xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ค้าน้ำมันอัดนโยบายรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ค้าน้ำมันเตือนนโยบายพลังงานรัฐ ระวังเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของธุรกิจน้ำมัน เหตุหมดช่วงโปรโมชั่นต้องบวกภาษีคืน 3 บาทต่อลิตร อาจทำให้ราคาดีเซลพุ่งกระฉูดประชาชนจะยิ่งลำบากหนัก ขณะที่นำเข้าดีเซลรัสเซียโรงกลั่น 7 แห่งต้องหนีส่งออกและอาจลดการผลิตกระทบธุรกิจถึง 1.6 หมื่นล้านบาท นักวิชาการ ชี้ 2ปีโครงสร้างการใช้พลังงานของไทยปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม กล่าวในงานสัมมนาอนาคตพลังงานประเทศไทยในหัวข้อ”มองรอบด้าน-ปัญหาน้ำมันแพง แก้อย่างไรให้ตรงจุด” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ วานนี้(16 ก.ค.) ว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เป็น 1 ใน 6 มาตรการรัฐที่จะดูแลปัญหาน้ำมันแพงนั้น คงจะผ่อนคลายความลำบากของประชาชนได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีน้ำมันและการนำเข้าน้ำมันดีเซลจากรัสเซีย ล้วนแต่เป็นระเบิดเวลาของธุรกิจน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต เพราะการตรึงราคา 6 เดือน และไปยกเลิกในวันที่ 31 มกราคม 2552 เป็นช่วงฤดูหนาวที่ราคาดีเซลจะแพงกว่าปกติเมื่อต้องบวกกับภาษีที่ลดลงไป 3 บาทต่อลิตร จะทำให้ประชาชนต้องรับภาระหนักขึ้น

ส่วนกรณีการนำเข้าน้ำมันดีเซลราคาถูกจากรัสเซียประมาณ 300,000 ตันต่อเดือน หรือ 360 ล้านลิตรต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนน้ำมันดีเซล 25 %ของความต้องการใช้ในประเทศที่มีประมาณ 1,500 ล้านลิตรต่อเดือน ทำให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศทั้ง 7 โรงมีปริมาณน้ำมันเหลือเกินความต้องการ สุดท้ายอาจต้องเลือกส่งออกไป ซึ่งต้องบวกค่าขนส่งเพิ่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นถึง 9,000 ล้านบาท หรือหากโรงกลั่นทั้งหมด 7 แห่งเลือกวิธีลดกำลังกลั่นประมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวัน จะส่งผลทำให้โรงกลั่นมีภาระเพิ่มขึ้นส่วนนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันผู้ค้าน้ำมันจะขายน้ำมันได้ลดลง เนื่องจากประชาชนหันมาเลือกใช้ดีเซลราคาถูกตามสหกรณ์ ส่งผลกระทบประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี

"ระเบิดเวลาโรงกลั่นมีหลายเรื่อง โดยทั่วไปมองดูผลประกอบการโรงกลั่นแล้วเห็นว่าโรงกลั่นรวย แต่จากนี้ไปธุรกิจการกลั่นในอีก 1-2ปีข้างหน้าจะอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากมีโรงกลั่นใหม่เกิดขึ้นคิดเป็นกำลังการกลั่นใหม่อีก 8 ล้านบาร์เรล/วันใน5ปีข้างหน้า หากดีมานด์การใช้น้ำมันโลกไม่โต 1.5 ล้านบาร์เรล/วันแล้ว จะทำให้ค่าการกลั่นลดลง ส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งขณะนี้โรงกลั่นในไทยเจอระเบิดน้ำมันรัสเซีย "

