xs
xsm
sm
md
lg

ฉาวสินบนข้ามชาติ 400 ล้าน ญี่ปุ่นรับจ่ายยุค"หมัก"ผู้ว่าฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - อดีตผู้บริหารรับเหมาก่อสร้างญี่ปุ่นนิชิมัตซึ สารภาพกับอัยการโตเกียว เคยจ่ายสินบนกว่า 400 ล้านเยน ให้กับ กทม.เพื่อให้ได้โครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ยุค ”สมัคร” เป็นผู้ว่าฯ อภิรักษ์” เต้นสั่งตรวจด่วน ปลัด กทม.ลั่นหาความจริงภายใน 7 วัน พร้อมประสานทางการญี่ปุ่นขอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ด้าน ผอ.สนน ชี้ละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องระหว่างประเทศ “คุณหญิงณัษฐนนท์” บอกจำไม่ได้ แต่เสนอให้ อสส.ขอสำนวนจากญี่ปุ่น ขณะที่ ป.ป.ช.เตรียมลุยสอบ “ไทกร” ปูด “2 ส-1ธ” เอี่ยวรับเงิน

เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวเกียวโด นิวส์ ได้เผยแพร่รายงานข่าวระบุว่า อดีตผู้บริหารบริษัทก่อสร้าง นิชิมัตซึ คอนสตรัคชัน (Nishimatsu Construction) ได้เปิดเผยกับอัยการว่า ในปี 2546 (ค.ศ.2003) บริษัทเคยให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ชาวไทยจำนวนมากกว่า 400 ล้านเยน หรือราว 125 ล้านบาท เพื่อแลกกับการได้งานในโครงการอุโมงค์ระบายน้ำท่วม แสนแสบ-ลาดพร้าว 
      
ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า อดีตผู้บริหารของนิชิมัตซึ คอนสตรัคชัน ถูกสอบสวนโดยสำนักงานอัยการเขตโตเกียว กรณีต้องสงสัยว่าฝ่าฝืนกฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศโดยมีการนำเงินราว 100 ล้านเยนเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รายงานกับศุลกากร

นอกจากนี้ ด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างนิชิมัตซึ คอนสตรัคชัน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โตเกียว กับผู้รับเหมาท้องถิ่น ยังทำให้ในเดือนกันยายน 2546 บริษัทยังได้รับสัมปทานโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำให้ของทางกรุงเทพมหานคร โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าราว 6,000 ล้านเยน

หลังจากทำการปรึกษากับผู้บริหารของบริษัทรับเหมาของไทยที่เป็นคู่ค้ากัน พนักงานของนิชิมัตซึที่อยู่ที่ประเทศไทยเป็นผู้เตรียมเงินสินบนแหล่งข่าวกล่าว โดยเงินสินบนดังกล่าวถูกนำไปจ่ายให้กับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการประมูลโครงการในช่วงก่อนและหลังการประมูล
      
ผู้บริหารของบริษัท นิชิมัตซึ คนดังกล่าวยังกล่าวอ้างด้วยว่า ตัวเขาเองไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร แต่ยืนยันว่า “เพื่อตอบแทนในการให้โครงการก่อสร้างอุโมงค์ บริษัทได้จ่ายเงินมากกว่า 400 ล้านเยนให้กับข้าราชการไทย” แหล่งข่าวระบุ

“เงินค่าดำเนินการ (สินบน) ดังกล่าวจำเป็นอย่างมากเพื่อที่จะทำให้ได้โครงการจากหน่วยงานภาครัฐของไทย” เขากล่าว

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา อัยการได้ทำการตรวจสอบสำนักงานใหญ่ของนิชิมัตซึในตำบลมินาโตะ ในกรุงโตเกียว ที่มีความเกี่ยวพันกับอดีตผู้บริหารของบริษัทที่ต้องสงสัยว่าละเมิดกฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยอัยการสงสัยว่าเงินจำนวน 100 ล้านเยนที่เขานำเข้ามาในญี่ปุ่นนั้นเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว

นอกจากกรณีข้างต้นแล้ว อัยการโตเกียวจะดำเนินการสืบสวนกรณีบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ชื่อ แปซิฟิก คอนซัลแตนท์ส อินเตอร์เนชันแนล (Pacific Consultants International) ที่ต้องสงสัยว่าจะทำการติดสินบนกับโครงการในประเทศเวียดนาม โดยโครงการดังกล่าวนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น
       
