xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**กมธ.วาง 3 กรอบศึกษารธน.ก่อนแก้ไข
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์แรก ได้มีการประชุมเพื่อหลอมรวม 7 ญัตติ เข้าด้วยกัน จนได้ชื่อคณะกรรมาธิการฯใหม่ เลือกตำแหน่งทำงาน ซึ่งการประชุมในวันนี้ ( 1 ก.ค.) จะเป็นการประชุมกำหนดกรอบในการทำงาน และแบ่งการศึกษาโดยตั้งคณะอนุกรรมาธิการชุดต่างๆ
โดยส่วนตัวเห็นว่า น่าจะแบ่งกรอบการศึกษาไว้ 3 กรอบใหญ่ คือ 1. กรอบการศึกษาโครงสร้าง และภาษาของรัฐธรรมนูญ
2. กรอบการศึกษาเนื้อของรัฐธรรมนูญ อาจจะแบ่งเป็น ในส่วนของบททั่วไป สถาบันและความเป็นอยู่ของชาติ , การเข้าสู่อำนาจ และการตรวจสอบ , สิทธิ เสรีภาพของประชาชน , การเมืองภาคประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชน
3 . กรอบการศึกษาบทเฉพาะกาล และผลบังคับใช้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถือว่ามีบทเฉพาะกาลจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่คนมองข้าม จึงต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียด และรอบคอบ ทั้งนี้ ส่วนผลการพิจารณาจะออกมาอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม
นายสุทินกล่าวด้วยว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ มีข้อเสนอขอให้แต่ละกรอบไปศึกษาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน จากนั้นอีก 30 วัน จะนำเข้ามาพิจารณาในภาครวม คาดว่าจะพิจารณาเสร็จทันกำหนดเวลา 60 วัน โดยในช่วงปิดสมัยประชุม ทางคณะกรรมาธิการฯ จะประชุมเต็มวัน ทุกวันอังคาร เวลา 09.30-16.00 น. ที่ห้อง 220 อาคารัฐสภา 2 (ตึกวุฒิสภา) เมื่อเปิดสมัยประชุมอาจจะปรับวัน เวลาประชุมให้เหมาะสมต่อไป

**ครม.เอาใจขรก.รักษารพ.เอกชนไร้เงื่อนไข
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (1ก.ค.) กระทรวงการคลัง ได้เสนอให้ ครม.พิจารณาร่าง พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ...เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้บังคับใช้มาเป็นระยะเวลายาวนาน และมีการแก้ไขปรับปรุงจนถึงฉบับที่ 8 พ.ศ.2545 แต่ยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาสิทธิประโยชน์ เช่น สิทธิประโยชน์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชน ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน และเป็นอันตรายถึงชีวิตเท่านั้น
ทั้งนี้ จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกาฯ ให้สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนเป็นผู้ป่วยในได้โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นกรณีเหตุฉุกเฉิน แต่จะมีการนำร่องก่อน เมื่อระบบมีความพร้อมจึงจะดำเนินการเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ จะมีการขยายสิทธิให้ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาฯ สามารถเข้ารับบริการส่งเสริมป้องกันโรค เช่น วัคซีนต่างๆ ซึ่งแต่เดิมเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเฉพาะกรณีเจ็บป่วยเท่านั้น และขยายสิทธิให้บุคคลในครอบครัว กรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน และข้าราชการพ้นสภาพ ขณะที่บุคคลในครอบครัวยังคงรับการรักษาให้ได้รับสิทธิไปจนเสร็จสิ้นการรักษาพยาบาลในคราวนั้น
พร้อมกันนี้ ยังมีการแก้ไขกรณีผู้มีสิทธิ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ที่มีสิทธิเกี่ยวกับสวัสดิการรักษาพยาบาลซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ให้สามารถเลือกใช้สิทธิ และเมื่อเลือกใช้สิทธิจากทางราชการแล้วให้กระทรวงการคลัง มีสิทธิเรียกเก็บเงินจากหน่วยงานอื่นเพื่อการชดเชย
**ศาลรธน.ถกคุณสมบัติ"ไชยา"
วานนี้ ( 30 มิ.ย.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่มี นายชัช ชลวร เป็นประธาน ได้มีการประชุมพิจารณาคำร้องที่ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา ขอให้พิจารณาการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข โดยจะยังคงเป็นการอภิปรายทั่วไป ในส่วนคำโต้แย้งของคู่กรณีที่ส่งมาให้พิจารณา ยังไม่มีการนัดแถลงด้วยวาจาเพื่อลงมติ
นอกจากนี้ ก็มีการพิจารณาในคำร้อง ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ...ว่า ตราขึ้นโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และพิจารณาในกรณีที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐ ธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ.2518 มาตรา 6 วรรค 1 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเป็นประธาน ก.ร. ของประธานรัฐสภาและการเป็นรองประธาน ก.ร. ของรองประธานรัฐสภา) พ.ร.บ. สถาบันพระปกเกล้าพ.ศ.2541 มาตรา 8(1) (2) (3) เฉพาะกรณีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร) และ (4) และพ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 มาตรา 7(3) และ(5) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 265 และมาตรา 266 หรือไม่
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ วราหะไพทูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี คณะตุลาการ จะมีการเร่งพิจารณากรณี ของนายไชยาสะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ หรือไม่ เนื่อจากรัฐบาลอ้างว่า จะรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนตัดสินใจปรับ ครม. ว่า การพิจารณาคำร้องต่างๆ ของตุลาการ จะคำนึงถึงการอำนวยความยุติธรรม ให้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมที่สุด จะไม่มีการนำประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำร้องมาพิจารณา โดยจะพิจารณาจากคำโต้แย้งของคู่กรณีเท่านั้น
** "เลี้ยบ" แจกแหลกเก้าอี้ กมธ.งบฯปี 52
เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ ( 30 มิ.ย.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552ได้ประชุมมีมติเลือก นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานฯ โดยตั้งรองประธานฯจำนวน 15 คนคือ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เป็นรองประธานฯคนที่ 1 ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง เป็นรองประธานฯคนที่ 2 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ รองประธานฯคนที่3 นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม รองประธานฯ คนที่ 4 พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ รองประธานฯคนที่ 5 นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน รองประธานฯคนที่ 6 นายวิทยา บูรณศิริ รองประธานฯคนที่ 7 นายพิเชษฐ์ พันธ์วิชาติกุล รองประธานฯคนที่ 8 นายศรีเมือง เจริญศิริ รองประธานฯคนที่ 9 นายกรณ์ จาติกวณิช รองประธานฯคนที่ 10 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานฯ คนที่ 11 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองประธานฯ คนที่ 12 นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ รองประธานฯคนที่ 13 นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รองประธานฯคนที่ 14 และนายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ รองประธานฯคนที่ 15 ส่วนนายบัณฑูร สุภัควณิช เป็นเลขานุการฯ พร้อมตั้งผู้ช่วยเลขานุการฯ จำนวน 15 คน อีกทั้งตั้งโฆษกคณะกรรมาธิการฯ มากถึง 18 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น