xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขัด รธน.ต้องผ่านรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาล รธน.มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขัด รธน.มาตรา 190 ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ขณะเดียวกัน มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ถือเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ (8 ก.ค.) มีนายชัช ชลวร เป็นประธานการประชุม เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 08.30 น. โดยมีวาระสำคัญ คือ คำแถลงด้วยวาจาก่อนลงมติ กรณี 77 ส.ว. และ 151 ส.ส.ยื่นคำร้องให้ตีความการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กับพูชา ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.51 กรณีปราสาทพระวิหารมีลักษณะครบองค์ประกอบเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนา และมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพุชา เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า จากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยให้กับประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนฯ ดำเนินการต่อไป แต่ทั้งนี้การดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไปก้าวล่วงได้

นายไพบูลย์ เปิดเผยด้วยว่า ตุลาการฯ 1 เสียงที่เห็นว่าแถลงการณ์ร่วมไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น คือ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ซึ่งให้ความเห็นว่าเป็นหนังสือสัญญา แต่ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลจะมีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัยโดยปกติ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติผู้ตรวจการแผ่นดิน ตราขึ้นโดยไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรค 3 เนื่องจากในการรับหลักการวาระแรก ของสภาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสมาชิกเข้าประชุมเพียง 50 คน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลให้กระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

สรุปผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

1. เรื่องประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชองของรัฐสภา หรือไม่

สรุปข้อเท็จจริง
ประธานวุฒิสภาได้ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 77 คน และประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคหก ประกอบมาตรา 154 วรรคหนึ่ง(1) ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย- กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชองของรัฐสภา หรือไม่

สรุปคำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ลงมติ ราม 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเอกฉันท์วินิจฉัย คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชาฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 มีลักษณะครบองค์ประกอบของความเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสิทธิสัญญา ค.ศ. 1969 และเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 และที่ 33/2543 จึงเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

ประเด็นที่สอง หนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติ 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

2. เรื่องนายกรัฐมนตรีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. .....

สรุปข้อเท็จจริง
นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง(2) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ..... เนื่องจากในวันที่ 7 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันออกเสียงลงคะแนนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ..... มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าประชุมแสดงตน 50 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น คือไม่ถึง 121 คน จึงไม่ครบองค์ประชุม และไม่อาจถือเป็นมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ และเมื่อการประชุมเพื่อลงมติในวาระที่หนึ่งขันรับหลักการ เป็นการประชุมโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 วรรคหนึ่งแล้ว การลงมติในวาระที่หนึ่งจึงเป็นการลงมติโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อาจมีผลให้กระบวนการในการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ... ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ ตามคำวินิจฉัยที่ 2/2551 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ... ตราขึ้นโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

สรุปคำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ลงมติในประเด็นว่า ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า ในวันที่ 7 ธันวาคม 2550 เวลา 12.25 นาฬิกา อันเป็นเวลาออกเสียงลงคะแนนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ... ในการประชุมเพื่อลงมติ มีสมาชิกเข้าแสดงตนเพียง 50 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น คือ ไม่ถึง 121 คน จึงไม่ครบองค์ประชุม การลงมติในวาระที่หนึ่งจึงเป็นการลงมติโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มีผลให้กระบวนการในการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่สามารถนำไปสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองและวาระที่สามต่อไปได้

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม



กำลังโหลดความคิดเห็น