xs
xsm
sm
md
lg

ตุลาการภิวัฒน์หรือรัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ผู้เขียนขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงปกปักรักษาให้ปวงชนชาวไทยได้แคล้วคลาดปลอดภัยจากความชั่วร้าย และกิเลสทั้งปวง และขออำนาจคุณงามความดีอันเป็นพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้างสมมาเป็นเวลากว่า 60 ปี จงปกป้องประเทศชาติ และชนในชาติให้พ้นจากภัยรูปธรรม และนามธรรมที่วนเวียนอยู่ในวังวนของกรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาในปี 2551 นี้ด้วยเทอญ

วังวนกรรมที่โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในเรื่องราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ และความรุนแรงของสงครามในตะวันออกกลาง เป็นตัวเสริมหลักที่เพิ่มผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับภาวะวุ่นวายภายในประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เพราะความมุ่งมั่นของคนกลุ่มหนึ่งหวังที่จะรักษาผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม จึงได้รับการต่อต้านจากอีกกลุ่มหนึ่ง และดูเหมือนจะเป็นเช่นนี้ต่อไปเพราะยังไม่มีฝ่ายใดจะถอยหรือลดดีกรีที่ต้องการเอาชนะ

แต่หากวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า การแก้รัฐธรรมนูญก็ดี การสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองก็ดี มุ่งเน้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน กลุ่มตน และความอยู่รอดให้พ้นผิดจากการกระทำผิดกฎหมายมหาชน และไม่มีความปรารถนาที่จะสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม จึงต้องถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 237 นั้น มหาชนได้รับประโยชน์อะไร จะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างไร ซึ่งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ก็ยังยืนยันว่าต้องแก้ไข เพราะพรรคพลังประชาชนและอีกหลายพรรคเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และหากแก้ไขสำเร็จก็มีเพียงคนนับแค่ร้อยๆ คนได้ประโยชน์

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการก่อรัฐประหารและยุบสภาฯ หลายครั้ง ก่อกบฏ 13 ครั้ง เพียงหวังให้มีการแก้ไขปัญหาของรัฐที่ทำตามอำนาจอธิปไตย 3 ประการคือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ซึ่งโดยนัยแล้วอำนาจ 3 ประการนี้จะต้องถ่วงดุลกัน แต่ทุกครั้งที่มีอำนาจใดอำนาจหนึ่งใช้อำนาจเกินขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากประชาชนผ่าน ส.ส.ทางสภาฯ แล้ว บีบให้นายกรัฐมนตรียุบสภาฯ หรือสร้างอิทธิพลให้ทหารที่เป็นกลไกของรัฐเองทำหน้าที่ให้ประชาชนด้วยการรัฐประหาร

แต่หลายครั้งที่การรัฐประหารโดยกองทัพกระทำเพื่อพรรคพวกหรือตัวเอง จึงไม่ได้รับความนิยมซึ่งในปัจจุบันเป็นยาดำแห่งหลักรัฐศาสตร์ จึงเป็นหนทางสุดท้ายจริงๆ ที่ทหารจะทำการรัฐประหาร และกองทัพจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์การรัฐประหารของอดีตจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเกิดที่เกาะคอซิกาในปี 1769 เป็นทหารและเกิดปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ทำให้นโปเลียนมีทางเลือก 3 ทาง คือ เข้ากับกลุ่มปฏิวัติ หรือเข้ากับกลุ่มต่อต้านปฏิวัติ หรือเข้ากับกลุ่มปลดปล่อยคอซิกา แต่ความรักชาติหมายถึง บูรณภาพของชาติ และปกป้องประชาชน ทำให้นโปเลียนวางตัวเป็นทหารอาชีพ แต่เข้าช่วยฝ่ายปฏิวัติในการป้องกันมวลชนมิให้ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติทำร้ายประชาชน จนมีชื่อเสียงและมีชื่อเสียงมากขึ้นเมื่อเอาชนะกองทัพอังกฤษที่ฉวยโอกาสรุกล้ำอธิปไตย

