xs
xsm
sm
md
lg

ลัดคิวถกญัตติศึกษาแก้ไขรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนนี้ (18มิ.ย.) มีนาย ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธาน หลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน เสร็จสิ้น ก่อนเริ่มพิจารณานาย วิทยา บูรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคพลังประชาชน ได้เสนอเลื่อนระเบียบวาระที่ 9 ถึง 15 ซึ่งเป็นญัตติด่วน เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาและอุปสรรคการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จำนวน 7 ญัตติ พร้อมทั้ง วาระการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา ที่ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ขึ้นมาพิจารณาก่อน
จากนั้น นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.สตูล พรรคประชาธิปัตย์ ได้สอบถามว่าทำไม ไม่พิจารณาตามระเบียบวาระ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อยากขอคำยืนยันว่า ร่างดังกล่าวจะได้พิจารณาให้ทันในสมัยวิสามัญนี้ แต่นายวิทยาได้ยืนยันว่า มีการหารือกันแล้วแม้ร่างดังกล่าวมีความจำเป็น แต่ยังสามารถทันเวลา
นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ลุกชี้แจงเสริมว่า วิปรัฐบาลได้พิจารณาร่างดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามีความสำคัญ มีสาระ และรายละเอียดมาก หากพิจารณาในสมัยวิสามัญ คงไม่รอบคอบ รัดกุม และเมื่อดูเงื่อนเวลาตามรัฐธรรมนูญยังเหลือเวลา 120 วัน ในเดือนตุลาคม ซึ่งคิดว่าการเปิดสภาในเดือนสิงหาคม จะพิจารณาทัน ดังนั้น ช่วงปิดสภา ก็ไปศึกษารายละเอียด
ขณะที่นาย พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ลุกท้วงติง ไม่เห็นด้วยกับการขอเลื่อนดังกล่าวโดยยืนยันให้พิจารณาตามระเบียบวาระ แต่ นายวิทยา ได้ยืนยันอีกครั้ง ยืนยันเสนอขอเลื่อนเช่นเดิม เมื่อมีการเสนอเป็นสองแนวทาง ในที่สุดประธานได้ขอมติที่ประชุมปรากฏว่า เห็นด้วยกับการขอเลื่อนวาระของนายวิทยา ด้วยเสียง 215 ต่อ 111
จากนั้นได้เริ่มการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาและอุปสรรคการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งมีญัตติทำนองเดียวกัน 7 ญัตติ จากทุกพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภา คือ1.ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการใช้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ของ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์กับคณะ เป็นผู้เสนอ
2. ญัตติด่วนเรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติม ของ นาย จุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน กับคณะ เป็นผู้เสนอ
3.ญัตติด่วนเรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อดีข้อด้อยของรัฐธรรมนูญ ของ นายเอกพจน์ ปานแย้ม ส.ส.ปทุมธานี พรรคชาติไทยกับคณะ เป็นผู้เสนอ
4. ญัตติด่วนเรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ของนายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี และ พ.ต.ท.นุกูล แสงศิริ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นผู้เสนอ
5. ญัตติด่วนเรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ของนายวินัย ภัทรประสิทธิ์ ส.ส.พิจิตร พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กับคณะ เป็นผู้เสนอ
