xs
xsm
sm
md
lg

หมักเหิมก้าวล่วง “ศาล” ชี้ฝ่ายบริหารทำงานยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – “สมัคร” คลั่งอ้างนักวิชาการ วิจารณ์ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว “ปราสาทพระวิหาร” เหมือนเป็นการก้าวก่ายฝ่ายบริหาร จนทำงานลำบาก แถมกล่าวหาการดึงผู้พิพากษาออกมาทำงานนอกศาลทำให้เกิดปัญหามากมาย อุ้ม “นพดล” สุดตัว ย้ำทหารรับประกันไม่เสียดินแดน “จรัญ”เหน็บหากทำดีไม่ต้องกลัวตรวจสอบ“ชวน” ซัดระวังปากวิจารณ์ศาลอาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล แนะหากเห็นแย้งควรยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอน “ปองพล” เชื่อยูเนสโกไม่เลื่อนวาระกัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาท ขณะที่ “คุณหญิงไขศรี”ยันขิงแก่ไม่เคยยอมให้ขึ้นฝ่ายเดียว

นายสมัคร สุนทรเวช
นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ วานนี้(6 ก.ค.)ว่า มีการจับผิดนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ไปซัดรัฐบาลเก่า ซึ่งความจริงรัฐมนตรีนพดลกับนายนิตย์ พิบูลสงคราม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นคนไทยทั้งสองคน ทำงานเหมือนกันทั้งคู่ มีความคิดอย่างเดียวกัน แต่มันต่างกรรมต่างวาระ เพราะช่วงที่นายนิตย์ไปทำเป็นช่วงกลางปีกลาย สถานการณ์ยังไม่มีข้อมูล เขาก็ตัดสินใจแบบนั้น ก็สงวนสิทธิ์ไว้เหมือนกัน ส่วนนายนพดลมาทำตอนนี้ ข้อมูลเป็นอย่างนี้ ก็ทำไว้เหมือนกัน ก็สงวนสิทธิ์ไว้เหมือนกัน เหมือนกันทั้งคู่ แต่ว่าสื่อสารมวลชนนั้น โอ้โห กระทบกระแทกแดกดัน จะเอานายนพดลให้ตายให้ได้ แสดงว่านายนิตย์นั้นคิดเป็น นพดลคิดไม่เป็น ไม่ใช่

“ไปถามกระทรวงต่างประเทศเขาดู ไปถามแม่ทัพนายกองทั้งหลาย ไปถามเจ้ากรมแผนที่ทหาร เขาดูกันมาหมดเรียบร้อยแล้วครับ ไม่ได้หลับหูหลับตาสุ่มสี่สุ่มห้า เพียงแต่ว่าตอนคุณนิตย์น่ะ ท่านเหลืออีก 1 ปีจะดำเนินการ พอมาถึงนพดล มันก็เหลืออีก 2-3 วันจะดำเนินการ มันเท่านั้นล่ะครับ ข้อแตกต่างแล้วเขาจะตกลงกันก็ให้เขาตกลงกันไปขอยืนยันนะครับว่า ไอ้ที่พาดหัวกันเช้าวันนี้จะเอานพดลกันเหมือนกับคอยจับผิดนพดล จ้องนพดล มันเกินเหตุนะ ผมยืนยันว่ามันเกินเหตุ”นายสมัครกล่าว

**อ้างนักวิชาการวิพากษ์ศาล
ชี้ทำบริหารประเทศไม่ได้

นายสมัครกล่าวต่อว่า มีคนประมาณ 8-9 คนไปร้องศาลปกครองกรณีปราสาทพระวิหาร นำโดยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ที่ 1 นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ 2 นายนคร ชมพูชาติ นายสุริยะใส กตะศิลา นายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ 1 คณะรัฐมนตรี ที่ 2 พอดำเนินการเสร็จแล้ว ศาลปกครองก็ออกคำวินิจฉัยมา จากนั้นคณะรัฐมนตรีมีประชุมแล้วก็มีมติ ออกมาก็ 1. รับทราบและให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลาง 2. ให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อให้ความเห็นและคำแนะนำ 3.ให้กระทรวงต่างประเทศแจ้งระงับผลการใช้บังคับของคำแถลงการณ์ร่วมออกไปก่อนตามคำสั่งศาล ให้รัฐบาลกัมพูชา ยูเนสโก รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบ ภายในวันที่ 1 ก.ค.

