77 ส.ว.งัด ม.275 ร้อง ป.ป.ช.เชือด ครม.ฐานขัด รธน.ชงเรื่องให้ศาลฎีกาตีความ “นพดล” หนาว ส.ว.เตรียมถกใช้ ป.อาญา 119-120 โทษประหารชีวิต ฐานทำผิดต่อความมั่นคงของประเทศ เย้ยหากไม่กล้ากลับประเทศให้ตีตั๋วเครื่องบินไปเกาะกง
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่รัฐสภา คณะ ส.ว.ประกอบด้วย นางพรพันธุ์ บุณยรัตนพันธุ์ นายสมชาย แสวงการ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวรินทร์ เทียมจรัส นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังหารือถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติ 8 ต่อ 1 ระบุว่า แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นอนุสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ตามที่ 77 ส.ว.เสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความ
นายคำนูณ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทน 77 ส.ว.ที่เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมือง เนื่องจากจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องจิตสำนึกและมารยาททางการเมือง ที่จะต้องลาออกในทันที ในส่วนของ ส.ว.ไม่สามารถใช้สิทธิเริ่มดำเนินการยื่นถอดถอนรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ได้ เพราะมาตรานี้ ระบุว่า ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 4 หรือประชาชนเข้าชื่อ 20,000 คน ยื่นให้วุฒิสภาดำเนินการถอนถอนตามมาตรา 270 และ 274
แต่ขณะนี้ ส.ว.กำลังหารือตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 โดยกล่าวโทษ ครม.ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ และพิจารณาว่าจะเข้าข่ายขัดต่อ ป.อาญา มาตรา 119 และ 120 โทษสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต หรือไม่ ซึ่ง ส.ว.จะร่วมยกร่างกล่าวโทษและรวบรวมเรื่องทั้งหมด โดยจะทำให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ ต้องรอคำวินิจฉัยกลางก่อน
นายคำนูณ กล่าวว่า มีคนบอกว่าจะเอากันใหตาย เล่นกันไม่เลิกเลยหรืออย่างไรนั้น เป็นความคิดที่ขัดหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะเรื่องนี้ใหญ่มาก ไม่ได้เป็นแค่เรื่องปราสาทพระวิหาร แต่เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีกระทำการขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องทำให้เรื่องถูกและผิดให้เป็นที่ประจักษ์ และในฐานะ ส.ว.พยายามทำความถูกผิดให้เป็นที่ประจักษ์ และเมื่อมีความผิดแล้วก็ต้องมีคนได้รับผลจากการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการรับผลทางการเมืองหรือทางกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
น.ส.รสนา กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนายนพดลต้องลาออก ไม่ควรปล่อยให้มีการถอดถอน ต้องลาออกไป และเรียกร้องให้รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา อย่างเป็นทางการ เพราะขณะนี้ยังมีผลผูกพันอยู่ แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำวินิจฉัยคุ้มครอง เพราะคนที่จะสามารถยกเลิกได้ คือ ประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยทำอะไรเลย อ้างแค่คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางเท่านั้น ทั้งนึ้ คำแถลงการณ์ร่วมยังมีผลในเรื่องพิจารณาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเข้าข่าย ป.อาญา หมวด 3 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร มาตรา 119 และ 120 นอกจากนี้ ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 66 ป.ป.ช.หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาได้เลยโดยไม่ต้องรอประชาชนล่ารายชื่อ 20,000 รายชื่อ
นายวรินทร์ กล่าวว่า ถ้าพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ครม.ทั้งชุด จะต้องร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ตายยกรัง เพราะเป็นการยกประโยชน์ให้กับประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ต้องไปตรวจสอบว่า ในวันที่ ครม.มีมติดังกล่าวมีรัฐมนตรีหรือผู้เกี่ยวข้องคนใดทักท้วงบ้าง หากไม่ทักท้วงก็ตายยกรัง
นายสมชาย กล่าวว่า นายนพดล สามารถที่จะบรรเทาปัญหาให้ ครม.หากไม่สะดวกในการเดินทางกลับประเทศ ขอให้ส่งใบลาออกให้กับนายกฯได้ เพราะนายนพดลเคยประกาศจะรับผิดชอบ ดังนั้น สิ่งที่ นายนพดล ต้องรับผิดชอบ คือ การลาออก ถ้ากังวลว่าจะถูกปิดล้อมที่สนามบินก็ไม่ต้องกลับมาอาจไปลงที่พนมเปญ หรือเกาะกง ก็ได้