นอกจากนี้แล้ว ผลของการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 2.30 บาท/ลิตร และภาษีอื่นรวมเป็น 2.71 บาท/ลิตร และลดภาษีไบโอดีเซล (บี5) ลง 2.19 บาท/ลิตร รวมกับภาษีอื่นๆเป็น 2.45 บาท/ลิตร ทำให้ราคาของน้ำมันไบโอดีเซล บี 5 ต่างจากดีเซลปกติเพียง 46 สตางค์ต่อลิตรจากเดิมจะต่างกัน 70 สตางค์ต่อลิตร รัฐบาลควรจะต้องพิจารณา เพราะบี 5 เป็นน้ำมันที่เกษตรกรใช้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ยอดการใช้บี 5 น่าจะลดลงไม่สอดรับกับนโยบายที่รัฐส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทน

สำหรับการนำน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันสูงจากรัสเซียมาจำหน่ายผ่านสหกรณ์นั้น ปัจจุบันบางจากมีปั๊มสหกรณ์อยู่ 500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นขายน้ำมันดีเซลคุณภาพมาตรฐานยูโร 4 คงไม่สามารถที่จะเข้ามาจำหน่ายน้ำมันดีเซลคุณภาพต่ำนี้ได้ เพราะมีข้อจำกัดทั้งถังเก็บ หัวจ่ายด้วย

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า มาตรการที่ตรึงราคาก๊าซแอลพีจีสำหรับครัวเรือนออก 6 เดือน แต่จะมีการปรับราคาแอลพีจีเฉพาะภาคขนส่งและอุตสาหกรรมนั้น เป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการ เพราะหากราคาแอลพีจีไม่ปรับขึ้น ทางโรงกลั่นอาจนำแอลพีจีที่ได้จากกระบวนการผลิตไปเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตาที่มีราคาสูงกว่า ทำให้ปริมาณแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศหายไป ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า มาตรการการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันถือเป็นมาตรการชั่วคราว 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากราคาน้ำมัน ถือเป็นเรื่องที่ทำได้ ผู้ใช้น้ำมันได้ประโยชน์มากน้อยแตกต่างกันตามกลุ่ม ซึ่งเม็ดเงินรัฐต้องสูญเสียไปจากการลดภาษีน้ำมันในช่วง 6 เดือนอยู่ที่ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งผู้ค้าน้ำมันไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เพียงแต่หลังจากพ้นกำหนดชั่วเวลาดังกล่าวแล้ว ราคาน้ำมันคงต้องปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับที่ลดลงไปแต่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไรขึ้นกับราคาน้ำมันในช่วงนั้น และรัฐบาลกล้าที่จัดเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นตามเดิมหรือไม่

ในหลายประเทศที่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่ถูกไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย จีน ก็ได้มีการปรับขึ้นราคาน้ำมัน เนื่องจากรัฐไม่สามารถอุ้มได้ ทำให้ประชาชนหันมาประท้วงรัฐบาล เช่นมาเลเซีย ดังนั้นรัฐบาลต้องชัดเจนว่ามาตรการลดภาษีน้ำมันครั้งนี้เป็นมาตรการชั่วคราว และไม่ควรทำนาน มิฉะนั้นประชาชนจะเกิดความเคยชิน ทำให้ไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้เหมือนกับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี)ที่รัฐอุดหนุนและเป็นปัญหามาจนปัจจุบัน เพราะรัฐกำหนดให้ราคาขายในประเทศที่ 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ราคาตลาดโลกล่าสุดอยู่ที่ 1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้รัฐต้องชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าถึง 600-700 เหรียญสหรัฐ/ตัน

"มาตรการปรับลดภาษีนี้เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ในเรื่องการปรับราคา ซึ่งเอาเข้าจริงรัฐไม่รู้ว่าจะกล้าปรับขึ้นหรือไม่ หรือต้องเลื่อนการอุดหนุนออกไป แต่อยากให้มองว่าราคาน้ำมันดิบที่ 150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้อาจเกิดขึ้นได้ แต่ระดับ 200 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลอาจเกิดขึ้นชั่วคราว เศรษฐกิจโลกจะรับไม่ไหว สุดท้ายจะเป็นตัวเร่งให้ลูกโป่งน้ำมันจะแตกเร็วขึ้นเหมือนที่จอร์จ โซรอสกล่าวไว้ "