การปฏิวัติฝรั่งเศสมีความวุ่นวายสับสนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยเฉพาะในยุคหฤโหดเมื่อกลุ่มจาโกแบง (Jacobin) สังหารปฏิปักษ์แกนนำการปฏิวัติ มีคนถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนวันละนับพันๆ คน ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอ และวันที่ 9 พฤศจิกายน 1799 นโปเลียนทำรัฐประหาร แล้วเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อปวงชนฝรั่งเศสที่รู้จักกันคือ Napoleon Code ปฏิรูปการบริหารงานรัฐ ให้การศึกษาแก่ปวงชน และมีธนาคารกลางทำให้ฝรั่งเศสเจริญขึ้นมาอีกครั้ง แล้วฝรั่งเศสเริ่มทำสงครามแย่งอิทธิพลคืนจนในปี 1804 ถูกกลุ่มเบอร์บองหรือกลุ่มราชวงศ์ยุโรปคิดปองร้ายนโปเลียน จึงปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ขยายอาณาเขตแต่พลาดท่าที่รัสเซีย และแพ้ราบคาบที่วอเตอร์ลู ถูกอังกฤษเนรเทศไปอยู่เกาะเซนต์เฮเลนนาจบชีวิตที่นั่น แต่การสร้างฝรั่งเศสสู่ความยิ่งใหญ่เป็นคุณค่าของนโปเลียน

แต่การรัฐประหารไม่สำเร็จก็เป็นกบฏสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติและกองทัพ มีการแตกแยกกันเป็นกลุ่มๆ เป็นรุ่นๆ เป็นเหล่าๆ ไม่ว่าจะเป็นกบฏบวรเดช กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน หรือกบฏ 26 มีนาคม 2520 เพราะไม่เคยมีครั้งใดที่ทหารจะคิดเหมือนกัน มีศรัทธาในตัวผู้ก่อการเหมือนกัน แต่ความเหมือนคือความรักชาติ รักแผ่นดิน และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารได้ในปัจจุบันมีเพียงเหตุผลเดียวคือ หากชาติ ประชาชน และราชบัลลังก์ล่อแหลมต่อภัยคุกคามอันก่อให้เกิดความเสียหายจนเกินแก้ไขแล้ว ทหารคงต้องทำการรัฐประหารเพื่อปกป้องสิ่งวิเศษเหล่านั้น

ดังนั้น ตุลาการภิวัฒน์เป็นหลักการที่สำคัญยิ่งในการดำรงชาติเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาของชาติในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับท่านอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ในกรณีที่ตุลาการศาลปกครองเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งสาระสำคัญยิ่งคือ “ศาลปกครองเป็นที่พึ่งในการบริหารจัดการให้เกิดความถูกต้องในการปกครอง และในทางการเมือง” ส่วนพระราชดำรัสพระราชทานให้กับท่านชาญชัย ลิขิตจิตตะ ประธานศาลฎีกาที่นำผู้พิพากษาประจำศาลเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง มีสาระสำคัญคือ “ศาลฎีกาเป็นที่พึ่งของปวงชนชาวไทย ขึ้นชื่อว่าศาลแล้วยังมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีเหตุมีผลและมีความรู้ และหากศาลทั้งปวงไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ และเร่งรับทำให้สำเร็จแล้ว บ้านเมืองจะต้องล่มจม”

พระราชดำรัสอันเป็นปรัชญาการปกครองรัฐตามอำนาจอธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย่อมเป็นสัจธรรมบริสุทธิ์ที่ยิ่งใหญ่เหนือวิธีการอื่นใด ในการที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองสงบสุข เป็นหลักชี้นำความยุติธรรม และเสริมหลักการตุลาการภิวัฒน์ที่หมายถึงการที่ให้อำนาจตุลาการตรวจสอบการออกกฎหมาย และการใช้อำนาจของนักการเมือง การให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ดังตัวอย่างในปัจจุบันที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช นักการเมืองต้องคำพิพากษาทุจริตเลือกตั้ง นายวัฒนา อัศวเหม ต้องหนีการฟังคำพิพากษาคดีทุจริตโกงที่ดินสาธารณะเป็นของตน อดีต กกต.ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ นายพิชิต ชื่นบาน และพวกเป็นทนายความพ.ต.ท.ทักษิณถูกพิพากษาลงโทษกรณีละเมิดอำนาจศาล ด้วยหวังติดสินบนศาล 2 ล้านบาท

ความแข็งแกร่งของหลักตุลาการภิวัตน์เท่านั้นจึงจะทำให้ชาติบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว ความเป็นขาว ความเป็นดำของระบบการเมืองจะชัดเจนขึ้นไม่ใช่เป็นสีเทา เพราะสีเทาเป็นบ่อเกิดของความสับสน ความแตกแยก ความเอาชนะกันเพราะความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ เราหวังว่าในไม่ช้านี้ภาระสีเทาการเมืองไทยคงจะจางหายไปจากภาระ Dead Lock ของสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น