xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 มิ.ย.-5 ก.ค.2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพดล ปัทมะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เข้าชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ(4 ก.ค.)โดยอ้างว่า แถลงการณ์ร่วมฯ ที่ตนลงนาม ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ของ รธน.ที่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“นพดล”ยังพลิ้ว-โยน “รบ.สุรยุทธ์”รับบาปกรณีปราสาทพระวิหาร!

หลังศาลปกครองกลางได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ทนายของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยร้องขอให้ระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ ครม.และนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลงนามเห็นชอบสนับสนุนกัมพูชาในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ปรากฏว่า ครม.ได้ประชุม(1 ก.ค.)และมีมติให้ปฎิบัติตามคำสั่งศาลปกครองพร้อมมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องต่อไป นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศส่งหนังสือแจ้งคำสั่งศาลปกครองไปยังทางการกัมพูชา ,ยูเนสโก ,ผู้แทนคณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศ และคณะผู้แทนไทยที่จะไปร่วมประชุมที่ประเทศแคนาดา เพื่อขอให้ระงับความตกลงในแถลงการณ์ร่วมฯ เอาไว้ก่อน ขณะที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ซึ่งไม่ได้ร่วมประชุม ครม.ดังกล่าว เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปเยือนจีน ก็ได้ชี้แจงกรณีปราสาทพระวิหารต่อคนไทยในกรุงปักกิ่ง โดยอ้างว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองที่มีการนำมาฟาดฟันกันในที่ประชุมสภาจนน่ากลัว เหมือนรัฐบาลนี้ไปสมคบกับกัมพูชา ทำให้ไทยเสียดินแดน ทั้งที่ไม่มีอะไรเลย ด้าน 77 ส.ว.(เช่น รสนา โตสิตระกูล ,คำนูณ สิทธิสมาน ,วรินทร์ เทียมจรัส ,ประสาร มฤคพิทักษ์ ฯลฯ) ได้ยื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา(30 มิ.ย.)เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เข้าข่ายกระทำการขัด รธน.2550 มาตรา 190 ที่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อนหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เข้าชื่อยื่นหนังสือต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่ง(3 ก.ค.)รับคำร้องของประธานวุฒิสภาและประธานสภาฯ ที่ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตาม รธน.มาตรา 190 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเรียกนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเข้าชี้แจงและให้ถ้อยคำเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวด้วยภายในเวลา 15.00น.ของวันที่ 3 ก.ค.หรือวันที่ 4 ก.ค.เวลา 09.00น. หากไม่เข้าชี้แจงตามกำหนดนัด จะถือว่านายนพดลไม่ติดใจที่จะชี้แจงหรือให้ถ้อยคำ ซึ่งในที่สุดนายนพดลได้เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ก่อนเดินทางไปแคนาดาในวันที่ 5 ก.ค. ทั้งนี้ นอกจากนายนพดลจะยืนยันต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ตนและ ครม.เห็นชอบไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ของ รธน.แล้ว นายนพดลยังโยนระเบิดใส่รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ด้วยการอ้างว่า ไทยได้สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตั้งแต่รัฐบาลสุรยุทธ์แล้ว เพราะเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.-2 ก.