xs
xsm
sm
md
lg

กบข.เล็งช้อนหุ้นดีราคาถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กบข.คุมเข้มบริหารความเสี่ยงรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน จากหลายปัจจัยลบกดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ด้วยการเพิ่มความหลากหลายในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ชี้ต่างชาติทิ้งหุ้นไทยกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ถือเป็นโอกาสเข้าช้อนหุ้นพื้นฐานดีเก็บเข้าพอร์ตเพิ่ม ส่วนตราสารหนี้ยังเน้นระยะสั้นรองรับดอกเบี้ยขาขึ้น พร้อมเชื่อกนง.ขึ้นดอกเบี้ยแน่

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวจากปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐ และปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับขึ้นตาม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ และกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก กดดันให้เกิดกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
“คณะกรรมการการลงทุนให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้การลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง มีกระบวนการคิดและตัดสินใจอย่างเป็นระบบ และศึกษาอย่างรอบคอบ โดยเห็นได้จากพอร์ตการลงทุนของ กบข. จะมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย เพื่อป้องกันความเสี่ยง และผลักดันผลตอบแทนการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมาย” นายวิสิฐกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการการลงทุนของ กบข. จะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งในส่วนของตลาดทุนต้องยอมรับว่ายังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้าย เห็นได้ชัดในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ต่างชาติขายหุ้นออกมาต่อเนื่องคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท กดดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม การลดลงของราคาหุ้นถือเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง สอดคล้องนโยบายการลงทุน กบข. ที่ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนตลาดหุ้นไทย
ขณะที่ ในส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กบข. ได้มีการเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น สอดรับกับแนวโน้มดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะปรับตัวสูง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2 พร้อมทั้งส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ และคาดว่าในครึ่งปีหลังของปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.25 เพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ
ก่อนหน้านี้ กบข.ยอมรับว่าผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งปีนี้ อาจจะไม่ดีเท่ากับปีที่แล้วที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 9% เนื่องจากความผันผวนอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ลดลงมากว่า 15-20% แล้ว ขณะเดียวกันภาพการลงทุนในอีก 6 เดือนข้างหน้าก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้
โดยจากความผันผวนดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการบริหารเงินของกองทุนทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งปัจจัยหลักในขณะนี้คือ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ กบข. ต้องปรับแนวคิดการลงทุนใหม่ โดยหันมาถือเงินสดมากขึ้นเพื่อจังหวะการลงทุนในภาวะที่ทุกอย่างกลับมานิ่งมากกว่านี้ นอกจากนั้น ยังต้องตัดสินใจลงทุนอย่างระมัดระวังด้วย
ขณะเดียวกัน กบข.มองว่าตลอดทั้งปีนี้เงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยอาจจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7-8% หลังจากปรับขึ้นมาถึง 7% กว่าแล้วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งแนวโนมดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภูมิภาคไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว และแน่นอนว่าหลังจากนี้ จะเริ่มเห็นอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศเองคงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว หากขึ้นดอกเบี้ยสูงอาจจะกระทบ ดังนั้น จึงมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นผลดีในปีหน้ามากกว่า
ส่วนการลงทุนต่างประเทศ ปัจจุบันกบข.มีแผนที่จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว โดยจะเน้นการลงทุนในนิติบุคคลต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศด้วย แต่ในขณะนี้ กบข.ยังไม่รีบร้อนที่จะนำเงินออกไปลงทุน จนกว่าทุกอย่างจะชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจของโลกต้องมีเสถียรภาพเพียงพอ เพราะตราบใดที่ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) สหรัฐยังไม่จบ โอกาสที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวนก็ยังมีอยู่ เพราะธนาคารกลางสหรัฐเองก็ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพราะกลัวกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลงมาแล้ว 15-20% ก็ยังไม่รู้ว่าจะปรับตัวลงไปอีกหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐยังมีปัญหา ก็จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าตามไปด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้คนโยกเงินออกจากสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ไปสู่น้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยการเก็งกำไรด้วย
สำหรับกรอบการลงทุนของกบข.ในปัจจุบัน ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไว้ที่ 59% ตราสารหนี้ต่างประเทศ 4% ตลาดหุ้นไทย 11.5% ตลาดหุ้นต่างประเทศ 12% อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ 4% การลงทุนทางเลือก 4% นิติบุคคลต่างประเทศ 3% และอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 2.5% โดยเพดานการลงทุนในต่างประเทศอยู่ที่ 25% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนนั้น จะลงทุนจริงอยู่ประมาณ 21.5% เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น