xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ไม่หวั่นเว้นภาษีกำไรบอนด์ เชื่อรัฐรายได้หายต้องออกพันธบัตรมาแก้หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการกองทุน ไม่กังวลไอเดีย “เลี๊ยบ” กรณีมาตรการยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขายตราสารหนี้ เชื่อจะดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น มั่นใจไม่กระทบกับลูกค้ากองทุนและภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวม แต่รัฐจะสูญเสียรายได้ จนต้องออกพันธบัตรมาเเก้ปัญหา

นาย วีรยุทธ ห์ลีละเมียร ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง กรณีที่ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน จะนำเสนอเรื่อง การยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อตราสารหนี้ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น เข้าที่ประชุมวานนี้ (23เม.ย.) ว่า มาตราการยกเว้นภาษีภายใต้แนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ไม่มากเพราะปัจจุบันกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้นั้นได้รับการยกภาษีกำไรจากการซื้อขายตราสารหนี้อยู่เเล้ว

นอกจากนี้สถาบันการลงทุนและบรรดากองทุนต่างๆ มีศักยภาพการลงทุนที่ดี รวมทั้งมีกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นจำนวนมากอยู่แล้วซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่เลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมมากกว่าเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่มีมากกว่าหากไปลงทุนด้วยตนเอง ดังนั้นมาตราดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการลงทุนของกองทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

โดยมาตราการนี้จะเป็นเพียงการกระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงจากต่างประเทศที่มีเงินมากพอที่จะมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทย

ด้านนายนที ดำรงค์กิจการ ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า การที่รัฐบาลออกมาตรการยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขายตลาดตราสารหนี้นั้น เป็นเรื่องดีเพราะเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อย เช่นชาวต่างชาติอยากที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติสะพัดเข้ามา ส่วนนักลงทุนรายย่อยของไทยส่วนมากไม่นิยมลงทุนในตลาดตราสารหนี้โดยตรง เป็นเพราะการซื้อขั้นต่ำเเต่ละครั้งอยู่ที่ 1-10 ล้านบาท สำหรับมาตราการดังกล่าวคงไม่ส่งผลกระทบกับกองทุนรวมตราสารหนี้ เนื่องการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของกองทุนรวม ได้รับการยกเว้นกำไรจากการซื้อขายตราสารหนี้อยู่เเล้ว

ขณะที่เเหล่งข่าวจากผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า การซื้อขายตลาดตราสารหนี้ของไทยมีลูกค้ารายใหญ่ได้เเก่ สำนักงานประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนลงทุน (บลจ.)กองทุนส่วนบุคคล ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มประกันชีวิต เเละผู้ลงทุนรายย่อยทั้งในประเทศเเละต่างประเทศทั้งนี้สำนักงานประกันสังคม กบข. บลจ จะได้สิทธิการยกเว้นภาษีจากการซื้อขายตราสารหนี้อยู่เเล้ว ทำให้ผู้ที่ไดรับผลประโยชน์จากการยกเว้นภาษีครั้งนี้คือ กลุ่มธนาคาร กลุ่มประกันชีวิต กองทุนส่วนบุคคล เเละนักลงทุนรายย่อย

สำหรับกรณีที่รัฐบาลจะออกมาตรการดังกล่าวจะกระทบกับบลจ.หรือไม่นั้น ทางบลจ.คงไม่ได้รับผลกระทบอยู่เเล้ว เนื่องจากบลจ.ได้รับยกเว้นการเสียภาษี ที่สำคัญผู้การลงทุนในตลาดตราสารหนี้โดยตรงจะต้องทำตามกฎเกณฑ์ของตลาดที่ต่างกับการลงทุนในบลจ เช่น ต้องซื้อตราสารหนี้จนครบอายุการถือครองไม่สามารถซื้อหรือขายได้ตลอดเวลาเหมือนบลจ. หรือต้องซื้อตราสารขั้นต่ำที่1-10 ล้านบาท เป็นต้น

" ถ้ามองในเเง่ดี การยกเว้นภาษีเช่นนี้ จะทำเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดบอนด์บ้านเรา เเต่คงไม่ได้รับการสนใจสักเท่าไร เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยยังเล็ก เเละไม่ลึกบวกกับไม่กว้างเท่าของต่างชาติ ซึ่งเรามองว่าการที่รัฐจะออกมาตราการเช่นนี้ จะทำให้รัฐเสียรายได้จากการเก็บภาษี เชื่อว่าอีกไม่นานรัฐจะต้องออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นมาเพื่อมาเเทนรายได้ที่ขาดไปจากการเก็บภาษี "เเหล่งข่าวจากผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ กล่าว

ก่อนหน้านี้นาย สันติ กีระนันทน์ ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(Bond Electronic Exchange:BEX) กล่าวถึงแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในปี 2551ว่า ตลาดตราสารหนี้ของไทยจะมีมูลค่าตราสารหนี้ของภาครัฐออกสู่ตลาดแรกประมาณ 2.61 ล้านล้านบาท เเละหุ้นกู้ของภาคเอกชน (รวมหุ้นกู้ระยะสั้นหรือ Commercial Paper) จะออกสู่ตลาดประมาณ 1 ล้านล้านบาทเช่นกัน ทั้งนี้บรรยากาศการออกตราสารหนี้จะเริ่มมีประมาณการซื้อขายมากขึ้นตั้งเเต่ต้นปี เเนื่องจากมีปัจจัยเรื่องเเนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์กันว่าจะมีอัตราดอกเบี่ยสูงขึ้นในช่วงกลางปี

ด้านสมาคมตราสารหนี้แห่งประเทศไทย( ThaiBAM ) ประเมินทิศทางการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของปี 2551 ว่า ตราสารหนี้ทุกประเภทจะมีปริมาณการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นกว่าปี 2550 โดยพันธบัตรของธนาคารเเห่งประเทศไทย ยังคงเป็นตราสารหนี้ที่น่าจะออกมาใหม่มากที่สุด โดยจะมีพันธบัตรรัฐบาลออกสู่ตลาดอยู่ที่ประมาณ 2.5-3 แสนล้านบาท (ซึ่งไม่รวมกับการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น