“อันนี้ล่ะครับ อันนี้นักวิชาการทางกฎหมายในประเทศไทย บอกว่าคณะรัฐมนตรีปฏิบัติการเกินกว่าที่ศาลสั่ง เออ น่าคิดไหมครับ พอผมฟังอย่างนี้ผมก็ต้องตะแคงหูฟัง อ๋อ อย่างนั้นเหรอครับ กรณีนี้ท่านคิดว่าควรจะถ้าสงสัยก็ควรจะอยู่ที่มาตรา 190 แล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนวินิจฉัย แต่ท่านว่าศาลปกครอง เหมือนกับว่าจะเป็นผู้วินิจฉัยกรณีนี้ดังนี้ได้หรือไม่ เขาบอกว่า แล้วตกลงต่อไปคนเป็นรัฐบาลจะไปทำอะไรกับใคร บริหารบ้านเมืองได้อย่างไรกับประเทศที่ไหนๆ ถ้ามีคนร้องขึ้นศาล ใครจะไว้วางใจรัฐบาลไทย เห็นไหมครับ จริงอยู่อำนาจเขาคานกัน คืออำนาจทั้ง 3 อำนาจอธิปไตย คืออำนาจบริหาร ก็คือรัฐบาล เริ่มต้นมันจะต้องเริ่มต้นอย่างนี้ก่อน ประเทศไทยจะต้องเริ่มต้นด้วยอำนาจนิติบัญญัติ คือไปเลือกตั้งเอาตัวแทนมา แล้วนิติบัญญัติจะแบ่งส่วนอีก มาเป็นบริหาร เป็นอีกอำนาจหนึ่ง บริหาร บริหารโดยคณะรัฐมนตรี นิติบัญญัติโดยสภา และที่มีอยู่ติดกับบ้านเมืองนี้ตลอดมาคืออำนาจตุลาการ”

“อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่ 1 ใน 3 คานกันอยู่ แต่ว่าระบบของเราเป็นเรื่อง ระบบราชการประจำนั้น ศาลได้ใช้ระบบราชการประจำตลอดมา จนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งไม่ใช่ความเสียหาย แล้วก็เป็นเรื่องดีด้วย คือว่าท่านอยู่เหมือนกับว่าถ่วงน้ำหนัก แต่ในเวลานี้ นักวิชาการบอกว่า ถ้าหากว่าศาลปกครองใช้อำนาจกับรัฐบาลได้อย่างนี้ แล้วต่อไปอำนาจบริหารจะทำยังไง เพราะอำนาจบริหารติดต่อกับผู้คนทั้งหมด จริงอยู่ครับที่จะถ่วงอำนาจ เขียนรัฐธรรมนูญไว้ นี่ไงที่เขาพูดกัน มาตรา 190 คือมาตรา 190 วรรค 1 ยังไม่เท่าไหร่ แต่วรรค 2 เขียนไว้ครอบจักรวาล อะไรก็ไม่ได้เลย เพราะมาตรา 190 วรรค 2 อันนี้ถึงได้ทำให้พันธมิตรฯ 7 คนไปร้อง แล้วศาลก็สั่ง นักกฎหมายท่านก็ไม่ใช่รัฐบาล ท่านก็ไม่ได้ยังไง ท่านคงไม่มีคดีความอะไรติดตัวเหมือนผม ท่านก็แสดงความคิดเห็นเลย ซึ่งน่าคิด” นายสมัครกล่าว

**โบ้ยคนเกลียดทักษิณสร้างปัญหา
นายสมัครกล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคนครึ่งประเทศคลางแคลงใจว่านายกรัฐมนตรีคนที่แล้วมีพฤติการณ์ไม่จงรักภักดี ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง แทรกแซงองค์กรอิสระ เข้าไปรุกล้ำสื่อสารมวลชน ก็กล่าวหากันอย่างนี้ จนกระทั่งสุกงอมก็ปฏิวัติ จากนั้นรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกทิ้งแล้วเขียนขึ้นมาใหม่ อะไรที่มันเกลียดแค้นชิงชังรัฐบาลเก่า ก็เขียนใส่รัฐธรรมนูญหมด ก็เท่ากับรัฐบาลทำอะไรกลายเป็นเลวหมด มาตรา 190 มาตรา 237 ถึงเกิดขึ้น

