xs
xsm
sm
md
lg

เค พันธบัตร 3/56 แชมป์ผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ได้รับความนิยมจากนักลงทุนในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก โดยมูลค่ากองทุนรวมประเภทดังกล่าวที่ยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นกองทุนอันดับต้นๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนอยู่เสมอ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในประเภทอื่นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปัจจุบันที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก นักลงทุนบางท่านทนแบกรับภาระความเสี่ยงไม่ไหว อาจจำเป็นต้องโยกย้ายเงินลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้แทน

คอลัมน์ "Best of fund" สัปดาห์นี้ เลยขอพามาดูผลตอบแทน 10 อันดับแรกของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ซึ่งรายงานโดย LIPPER ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ แต่ยังคงคาดหวังผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ

ขณะเดียวกัน ยังพบว่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด นอกจากจะสามารถบริหารกองทุนจนติดอันดับ 1 ได้แล้ว ยังพ่วงเอากองทุนอื่นในเครือเข้ามาติดอันดับมากถึง 5 ใน 10 ด้วยกัน วันนี้ เราเลยนำมุมมองพร้อมกับกลยุทธ์ของผู้บริหารกองทุนที่คว้าอันดับ 1 มาเปิดเผยให้ได้รับทราบโดยทั่วกัน

ทั้งนี้ จากรายงานของ LIPPER ระบุว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีสูงสุดคือ กองทุนเปิดเค พันธบัตร 3/56 ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 กองทุนมีขนาด 1,652.78 ล้านบาท โดยให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี (Year to Date) อยู่ที่ 27.17% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 24.84%

อันดับ 2 กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ อีกหนึ่งกองทุนในสังกัดของ บลจ.กสิกรไทย มีขนาดกองทุน 5,309.29 ล้านบาท กองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 20.82% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 18.49%

อันดับ 3 ไดแก่ กองทุนเปิดทรัพย์บริบรูณ์ตราสารหนี้ 4 กองทุนภายใต้การจัดการของ บลจ.ยูโอบี (ไทย) ที่มีขนาดกองทุน 642.54 ล้านบาท กองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 14.94% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 12.61%

ส่วนกองทุนที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีสูงสุดเป็นอันดับ 4 คือ กองทุนเปิดรวงข้าวคืนกำไร 3 ดูแลบริหารจัดการโดย บลจ.กสิกรไทย ที่มีขนาดกองทุน 6,398.22 ล้านบาท ซึ่งให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 14.81% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 12.48%

อันดับที่ 5 ของกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดได้แก่กองทุนเปิดรวงข้าวคืนกำไร 8 อีกหนึ่งกองทุนที่ติด10 อันดับกองทุนตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดของบลจ.กสิกรไทย ซึ่งมีขนาดกองทุน 2,163.74 ล้านบาท ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 12.64% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 10.31%

อันดับ 6 กองทุนเปิดรวงข้าวคืนกำไร 9 ภายใต้การจัดการของ บลจ.กสิกรไทย อีกเช่นกัน มีขนาดกองทุน 3,855.58 ล้านบาท โดยกองทุนสามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ % และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ %

อันดับต่อมาของกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในอันดับที่ 7 คือ กองทุนเปิดทิสโก้ สเปเชี่ยล พลัส 3 ของ บลจ.ทิสโก้ มีขนาดกองทุน 153.04 ล้านบาท ซึ่งกองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 9.94% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 7.61%

อันดับ 8 กองทุนเปิดอยุธยาตราสารอุดมทรัพย์ 2 ในการบริหารจัดการของ บลจ.อยุธยา มีขนาดกองทุน 54.07 ล้านบาท และให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 9.82% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 7.49%

อันดับ 9 กองทุนเปิดแอสเซท พลัส ตราสารหนี้ปันผล 2 ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.แอสเซทพลัส มีขนาดกองทุน 1,255.18 ล้านบาท และให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 8.92% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 6.59%

และสุดท้ายอันดับที่ 10 กองทุนเปิดอยุธยาพันธบัตรรัฐบาล 22M ของ บลจ.อยุธยา กองทุนมีขนาด 79.59 ล้านบาท โดยให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 8.80% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 6.47%

เปิดกลยุทธ์กองทุนอันดับหนึ่ง
ชัชชัย สฤษบดิ์อภิรักษ์
ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.กสิกรไทย เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่กองทุนเค พันธบัตร 3/56 ได้รับผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีอายุโครงการ 5 ปี โดยธรรมชาติแล้วทำให้มีโอกาสเลือกลงทุนในตราสารหนี้ได้อย่างอิสระ โดยขึ้นอยู่กับภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดขณะนั้น และสามารถเลือกที่จะถือตราสารหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาวได้

นอกจากนี้ จะอาศัยการจับจังหวะการลงทุน และแนวโน้มของตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันด้วย หากผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นปรับตัวลดลงก็สามารถปรับเปลี่ยนไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวแทนได้ โดยกองทุนดังกล่าวจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 90% ส่วนที่เหลือจะลงทุนในตั๋วเงินคลัง และเงินฝาก

ทั้งนี้ กองทุนนี้ยังไม่นโยบายในการปรับพอร์ตลงทุน เนื่องจากตราสารหนี้มีเม็ดเงินใหม่เข้ามา สภาพคล่องสูง และผลตอบแทนค่อนข้างดี โดยมองว่าหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จะมีผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมด้วย จึงทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับลดลงสูง

สำหรับกองทุนเค พันธบัตร 3/56 เป็นกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ โดยมีอายุโครงการ ประมาณ 5 ปี 6 เดือน แต่ไม่เกิน 5 ปี 8 เดือน

โดยนโยบายการลงทุนของกองทุนดังกล่าวจะเน้นลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่รัฐบาล กระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกันในอัตราส่วนเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เงินลงทุนส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารแห่งหนี้และหรือเงินฝากของสถาบันการเงินหรือธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Notes)

ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของกองทุน สิ้นสุด ณ วันที่ 1 มีนาคม 2551 มีดังนี้ ลงทุนพันธบัตรหรือตราสารหนี้ รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังค้ำประกัน 99.6406% นอกจากนี้ ลงทุนเงินฝาก บัตรเงินฝาก หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงินของ หรือรับรอง รับอาวัลโดยสถาบันการเงิน และอื่นๆ 0.3594%

ชัชชัย บอกว่า ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ ควรซื้อกองทุนประเภทรวงข้าว หรือกองทุนเปิดเค ตราสารรัฐระยะสั้น ซึ่งเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 98% โดยจะสามารถให้ผลตอปแบทนที่ดีกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และสามารถทำการซื้อขายได้ทุกวันด้วย

ขณะที่ผู้ที่เคยเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้บ้างแล้ว ควรลงทุนในกองทุนเปิดเค หุ้นกู้ ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนดีเช่นกัน แม้ว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (เอ็นเอวี) จะแกว่งตัวไปตามสภาพตลาดบ้างก็ตาม

กำลังโหลดความคิดเห็น