xs
xsm
sm
md
lg

วันวิบัติรัฐบาลหุ่นเชิด ใบแดง"ยุทธ"ถึงยุบ-มติ"พระวิหาร"ขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาล รธน.ตีแสกหน้ารัฐบาล มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรธน.มาตรา190 วรรค 2 ระบุเหตุผลเนื้อหาแถลงการณ์ฯ ครบองค์ประกอบความเป็นสนธิสัญญา ขณะที่"ครม.ลูกกรอก" พอรู้ข่าวก็สวมวิญญาณขอมดำดินหนีสื่อ ก่อนมอบหมายให้ทีมโฆษกฯ มาปะทะคารมกับสื่อ ตะแบงไม่ได้ทำผิด ไม่ลาออก คำว่า"สปิริต"สะกดอย่างไรไม่รู้ ใครอยากให้ออก ก็หาช่องทางกฎหมายมาดำเนินการเอาเอง ชาติไทยซัด"หมัก-นพดล"ตัวการทำพัง ด้าน 77 ส.ว. งัด ม.275 ร้อง ป.ป.ช.จัดการครม.ฐานขัดรธน. ส่งเรืองให้ศาลฎีกาตีความ เตรียมถกใช้ป.อาญา119-120 จัดการ ชี้โทษหนักถึงประหารชีวิต ฐานทำผิดต่อความมั่นคงของประเทศ ด้านปชป. ยื่นถอดถอน"นพดล" ไม่เกินศุกร์นี้ ขณะที่"นพดล"ยังไม่กลับ ขอแวะลอนดอนก่อน คาดกลับถึงไทย 10 ก.ค.นี้

วานนี้ ( 8 ก.ค.) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของประธานวุฒิสภา ที่ส่งคำร้องของ ส.ว. จำนวน 77 คน และประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 190 วรรค 2 ที่ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่

ภายหลังการประชุม นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 มีลักษณะครบองค์ประกอบของความเป็นสนธิสัญญา ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 และเป็นไปตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 และที่ 33/2543 จึงเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190

ส่วนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ประชุมฯมีมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เป็นหนังสือสัญญาตาม มาตรา 190 วรรค 2 ที่ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ที่เห็นว่า แม้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เข้าข่ายหนังสือสัญญาแต่ไม่ต้องรับการเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งนี้ คำวินิจฉัยจะมีผลทันทีหลังจากการลงมติ โดยคำวินิจฉัยกลางจะจัดทำให้เสร็จภายในวันเดียวกัน และจะจัดส่งไปยังประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร รับทราบอย่างช้าภายในวันนี้ ( 9 ก.ค.)

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงขั้นตอนหลังจากนี้ว่า ส.ส.และ ส.ว.สามารถ ยื่นถอดถอน รมว.ต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 หรือไม่ รวมทั้งจะถือว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่ครม.เห็นชอบให้ รมว.ต่างประเทศลงนาม จะถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยระบุเพียงว่าศาลฯได้พิจารณาตามขอบเขตอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เสร็จสิ้นแล้ว และคำวินิจฉัย มีความชัดเจนว่าการจะลงนามในแถลงการณ์ร่วม ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ ถือเป็นเรื่องที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการ เพราะความรับผิดชอบอื่นอยู่นอกเขตอำนาจศาล ซึ่งไม่สามารถก้าวล่วงได้

ทั้งนี้ภายหลังการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามเกี่ยวกับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคน โดยเฉพาะนายเฉลิมพล ที่เป็นตุลาการเสียงข้างน้อย โดยไปดักรอบริเวณทางลงด้านหลังตึก ที่ตุลาการจะต้องลงมารับประทานอาหาร แต่ปรากฏว่า กลับมีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมายืนกันไม่ให้นักข่าวเข้าใกล้ตุลาการ รวมทั้งนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการส่วนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เดินตามประกบ ตุลาการแต่ละคน เพื่อกันไม่ให้สื่อมวลชนเข้าถึงตัวตุลาการ ทำให้ผู้สื่อข่าวต้องใช้วิธีตะโกนพูดคุยกับตุลาการ ซึ่งแตกต่างจากตุลาการทุกชุดที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีการกีดกันผู้สื่อข่าว พร้อมทั้งยังมีการเปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตนของแต่ละคน ภายหลังการแถลงไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนมาก หรือเสียงส่วนน้อย โดยมีการมาแจกด้วยตนเอง หรือให้เจ้าหน้าที่มาดำเนินการให้