มาตรา 237 แต่ก่อนก็มีแต่มีแค่เพียงว่า ใครไปทำอะไรคนนั้นจะโดนใบแดง แต่รัฐธรรมนูญใหม่วรรค 2 บอกเลยว่าถ้าเป็นกรรมการบริหารทั้งพรรคโดนยุบ ส่วนมาตรา 190 ข้อแรกรับได้ แต่ข้อ 2 มันเกินเหตุขนาดที่เรียกว่า คน 7 คน 9 คนไปยื่น ก็เกิดเรื่อง รัฐบาลถูกมัดมือมัดเท้าทันทีอย่างนี้เลย ดังนั้น นักวิชาการเขาถึงได้ออกมาแสดงความเห็นไงว่ากรณีอย่างนี้ แล้วต่อไปจะเป็นยังไง

“ผมเป็นคนมีส่วนได้เสีย เรื่องนี้จะไม่ปัดไปบอกว่าความเห็นส่วนตัว ไม่หรอกครับ ผมจะบอกให้ฟัง เป็นเรื่องของนักวิชาการท่านได้กรุณาแสดงความคิดเห็น ผมก็พูดกับท่านพี่น้องประชาชนได้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าคิด เพราะถ้าหากว่าทางศาลปกครองดำเนินการอย่างนี้ เขาร้อง ไม่ใช่ ต้องอธิบายให้ฟังก่อน เขาอยากให้คณะรัฐมนตรียื่นไปศาลปกครองสูงสุด คือกำลังนี้หมายความว่า คณะรัฐบาลกลัวระบบอำนาจศาลซะจนกระทั่งแม้จะยื่นอุทธรณ์ไปก็ยังไม่กล้า ในขณะเดียวกันที่พันธมิตรฯ เขาไม่กลัวเลยครับ เขาไม่ดำเนินการแล้วเขายื่นอุทธรณ์ด้วย แต่รัฐบาลนะทำท่า นักวิชาการจึงต้องออกมาไง แปลว่ายังไม่ต้องทำอะไร แล้วให้รอศาลปกครองกลางก่อน ศาลปกครองสูงสุดก่อน”นายสมัครกล่าว

**อ้างเอาอำนาจข้างบนลงมา
นายสมัครกล่าวต่อว่า ตนเองมีคดีอยู่ในศาล 5 ศาล ไม่มีพูดจาอวดศักดากับศาล รัฐบาลก็กลัวศาล ใครๆ ก็กลัวศาลทั้งนั้น แต่ว่าสิ่งซึ่งอยากให้พี่น้องประชาชนได้คิดก็คือว่า เวลามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วไปหยิบเอาอำนาจซึ่งอยู่ข้างบน ซึ่งเป็นตัวที่ว่า ถ้าเผื่อสภากับรัฐบาลทะเลาะกัน ศาลตัดสิน แต่เวลานี้ศาลท่านก็ลงมา ศาลไปอยู่ใน กกต. แม้กระทั่งเลขาฯ กกต.ก็เป็นศาล ศาลมาเป็นรัฐมนตรี เอาศาลมาเป็นอธิบดี แล้วย้ายเข้าไปกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร

“ก็เอาท่านซึ่งอยู่ข้างบน ซึ่งใครก็ไม่รู้เหมือนกัน เอามาลงอยู่ในที่ๆ จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีใครพูดหรอกครับ แต่ผมพูด แล้วผมก็แน่ใจว่าศาลทั้งปวงท่านก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ยังไง แต่ว่าไอ้ระบบที่ ผมจะไปพูดได้ไหมครับว่าศาลถูกใครแทรกแซง ผมพูดไม่ได้หรอกครับ เพราะว่าระบบมันไปดึงเอาสถาบันซึ่งควรจะเป็นการถ่วงอำนาจ เอาลงมา คือศาลมาเป็นรัฐมนตรี แล้วยังจะต้องกลับไปเป็นศาลอย่างเก่าอีก ศาลมาเป็นอธิบดีแล้วจะกลับไปเป็นศาลอีก ศาลมาเป็น กกต. แม้กระทั่งเลขาฯ กกต. กำลังนี้มีเรื่องคาราคาซังกันอยู่ เพราะโดนคดี กล่าวหาเรื่องเกี่ยวกับการพิมพ์บัตร ท่านก็บอกว่าไม่ได้ คือ กกต. หน่วยงานธรรมดา ก็ยังต้องพูดจากัน ขัดแย้งกันเลยครับ ขัดแย้งกันเลย แปลว่าถ้าเผื่อทางนี้ทำผิด ใครจะตรวจสอบไม่ได้ เป็นเอกสิทธิ์ เป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวาย เพราะมันย้อนกลับมาหาผม คดีกรณีอย่างนี่ เรื่องที่ว่า ดีเอสไอนี่ล่ะครับ ดีเอสไอไปสอบเลขานุการ เป็นคณะเลขาธิการของ กกต. เรื่องจัดการพิมพ์บัตร บัตรมาก บัตรเกินอะไรต่างๆ เข้าไปสอบท่านบอกสอบไม่ได้ แล้วใครจะไปกล้า เพราะตัวท่านเลขาธิการเองท่านก็มาจากศาล ทั้ง 5 ท่านก็มาจากศาล”

**ย้ำไทยไม่ได้เสียดินแดน
นายสมัครกล่าวต่อว่า คำแถลงของตนเองที่ควรจะต้องอ่าน เพราะไม่อยากให้จะให้ผิดพลาดคือทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าเทียมกัน บัดนี้เรื่องนี้อยู่ที่คนกลางที่จะเป็นผู้ตัดสิน รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครอง ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดี ทั้งในระดับระหว่างรัฐบาล และระหว่างประชาชนไทยกับประชาชนกัมพูชาด้วย

จริงๆ แล้วต้องนึกถึง อยู่กันมา 45 ปี เรื่องจะทำอะไรยังไงๆ ก็เขาพูดกัน เขาจะเอาขึ้นไป ท่านบอกว่าไม่เห็นด้วย มาสุดท้ายเขาบอกเขาจะขีดเอาเฉพาะตรงนั้นขึ้นไป ก็บอกว่าให้คนกลางที่ยูเนสโก-ปารีสดู ก็บอกขีดตรงนี้ ก็โอเค ได้ๆ ก็โอเค ก็ส่งไป เท่านั้นเอง ได้ ไม่ได้ ก็ยังไม่รู้ เรื่องทั้งหมดมีเท่านี้ ไม่มีใครเสียอะไร ทางโน้นก็ไม่ได้ ทางเราก็ไม่เสีย แต่เอามาใช้ เอามาเล่น เอามาถล่มกันในสภา

“นี่นายกฯ กับนายกฯ ต้องโทรศัพท์พูดกัน ผมไม่ได้ไปขอร้องเขา บอกคุณช่วยดูสถานทูตไทยให้ดีหน่อยนะ แล้วเราจะดูสถานทูต you ให้ดี เพราะต้องเท่าเทียมกัน มันเสียรังวัดทั้งคู่ เสียหายทั้งคู่ ทางโน้นมีอะไร ทางโน้นมีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งก็ไม่อยากให้รัฐบาลนี้อยู่ ทางนี้ก็มีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งก็ต้องซัดรัฐบาลนี้ รัฐบาลเสียรังวัดทั้งคู่ ไม่มีใครคิดได้ทั้งคู่ ทางโน้นก็อยากจะได้ชื่อเสียงว่าไอ้ขึ้นมรดกโลกในสมัยรัฐบาลตัว การขึ้นจะสำเร็จ ไม่สำเร็จ ไม่รู้ ขนาดพิพาทกันตรงนี้ ไม่เอา เอาเฉพาะขีดตรงนี้ ขีดตรงนี้โดยสามัญสำนึก ว่าไม่มีใครเสียหายอะไรก็เอาไปสิ แล้วคนตัดสินเขาก็ยังไม่ตัดสิน แต่ว่าคน 2 ประเทศ ถามสิครับว่า ดำเนินการไปธรรมดา ถกเถียงกันที่ประชุมธรรมดา ไม่มีอะไรเสียหายเลยครับ แต่ว่ากล่าวหา ว่ากล่าวเสียจนกระทั่งต้องฮึ่มๆ กันแล้วครับ ผมใช้คำนี้เลยนะครับ ปลุกปั่นแสดงความเห็นจนกระทั่งบ้านเมืองมันจะต้องเผชิญหน้า แบกศาลากันไปอีกแล้ว แสดงความรักชาติ แสดงความรักแผ่นดิน นิ้วเดียว ก็มันไม่เสียอะไรไปสักนิ้ว สักเซ็นฯ จะแสดงกันทำไมล่ะครับ”