ค.2550 สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ มีการลงนามระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยประชุมที่ 31 ที่เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ว่า “รัฐภาคีกัมพูชาและรัฐภาคีไทย เห็นพ้องอย่างเต็มที่ว่าปราสาทพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์มีคุณค่าสากลที่โดดเด่น และจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยเร็วที่สุด ดังนั้นกัมพูชาและไทยตกลงกันว่ากัมพูชาจะเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการในสมัยประชุมที่ 32 ของคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2551 โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทย” อย่างไรก็ตาม อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลก นายอดุล วิเชียรเจริญ ได้ออกมาจับเท็จนายนพดลที่โยนปัญหาให้รัฐบาลสุรยุทธ์ โดยยืนยันว่า ก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่นิวซีแลนด์ ไทยมีจุดยืนให้เสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน และเมื่อมีการประชุมในครั้งนั้น นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นไม่ได้ไปร่วมประชุมด้วย มีเพียงเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่ไปร่วมประชุม โดยได้มีข้อตกลงนอกรอบในลักษณะรอมชอม 2 ข้อว่า 1.ไทยและกัมพูชาเห็นร่วมกันว่าปราสาทพระวิหารมีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และ 2.การจะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น ไทยและกัมพูชาจะต้องมาเจรจากัน โดยที่ไทยจะต้องเห็นชอบแบบแข็งขัน(Active Support)เท่านั้น และว่า หลังจากนั้น แม้ไทยจะพยายามเจรจากับกัมพูชาเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกัน แต่กัมพูชาก็ไม่เคยเจรจาร่วมด้วยเลย โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ยังคงมีจุดยืนเช่นนั้นตลอดมา กระทั่งรัฐบาลนายสมัคร โดยนายนพดลได้มาเปลี่ยนจุดยืนด้วยการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเพื่อสนับสนุนให้กัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกแต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา เท่ากับรัฐบาลนายสมัครได้แสดงให้เห็นว่า ไทยสนับสนุนกัมพูชาอย่างแข็งขันจนคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศแคนาดาในเดือน ก.ค.นี้ น่าจะรับขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทั้งนี้ ไม่เพียงนายนพดลจะโยนบาปเรื่องปราสาทพระวิหารให้รัฐบาลสุรยุทธ์ แต่นายนพดลยังถูก ส.ว.และภาคประชาชนที่ยื่นเรื่องให้ยูเนสโกชะลอการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกออกไปก่อน จับได้ว่า ก่อนที่นายนพดลจะเสนอ ครม.ให้เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฯ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น นายนพดลได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวกับรองนายกฯ กัมพูชาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.แล้ว โดยเรื่องนี้แดงขึ้นมา เมื่อนายเชลดอน เชฟเฟอร์ ผอ.ยูเนสโก ประจำประเทศไทย ได้ส่ง จม.ตอบ ส.ว.ที่ขอให้ยูเนสโกชะลอการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารออกไป โดยยืนยันว่า พันธะที่ไทยสนับสนุนกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้รับการเน้นย้ำและแสดงออกอย่างเป็นทางการแล้วโดยแถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยและรองนายกฯ กัมพูชาที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2551 โดยนายเชฟเฟอร์ เผยด้วยว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวถูกนำเสนอเพื่อเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทั้งนี้ เมื่อ ส.ว.และภาคประชาชนทราบเรื่องดังกล่าว ต่างไม่พอใจการกระทำของนพดลมากขึ้นไปอีก ที่แอบไปเซ็นข้อตกลงกับกัมพูชาโดยไม่บอกให้ประชาชนทราบ พร้อมเรียกร้องให้นายนพดลรับผิดชอบด้วยการลาออก หากไม่ลาออก ครม.จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ร่วมกัน ด้านนายนพดล อ้างว่า ผอ.