ครม.ขอมดำดิน เผ่นหนีนักข่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมครม. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้หลบเลี่ยงผู้สื่อข่าวไปขึ้นรถที่ชั้นใต้ดิน เช่นเดียวกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไปขึ้นรถที่ชั้นใต้ดินเช่นกัน ท่ามกลางผู้สื่อข่าว และช่างภาพกว่าร้อยคน ที่รอสัมภาษณ์ความเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขัดรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ว่า คงต้องดูรายละเอียดคำพิพากษาก่อน หลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกที ซึ่งในที่ประชุม ครม. มีการนำเสนอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุด ที่เสนอให้มีการอุทธรณ์ศาลปกครองกลาง ที่มีคำสั่งระงับการลงนามดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคชาติไทย จะมีการนัดหารือกันหรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวย้ำว่า ขอดูรายละเอียดคำพิพากษาก่อน จะให้ความเห็นอะไรตอนนี้มากไม่ได้

ครม.สุดด้านไม่ออก ขอยื้อถึงที่สุด

ด้าน นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ตามหลักการแล้ว อัยการต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง ตามคำแนะนำของกฤษฎีกา อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครม.ไม่ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าว ส่วนท่าทีของนายกฯ ก็ปกติดี ส่วนจะมีการแสดงความรับผิดชอบอย่างไรนั้น ก็ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในช่วงบ่าย ทีมโฆษกรัฐบาล นำโดย พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และน.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกรัฐบาล ได้อออกมาแถลงถึงเรื่องนี้ โดยยืนยันว่า ครม.จะไม่มีการแสดงสปิริตด้วยการลาออก แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งในช่วงถามตอบ มีการปะทะคารมกับผู้สื่อข่าวอย่างดุเดือด

“ชาติไทย”ซัดพังเพราะ“หมัก-นภดล”

สำหรับความเคลื่อนไหวในส่วนของพรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย พร้อมแกนนำพรรค ได้ไปหารือกันที่ทำการพรรค พร้อมทั้งได้มีการศึกษาถึงขั้นตอน และกระบวนการทางกฎหมายที่จะดิ้นต่อไปอย่างเคร่งเครียด โดยแกนนำระดับรองหัวหน้าพรรคชาติไทย เปิดเผยว่า ทางพรรคได้คาดการณ์เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าผลจะออกมาเช่นนี้ ซึ่งเรายังมีทางสู้ในส่วนที่ข้อเท็จจริงอยู่แล้ว เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายนพดล ได้ไปลงนาม ล่วงหน้าไว้ก่อน ตั้งแต่ วันที่ 22 พ.ค. ที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะมีการเปิดเผยต่อที่ประชุม ครม. ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ต่อการประชุม ครม. และได้มีมติครม.ออกมาในวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา

แกนนำระดับรองหัวหน้าพรรคชาติไทย เปิดเผยอีกว่า เมื่อเราทราบภายหลังว่า มีพื้นที่ในส่วนของไทย ที่ถูกรุกล้ำถึง 4.6 ตารางกิโลเมตรจริง และในการประชุมครม. ครั้งต่อมาก็ได้มีการพลิกมติ โดยเปลี่ยนคำว่า แผนที่ มาเป็น แผนผัง เพื่อแก้ไขข้อโต้แย้งของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรฯ และนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกฯ และพรรคชาติไทยยืนยันมาตลอดว่า เราไม่เห็นด้วยการลงนามในเรื่องนี้

ส่วนกรณีที่ นายกฯ ไประบุรับรองการกระทำของนายนพดล นั้น ก็ถือว่าเป็นส่วนความรับผิดชอบส่วนบุคคล ที่ยิ่งพูดก็ยิ่งผูกมัดตัวท่านเอง การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ ก็ยังมีแนวทางสู้ในข้อเท็จจริงในชั้นการไต่สวน ว่าเราได้พยายามเยียวยาดีที่สุดแล้ว เพราะเขาไปลงนามผูกพันมาก่อนหน้าที่มติครม.จะออกไป