นายสมัครกล่าวต่อว่า ไปๆ มาๆ เรื่องนี้ล่ะครับ โยงใยไปถึงอำนาจตุลาการ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร นักวิชาการบอกอย่างนี้ถ้าอำนาจตุลาการล้ำอำนาจบริหารอย่างนี้ อำนาจบริหาร บริหารไม่ได้ ดำเนินการอะไรต่ออะไรไม่ได้ มันไม่ได้ถ่วง มันขัดไปเลย ดึงไว้เลย แล้วเราจะอยู่ในโลกนี้บริหารได้ยังไง ในเมื่ออีกอำนาจหนึ่งจะจับแขนไว้อย่างนี้ ก็เป็นเรื่องน่าคิด

“เหตุคือต้องการจะไล่รัฐบาลนี้ เหตุก็คือเกลียดนายกฯ เก่า แล้วนายกฯ เก่าก็เกิดฆ่าไม่ตาย ขายไม่ขาด เกิดกลับมาขึ้นศาลได้ แต่กล่าวหารัฐบาลนี้ว่าปกป้อง ผมไปปกป้องอำนาจศาลได้เหรอครับ ไปรุกล้ำท่านได้เหรอครับ ไม่ได้ ไปๆ มาๆ ก็เล่นกันไปเล่นกันมา ก็เขามาขึ้นศาล ตามความต้องการ ผมก็เป็นนายกรัฐมนตรี ผมมาจากการเลือกตั้ง มันจะโยงใยยังไง สมาชิกสภาฯ น่ะมันสับไปสับมา อยู่พรรคโน้นก็มี พรรคนี้ก็มี แล้วผมก็เป็นนายกฯ ผมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วยตัวของผมเอง จะด้วยอะไรยังไงสุดแท้แต่ ก็นับกัน พรรคก็พรรคใหม่ ชื่อก็ชื่อใหม่ แล้วผมก็เป็นอีกคนนึง คนละคนกันเลยครับ อยากจะพูดว่าคนละความคิดก็อยากจะพูดได้”

“ผมก็ต้องการจะทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองนี้ต่อไป มันไม่ได้เลวทรามถึงขนาดไหน ปุดโธ่ จะเป็นจะตาย ประชาชน เขาอยู่ได้ครับ เขาอยู่ได้ น้ำมันขึ้นมันขึ้นทั่วโลก ราคาแพงมันแพงทั่วโลก ราคากำลังแก้ไข กำลังหาวิธีแก้ไข มีวิธีการ แต่ละประเทศมีวิธีการ แต่ไอ้คนบางคน "กระเหี้ยนกระหือรือ" อยากจะฆ่านายกฯ คนก่อน จะลากผมเอาไปรวมฆ่าด้วย ไม่ได้ครับ ไม่ได้กินล่ะครับ ผมบอกให้รู้แล้วกัน คิดว่าจะงอมๆ แล้วทางฝ่ายทหารจะออกมา ไม่ได้กินล่ะครับ เพราะเขามีสติปัญญาความคิด เขารู้ว่าอะไรควรเป็นอะไร

**”ชวน”เตือน “หมัก” อาจละเมิดอำนาจศาล
นายชวน หลีกภัย
ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไม่ควรออกมาระบุว่าการพิจารณาเรื่องปราสาทพระวิหารของฝ่ายตุลาการทำให้ฝ่ายบริหารทำงานลำบาก เพราะการพิจารณาคดีต่างๆ ควรเป็นดุลพินิจของฝ่ายตุลาการ และไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง ถือเป็นอำนาจที่แยกออกมาชัดเจนจากฝ่ายบริหาร ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับการพิจารณากรณีปราสาทพระวิหารก็สามารถยื่นอุทธรณ์ความเห็นไปยังศาลปกครองสูงสุดได้ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด แต่หากศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยออกมาอย่างไรต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ การออกมาวิจารณ์ในขณะนี้จะทำให้ถูกมองว่าฝ่ายบริหารแทรกแซงฝ่ายตุลาการ