ยูเนสโกประจำประเทศไทยให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน พร้อมชี้แจงว่า การลงนามเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ของตนที่กรุงปารีสนั้น เป็นแค่การลงนามกำกับในร่างแถลงการณ์ร่วม ซึ่งจะไม่มีผลผูกพันจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจาก ครม. ทั้งนี้ นายนพดลได้เรียก ผอ.ยูเนสโกประจำประเทศไทยเข้าพบด้วยเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการเข้าพบ ผอ.ยูเนสโกฯ ได้ออกมายอมรับว่าข้อมูลของตนคลาดเคลื่อน พร้อมยืนยันว่า การลงนามเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ยังเป็นเอกสารที่ไม่เป็นทางการและต้องรอการรับรองจากรัฐบาลก่อน โดยมีการรับรองในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.และสุดท้ายลงนามโดยไทยและกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พูดถึงแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ ครม.และนายนพดลรับรองให้กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า ถ้ามีอะไรผิดพลาดและพิสูจน์ได้ว่ามีอะไรผิดพลาด ผู้นำทุกคนไม่ใช่เฉพาะรัฐมนตรี จะต้องแสดงสปิริตด้วยกันทั้งนั้น ขณะที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ซึ่งเดินทางกลับจากการเยือนจีนและบรูไน(4 ก.ค.) ไม่ยอมให้สัมภาษณ์กรณีปราสาทพระวิหาร โดยอ้างว่า ให้รอฟังรายการ “สนทนาประสาสมัคร”วันอาทิตย์นี้(6 ก.ค.) ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ได้ออกมาอ้าง(4 ก.ค.)ว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมหลายเรื่อง เช่น กรณีกัมพูชาขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังนั้น อดีตผู้บริหารพีทีวี(ทีวีดาวเทียมของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย)ทั้ง 4 คน คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ ,นายจักรภพ เพ็ญแข ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ(ปัจจุบันเป็นรองโฆษกรัฐบาล) และตน เห็นว่าควรจะฟื้นพีทีวีขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อต่อสู้เต็มรูปแบบ เนื่องจากเอเอสทีวีบิดเบือนและให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว สำหรับความเคลื่อนไหวการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ที่เมืองควิเบค ประเทศแคนาดาได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 2 ก.ค.โดยจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 10 ก.ค. ซึ่งกรณีปราสาทพระวิหารจะเข้าสู่วาระในวันที่ 6-7 ก.ค. โดยจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ก.ค.ว่า ปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาเสนอ จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่ ส่วนความเคลื่อนไหวในกัมพูชานั้น เริ่มมีกระแสความไม่พอใจไทยที่ระงับการสนับสนุนกัมพูชาในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยมีความพยายามจะชุมนุมประท้วงใกล้สถานทูตไทยในกัมพูชา แต่ทางการกัมพูชาไม่อนุญาต ขณะที่สื่อมวลชนกัมพูชาบางสำนัก(มนสิการแขมร์) ถึงกับระบุว่า การที่ไทยยกเลิกการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีข่าวลือด้วยว่า ชาวกัมพูชาได้เตรียมการเพื่อประท้วงไทยในเร็วๆ นี้ หากการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกประสบความล้มเหลว

ทำเป็นแบ๊ว!“นพดล” อ้างฤๅษีเคยเซ็นหนุนเขมร -ไม่รับประกันจะยื้อไว้ได้
“นพเหล่” รี่แจงศาล รธน. ปลงตกเลื่อนหนุนจดทะเบียนเขาพระวิหาร
“นพเหล่” แผลงฤทธิ์! พลิ้วไม่เคยรับรองเขาพระวิหาร โยนบาปยูเนสโก

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นเบิกความต่อศาลแพ่งหลังขอให้ศาลไต่สวนเพื่อระงับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ (2 ก.ค.)
2. “ตร.”สบช่องศาลคุ้มครองครูราชวินิตฯ จี้ “พันธมิตรฯ”รื้อเวที ด้าน “พันธมิตรฯ”สู้ไม่ถอย เตรียม “ดาวกระจาย”จันทร์นี้!