อนึ่ง ในช่วงปี 2536 นั้น มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีคุณหญิงณัษฐนนท์ ทวีสิน เป็นปลัดกรุงเทพมหานคร       

"อภิรักษ์" สั่งปลัดเช็กเร็วที่สุด

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีข่าวแบบนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่สบายใจ และได้หารือกับคณะผู้บริหารและข้าราชการมาโดยตลอด เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาและรณรงค์เรื่องการทุจริตโดยตลอด ซึ่งผู้เกี่ยวข้องก็จะไม่สบายใจ ทั้งนี้เรื่องที่เกิดขึ้นต้องดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งได้มอบให้นายพงศ์ศักติฐ์ เสนสันต์ ปลัด กทม.ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงมาให้เร็วที่สุด เพื่อหารือว่าจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากทม.ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยเชิญ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์(มธ.) ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม มาเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาปฏิรูประบบราชการ เพื่อตรวจสอบการทุจริตตั้งแต่สมัยฮั้วประมูล 16 โครงการของ กทม. นอกจากนี้ในกระบวนการตรวจสอบยังมีสำนักป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ก็เป็นอีกนึ่งหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ หากพบข้อมูลว่าเป็นโครงการของ กทม. ก็ต้องตรวจสอบได้

“ตอนนี้ผมยังไม่อยากคอมเมนท์ถึงญี่ปุ่นเพราะยังไม่ทราบ ขอพูดแค่ในภาพรวมก่อน เพราะขณะนี้ได้มอบหมายให้ปลัดไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจริง และกทม. จะไม่นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเพราะเป็นเรื่องที่เสียหายต่อองค์กร ทั้งนี้ ผมยอมรับว่าปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นมันฝังรากลึกกับระบบการเมืองไทยมานาน และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย ดังนั้นจึงต้องช่วยกันตรวจสอบ”นายอภิรักษ์กล่าว

ปลัด กทม.ลั่นต้องรู้คำตอบใน 7 วัน

นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัดกทม.ไปตรวจสอบข้อเท็จกรณีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยให้ดูรายละเอียดของโครงการทั้งหมดว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องที่มีการฟ้องร้องจากการประมูลโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งให้ประสานสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเพื่อขอข้อมูลจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

นอกจากนี้จะประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทยเพื่อช่วยดำเนินการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกทางหนึ่งทั้งกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพาณิชย์ญี่ปุ่น เพราะตอนนี้ตนเองทราบจากข่าวเท่านั้น

ด้านนายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัดกทม. กล่าวว่า ตนจะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุดโดยจะตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการ มีบุคคลใดร่วมดำเนินการในขั้นตอนใดบ้างจนสิ้นสุดโครงการ พร้อมทั้งสั่งการให้สำนักการระบายน้ำ(สนน.) ทำหนังสือไปยังสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กระทรวงการพาณิชย์ประเทศญี่ปุ่น ที่ดูแลกรมศุลกากร เพื่อตรวจสอบและขอรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงๆต่างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งนี้ในการตรวจสอบในส่วนข้องกทม.จะใช้เวลาไม่นาน แต่ในส่วนของญี่ปุ่นต้องใช้เวลานานไม่สามารถตอบได้ว่าทางโน้นจะให้ข้อมูลกับเราได้เมื่อไหร่เพราะต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ตรวจสอบได้ในเบื้องต้นช่วงที่มีการประมูลโครงการในปี 2546 มีนายธงชัย กลั่นกรอง เป็นผอ.สนน. ซึ่งในขณะนั้นมีปัญหาด้านสุขภาพจึงได้ขอลาปฏิบัติราชการ มีนายธีรเดช ตังประพฤติ์กุล นายนรา เทวคุปต์ และนายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ (ผอ.สนน ในปัจจุบัน) เป็นรองผอ.สนน.

