“อักขราทร” ปัดตอบบทบาทตุลาการล้ำเส้นฝ่ายบริหาร ย้ำศาลไม่ใช่ผู้ราดน้ำมันเข้ากองไฟ หากแต่เป็นผู้ดับไฟโดยยึดความถูกต้องตามหน้าที่ ด้านรอง ปธ.ศาลปกครองแจงดำเนินคดีตามตัวบทกฎหมาย ไม่ล้ำเส้นตามระบบไต่สวน
วันนี้ (14 ก.ค.) สำนักงานศาลปกครองสูงสุด ได้มีการเปิดที่ทำการถาวรแห่งใหม่ที่ ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งช่วงเช้ามีพิธีสำคัญทางศาสนา โดยมี นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน จากนั้นในเวลา 11.30 น. นายสำเนียง ไฝชอบ ทนายความของบริษัทแหลมทองการก่อสร้าง (กรุงเทพฯ) จำกัด ได้เดินทางยื่นฟ้องกรมชลประทาน เรียกร้องค่าเสียหายจากการว่าจ้างสร้างสะพานข้ามคลองชะอวด-แพรกเมือง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ผิดจากสัญญาว่าจ้าง ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีแรก
ด้าน นายอักขราทร ได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่มาร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดที่ทำการแห่งใหม่ พร้อมปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน โดยระบุว่าไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะออกความเห็นได้ ส่วนบทบาทของตุลาการที่ถูกฝ่ายบริหารมองว่าล้ำเส้นก็ไม่มีความเห็นเช่นกัน เพราะไม่ใช่ฝ่ายบริหาร
“แต่ยืนยันตุลาการศาลปกครองทุกคนทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง กล้าหาญ ซื่อสัตย์ สุจริต ตามกระแสรับสั่งทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะสังคมคาดหวังการทำหน้าที่จากศาล ศาลมีหน้าที่ดับไฟโดยยึดความถูกต้องตามหน้าที่ ไม่ใช่ผู้ราดน้ำมันเข้ากองไฟ เชื่อว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ยังมีทางออก เพราะเชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร และคดีต่างๆ กำลังเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล จึงอยากให้ทุกคนมองปัญหาให้รอบด้านมากที่สุด เหมือนการพิจารณาคดีของศาลปกครอง ที่ใช้ระบบไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง”
ขณะที่ นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด คนที่ 1 อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ หากแก้ไขตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าถามว่าแก้ไขขณะนี้เหมาะสมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฝ่ายผู้ขอแก้ไขต้องพิจารณาเอง ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความเห็นได้ คิดว่าประชาชนน่าจะคิดเองได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และที่ฝ่ายการเมืองอ้างว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะมีความไม่สมบูรณ์นั้น คงเป็นเหตุผลอื่นมากกว่า ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชาชนมองว่าอำนาจตุลาการล้ำเส้นอำนาจการบริหาร มองว่าคงไม่ใช่เรื่องการล้ำเส้น เพราะตุลาการต้องวินิจฉัยไปตามตัวบทกฎหมาย การวิพากษ์วิจารณ์นั้นต้องดูว่าตุลาการวินิจฉัยไปตามกฎหมายหรือไม่