77 ส.ว.ร้อง ป.ป.ช.จัดการ ครม.หมัก

ส่วนที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.15 น. วันเดียวกันนี้ คณะส.ว.ประกอบด้วย นางพรพันธุ์ บุณยรัตนพันธุ์ นายสมชาย แสวงการ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวรินทร์ เทียมจรัส นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ร่วมกันแถลงข่าว ภายหลังหารือถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติ 8 ต่อ 1 ระบุว่า แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นอนุสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ตามที่ 77 ส.ว. เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า ในฐานะตัวแทน 77 ส.ว. ที่เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งขั้นตอนต่อไป เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมือง เนื่องจากจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องจิตสำนึก และมารยาททางการเมือง ที่จะต้องลาออกในทันที ในส่วนของ ส.ว.ไม่สามารถใช้สิทธิริเริ่มดำเนินการยื่นถอดถอนรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 ได้ เพราะมาตรานี้ระบุว่า ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 4 หรือ ประชาชนเข้าชื่อ 20,000 คน ยื่นให้วุฒิสภาดำเนินการถอนถอนตามมาตรา 270 และ 274 แต่ขณะนี้ ส.ว. กำลังหารือตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 โดยกล่าวโทษ ครม.ต่อคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ และพิจารณาว่า จะเข้าข่ายขัดต่อ ป.อาญา มาตรา 119 และ120 โทษสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิต หรือ ประหารชีวิต หรือไม่ ซึ่ง ส.ว.จะร่วมยกร่างกล่าวโทษ และรวบรวมเรื่องทั้งหมดโดยจะทำให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ ต้องรอคำวินิจฉัยกลางก่อน

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า มีคนบอกว่า จะเอากันให้ตาย เล่นกันไม่เลิกเลยหรืออย่างไรนั้น เป็นความคิดที่ขัดหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะเรื่องนี้ใหญ่มาก ไม่ได้เป็นแค่เรื่องปราสาทพระวิหาร แต่เป็นเรื่องที่รัฐมนตรี กระทำการขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องทำเรื่องถูก และผิดให้เป็นที่ประจักษ์ และในฐานะ ส.ว.เมื่อมีความผิดแล้ว ก็ต้องมีคนได้รับผลจากการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการรับผลทางการเมือง หรือทางกฎหมาย เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป

“ครม.หมัก” ตายยกรัง

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว นายนพดล ต้องลาออก ไม่ควรปล่อยให้มีการถอดถอน ต้องลาออกไป และขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาอย่างเป็นทางการ เพราะขณะนี้ยังมีผลผูกพันอยู่ แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำวินิจฉัยคุ้มครอง เพราะคนที่จะสามารถยกเลิกได้คือประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล หรือ รมว.ต่างประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยทำอะไรเลย อ้างแค่คำวินิจฉัยศาลปกครองกลางเท่านั้น ทั้งนี้ คำแถลงการณ์ร่วม ยังมีผลในเรื่องพิจารณาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย กับกัมพูชา ซึ่งเข้าข่าย ป. อาญา หมวด 3 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร มาตรา 119 และ 120 นอกจากนี้ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 66 ป.ป.ช. หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาได้เลย โดยไม่ต้องรอประชาชนล่ารายชื่อ 20,000 รายชื่อ

นายวรินทร์ เทียมจรัส กล่าวว่า ถ้าพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ครม. ทั้งชุดจะต้องร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ตายยกรัง" เพราะเป็นการยกประโยชน์ให้กับประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ต้องไปตรวจสอบว่าในวันที่ ครม.มีมติดังกล่าว มีรัฐมนตรีหรือผู้เกี่ยวข้องคนใดทักท้วงบ้าง หากไม่ทักท้วง ก็ตายยกรัง

ปชป.ยื่นถอดถอน “นภดล” ศุกร์นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการหารือ เพื่อยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรี ของนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีมติให้นายนพดล ปัมทะ รมว.ต่างประเทศ ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมกัมพูชา ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถยื่นถอดถอนเพิ่มเติม หลังจากที่มีมติถอดถอนนายนพดล ไปก่อนหน้านี้

ภายหลังการหารือ นายอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า บทบัญญัติเรื่องการถอดถอน เป็นการถอดถอนตัวบุคคล ดังนั้นสิ่งที่พรรคจะตรวจสอบต่อไปคือ มีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเรื่องนี้ และส่อว่าจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการสอบถามเพื่อขอข้อมูลจากคณะรัฐมนตรี ให้เปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะไม่มีอะไรที่ต้องเป็นความลับอีกต่อไป แต่หากไม่ให้ดู ถือเป็นข้อพิรุธ ส่วนกรณีการยื่นถอดถอนนายนพดล นั้น จะสามารถยื่นได้ไม่เกินวันศุกร์ ที่ 11 ก.ค.นี้