ปัจจุบันราคาน้ำมันขายปลีกของไทยไม่ได้สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยผู้ค้าน้ำมันเองก็ไม่ได้มีกำไรมาก ซึ่งครึ่งปีแรกนี้ ส่วนต่างราคาหน้าสถานีบริการน้ำมันเกือบเท่ากับราคาหน้าโรงกลั่น ทำให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น โดยปีนี้ ปตท.คาดว่าจะมีภาระที่เข้ามาอุดหนุนทั้งราคาน้ำมันและก๊าซแอลพีจีประมาณ 4-5 ล้านบาท แบ่งเป็นภาระกรณีไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกสอดคล้องตลาดโลก เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท จากที่ขณะนี้แบกภาระไปแล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังรับภาระกรณีที่โรงกลั่นฯ และโรงแยกก๊าซฯ ขายแอลพีจีต่ำกว่าตลาดโลก 30,000-40,000 ล้านบาท และรับภาระราคาเอ็นจีวีที่ต่ำกว่าทุนอีก 5,400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของปตท.ในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้เติบโตขึ้น แต่กำไรจะไม่ต่างจากปีที่แล้ว

2 ปีหน้าไทยใช้ก๊าซมากกว่าน้ำมัน

นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า ไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้พลังงานครั้งใหญ่รอบที่ 3 ภายใน 2-5ปีข้างหน้านี้ ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีการใช้ก๊าซฯมากกว่าน้ำมัน อันเป็นผลจากการที่ส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซฯ ซึ่งเป็นพลังงานราคาถูกมาเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันทั้งในภาคการขนส่งและโรงไฟฟ้า โดยปตท.มีการลงทุนมหาศาลทั้งการวางท่อก๊าซเอ็นจีวี สร้างสถานีแม่ และปั๊มเอ็นจีวี ส่งผลให้การใช้น้ำมันถูกทดแทนด้วยก๊าซฯถึง 20% เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้บมจ.ปตท.ใหญ่โตมากขึ้นควบคุมพลังงานของประเทศเกือบทั้งหมด เว้นไฟฟ้า และไม่มีใครกล้ามาแข่งขันในธุรกิจก๊าซฯ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่ราคาก๊าซฯจะมีการตั้งราคาให้ต่ำกว่าตลาดโลกได้นานแค่ไหน

‘ใน 2 ปีข้างหน้าไทยจะมีสัดส่วนการใช้ก๊าซฯมากกว่าน้ำมันเป็นครั้งแรก จากปัจจุบันที่มีการใช้ก๊าซฯอยู่ 38% และใช้น้ำมัน 41% เป็นการฝากผีฝากไข้ไว้กับก๊าซฯมากขึ้น โดยมีสัญญาณบ่งชี้ว่าการใช้น้ำมันในไทยเริ่มลดลง แต่ปริมาณการใช้ก๊าซฯในประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี กลายเป็นประเทศที่ 12 ของโลกที่ใช้ก๊าซฯมากกว่าน้ำมัน และประเทศที่ 3 ในเอเชีย รองจากมาเลเซีย ปากีสถานแลบังคลาเทศ’ นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกไปถึงอี 85 หรือบี 100 นั้น แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีการเพาะปลูกพืชพลังงาน แต่ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงจากการผันผวนด้านราคาพืชเกษตรไม่แพ้น้ำมัน

ดังนั้น รัฐบาลควรเข้ามาพิจารณาและกำหนดทิศทางการใช้พลังงานของประเทศว่าจะต้องแก้ไขหรือไม่อย่างไร เพราะการพึ่งพาพลังงานใดมากเกินไปมีความเสี่ยง ควรมีการกระจายการใช้ด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ที่รัฐบาลชุดนี้ยังให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย ทั้งๆที่มีความเป็นจำเป็นและได้วางกรอบว่าไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 4,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ไทยมีการเปลี่ยนแปลงการโครงสร้างการใช้พลังงานขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2522 เป็นช่วงที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันดีเซล จนไทยต้องนำเข้าดีเซลและโรงกลั่นส่งออกเบนซิน และในปี 2524 ไทยมีการนำก๊าซฯที่พัฒนาได้มาใช้ในโรงไฟฟ้า ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมีการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง ไม่กระจายการใช้เชื้อเพลิง