หลังจากครูโรงเรียนราชวินิตมัธยม 10 คน(นำโดยนางวรรธนันท์ พรวนต้นไทร)ได้ฟ้องต่อศาลแพ่ง(27 มิ.ย.)ว่า แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกระทำการละเมิดพวกตน ด้วยการปิดถนนชุมนุม ทำให้พวกตนเดินทางมาสอนและกลับบ้านไม่สะดวก รวมทั้งมีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน พร้อมขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวด้วยการสั่งให้แกนนำพันธมิตรฯ งดกระทำการดังกล่าว ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.นั้น ปรากฏว่า ศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยให้กลุ่มพันธมิตรฯ เปิดเส้นทางจราจรถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลก รวมทั้งให้งดใช้เครื่องขยายเสียง ตั้งแต่เวลา 07.30-16.30น.วันจันทร์-ศุกร์ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ศาลให้เหตุผลที่สั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของครูดังกล่าวว่า เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์แล้วพบว่า การชุมนุมดังกล่าวที่มีการปิดถนนทำให้ประชาชนเดือดร้อนและขัดต่อบทบัญญัติแห่ง รธน.มาตรา 63 วรรค 2 และมีการใช้เครื่องขยายเสียง ทำให้โจทก์ทั้งสิบได้รับความเดือดร้อนรำคาญ จึงมีเหตุสมควรที่จะคุ้มครองชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2) ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวของศาล มีขึ้นโดยการไต่สวนโจทก์ฝ่ายเดียว ไม่มีการไต่สวนฝ่ายจำเลย ดังนั้นทางแกนนำพันธมิตรฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันต่อมา(1 ก.ค.)เพื่อขอไต่สวนฉุกเฉินให้ศาลระงับหรือแก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว โดยขณะที่ยื่นคำร้อง แกนนำพันธมิตรฯ ก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลด้วยการเปิดถนนและงดใช้เครื่องขยายเสียงระหว่างเวลา 07.30-16.30น. ทั้งนี้ ทนายฝ่ายพันธมิตรฯ ได้นำแกนนำบางคน(พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ,พิภพ ธงไชย)ขึ้นเบิกความต่อศาล รวมทั้งนำผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนราชวินิตมัธยม 3 คน และนักเรียนโรงเรียนดังกล่าว 2 คนขึ้นเบิกความเพื่อยืนยันว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเส้นทางที่จะมาส่งบุตรหลาน เพราะมีหลายเส้นทาง ส่วนเรื่องเสียงก็ไม่รบกวน เพราะลำโพงหันไปทางทำเนียบรัฐบาล พร้อมกันนี้แกนนำพันธมิตรฯ ได้ให้เหตุผลในการต้องปิดกั้นการจราจรด้วยว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมที่หากเปิดการจราจร กลุ่ม นปก.ที่ต่อต้านพันธมิตรฯ อาจมาสร้างความปั่นป่วนหรือทำร้ายผู้ชุมนุมได้ แกนนำพันธมิตรฯ ยังเบิกความต่อศาลด้วยว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพตาม รธน. การจำกัดเสรีภาพจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายที่บัญญัติถึงการชุมนุมสาธารณะไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งนับแต่ รธน.2550 บังคับใช้ รัฐบาลยังมิได้จัดให้มีการออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อจำกัดเสรีภาพการชุมนุมแต่อย่างใด การที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของโจทก์โดยอาศัยกฎหมายแพ่ง มิใช่กฎหมายเฉพาะตาม รธน.มาตรา 63 จึงอาจเป็นการตีความที่คลาดเคลื่อนผิดไปจากเจตนารมณ์ของ รธน. อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องของแกนนำพันธมิตรฯ โดยยืนยันว่า การที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เป็นไปเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ถนนสาธารณะตามที่บัญญัติไว้ใน รธน.มาตรา 63 วรรค 2 ด้านแกนนำพันธมิตรฯ เตรียมอุทธรณ์คำสั่งของศาลแพ่งวันที่ 7 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ นอกจากศาลแพ่งจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ครูโรงเรียนราชวินิตฯ ร้องขอแล้ว ศาลแพ่งอีกคดี คือคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวกฐานละเมิด ยังได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณร้องขอ ด้วยการสั่งห้ามนายสนธิพูดพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณในทางเสียหายจนกว่าคดีจะเป็นที่ยุติด้วย ซึ่งทางแกนนำพันธมิตรฯ ไม่หวั่น เพราะแม้นายสนธิจะพูดถึง พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ แต่แกนนำคนอื่นยังสามารถพูดถึง พ.