จี้นำคำตัดสินศาล รธน.ยื่นยูเนสโก้

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรมว.ต่างประเทศเงา กล่าวว่า ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งคณะ คืออย่างน้อยที่สุดจะต้องมีการพิจารณาตัวเอง เพราะทุกคนก็โตๆ กันแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยออกมาอย่างชัดเจน เพียงแต่นายนพดล เป็นผู้ไปลงนามก่อนที่จะมีการขอมติ ครม. ดังนั้นต่อจากนี้ไป รัฐบาลควรแสดงความจริงใจด้วยการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นต่อยูเนสโก้ และคณะกรรมการมรดกโลก 22 ประเทศ หากไทยไม่ยอมทำอะไร ก็เท่ากับว่ายอมรับมติของคณะกรรมการ

“ดังนั้น รัฐบาลควรจะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อให้ทราบว่าการลงนามในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีไทย เป็นการกระทำผิดกฎหมาย และขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อย่างน้อยเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของคนไทย กรณีที่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเพียงฝ่ายเดียว หากไทยไม่ยอมทำอะไร ก็เป็นที่ชัดเจนว่า เรายอมรับตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก อนาคตจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทับซ้อนของไทย ซึ่งความจริงแล้ว ตามมติครม.ปี 2505 ยกอธิปไตยให้เฉพาะเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ยอมพื้นที่ ดังนั้นรัฐบาลควรจะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อแสดงจุดยืนให้เห็นว่ารัฐมนตรีของไทยทำไม่ถูกต้อง แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่มีสามารถเปลี่ยนแปลง หรือมีผลต่อมติคณะกรรมการมรดกโลกได้ อย่างน้อยที่สุดเพื่อแสดงสิทธิ์ของคนไทยในการเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่ร่วม”

จี้รัฐบาลเปิดเผยมติ ครม.

นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การประชุมเพื่อถอดถอน ครม. ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเอกสาร มติ ครม.ขั้นตอนการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม. ในวันที่ 17 มิ.ย. และ24 มิ.ย. ที่ผ่านมา และในการประชุมมีเลขา ครม. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมประชุมด้วยหรือไม่ และระหว่างการประชุม มีรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านในเรื่องนี้อย่างไร โดยจะดูเจตนาของรัฐมนตรีแต่ละคน คาดว่าจะส่งหนังสือได้ในวันที่ 11 ก.ค. หากรัฐบาลไม่ยอมให้เอกสารพรรคจำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร

อธิบดีสนธิสัญญา-ปลัด กต.ต้องรับผิด

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ จะลาออกจากตำแหน่งเพียงคนเดียวยังไม่พอ เพราะในแง่การทำงานถือว่า ครม.ได้ทำผิดในการทำงานไปด้วย จึงต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง และคนที่ต้องรับผิดชอบเป็นอันดับหนึ่งคือ อธิบดีกรมสนธิสัญญา และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่ควรจะต้องลาออกไปได้แล้ว ฐานเป็นผู้มีส่วนร่วมทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เพราะเป็นผู้ชี้ให้สังคมเชื่อตามความเชื่อของท่านที่เห็นว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่เข้าข่ายสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 190

พปช.เตรียมถีบส่ง “นภดล”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ที่พรรคพลังประชาชน ได้มีการประชุมพรรคโดยมี นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.นครพนม เป็นประธานการประชุม โดยมีแกนนำเข้าร่วมพร้อมเพรียง โดยนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวหลังการประชุม ว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรต่อก็สามารถทำได้ หากจะยื่นเรื่องถอดถอนต่อ ป.ป.ช. ก็ทำได้ และเมื่อ ป.ป.ช.รับเรื่องแล้วมีการชี้มูล ครม.ก็ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นป.ป.ช. ก็ต้องยื่น ส.ว.ให้ลงมติถอดถอนต่อไป

เมื่อถามว่าหาก ส.ว.ยื่นถอดถอนครม.ทั้ง คณะ และป.ป.ช.รับเรื่องว่ามีมูลตามรัฐธรรมนูญ ครม.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จะทำให้มีปัญหาอย่างไร นายสามารถ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นก่อน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องให้สภาฯ เลือกนายกฯ และคณะรัฐมนตรี เพื่อไปทำหน้าที่บริหารแทน แต่ก็มีข้อสงสัยว่าหากท้ายที่สุดแล้ว ส.ว.มีมติไม่ไม่ถอดถอน แล้วจะทำอย่างไรกับ ครม.ชุดใหม่ ที่ตั้งมา และครม.ชุดนาย สมัคร สุนทรเวช จะยังมีสภาพทางกฎหายหรือไม่ ซึ่งก็จะเกิดเป็น ครม.ซ้อนกัน 2 คณะ

