xs
xsm
sm
md
lg

“หุ่นเชิด” กู้หน้า “หมัก” เสียงแข็งไม่ยุบสภาหนีซักฟอกแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
“ชูศักดิ์” ยกอ้างคำ “หมัก” วัตถุประสงค์เปิดประชุมวิสามัญรู้ชัดเพื่ออะไร ไม่เกี่ยวเงื่อนเวลา ปิดประตูซักฟอก ลั่นมี กม.3 ฉบับต้องพิจารณาด่วน เสียงแข็งแก้ตัวแทนยันไม่ยุบสภาแน่บริหารแค่ 4 เดือนไร้เหตุผล

วันนี้ (17 มิ.ย.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเลื่อนอภิปรายในการผลักดันให้ใช้มาตรา 129 ว่า เป็นเรื่องที่คิดว่าทางส่วนรัฐบาลและวิปรัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า มีความจำเป็นต้องดูกฎหมายหลายฉบับ ดูเรื่องงบประมาณ ทั้งนี้ ความตั้งใจดั้งเดิมชัดเจนว่าคงไม่มีเรื่องการอภิปราย เนื่องจากทราบดีว่า ทางสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะยื่นอภิปราย ทางฝ่ายค้านก็ยื่นเข้ามาโดยไม่มีการลงมติ ในตอนนั้นจึงดูว่า แม้ว่ารัฐบาลเปิดอภิปรายญัตติการยื่นอภิปรายของ ส.ว.ก็ยังคงมีอยู่ ก็อาจเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร ท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ จริงๆ เปิดมาแล้วทำอะไรเราก็รู้กันชัดเจน พูดกันชัดเจน

เมื่อถามว่า เหตุผลที่ติดเงื่อนไขเวลาดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลขาดความสง่างามจนถูกมองว่า หนีการอภิปราย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องหนี เรื่องเวลาเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องระเบียบวาระจะพิจารณาเยอะ ไปดูได้เลย วาระการประชุมที่จะเข้าพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) มีกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งทั้ง 3 ฉบับนี้ล้วนเป็นกฎหมายที่ต้องกระทำการตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีญัตติค้างเรื่องศึกษาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆชัดเจนว่า เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญชัดเจนว่าเปิดเพื่ออะไร ในอดีตเปิดเพียง 2-3 วัน แล้วก็ปิดการประชุมไปว่ากันในสมัยการประชุมปกติ แต่สำคัญคือกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่กล่าวมานั้น อย่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน กฎหมาย ป.ป.ช. หรือกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินอะไรก็แล้วแต่ ต่างอยู่ในวาระที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า การใช้มาตรา 129 ต้องใช้เสียง 207 ไม่ใช่เรื่องง่าย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ เขามีสิทธิยื่นต่อประธานสภา ทางประธานสภาก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อมีการโปรดเกล้าลงมาก็สามารถเปิดการประชุมวิสามัญได้

เมื่อถามว่า ในเมื่อประธานสภาเป็นคนของพรรคพลังประชาชนสามารถเชื่อถือเรื่องความเป็นกลางได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หากยื่นมา ประธานสภาก็มีหน้าที่ต้องส่ง ไม่ส่งไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของเขา เมื่อถามว่า เป็นห่วงเรื่องปัจจัยการเมืองภายนอกหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องดูปัจจัยว่า เปิดการประชุมวิสามัญมาเพื่ออะไร อย่างที่ทราบกันดีอดีตที่ผ่านมาเรื่องงบประมาณ แต่สมัยนี้อย่างที่นายกฯ พูดมีความจำเป็นถึงเรื่องการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ตนเข้าใจว่าอย่างน้อยมีกฎหมาย 5-6 ฉบับที่จำเป็นต้องทำ ถ้าไม่ทำก็จะบอกว่าเราไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกถอดถอนอีก

เมื่อถามว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีออกมาระบุเดิม จะเปิดประชุมวันที่ 9 มิ.ย. และปิดการประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านออกมาโต้ว่าเป็นความไม่จริงใจของรัฐบาล นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้พูดเฉพาะเจาะจงว่าเปิดวันไหน หรือปิดวันไหน หมายความว่า ระหว่างช่วงนี้ถึงช่วงนี้รัฐบาลดูว่าภาระด้านงบประมาณ ตามสำนักงบประมาณแผ่นดินกำหนดไว้ว่า 25-26 มิ.ย.น่าจะแล้วเสร็จ ก็กำหนดให้ปิดการประชุมวันที่ 27 มิ.ย. ไม่ได้บอกว่าจะเปิด 9 มิ.ย. และปิด 30 มิ.ย. แต่ระบุว่าอยู่ในช่วงนี้ ซึ่งขณะนี้ชัดเจนแล้วว่ามีพระราชกฤษฎีกาว่าปิดวันไหน

“จริงๆ นายกฯ ไม่มีเจตนาอะไรให้ต้องยุบสภา เพราะเพิ่งบริหารได้เพียง 4 เดือน ไม่มีเหตุอะไรให้ต้องยุบสภา ผมเข้าใจว่าฝ่ายค้านมองว่า เปิดโดยลงมติไม่ได้ ก็ใช้สิทธิตามมาตรานั้นของท่าน เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมขอฝากฝ่ายค้านว่ามีข้อจำกัด ต้องหารือว่าแนวทางท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร หากมีการยื่นจริงนายกฯ ต้องหารือกับประธานสภาว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งประธานสภามีหน้าที่ตรวจสอบญัตติภายใน 7 วันตามระเบียบข้อบังคับ แล้วแจ้งรัฐบาลโดยเร็ว ต้องหารือหาทางออกในทางปฏิบัติว่าจะต้องทำอย่างไร” นายชูศักดิ์ กล่าวตอบเมื่อถามถึงการที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจจะส่งผลดีต่อรัฐบาลหรือไม่ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถยุบสภาได้

เมื่อถามว่า นายกฯ ได้หารือถึงทางออกหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูด สุดแต่จะพิจารณา ตนอยากให้มองว่าเรื่องกฎหมายเหล่านี้จะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ความจำเป็นจริงๆ วัตถุประสงค์ที่เปิดวิสามัญคือ สมัยสามัญปิดแล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นต้องเปิดสมัยวิสามัญเพื่อทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต่อชาติบ้านเมืองก็ไปวิเคราะห์กันเองว่าอย่างนี้จำเป็นหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น