โต้ไม่ได้ส่งเสริมให้ฟุ่มเฟือย

พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลออกนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคนเพื่อบรรเทาผลกระทบน้ำมันแพงยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวโดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์และดีเซลลงไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่ฟุ่มเฟือยตามที่นักวิชาการหลายคนมอง เนื่องจากการใช้ที่ฟุ่มเฟือยได้หมดลงไปแล้วตั้งแต่ราคาน้ำมันแพง ประกอบกับรัฐไม่ได้ลดภาษีฯน้ำมันทุกตัวโดยเน้นไปที่แก๊สโซฮอล์ ดีเซลและไบโอดีเซลที่เป็นพลังงานทดแทนเป็นหลัก

ไม่ได้สร้างภาระกองทุนฯ

สำหรับการลดราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มหลังรัฐบาลลดภาษีฯลงวันที่ 25 ก.ค.นั้นขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อเช็กสต็อกน้ำมันจากคลังประมาณ 100 แห่ง และสถานีบริการกว่า 10,000 แห่ง เพื่อบริหารจัดการไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันได้รับผลกระทบจากสตอกเก่าที่เสียภาษีไปแล้ว สำหรับแนวทางคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นผู้รับภาระเรื่องสต็อกดังกล่าว แต่เมื่อหมดช่วงการลดภาษีวันที่ 31 มกราคม 2552 จะมีการตรวจสต็อกอีกครั้ง และเมื่อปรับภาษีขึ้น ทางกลุ่มผู้ค้าน้ำมันก็ต้องจ่ายเงินคืนให้แก่กองทุนน้ำมันฯ เท่ากับว่ากองทุนจะไม่มีภาระแต่อย่างใดและจะพยายามบริหารจัดการให้ดีที่สุด

ปิกอัพคอมมอนเรลพังทันที

นายสมพงษ์ ผลจิตจรูญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทาทา มอเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลจะนำน้ำมันดีเซลจากรัสเซียเข้ามาจำหน่าย เป็นเรื่องดีที่จะช่วยบรรเทาเรื่องราคาน้ำมันแพง แต่จำเป็นจะต้องแยกให้ชัดถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดังกล่าว เพราะยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของน้ำมัน ซึ่งน่าจะเป็นน้ำมันที่มีซัลเฟอร์สูงที่มีความบริสุทธิ์น้อย เทียบได้น่ากับน้ำมันดีเซลที่เคยใช้ในไทยย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคงเหมาะกับกลุ่มเรือประมง ภาคอุตสาหกรรม หรือเครื่องจักรกลการเกษตรเท่านั้น

“ฝ่ายวิศวกรรมของทาทาแจ้งมาว่า น้ำมันที่มีซัลเฟอร์ หรือเกร็ดกำมะถันสูง ไม่สามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์คอมมอนเรลทุกรุ่นทุกยี่ห้อ หากใช้เมื่อไหร่เครื่องยนต์พังทันที วิ่งได้ไม่เกิน 600 กิโลเมตรแน่นอน อาการเริ่มแรกเห็นชัดเริ่มเครื่องจะสะดุดกำลังตก ตามมาด้วยปั๊มหัวฉีดจะพังก่อน”