6 ญัตติด่วน เรื่องขอให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการใช้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ของนายไชยยศ จิรเมธากร ส.ส.อุดรธานี และนายรณฤทธิชัย คานเขต ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นผู้เสนอ และ 7. ญัตติด่วนเรื่องขอให้ที่ประชุมสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชาชน กับคณะ เป็นผู้เสนอ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผู้เสนอ และส.ส.แต่ละพรรคการเมือง ที่ได้เสนอญัตติดังกล่าว ต่างได้อภิปรายท้วงติงชี้ถึงอุปสรรคปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมฉบับนี้มีปัญหาในทางปฎิบัติทั้งการให้อำนาจองค์กรอิสระอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง จากเขตเดียว เบอร์เดียว มาเป็นรวมเขตเรียงเบอร์ เป็นการย้อนยุค ท้วงติงวุฒิสภาที่ให้อำนาจล้นฟ้า ส่วนที่มาของ ส.ว.ที่มี 2 ระบบจากเลือกตั้ง สรรหา แต่มีอำนาจเท่ากัน
นาย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชาชน ชี้แจงเหตุผลการยื่นญัตติว่าจุดยืนเป็นการศึกษาเพื่อต้องการแก้ไขต่อไป ไม่ใช่เพื่อบังคับใช้ เพราะเจตนารมณ์ต้องแก้ ก่อนหน้านี้มีการเข้าชื่อเสนอญัตติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จนมีการถอน ซึ่งมีการกล่าวหาแก้ไขเพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี บรรดาคดี คตส.ที่ทำไปถึงศาล ยังมีคนติดใจ
และได้ย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของพรรคพลังประชาชนซึ่งไม่รู้ว่าประชาชนจะเลือกให้มาเป็นรัฐบาล แต่สิ่งที่ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคม ถือเป็นนโยบายของพรรคชัดเจน การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความเป็นมา ไม่ใช่เป็นความคิดขึ้นใหม่ แต่ไม่รู้ว่าศึกษาแก้ไข แล้ว พรรคอาจจะโดนยุบพรรคไปก่อนก็ได้ มีการหาว่า พรรคดึงดันไม่ฟังเสียงประชาชน เราได้โอนอ่อนผ่อนตามไปก่อน เดิมว่า 2-3 ประเด็นอย่างประเด็นยุบพรรค มาตรา 309 ก็หาว่าแก้เพื่อตัวเอง พอจะแก้ทั้งฉบับ ก็หาว่าเป็นเผด็จการเพื่อตัวเอง ดังนั้น เมื่อเป็น ส.ส.รัฐธรรมนูญ ก็ให้อำนาจ แต่อ้างไม่ชอบด้วยกระบวนการประชาธิปไตย แถมยังโดนยื่นถอดถอนจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ยื่นตามช่องทางรัฐธรรมนูญเปิดให้จึงเป็นมูลเหตุในการต้องการแก้ไข
"ถ้าเห็นว่า พวกเราแก้ เพื่อตัวเราเอง ก็ควรจะทำประชามติ แต่มีคนออกมาปฎิเสธหาว่าไม่ชอบธรรม สิ้นเปลือง บางคนก็เรียกร้องสภาร่างฯ ก็เป็นตัวแทนที่สรรหา มีบล็อกโหวต หรือไม่ก็เป็นการคัดตัวแทน ดังนั้นการตั้ง กมธ.ศึกษาขึ้นมาเพื่อจะมาดูประเด็นต่างๆ แต่ความไม่ชอบมาพากลที่ไม่รับรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งที่มามาจากเผด็จการ ต่างกับรัฐธรรมนูญที่คนเขียน ที่มาจากตัวแทนประชาชน มันขลังต่างกันเชื่อว่าประชาชน จะมีส่วนร่วมและหวงแหน ร่วมปกป้องด้วย เพราะเคยมีที่ไหนที่มีรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองได้ง่าย แค่ความผิดเกิดจากคนใดคนหนึ่งโยงไปถึงคนอื่นให้มีความผิด รัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนเดิมอยู่บนคมดาบ ถือเป็นเรื่องเปราะบาง ที่มาก็ไม่ชอบ บรรยากาศก็ไม่ให้ เนื้อสาระก็มีปัญหา ตอนนี้ก็ออกฤทธิ์ออกเดชแล้ว ขอให้มีการศึกษาเพื่อแก้ไขต่อไป" นาย สุทินย้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากอภิปรายถึงเวลาประมาณ 17.55น.ประธานได้แจ้งว่า เหลือผู้อภิปรายอยู่ 76 คนจึงขอเลื่อนการพิจารณาญัตติต่อในวันนี้(19มิ.ย.) แล้ว จากนั้นได้สั่งปิดการประชุมเมื่อเวลา18.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น