“ถ้าอุทธรณ์ไปแล้ว ศาลปกครองสูงสุดบอกว่าเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ท่านไม่ควรออกมาพูด หากออกมาพูดต้องระวังก็แล้วกัน เพราะดีไม่ดีไม่เพียงแต่ก้าวก่ายบทบาทฝ่ายตุลาการแล้ว แต่กลายเป็นการละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น ทุกคนต้องเคารพบทบาทของแต่ละฝ่าย ควรใช้ช่องทางตามกฎหมาย ถ้าถึงศาลปกครองสูงสุดแล้วยังไม่พอใจ ท่านก็ไปแก้ไขกฎหมาย” นายชวน กล่าว

นายชวนยืนยันว่า การที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องปราสาทพระวิหารในสภาฯ ถือเป็นภาระหน้าที่ในฐานะผู้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่ได้ต้องการถล่ม หรือปลุกปั่นประชาชน เพียงแต่นำเสนอข้อมูลที่แตกต่างจากรัฐบาล และขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงออกมาแล้วว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านอภิปรายเป็นข้อมูลที่ถูกต้องที่พยายามออกมาเตือนรัฐบาล

**จรัญเหน็บหากทำดีไม่ต้องกลัวตรวจสอบ
นายจรัญ ภักดีธนากุล
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฎิเสธที่จะให้ความเห็น กรณีนายกรัฐมนตรีระบุว่าฝ่ายตุลาการเข้าไปแทรกแซงการบริหารมากเกินไป จนทำให้การบริหารประเทศลำบาก โดยกล่าวว่า คนอื่นคงให้ความเห็นได้ดีกว่าตน แต่อยากฝากว่าประเทศไทยแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น3ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ หากฝ่ายใดทำดีอยู่แล้วก็ไม่มีเหตุให้อีกสองฝ่าย ต้องเข้าไปตรวจสอบหรือคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่หากฝ่ายบริหารทำไม่ดี ไม่ถูกต้องแล้วปล่อยไปโดยไม่มีการคานอำนาจกัน ก็แสดงว่าประเทศไทยปกครอง แบบเผด็จการ ในทางกลับกันหากฝ่ายตุลาการกระทำไม่ดีไม่เหมาะสมก็สามารถแก้ไขกฎหมายเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจได้

นายจรัญกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญ คือองค์กรหนึ่งในฝ่ายตุลาการ มิใช่องค์กรอิสระ ดังนั้นที่มีคณะกรรมาธิการตรวจสอบ องค์กรอิสระประกาศจะเชิญศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ,ป.ป.ช. ,กกต. ไปชี้แจงขอบเขตของอำนาจหน้าที่ก็ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญให้ดีๆ

**ลุ้นมรดกโลกพิจารณา
นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กรรมการในคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ด้วย เปิดเผยว่า ประธาน ICOMOS หรือ สภาสากลว่าด้วยอนุสรณ์สถาน และแหล่งโบราณสถานระหว่างประเทศ แสดงท่าทีเห็นด้วย ที่การขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ต้องมีองค์ประกอบของศาสนสถานตามที่ไทย โดย นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ชี้แจงว่า ต้องมีภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม เพราะมีความสำคัญเกี่ยวเนื่อง ไม่สมควรแยกจากกัน

แต่การที่กัมพูชาเสนอเฉพาะปราสาทเข้าข่ายหลักเกณฑ์มาตรฐานของมรดกโลก 1 ใน 3 ข้อ ที่ระบุเป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงาม เป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด เมื่อเป็นอย่างนี้ ไทยคงต้องมานั่งลุ้นใจคณะกรรมการมรดกโลกว่า จะขึ้นทะเบียน หรือชะลอออกไป เพื่อเป็นมรดกโลกร่วมกันไทยกับกัมพูชา