ต.ท.ทักษิณได้ ด้านนายเมธี ใจสมุทร ทนายความของครูราชวินิตมัธยมและน้องชายนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ที่ฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ ได้เปิดเกมรุกต่อ โดยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง(2 ก.ค.)ขอให้ศาลตั้งเจ้าหน้าที่บังคับคดี โดยอ้างว่า แกนนำพันธมิตรฯ ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เพราะยังมีการปิดถนนบางส่วน ทำให้การจราจรยังไม่สะดวก ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 7 ก.ค.นี้(เวลา 13.30น.) ขณะที่ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็จี้ให้พันธมิตรฯ เปิดถนนตลอด 24 ชม.ไม่ใช่เปิดถนนเฉพาะช่วงเวลา 07.30-16.30น. โดยอ้างว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ต้องงดใช้เครื่องขยายเสียงเท่านั้น ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันว่า พันธมิตรฯ พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ส่วนที่ตำรวจจะให้พันธมิตรฯ เปิดถนนตลอด 24 ชม.นั้น พล.ต.จำลอง ชี้ว่า ต้องเป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของตำรวจ หากศาลสั่งให้เปิดถนน 24 ชม. พันธมิตรฯ ก็จะประชุมหารือด่วนทันที ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ศาลแพ่งได้ชี้แจงให้ครูโรงเรียนราชวินิตมัธยมในฐานะโจทก์ และแกนนำพันธมิตรฯ ในฐานะจำเลย ทราบว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล ไม่ได้เป็นการสั่งให้รื้อเวทีพันธมิตรฯ หรือยุติการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่อย่างใด และศาลไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หากตำรวจหรือฝ่ายโจทก์จะให้พันธมิตรฯ เปิดถนนทั้งหมดและตลอด 24 ชม.ย่อมหมายความว่า พันธมิตรฯ ต้องรื้อเวทีออกและยุติการชุมนุม เนื่องจากเวทีปราศรัยตั้งอยู่บนสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ขณะที่การชุมนุมก็อยู่บนท้องถนน ซึ่งหากจะให้พันธมิตรฯ รื้อเวทีเพื่อเปิดถนนทั้งหมดอย่างที่ตำรวจและโจทก์ต้องการ นอกจากจะเป็นการสวนทางกับที่ศาลได้ชี้แจงก่อนหน้านี้แล้ว ยังเท่ากับว่า ต่อไปจะไม่มีใครใช้สิทธิชุมนุมบนท้องถนนได้อีก ซึ่งในชั้นนี้ แกนนำพันธมิตรฯ มีมติจะปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ ต่อไป โดยจะนำยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวแบบ “ดาวกระจาย”มาใช้อีกครั้ง โดยวันที่ 7 ก.ค.จะเคลื่อนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นวันที่ 9 ก.ค.จะไปสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อทวงถามความคืบหน้าคดีเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะไม่อยากให้มีการถ่วงเวลาการดำเนินการให้ล่าช้า เนื่องจากหลายคดีเป็นคดีสำคัญที่จะนำไปสู่การคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมือง

หมอความครูราชวินิตยันทำคดีพันธมิตรฯ ไม่มีเอี่ยวการเมือง
ศาลยึดสิทธิขั้นพื้นฐาน!เมินเหตุผลพันธมิตรขอชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ
ศาลคุ้มครองชั่วคราว ครูราชวินิตฯ สั่งพันธมิตรเปิดการจราจร
ทนายพันธมิตรฯ ร้องคัดค้าน “ครูราชวินิต”
“สุริยะใส” ยันพันธมิตรฯชุมนุมยืดเยื้อ ดีเดย์ดาวกระจายบุก สตช.จันทร์นี้
“สุวัตร” จ่อยื่นศาล รธน.ตีความคำวินิจฉัยศาลแพ่ง หวั่นสิทธิชุมนุมถูกลิดรอน
“เหลิม”ขาสั่นฮึดสอบที่ดิน พันธมิตรฯ ภูเก็ตตั้งแถวประท้วงรอต้อนรับ

“เป็ดเหลิม” สั่งยกเลิกภารกิจอันดามัน หลังพันธมิตรลุกฮือไล่ทุกจังหวัด
“เป็ดเหลิม”ขาสั่น กลับถึง กทม.โวยลั่นม็อบขับไล่มีคนหนุนหลัง

โฉมหน้านายธนา ตันศิริ(ในวงกลม) 1 ใน 3 ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณและเป็นญาติกับคุณหญิงพจมาน ถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือนกรณีนำถุงขนมใส่เงิน 2 ล.มอบให้ จนท.ศาลฎีกา
3. “ทักษิณ”หน้าแตก ศาลไม่อนุญาตออกนอก ปท. ขณะที่ “ทีมทนาย”เจอข้อหาให้สินบนศาล 2 ล.แล้ว!