ด้าน นายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรค กล่าวว่า เรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับการหน้าที่ของครม.ทั้งคณะ เพราะมติครม. ก็ต้องฟังข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่งคราวแล้ว และ ครม.ก็ได้ทำตามแล้ว ตรงนี้ ครม.จึงไม่ต้องรับผิดชอบ คนที่รับผิดชอบคือรัฐมนตรีผู้เดียว

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อศาลมีมติว่าเราใช้แถลงการณ์ร่วมไม่ได้ ครม.ก็ได้ชะลอการใช้แถลงการณ์ร่วมและมีมติครม.ระงับการใช้แถลงการณ์ร่วมไปแล้ว ตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง แต่ถึงจะขอระงับไปแล้ว กัมพูชาก็ยังสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ จึงอยากถามว่าอย่างนี้แล้วครม.ต้องรับผิดชอบหรือไม่

ส่วนประเด็นเรื่องการยื่นถอดถอนเป็นปัญหาประเด็นการตีความกฎหมาย ซึ่งการที่นาย นพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม ครม.ไม่ได้จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ถ้า ครม.และรัฐบาลจงใจ จึงจะเข้าข่ายยื่นถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้าที่จะมีมติ ครม. เราก็ฟังความเห็นจากทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการ ครม.ทุกคนก็บอกว่าไม่เข้าข่าย มาตรา 190 เราจึงมีมติครม.ออกไป ซึ่งผลการขึ้นทะเบียนออกมาอย่างนั้นแล้ว เราก็ไม่เสียหายอะไร เพราะไม่ได้ใช้แถลงการณ์ร่วม มีมติยับยั้งไปแล้ว และแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศแล้ว

เมื่อถามว่า ครม.ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อาจจะตอบอย่างนั้นได้ แต่ถามว่าเราทำประเทศชาติเสียหายอะไรหรือไม่ ถ้ามีคนมาโต้แย้งเรื่องคำวินิจฉัยของศาลโลก เมื่อปี 2505 ก็เลิกพูดได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลโลกชัดเจน การขึ้นทะเบียนครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องดินแดน ซึ่งนายปองพล อดิเรกสาร ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย ก็ยืนยันว่าการขึ้น ทะเบียนครั้งนี้ไม่มีการล้ำเขตแดนประเทศไทย ส่วนเราก็คิดว่า ครม.ทำงานอย่างรอบคอบ และสุจริต ไม่มีเจตนาทำให้ผิดข้อกฎหมาย

เมื่อถามว่า ครม.จะทำอย่างไรต่อไป นายชูศักดิ์กล่าวว่า หากจะมีการยื่นถอดถอนก็เป็นสิทธิที่จำได้ ส่วนจะยุติการทำหน้าที่นั้นต้องรอให้ป.ป.ช.ไต่สวนก่อนว่ามีมูล แล้วสว.ต้องมีคะแนนเสียง 3 ใน 5 จึงจะถอดถอนได้ ทั้งนี้ในครม.วันนี้ไม่มีการหารือเรื่องนี้ เพียงแต่รับทราบและตนก็เพียงรายงานข้อกฎหมายเท่านั้น ว่าขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

“นภดล”แวะลอนดอนกลับไทย 10 ก.ค.

หลังจากที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ เสร็จจากการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา นายนพดล ได้แยกคณะเดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อประสานงานเกี่ยวกับกำหนดการเยือนประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเดือนทางเยือนภายในเดือนก.ค.นี้ จากนั้นในวันที่ 9 ก.ค.จะเดินทางกลับประเทศไทย คาดว่าน่าจะเป็นเที่ยวบิน TG 911 บินตรงจากกรุงลอนดอน-กรุงเทพมหานคร (สุวรรณภูมิ) โดยจะถึงประเทศไทย ในวันที่ 10 ก.ค. เวลา 06.05 น. หรือเที่ยวบิน TG 917 ลอนดอน-กรุงเทพมหานคร (สุวรรณภูมิ) ถึงประเทศไทย ในเวลา 15.05 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น