**รองปลัดกต.เผยต้องทำร่วมกัน
นายนรชิต สิงหเสนี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกิจการพหุภาคี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 31 ที่เมืองไครสท์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ปี 2550 ว่า ขณะนั้นตนอยู่ในคณะผู้แทนฝ่ายไทย ในฐานะปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่ดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย –กัมพูชา โดยหลักการฝ่ายไทยเสนอสนับสนุนกัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร แต่ต้องดำเนินการร่วมกัน เพราะมีองค์ประกอบอื่น ๆ อยู่ที่ฝั่งไทย แต่กัมพูชาเห็นว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ก็ยื่นขึ้นทะเบียนได้เอง ส่วนไทยจะยื่นเสนอจดทะเบียนก็เป็นเรื่องของไทยดำเนินการเอง และเมื่อต้นปี 2550 พบว่ากัมพูชาเตรียมยื่นจดทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว และยื่นแผนที่ที่มีแนวกันชนที่ยื่นล้ำเขตเข้ามาในพื้นที่ที่ฝ่ายไทยอ้างสิทธิ์ทับซ้อน ดังนั้นไทยจึงได้ประท้วง และชี้แจงประเทศต่าง ๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่ายังมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้ ตนได้รับมอบหมายให้ชี้แจงกับนักโบราณคดี และเจ้าหน้าที่กรมวัฒนธรรมของอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งเป็นคณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศ พบว่า คนเหล่านี้มองปัญหาในเรื่องการรักษาด้านวัฒนธรรมว่า ควรจะได้รับจดทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่ ส่วนเรื่องปัญหาเขตแดนที่ได้เสนอไป ได้รับคำตอบว่า ในธรรมนูญของมรดกโลก วรรค 11 (3) เห็นชัดว่า กรณีการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน หรือวัตถุใดในเขตที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่าง 2 ประเทศ การจดทะเบียนไม่มีผลต่อการอ้างสิทธิ์ดินแดนของแต่ละฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยได้พยายามชี้ให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นถึงปัญหาในพื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นเรื่องยากที่ตัวแทนจากคณะกรรมการมรดกโลกจะเข้าใจ

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลังการประชุมที่เมืองไครสท์เชิร์ช โดยคณะกรรมการมรดกโลกมีมติการประชุม 5 ข้อ โดยสรุปว่า 1.คณะกรรมการมรดกโลกได้ตรวจสอบเอกสารที่อ้างถึง WHC-07/31.COM/8B และ WHC-07/31.COM/INF.8B.1 2. ทั้งสองประเทศได้รับทราบคำแถลงของประธานคณะกรรมการมรดกโลก โดยกัมพูชาและไทยได้เห็นพ้องด้วยแล้วดังต่อไปนี้ คือ สองประเทศเห็นพ้องกันว่าปราสาทพระวิหารมีคุณค่าสากลที่โดดเด่นต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยเร็วที่สุด โดยกัมพูชาและไทยจะเสนอขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในสมัยประชุมที่ 32 ของคณะกรรมการมรดกโลก ในปี 2551 โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำการอนุรักษ์และจัดการประสาทพระวิหารอย่างแข็งขัน รวมทั้งให้มีการพัฒนาแผนการจัดการที่เหมาะสมตามกำหนด

3.ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการว่า ปราสาทพระวิหารควรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และที่ประชุมรับทราบว่ากระบวนการขึ้นทะเบียนอยู่ในระหว่างการดำเนินการ 4. คณะกรรมการมรดกโลกร้องขอกัมพูชาให้ทำการอนุรักษ์และบริหารจัดการปราสาทอย่างแข็งขันโดยพัฒนาแผนบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้มีความคืบหน้าซึ่งทำให้ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 และ 5.กัมพูชาต้องเสนอรายงานความคืบหน้าต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551

“เอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาเพียงเท่านี้ โดยที่เนื้อหาดังกล่าวเป็นมติของคณะกรรมการมรดกโลก ไม่ใช่ไทยหรือกัมพูชาเป็นผู้เสนอเนื้อหาในเอกสาร แต่สองประเทศเป็นเพียงผู้รับรองเนื้อหาในเอกสารเท่านั้น และทุกฝ่ายเห็นด้วยกับคุณค่าสากลที่โดดเด่นของปราสาทพระวิหาร แต่ว่ายังมีปัญหา จึงต้องเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปมาเป็นการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกรับทราบว่าปราสาทพระวิหารจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างรีบด่วน และต้องการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างไทยกับกัมพูชา ” นายนรชิต กล่าว