หลังศาลฎีกาสั่งจำคุกทีมทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 3 คน(นายพิชิฏ ชื่นบาน ,น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ และนายธนา ตันศิริ ซึ่งเป็นญาติของคุณหญิงพจมาน) เป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีนำถุงขนมใส่เงิน 2 ล้านไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ซึ่งเป็นวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานเข้ารายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ นอกจากนี้ศาลยังได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าแจ้งความดำเนินคดี 3 ทนายดังกล่าวฐานให้สินบนด้วย แต่ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า หากทนายดังกล่าวยังไม่ได้โน้มน้าวให้มีการล้มคดี ก็ยังไม่ถือเข้าข่ายติดสินบนนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ได้มีผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ออกมาให้ความเห็นว่า คดีนี้ผู้เสียหายเป็นศาลฎีกา ถือเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี และว่า ผู้พิพากษาทั่วประเทศเฝ้าติดตามการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการว่าจะออกมาอย่างไร พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้แจ้งความดำเนินคดี ก็น่าจะสังเกตได้ว่า ศาลต้องเชื่อมั่นอะไรบางอย่าง จึงเป็นเรื่องที่จะพิสูจน์ความสามารถและความจริงใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(30 มิ.ย.) ศาลฎีกาได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ความเห็นของผู้พิพากษาดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับศาลฎีกาหรือศาลยุติธรรมแต่อย่างใด โดยการดำเนินคดีในความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 หรือความผิดฐานอื่น เป็นอำนาจหน้าที่และดุลพินิจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ด้านตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ลุมพินี ได้เข้าควบคุมตัวนายธนา ตันศิริ 1 ใน 3 ทนายที่อ้างว่าป่วยและไม่ได้เดินทางไปฟังคำสั่งศาลที่สั่งจำคุกเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. โดยตำรวจได้นำตัวนายธนาจาก รพ.บำรุงราษฎร์ ไปส่งให้ศาลฎีกาเปิดบัลลังก์อ่านคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ก่อนนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยขังรวมกับนายพิชิฏ ชื่นบาน ที่ถูกคุมขังอยู่ก่อนแล้ว แต่อยู่รวมกันได้แค่วันเดียว เจ้าหน้าที่เรือนจำก็ต้องแยกขัง เนื่องจากทั้งคู่ยังมีความขัดแย้งกันในคดีที่ละเมิดอำนาจศาล ซึ่งนายพิชิฏพยายามโต้แย้งว่านายธนาเป็นผู้กระทำความผิด ตนไม่ผิด เจ้าหน้าที่จึงได้แยกขังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาท ด้านตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้ขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับ 3 ทนายดังกล่าว ฐานติดสินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนว่าจะอนุมัติหมายจับหรือไม่ในวันที่ 3 ก.ค. ทั้งนี้ หลังศาลไต่สวนแล้ว ได้มีคำสั่งยกคำร้องการขอออกหมายจับ 3 ผู้ต้องหาดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้ผู้ต้องหาทั้งสามถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการสอบสวนหรือแจ้งข้อหา ก็สามารถดำเนินการได้ภายในเรือนจำอยู่แล้ว แต่หากดำเนินการแล้วมีปัญหา ก็สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอออกหมายจับในภายหลังได้ ด้าน พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 กลัวถูกมองว่าตำรวจหน้าแตกที่ศาลยกคำร้องการออกหมายจับ จึงรีบปฏิเสธว่า ศาลไม่ได้ยกคำร้องการออกหมายจับ แต่ให้พนักงานสอบสวนไปแจ้งข้อหาที่เรือนจำโดยตรง และว่า สัปดาห์หน้าตำรวจจะประสานไปยังเรือนจำเพื่อขออายัดตัวและแจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้ง 3 คนที่เรือนจำ พร้อมสอบปากคำด้วย พล.