ขณะที่นายธีรเดช กล่าวว่า ตนในฐานะรองผอ.สนน.ในขณะนั้น มีนายธงชัย กลั่นกรอง เป็นผอ.สำนัก แต่เนื่องนายธงชัยมีปัญหาด้านสุขภาพจึงขอพักราชการ ทำให้นายนรา รักษาการณ์แทน แต่ในด้านงานเทคนิค ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้ดูแล แต่ก็ดูเฉพาะในภาพรวม แต่ในการพิจารณาผลประกวดราคา นายชาญชัยเป็นผู้รับผิดชอบไป

ผอ.สนน.ยันไม่เกี่ยวข้อง

นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผอ.สนน. ในฐานะประธานพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการฯ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงหงุดหงิด ว่า หากจะถามเรื่องของบริษัทนิชิมัตสึ ตนจะไม่ตอบอะไรแล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องงานในโครงการของตน ดังนั้นจะไม่ตอบอะไรทั้งสิ้น เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่อง Sensitive ของหน่วยงานระหว่างประเทศ จะพูดอะไรต้องเช็คข้อมูลอย่างชัดเจนก่อน หากอยากรู้ต้องตรวจสอบไปที่ญี่ปุ่นเอง เพราะกระบวนการตรวจสอบขณะนี้ญี่ปุ่นเขาก็ตรวจสอบของเขาเอง ก็ให้เขาว่ากันไป มันเป็นคดีของที่นั่น

ทั้งนี้ยอมรับว่าตนเป็นประธานพิจารณาผลการประกวดราคา แต่ดูในด้านเทคนิค ซึ่งตนไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะในการพิจารณาผลขณะนั้นได้พิจารณาในด้านเทคนิคและการทำงาน กำหนดผ่านเกณฑ์ที่ 75% โดยได้มีผู้ซื้อซองประกวดราคา 4-5 ราย เมื่อพิจารณาผลเห็นว่ามีผู้รับเหมาผ่านคุณสมบัติ 3 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ช.การช่าง 2.กิจการร่วมค้า ไอเอ็น (ประกอบด้วยบริษัทอิตาเลียนไทยและบริษัทนิชิมัตสึ คอนสตรัคชั่น) และบริษัทเนาวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด ซึ่งกิจการร่วมค้า ไอเอ็น เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด กทม.จึงได้เรียกมาต่อรองราคา
          
นายชาญชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากกิจการร่วมค้า ไอเอ็น ได้เริ่มดำเนินการ ปรากฏว่าบริษัทสี่แสงการโยธา (1979) ซึ่งไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ศาลปกครอง ข้อหาล็อกสเปกและกีดกันการเข้าประกวดราคา และต่อมาศาลปกครองได้ตัดสินให้ กทม.ชนะคดี ซึ่งหากตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องก็พร้อมที่จะชี้แจง

“คุณหญิงณัษฐนนท์”บอกจำไม่ได้ 

คุณหญิงณัษฐนนท์ ทวีสิน อดีตปลัดกทม. กล่าวว่า ตนเองเพิ่งจะรับตำแหน่งปลัดกทม.ในปี 2546 โครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสนน.ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นนานแล้วจึงไม่สามารถจำรายละเอียดได้ ทราบแต่เพียงว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ว่าฯกทม. และนายสหัส บัณทิตกุล รองนายกฯ เป็นรองผู้ว่าฯกทม.ที่กำกับดูแลงานด้านโยธา และสำนักระบายน้ำ

ทั้งนี้ ตนอยากเสนอดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็วที่สุดและให้อัยการสูงสุด(อสส.)ในฐานะทนายความแผ่นดินประสานไปยังอัยการญี่ปุ่นเพื่อขอสำนวนการสอบสวน เส้นทางการจ่ายเงินต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการประกวดราคาเป็นไปตามกระบวนการของสนน.ทุกขั้นตอนแต่เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต้องเร่งตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส

ป.ป.ช.เตรียมสอบ    

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดกรณีที่นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นออกมาเปิดเผยว่าให้สินบนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของไทย วงเงิน 125 ล้านบาท เพื่อแลกกับโครงการระบายน้ำท่วมคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว

อย่างไรก็ตามคงต้องไปตรวจสอบกับทางสำนักงาน ป.ป.ช. อีกครั้งว่ารับทราบเรื่องนี้แล้วหรือไม่ แต่โดยหลักการถ้าเรื่องเกิดและมีข้าราชการรับสินบน จะมีอายุความ 2 ปี นับพ้นจากตำแหน่ง ส่วนกรณีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีอายุความเท่ากับคดีอาญา ทั้งนี้ หากมีผู้ร้องก็จะสามารถชี้ช่องได้ชัดเจนว่า มีหลักฐานหรือใครเป็นผู้รับอย่างไร

แฉตัวการ 2 ส. 1 ธ.

นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำอีสานกู้ชาติ กล่าวว่า เรื่องข้าราชการรับสินบนดังกล่าวมีบุคค
ลที่เกี่ยวข้อง 3 ราย ประกอบด้วย " 2 ส. และ 1 ธ." ในการรับเงิน 5% เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทางการเมือง ที่มาที่ไปของเรื่องนี้คนในพรรคพลังประชาชนออกมาปล่อยข่าว เพื่อที่จะทำลายความชอบธรรมของนายสมัคร ทั้งนี้บริษัทญี่ปุ่นดังกล่าว มีความสนิทสนมกับบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่ใกล้ชิดกับนักการเมืองในกลุ่ม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

นายไทกร ระบุว่า เจตนาการออกมาเปิดเผยดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการเข้ามายึดอำนาจนายสมัครได้อย่างสมเหตุสมผล เพราะขณะนี้“นายใหญ่”ได้มีใบสั่งชัดเจนไม่ต้องการให้นายสมัครนั่งเก้าอี้นายกฯต่อไป ขบวนการปล่อยข่าวจึงเปิดเผยออกมาและพุ่งเป้าสู่ตัวนายสมัครเป็นส่วนใหญ่ และขณะนี้มีความพยามต้องการปฏิวัติยึดอำนาจเกิดขึ้น โดยเงื่อนไขที่ชัดเจนคือ การฟื้นโทรทัศน์พีทีวีขึ้นมาเพื่อปุกระดมมวลชน และส.ส.ในพื้นที่ให้มาปะทะกับกลุ่มพันธมิตร ให้เห็นว่าเกิดความวุ่นวาย จะได้ถือเป็นเงื่อนไขในการปฏิวัติของทหาร

ทั้งนี้ไม่ว่าฝ่ายใดเข้าทำการปฏิวัติก็ตามผลประโยชน์จะตกอยู่กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เพราะเขาจะใช้เป็นหนทางลี้ภัยทางการเมือง โดยหวังให้คดีความต่างๆ ที่กำลังดำเนินการยุติลง และอ้างว่าคดีความต่างๆไม่ชอบธรรม

ย้อนรอยโครงการฉาว
               
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแสนแสบ (คลองลาดพร้าว-สถานีสูบน้ำพระโขนง) มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท กทม.ได้เปิดประกวดราคาโครงการ เมื่อ ก.ค.2546 สมัยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีคุณหญิงณัษฐนนท์ ทวีสิน เป็นปลัดกทม. โดยในขณะนั้น กทม.มีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บางกะปิ คลองสามวา และมีนบุรี
 
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำลงสู่คลองแสนแสบให้รวดเร็วจึงมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร ยาว 5.3 กิโลเมตร โดยกิจการร่วมค้า ไอเอ็น (บริษัทมหาชนจำกัด อิตาเลียนไทย และนิชิมัตซึ คอนสตรัคชั่น ) เป็นผู้ชนะการประมูลโดยเสนอราคาต่ำสุดที่ 2,115,134,912 บาท โดยโครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว เริ่มต้นโครงการจากบึงพระราม 9 และสิ้นสุดโครงการที่สถานีสูบน้ำพระโขนง รวมระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวคืบหน้าไปแล้ว 75% และกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมปีนี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ จากบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด และคณะ ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอเข้าประกวดราคาโครงการนี้แต่ไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค ได้ร้องเรียนไปยังศาลปกครองว่าการประกวดราคาครั้งนี้ไม่โปร่งใสแต่ทางศาลปกครองได้พิจารณาชี้ขาดว่าไม่มีการล็อกสเปกโครงการดังกล่าวแต่อย่างใดจึงทำให้โครงการเดินหน้าต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ทางการญี่ปุ่นเข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็เป็นเพราะทราบข่าวที่บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) ได้ฟ้องร้องจนเป็นข่าวคึกโครม ซึ่งทำให้บริษัทนิชิมัตสึของญี่ปุ่นเสียหาย ทางการญี่ปุ่นจึงได้เข้ามาตรวจสอบจนทำให้มีการเปิดเผยการจ่ายสินบนให้กับบิ๊ก กทม.
กำลังโหลดความคิดเห็น