โฆษก ตร.ไม่แปลกใจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดอันดับที่ 2 ถูกร้องเรียน หลังผู้ตรวจการแผ่นดินจัดลำดับหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด ชี้ ตร.เป็นอาชีพที่ประชาชนสนใจ จึงถูกตั้งข้อสังเกตได้ง่าย ตัดพ้องบประมาณอบรมมีน้อย
วันนี้ (2 เม.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะโฆษก ตร.กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดดับหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอันดับที่ 2 ว่า ในเรื่องนี้ ตร.ถือเป็นนโยบายที่สำคัญ จึงได้มีการขออนุมัติเปิดตำแหน่งจเรตำรวจเพิ่ม เนื่องจากข้าราชการตำรวจเป็นองค์กรที่ใหญ่และมีบุคลากรจำนวนมาก ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่อาจดูแลได้ไม่ทั่วถึงทั้งหมด จเรตำรวจจึงมีหน้าที่ในการเข้าไปดูแลตรวจสอบส่วนนี้ให้เป็นไปตามกฎระเบียบ
“การทำงานของตำรวจคนที่มีดุลพินิจในการดำเนินคดีสูงสุด กลับเป็นผู้มียศต่ำ และความรู้น้อย ในขณะที่ผู้มียศสูงอย่างผมกลับไม่มีอำนาจในการดำเนินคดี ตำรวจระดับสิบตรีสามารถพกอาวุธปืน และแจ้งข้อหาถึงขั้นประหารชีวิตได้ จึงเป็นประเด็นว่าถ้าเราไม่เร่งมุ่งเน้นพัฒนาบุคคลในองค์กรก็จะเป็นปัญหา รวมทั้งเป็นเป้าหมายหลักในการถูกกล่าวหา เพราะเป็นอาชีพที่ประชาชนสนใจจึงถูกตั้งข้อสังเกตและเป็นประเด็นในการพูดถึงได้ง่าย จึงไม่แปลกใจที่ตำรวจเป็นอันดับ 2 ในการถูกร้องเรียนคิดว่าเป็นอันดับ 1 ด้วยซ้ำ” โฆษก ตร. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การถูกจัดอันดับการถูกร้องเรียนเป็นอันดับที่ 2 อาจเป็นเพราะประชาชนเห็นว่าตำรวจมีพฤติกรรมและข่าวที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ พล.ต.ท.วัชรพล กล่าวว่า ตร.ก็ได้กำชับผู้บังคับบัญชาในการปฏิบัติตามมาตรา 1212 ในการดูแลทางวินัยกับผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ดูแลไม่ให้เหตุการบานปลาย อย่างกรณีที่ ส.ต.ท.เถกิง มูลเมฆ ก่อเหตุยิง พ.ต.ต.เศวต ภาษาสุข รักษาการ สว.สป. และ พ.ต.ต.อภิวัฒน์ โคตรวงศ์ สว.สส.สภ.ศรีสาครจนเสียชีวิตทั้ง 2 นาย เหตุอย่างนี้เป็นเรื่องป้องกันยากแต่จับง่าย ตร.ก็พยายามกำชับตำรวจในพื้นที่โดยตลอดว่าหากพบพฤติกรรมตำรวจที่ผิดแปลกก็ต้องรีบดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้
พล.ต.ท.วัชรพล กล่าวอีกว่า ในการสรรหาข้าราชการตำรวจ จนกระทั่งออกไปทำงาน ตร.ก็พยายามที่จะเน้นให้มีการอบรมคุณธรรมจริยธรรม การให้บริการประชาชน แต่งบประมาณในการอบรมตำรวจนั้นมีน้อย ในปีนี้ได้งบประมาณสำหรับอบรมเพียง 70 ล้านบาทในขณะที่ตำรวจชั้นประทวนมีมากกว่า 170,000 คน บางคน 5-10 ปีก็ยังไม่เคยเข้าอบรมเลย ทั้งที่บางเรื่องควรจะได้รับการอบรมอย่างเช่นด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด อย่างน้อยน่าจะมีทุกปี แต่ต้องใช้งบประมาณปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ ตร.จะต้องพิจารณาเสนอสำนักงบประมาณแผ่นดินต่อไป