ต.ต.อำนวย ยังบอกด้วยว่า คดีนี้ง่ายมาก ผู้ต้องหาคงยืนยันตามที่ให้การไว้กับศาล ส่วนคดีจะตรงหรือไม่ พล.ต.ต.อำนวย รีบบอกว่า “ไม่ต้องพูดเลย เพราะศาลทำไว้ละเอียดอยู่แล้ว ตำรวจเอาสำนวนที่ศาลมาให้ผู้ต้องหาดูว่ายืนยันตามที่ให้การไว้กับศาลหรือไม่ ก็จบ” ทั้งนี้ นอกจากคดีทีมทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณกับสินบน 2 ล้านแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะจำเลยในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ได้ให้ทนายยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.เพื่อขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ โดยอ้างว่า จะไปประเทศจีนและอังกฤษ หลังจากนั้นเมื่อกลับมา ก็จะขอเดินทางไปประเทศจีนและญี่ปุ่นอีก หลังจากนั้นเมื่อกลับมาก็จะขอเดินทางไปประเทศจีนอีกครั้ง โดยจะเริ่มเดินทางในวันที่ 27 มิ.ย. ซึ่งปรากฏว่า ศาลพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปต่างประเทศในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ อยู่ระหว่างศาลไต่สวนพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้หาก พ.ต.ท.ทักษิณมีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศ ก็สามารถยื่นคำร้องใหม่ให้ศาลพิจารณาได้ ส่วนศาลจะอนุญาตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจขององค์คณะผู้พิจารณาคดีเป็นครั้งๆ ไป

จำเลย “แม้ว”จ๋อย! ศาลยกคำร้องขอออกนอกประเทศ
ตร.อายัด 3 ทนายชั่วในคุก ชี้ข้อหาบิดไม่ได้-ตรงอย่างเดียว
แยก “ธนา”ขังแดน 4 หวั่น “พิชิฏ” ระบายแค้น!
ตำรวจลั่นคดีสินบน 2 ล้าน 30 วัน รู้ไอ้โม่งตัวจริง!


4. “คตส.”หมดวาระ-ส่งไม้ต่อ ป.ป.ช.แล้ว ด้าน “ศาล รธน.”ชี้ สถานะ คตส.ชอบด้วย ก.ม.!
ประชาชนกว่า 5 พันคนร่วมงานอำลาและให้กำลังใจ คตส.จนแน่นหอประชุมใหญ่ มธ.(30 มิ.ย.)
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาคดีเป็นครั้งแรก โดยพิจารณาคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่งคำโต้แย้งของจำเลยในคดีหวยบนดินให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ที่ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.2551 ขัดหรือแย้งต่อ รธน.2550 หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ 9 เสียงว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตั้ง คตส. ไม่ขัด รธน. เนื่องจากเห็นว่า รัฐาธิปัตย์ในขณะนั้นมีอำนาจที่จะออกกฎหมายใช้บังคับ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศ และการแต่งตั้ง คตส.ก็เพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดี ทั้งยังเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปและได้รับการรับรองโดย รธน.ฉบับชั่วคราว 2549 ในมาตรา 36 อีกทั้งมาตรา 309 ของ รธน.2550 ก็รับรองไว้เช่นกัน ส่วนการออก พ.ร.บ.แก้ไขประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เพื่อต่ออายุ คตส.นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ 9 เสียงว่าไม่ขัด รธน.เช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดการต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. เป็นการดำเนินการที่อยู่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของ คตส.ที่มีอยู่แต่เดิม มิได้เพิ่มอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด ทั้งมิได้เป็นการจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่และได้รับรับรองโดย รธน.มาตรา 309 แล้ว ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทราบต่อไป ด้านศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้นัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีหวยบนดินหรือไม่ในวันที่ 28 ก.ค.นี้(เวลา 14.00น.) ส่วนคดีที่ คตส.ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 และ 157 กรณีเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่รัฐบาลพม่าวงเงิน 4 พันล้านบาทนั้น ศาลฎีกาฯ ได้นัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 30 ก.ค.(เวลา 10.00น.) สำหรับคดีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โอนหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม โดยฉ้อโกงและใช้กลอุบายหลีกเลี่ยงภาษี 546 ล้านบาทนั้น หลังศาลอาญาได้สืบพยานเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พ.ค.และรอเพียงผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถานะ คตส.เมื่อเป็นที่ยุติแล้วว่า คตส.ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอาญาจึงได้กำหนดวันพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ 31 ก.ค.(เวลา 09.00น.) ส่วนบรรยากาศวันสุดท้ายของ คตส.ที่หมดวาระลงเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุม คตส.ได้ตรวจความเรียบร้อยของสำนวนและภารกิจที่จะส่งต่อให้ ป.ป.ช.รับผิดชอบต่อไป โดยนายสัก กอแสงเรือง กรรมการและเลขานุการ คตส.แถลงว่า ภารกิจของ คตส.ในช่วง 1 ปี 9 เดือน ถือว่างานสำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยได้รับคดีจาก สตง.มาดำเนินการ 13 เรื่อง ดำเนินการเกือบแล้วเสร็จ 12 คดี โดยมีคดีที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล 5 คดี คือ คดีที่ดินรัชดาฯ ,คดีหวยบนดิน ,คดีคุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์ ,คดีกล้ายาง ,คดีเอ็กซิมแบงก์ ส่วนอีก 7 คดีอยู่ในกระบวนการของอัยการสูงสุด คือ คดี พ.ต.ท.ทักษิณร่ำรวยผิดปกติ ที่ คตส.ขอให้ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ,คดีซีทีเอ็กซ์ ,คดีท่อร้อยสายไฟฟ้าสุวรรณภูมิ ,คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทในเครือกฤษฎามหานคร ,คดีภาษีสรรพสามิต ,คดีบ้านเอื้ออาทร ,คดีเรียกเก็บภาษีบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ ส่วนคดีที่ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ ได้แก่ คดีรถดับเพลิง ,คดีแอร์พอร์ตลิงก์ ,คดีเซ็นทรัลแล็บ และคดีการซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ฯลฯ ทั้งนี้ วันสุดท้ายของ คตส.ได้มีการจัดงานอภิปรายและส่งมอบงานต่อให้ ป.ป.ช.ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้ชื่องานว่า “ปัจฉิมบทของพันธกิจการตรวจสอบแทนประชาชน” โดยมีประชาชนมาร่วมงานและให้กำลังใจ คตส.กว่า 5 พันคน ด้านนายอมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มาร่วมงานและปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า งานการตรวจสอบของ คตส.ถือเป็นผลงานที่เหลืออยู่ของ คปค.(คมช.) เพราะงานอื่นของ คปค.ล้มเหลวหมด แต่ คตส.ถูกฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญารวม 24 คดี ถูกเรียกค่าเสียหายกว่า 1 แสนล้านบาท แถมยังมีเหตุการณ์ที่น่าสงสัยและน่าประหลาด เช่น แทนที่อัยการสูงสุดจะร่วมกันทำงานกับ คตส. กลับรับเป็นทนายให้จำเลยที่ถูก คตส.ฟ้องเป็นจำเลยของแผ่นดิน ทั้งนี้ นอกจากการจัดงานที่ธรรมศาสตร์แล้ว ทางด้านอดีต คมช.ก็ได้จัดงานเลี้ยงให้ คตส.ที่สโมสรทหารบกในช่วงค่ำวันเดียวกัน โดยใช้ชื่องานว่า “คารวะคณะท่านผู้หาญกล้า ถือคบไฟป้องฝ่ากลางห่าฝน” ซึ่งมีอดีต คมช.หลายคนมาร่วมงาน เช่น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ,พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. และ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศและอดีตรักษาการประธาน คมช. ขณะที่อดีต คมช.บางคนไม่ได้มาร่วมงานแต่อย่างใด เช่น พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ,พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตเลขาธิการ คมช.เป็นต้น

คตส.ขุดโคตรโกงแสนล้านแจงประชาชนทิ้งทวน
“อัยการ” ไม่รับผิด ฉะ “คตส.” สร้างภาพ-ใจร้อน-รีบฟ้อง “แม้ว”

กำลังโหลดความคิดเห็น