xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ชี้การปฏิบัติหน้าที่-ต่ออายุ คตส.ไม่ขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตุลาการศาลรธน.
ศาล รธน.มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.ไม่ขัดหรือแย้งกับ รธน.รวมถึงการต่ออายุการทำงานไปจนถึง 30 มิ.ย. ชี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้ คตส.ทำงานต่อเนื่อง ไม่สะดุด ไม่ถือว่าเป็นการตั้งองค์กรใหม่ และประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ได้รับการคุ้มครองตาม รธน.มาตรา 309

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ แถลงข่าว 

วันนี้ (30 มิ.ย.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ที่มี นายชัช ชลวร เป็นประธาน ได้มีการประชุมพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกในคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่งคำโต้แย้งของจำเลยเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ลงวันที่ 30 ก.ย. พ.ศ. 2549 พ.ศ.2550 ที่ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของคตส. ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ภายหลังการประชุมฯ ซึ่งนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ทีประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียงว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่ตั้ง คตส.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าคณะคปค.เป็นผู้มีอำนาจ รัฏฐาธิปัตย์ในขณะนั้น จึงมีอำนาจที่จะออกกฎหมายใช้บังคับเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การแต่งตั้งคตส. ก็เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยให้คตส. สามารถใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป และได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 มาตรา 36 ที่บัญญัติไว้ว่า บรรดาประกาศ และคำสั่งของ คปค. หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะคปค.ที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ 19 ก.ย. 49 จนถึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหารหรือตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป และให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่ง จะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญก็ได้รองรับไว้

ส่วนประเด็นการออก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ลงวันที่ 30 ก.ย.2549 พ.ศ. 2550 ที่ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของคตส. ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.51 ก็มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะกระทำเพื่อให้เกิดการต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของคตส. ให้การทำงานของคตส.ไม่สะดุดหยุดลง เป็นการดำเนินการที่อยู่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของคตส.ที่มีอยู่แต่เดิม ไม่ได้เป็นการเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคตส.แต่อย่างใด ทั้งไม่ได้เป็นการจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ และได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 309 แล้ว ซึ่งทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะได้ส่งคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยังศาลฎีกาฯในวันนี้ (1 ก.ค)

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (1 ก.ค.) คณะตุลาการฯจะได้มีการพิจารณาคำร้องที่บรรจุระเบียบวาระไว้ ประกอบด้วย กรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาขอให้พิจารณาการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข โดยจะยังคงเป็นการอภิปรายทั่วไปในส่วนคำโต้แย้งของคู่กรณีที่ส่งมาให้พิจารณา ยังไม่มีการนัดแถลงด้วยวาจาเพื่อลงมติ

นอกจากนี้ก็จะมีการพิจารณาในคำร้องร่างพ.ร.บ.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินพ.ศ.ว่าตราขึ้นโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และพิจารณาในกรณีที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ.2518 มาตรา 6 วรรค 1 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเป็นประธาน ก.ร. ของประธานรัฐสภาและการเป็นรองประธานก.ร. ของรองประธานรัฐสภา) พ.ร.บ.สถาบันพระปกเกล้าพ.ศ.2541 มาตรา 8(1) (2) (3) เฉพาะกรณีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร) และ(4) และพ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 มาตรา 7(3) และ(5) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 265 และมาตรา 266 หรือไม่

เมื่อถามว่า คณะตุลาการจะมีการเร่งพิจารณากรณีของนายไชยา และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พานิชย์ หรือไม่ เพราะรัฐบาลอ้างว่าจะรอการพิจารณาก่อนตัดสินใจปรับ ครม. นายไพบูลย์ กล่าวว่า การพิจารณาคำร้องต่างๆ ของตุลาการจะคำนึงถึงการอำนวยความยุติธรรม ให้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมที่สุดจะไม่มีการนำประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำร้องมาพิจารณา โดยจะพิจารณาจากคำโต้แย้งของคู่กรณีเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น