ดังนั้นน้ำมันดีเซลรัสเซียหากเป็นน้ำมันที่มีซัลเฟอร์สูง และเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ทาทาคงจะต้องทำหนังสือถึงดีลเลอร์แจ้งเตือนผู้ซื้อรถ หากนำไปเติมน้ำมันดีเซลรัสเซีย และเครื่องยนต์เกิดเป็นอะไรขึ้น บริษัทจะไม่รับประกันเด็ดขาด เพราะเครื่องยนต์คอมมอนเรลที่ผลิตออกมา รองรับน้ำมันดีเซลปกติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น และเชื่อว่าบริษัทรถยนต์ที่ขายปิกอัพเครื่องยนต์คอมมอนเรลก็จะทำเหมือนกันหมด

น้ำมันโลกดำดิ่งวันเดียวกว่า 6 ดอลลาร์

สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดำดิ่งลงมาอย่างแรงในวันอังคาร(15) ถึงกว่า 6 ดอลลาร์ แล้วยังคงลดต่อไปอีกเมื่อวานนี้(16) สืบเนื่องจากตลาดเกิดจะอยากยอมรับความเป็นจริงเสียทีว่า ราคาซึ่งทะยานขึ้นลิบลิ่วกำลังทำให้ผู้บริโภคใช้น้ำมันกันลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯที่เป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจหนักหน่วงอีกด้วย

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯปิดวันอังคาร โดยลดลงมา 6.44 ดอลลาร์ ยืนอยู่ที่ 138.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นับเป็นการลดฮวบในหนึ่งวันครั้งที่แรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991 โดยในครั้งนั้นราคาทรุดหนักเมื่อสหรัฐฯเริ่ม “ยุทธการพายุทะเลทราย” เพื่อขับไล่ทหารอิรักของซัดดัม ฮุสเซน ออกไปจากคูเวต

ทางด้านสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ของลอนดอน ปิดวันอังคารโดยหล่นลงมา 5.17 ดอลลาร์ อยู่ที่ 138.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

มาถึงเมื่อวานนี้ ราคาน้ำมันโลกก็ยังไหลรูดต่ออีก โดยในเวลา 11.37 น.เวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 18.37 น.เวลาเมืองไทย) ไลต์สวีตครูด รูดลงอีก 2.21 ดอลลาร์ อยู่ที่ 136.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ก็ถอยลง 2.27 ดอลลาร์ อยู่ที่ 136.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

มาร์ก เพอร์แวน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์แห่งธนาคาร เอเอ็นแซด สาขาลอนดอน ให้ความเห็นว่า สิ่งที่บังเกิดขึ้นในวันอังคารซึ่งราคาน้ำมันดำดิ่ง ทั้งๆ ที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าหนัก อันเคยเป็นปัจจัยที่ตลาดใช้เป็นเหตุผลในการดันราคาให้สูงขึ้นมาตลอด เป็นเครื่องหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า ตลาดกำลังเริ่มที่จะหันมากลับมาโฟกัสกับเรื่องปัจจัยพื้นฐานแท้จริงกันมากขึ้นแล้ว

เช่นเดียวกับ แอนดี เลอโบว์ โบรกเกอร์ของเอ็มเอฟ โกลบอล ในนิวยอร์ก ที่กล่าวว่า ตลาดกำลังเริ่มที่จะยอมรับรู้คำทำนายเรื่องเศรษฐกิจขาลง อย่างคำพูดของประธานเฟด เบน เบอร์นันกี ที่เตือนว่าเศรษฐกิจอเมริกันกำลังเผชิญปัญหาความเสี่ยงหลายหลากนานา ซึ่งสำหรับตลาดน้ำมันแล้ว เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯย่ำแย่ ก็ต้องกระทบหนักต่อปริมาณอุปสงค์ความต้องการใช้

ทั้งนี้ ประธานเฟดได้ไปให้ปากคำรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯในวันอังคาร โดยชี้ว่า เศรษฐกิจอเมริกันกำลังเผชิญกับปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความตึงตัวในตลาดการเงิน การตกต่ำของราคาที่พักอาศัย ความอ่อนแอในตลาดแรงงาน และภาวะน้ำมันแพง ก็ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดแรงกดดันอย่างรุนแรงต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น