ส่วนกรณีที่นายนิตย์ พิบูลสงคราม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับกัมพูชา ขอยื่นจดทะเบียนเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว มองว่าขัดแย้งกับมติของคณะกรรมการมรดกโลกหรือไม่ นายนรชิต ปฏิเสธแสดงความเห็น

ต่อข้อถามว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 31 มีการลงนามระหว่างไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารหรือไม่หรือไม่ นายนรชิต กล่าวว่า ไม่มีการลงนามของ 2 ประเทศแต่อย่างใด แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยและกัมพูชาได้ดำเนินการ คือ การรับทราบคำแถลงการณ์ของคณะกรรมการมรดกโลก ตามที่ไทยกับกัมพูชาเห็นพ้องแล้ว

**คุณหญิงไขศรียันขิงแก่ไม่เคยยอม
คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงกรณี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่ารัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้การสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า สมัยนั้นตนรับผิดชอบกำกับดูแลกรมศิลปากร ซึ่งจะต้องเข้าร่วมประชุมและให้ข้อเสนอแนะด้านข้อมูลประวัติศาสตร์ โบราณคดี ในขณะนั้นรัฐบาลมีท่าทีปฏิบัติตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ที่เมืองไครส์เชิร์ช นิวซีแลนด์ ระบุให้ไทยและกัมพูชาร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน และการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของทางการกัมพูชา ต้องได้รับความร่วมมือจากไทย หลังจากนั้นมีการประชุมเจรจาร่วมกันของทั้งสองฝ่าย แต่ทางการกัมพูชาปฏิเสธการหารือร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ทางการไทยก็ยังพยายามเดินหน้าหาความร่วมมือกัน

“กรมศิลปากรเสนอเป็นเจ้าภาพจัดอบรมพัฒนาบุคลากรด้านโบราณสถาน และโบราณคดีให้กับกัมพูชา ก็ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร นายนพดลออกมาพูดพาดพิงถึงการทำงานในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่ได้พูดถึงข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า รัฐบาลที่แล้วสนับสนุนกัมพูชาอย่างมีเงื่อนไขเท่านั้น ไม่อย่างนั้นทางฝ่ายไทยจะเสนอคัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศนิวซีแลนด์ทำไม และการที่คัดค้านนั้นเราต้องพูดให้เห็นด้วยว่ากัมพูชาจะมีทางออกอย่างไร” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

คุณหญิงไขศรี กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาตลอด ซึ่งเดินทางไปประชุมกับกัมพูชาเกี่ยวกับการทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน ปรากฏว่า ทางกัมพูชาจัดทำขึ้นมาแล้วให้ไทยแค่รับรู้เท่านั้น เมื่อถึงรัฐบาลปัจจุบันเพิ่งจะมีการตอบรับสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามที่นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม ส่วนตัวแล้วยังเห็นว่าถ้าไทยยังไม่เห็นชอบด้วย คณะกรรมการมรดกโลกจะยังไม่พิจารณาแน่นอน เพราะที่ประชุมไม่อยากมีปัญหาระหว่างประเทศ

**ปองพลเชื่อไม่มีการเลื่อนวาระ
นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย กล่าวว่า จากการที่ได้พูดคุยกับหลายประเทศที่ได้ไปคุย เขาจะสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทตามข้อเสนอของคณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติว่าด้วยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ไอโคโมส) เนื่องจากไอโคมอสได้ทำรายงานเสนอเข้าไปว่าที่กัมพูชาเสนอ 3 หลักเกณฑ์นั้น พิจารณาแล้วให้ได้เฉพาะหลักเกณฑ์ที่ 1 ส่วนที่เหลือไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะขาดองค์ประกอบโบราณสถานที่อยู่ในฝั่งไทยซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อน นอกจากนี้ยังพูดต่อว่า น่าจะมีการเสนอขึ้นทะเบียนร่วมเพื่อให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกมีความสมบูรณ์ด้วย

เมื่อถามว่าการแย้งของไอโคโมสจะถ่วงดุลการพิจารณาของกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศหรือไม่ นายปองพลตอบว่าได้ครึ่งเดียว เพราะตามระเบียบผ่านเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ ส่วนเรื่องเลื่อนวาระออกไปนั้นคงจะเป็นไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น