำหลังจากได้รับมอบอำนาจจาก ครม.แล้ว

นอกจากนี้ ตามมติครม.วันที่ 10 ก.ค. 2505 ได้มีมติให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่พิพากษาว่าปราสาทพระวิหาร อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา โดยให้คืนปราสาท และดินแดนรอบปราสาท จากนั้นจึงได้จัดทำแผนที่ แอล 7017 ซึ่งปรากฏแนวเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา และยึดแผนที่ดังกล่าวเป็นแนวทางบริหารราชการแผ่นดินมาโดยตลอด

ต่อมารัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามมติคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2550 จึงเห็นได้ว่า การสนับสนุนประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้เป็นครั้งแรก

คำวินิจฉัยกลาง ระบุต่อว่า นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ชี้แจงว่า คำแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง ไม่ได้อยุ่ในความหมายตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา เพราะไม่ได้เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้งสอง และในแถลงการณ์ร่วม ไม่ได้เป็นการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ใดๆ

คำวินิจฉัยกลาง ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยชี้ขาด 2 ประเด็น คือ 1.คำแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 190 หรือไม่ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า "หนังสือสัญญา" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หมายถึงความตกลงระหว่างประเทศทุกรูปแบบที่จัดทำขึ้นระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ หรือ องค์การระหว่างประเทศในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะบันทึกในเอกสารฉบับเดียว หรือหลายฉบับ และไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร อันเป็นความหมายตรงกับคำว่า "treaty" ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 และตรงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ในคำวินิจฉัยที่ 11/2542 และคำวินิจฉัยที่ 33/2543

คำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว ประกอบด้วยการกระทำระหว่างรัฐต่อรัฐ เป็นลายลักษณ์อักษร โดยผู้มีอำนาจ ทำหนังสือสัญญาของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งปกติคำแถลงการณ์ร่วม ที่ไม่ต้องการให้มีผลทางกฎหมายนั้นไม่มีความจำเป็นต้องลงนาม แต่ในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวกลับมี รมว.การต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม นอกจากนี้ยังมีความมุ่งหวังให้เกิดผลทางกฎหมาย โดยพิจารณาจากพันธกรณีที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน คำแถลงการณ์ร่วมฯ จึงเข้าองค์ประกอบของลักษณะความตกลงระหว่างประเทศ โดยที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างสงวนสิทธิซึ่งกันและกัน เมื่อคำแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้อยู่ภายใต้กฎหมายภายในของรัฐใดรัฐหนึ่ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นข้อตกลงจากการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ที่มีอำนาจทำความตกลงผูกพันประเทศไทย และกัมพูชาได้ จึงเข้าข่ายหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

ประเด็นที่ 2. หากคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communique เป็นหนังสือสัญญาแล้ว ถือเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 190 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงหนังสือสัญญา 5 ประเภท ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากเป็นหนังสือสัญญาที่มีความสำคัญ สมควรได้รับการพิจารณาโดยรอบคอบ จากครม.ที่เป็นฝ่ายบริหาร และรัฐสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นตัวแทนของประชาชน ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

สำหรับแถลงการณ์ร่วมฯ ลงวันที่ 18 มิ.ย. แม้จะไม่ได้ปรากฏสาระสำคัญชัดเจนว่า เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อบททั้งหมดในคำแถลงการณ์ร่วมฯ ประกอบแผนที่หรือแผนผังแนบท้าย ซึ่งจัดทำโดยประเทศกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว จะเห็นได้ชัดเจนว่า แผนที่ดังกล่าวได้กล่าวอ้างถึงพื้นที่ เอ็น 1 เอ็น 2 และเอ็น 3 โดยไม่ได้กำหนดเขตของพื้นที่ดังกล่าวให้ชัดเจนว่า ครอบคลุมส่วนใดของประเทศใด เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาละเอียดอ่อน และอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปในภายหน้าได้

"นอกจากนี้ การที่ประเทศกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในเรื่องของเส้นเขตแดน และขอบเขตที่ปราสาทตั้งอยู่ ทั้งประเด็นทางการเมือง และด้านสังคม การที่รมว.การต่างประเทศ เจรจากับประเทศกัมพูชาก่อนที่จะมีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯนั้น เล็งเห็นได้ว่า หากลงนามคำแถลงการณ์ร่วมฯไป ก็อาจก่อให้เกิดความแตกแยกกันทางด้านความคิดเห็น ของคนในสังคมทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤตแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง

คำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว จึงเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทยจึงเป็นหนังสือตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อาศัยเหตุผลดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมฯ ลงวันที่ 18 มิ.ย. 50 เป็นหนังสือสัญญา ที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง จึงต้องรับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง"คำวินิจฉัยกลาง ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น