xs
xsm
sm
md
lg

กบข.โชว์ผลงาน Q1 สินทรัพย์เพิ่ม 5 พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กบข.แจงผลงานไตรมาส 1 สินทรัพย์เพิ่มกว่า 5,261.76 ล้านบาท หรือขยายตัวจากสิ้นปี 1.40% ขณะที่ผลการดำเนินการย้อนหลัง 1 ปี ให้ผลตอบแทนสูงถึง 5.54% ด้าน "วิสิฐ" มองแนวโน้มการลงทุนปี 2551 มีความเสี่ยงสูงจากสารพัดปัจจัยรุมเร้า "เศรษฐกิจโลก - เงินเฟ้อ - น้ำมันพุ่ง" เตรียมปรับแผนการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ พร้อมกระจายความเสี่ยงลงทุนในหลายสินทรัพย์

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 ว่า กบข.มีสินทรัพย์สุทธิจำนวน 380,812.76 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 5,261.76 ล้านบาท หรือ 1.40% จากสิ้นปี 2550 ที่มีอยู่สินทรัพย์สุทธิจำนวน 375,551 ล้านบาท

ขณะที่กองทุนมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนย้อนหลัง 12 เดือน ( เมษายน 2550-มีนาคม 2551) ให้ผลตอบแทนร้อยละ 5.54 หรือให้ผลตอบแทนสูงถึง 16,169 ล้านบาท เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 2.41 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.86

โดยปัจจุบัน กบข.มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศร้อยละ 67.96 ตราสารทุนในประเทศร้อยละ 11.13 ตราสารต่างประเทศร้อยละ12.39 อสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 3.99 และการลงทุนทางเลือกร้อยละ 4.53 สำหรับอัตราผลตอบแทนสุทธิย้อนหลัง 3 ปี (2548-2550) อยู่ที่ร้อยละ 6.47 ย้อนหลัง 5 ปี (2546-2550) อยู่ที่ร้อยละ6.61 และย้อนหลัง 11 ปี (2540-2550) อยู่ที่ร้อยละ 8.24

นายวิสิฐ กล่าวถึงแผนการลงทุนและทิศทางการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการในปี 2551 ว่า การลงทุนในปีนี้ยังคงเผชิญความเสี่ยงที่ท้าทายในการบริหาร โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงตามราคาอาหาร และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ขณะเดียวกันในประเทศยังมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีปัญหาค่าเงินบาทที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ โดยปัจจัยดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่ท้าทายการบริหารจัดการเงินลงทุนในปีนี้ เพราะการไหลเข้า-ออกของเงินจะมีความรวดเร็ว เห็นได้จากในช่วงไตรมาสแรกที่ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนเป็นอย่างมาก

"ความผันผวนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ในปีนี้ กบข.ยังคงเน้นการกำหนดนโยบายการลงทุนโดยให้ความสำคัญกับการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย และล่าสุดได้มีการเพิ่มเพดานการลงทุนต่างประเทศจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 25 ของเงินกองทุน ซึ่งช่วยให้มีการกระจายการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กบข. ยังคงให้ความระมัดระวังกับการลงทุน โดยได้มีการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจตลอดเวลา รวมถึงระบบติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด" นายวิสิฐ กล่าว

ก่อนหน้านี้นายวิสิฐ ได้เปิดเผยว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ปรับแผนการลงทุนระยะยาวในปีนี้ เพื่อลดผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย จากซับไพรม์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของเงินทุน เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาซับไพรม์ และไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่า โดยได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ แบ่งออกเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศจะใกล้เคียงกับระดับเดิมเป็นร้อยละ 59.0 , ตราสารหนี้ในต่างประเทศเป็นร้อยละ 4.0 , ตลาดสารทุนในประเทศเป็นร้อยละ 11.5 , ตราสารทุนต่างประเทศเป็นร้อยละ 12.0

นอกจากนี้สำหรับการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และลงทุนทางเลือกในประเทศจะอยู่ร้อยละ 4.0 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ โดยจะมีการขยายไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ ในต่างประเทศ คือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศร้อยละ 2.5 และลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ทั่วโลกร้อยละ 3.0

“กบข.ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แม้จะดูตามพอร์ตการลงทุนสัดส่วนจะดูน้อยลง แต่ในแง่ของเม็ดเงินแล้วไม่ได้ปรับตัวลดลง เนื่องจากพอรต์ลงทุนของ กบข.ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามเงินสมทบที่ไหลเข้า และผลตอบแทนการลงทุนที่เพิ่มในแต่ละปี โดยปัจจุบัน กบข. มียอดเงินกองทุนที่บริหารอยู่กว่า 3.8 แสนล้านบาท และด้วยจำนวนเงินดังกล่าวจึงต้องมีการกระจายลงไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ รวมถึง การกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์น้อยกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ หรือตลาดหุ้นในยุโรป” นายวิสิฐ กล่าว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2551 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) น่าจะสามารถขยายตัวในระดับร้อยละ 5-5.5 ตามเป้าที่กำหนดไว้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบาลลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมือง และปัญหาเงินเฟ้อ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น