xs
xsm
sm
md
lg

สรรหา ส.ว.โปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 480 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วน สำหรับวุฒิสภามีสมาชิกทั้งหมด 150 คน มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน จำนวนที่เหลือให้มาจากการสรรหา

ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 มีนาคม 2551 ส่วนส.ว.ที่มาจากการสรรหานั้นต้องสรรหาให้เสร็จภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ได้กำหนดขั้นตอนสำหรับ “คณะกรรมการสรรหาส.ว.” เพื่อสรรหาให้ได้มาซึ่งส.ว.ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ส.ว.ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว.ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ในวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(4) กรณีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

(ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

(ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา

(ง) เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

อย่างไรก็ดีผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(2) ไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือเคยเป็นสมาชิกหรือเคยดำรงตำแหน่งและพ้นจากการเป็นสมาชิกหรือการดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมืองมาแล้วยังไม่เกิน 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

(3) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่เกิน 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

(4) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล หรือเคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกจากราชการ เป็นต้น

(5) ไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่เกิน 5 ปี

(6) ไม่เป็นรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ใครสรรหาส.ว.?

รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาส.ว. 7 คนประกอบด้วย

(1) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

(2) ประธานกรรมการการเลือกตั้ง

(3) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

(4) ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(5) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

(6) ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย

(7) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย

วิธีการสรรหา ส.ว.

คณะกรรมการดังกล่าวต้องสรรหาบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพและภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา และองค์กรเหล่านี้ต้องเป็นองค์กรที่มีสภาพเป็นนิติบุคคลที่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย หรือเป็นนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้จัดตั้งขึ้นในราชอาณาจักรมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และต้องไม่ใช่องค์กรที่แสวงหาผลกำไรหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงเห็นได้ว่ากฎหมายได้บัญญัติห้ามบริษัทห้างร้าน และพรรคการเมือง ในการเข้ามามีบทบาทในการสรรหาส.ว. และในการเสนอชื่อเพื่อสรรหาแต่ละองค์กรสามารถเสนอชื่อเป็นหนังสือตามแบบที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) กำหนด โดยเสนอได้เพียงองค์กรละ 1 คนเท่านั้น และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะขอถอนชื่อตนออกไม่ได้

เมื่อแต่ละองค์กรเสนอชื่อมายัง ก.ก.ต. แล้ว คณะกรรมการฯต้องทำการสรรหาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจาก ก.ก.ต.โดยต้องคำนึงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของวุฒิสภา องค์ประกอบจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆที่แตกต่างกันโอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ สัดส่วนของบุคคลในแต่ละภาคที่ใกล้เคียงกันเป็นต้น ทั้งนี้การสรรหาต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการฯที่มีอยู่ ผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการฯให้ถือเป็นที่สุด เมื่อสามารถสรรหาบุคคลที่เหมาะสมได้แล้ว ต้องแจ้งผลการสรรหาให้ก.ก.ต.เพื่อประกาศผลผู้ได้รับการสรรหาเป็นวุฒิสมาชิก

ขั้นตอนการสรรหาส.ว.

ในการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นส.ว.ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และสำหรับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้ สามารถแบ่งขั้นตอนได้ดังนี้

(1) ก.ก.ต. กำหนดวันให้องค์กรภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพและภาคอื่นมาลงทะเบียนพร้อมทั้งเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ระหว่างวันที่ 3 - 17 มกราคม 2551

(2) ก.ก.ต.รวบรวมรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเสนอต่อคณะกรรมการสรรหา ภายใน 5 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอชื่อภายในวันที่ 22 มกราคม 2551

(3) คณะกรรมการสรรหา พิจารณาสรรหาให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจาก ก.ก.ต. ภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 และส่งรายชื่อผู้ที่เหมาะสมให้ ก.ก.ต.

(4) ก.ก.ต.ประกาศและแจ้งผลการสรรหาให้ประธานรัฐสภาทราบ พร้อมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สรุป

การสรรหาส.ว. เป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำภายใต้กรอบเงื่อนไขระยะเวลาและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและเป็นเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายไม่ว่าภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการสรรหาส.ว.จะต้องร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของประเทศในการที่จะสรรหาส.ว.ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม


สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น