xs
xsm
sm
md
lg

ดูกันจะจะ รธน.ตัดแปะฉบับรัฐบาล “พลังแม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
“พลังแม้ว” ได้ฤกษ์เปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับตัดแปะ คงหมวด 1-2 ฉบับปี 2550 พร้อมหยิบหมวด 3-12 ฉบับปี 2540 มาบังคับใช้ตามคาด

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… ที่พรรคพลังประชาชน ยกร่างแล้วเสร็จพร้อมกับส่งให้พรรคร่วมรัฐบาล นำกลับไปพิจารณานั้นความยาวทั้งสิ้น 91 หน้า โดยเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้นตามที่พรรคพลังประชาชนประกาศว่าจะคงรัฐธรรมนูญ2550 หมวด 1-2 ไว้ แต่ในหมวดที่ 3-12 นำรัฐธรรมนูญ2540 มาบังคับใช้ ซึ่งเป็นไปตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้แต่ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา190 ที่แก้ไขนั้นพบว่า เป็นการตัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป แต่ไปเพิ่มสิทธิให้นักการเมือง

มาตรา 190 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว

ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย

เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป

ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 154(1) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม

แต่ในรธน.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา224 กลับบัญญัติเหลือเพียงแค่ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

นอกจากนี้สาระสำคัญใน “บทเฉพาะกาล” ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งมีจำนวน 37 มาตราพบว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการรื้อองค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็น กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าฯ สตง. สำหรับ ส.ส.และ ส.ว. ยังคงยังคงตำแหน่งต่อไปจนกว่า ครบอายุสภาผู้แทนราษฎรหรือ ครบวาระ

โดย มาตรา 8 บัญญัติว่า ให้วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ทำหน้าที่ วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป และประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้อยู่ต่อไปจนครบอายุของวุฒิสภาหรือเมื่อสมาชิกสภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาให้มีวาระตามมาตรา 9 และให้นำบทบัญญัติการสิ้นสุดสมาชิกสภาพเพราะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาบังคับใช้กับสมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 16 ให้กรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะได้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งตามวรรคสอง

ให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และหากยังไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ให้คณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

มาตรา 17 ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

มาตรา 18 ให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งต้องไม่เกิน 180 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 19 ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อให้ได้มาซึ่งตุลาการรัฐธรรมนูญตามมาตรา204 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ดำเนินการต่อไป จนกว่าจะได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งต้องไม่เกิน 60 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

บทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการได้มา คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ให้คงใช้บังคับต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือเมื่อได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กำหนดระยะเวลาใดจะถึงก่อนกัน

มาตรา 20 ให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามจำนวนที่ขาดตามมาตรา255 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ดังต่อไปนี้

1.ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซ่างได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีการลงคะแนนลับจำนวน 2 คน

2.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญนี้จำนวน 3 คน

3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมด้วยรัฐธรรมนูญนี้จำนวน 1 คน

สำหรับ มาตรา 257 กำหนดวิธีการสรรหาไว้ว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่งประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน ผู้แทนพรรคการเมืองที่มี สมาชิกเป็น ส.ส.พรรคละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน เป็นกรรมการ ทำหน้าที่สรรหารายชื่อ เป็นสองเท่าเพื่อให้วุฒิสภาลงมติเลือก โดยมาตรา 21 ระบุว่า ให้ผู้ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

มาตรา 25 ให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามวรรคสอง

ให้ดำเนินการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตร า26 ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะได้บุคคลดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามวรรคสอง

ให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และหากยังไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่น่าสนใจ คือ “มาตรา 27” เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ สอบสวน หรือวินิจฉัยของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งชั่วคราวตามบทเฉพาะกาลนี้ อยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายทั่วไป เกี่ยวกับความเป็นกลาง และหลักนิติธรรมอันเป็นพื้นฐานและเจตนารมณ์ที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ให้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือบทกฎหมายอื่นใดที่ห้ามมิให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งกรรมการ หรือห้ามปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในการดำรงตำแหน่งมาใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งตามดังต่อไปนี้ตามบทเฉพาะกาล ประกอบด้วย กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ขณะเดียวกันก็มีการร่างให้เขียนกฎหมายลูกให้มีการยุบพรรคอันเนื่องจากไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจะกระทำมิได้

โดยมาตรา 31 บัญญัติว่า ในการตรากฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ

ซึ่งใน (2) ระบุว่า ให้การเลิกพรรคการเมือง ทั้งนี้โดยมิให้นำเอาเหตุที่พรรคการเมืองไม่ส่งสมาชิกรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือเหตุที่ไม่มีสมาชิกของพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้ง มาเป็นเหตุให้ต้องเลิกหรือยุบพรรคการเมือง ส่วนมาตราสุดท้าย คือ มาตรา 37 บัญญัติว่า บทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กฎหมาย หรือกฎหมายที่อ้างถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าบทบัญญัติที่ถูกอ้างถึงนั้นเป็นการอ้างถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น