ปลัด กทม.เผย 14 ก.ค.นี้ ข้อมูลสินบนอุโมงค์ระบายน้ำ 125 ล้าน ถึงมือ ยันจะยังไม่ไปร้องทุกข์ที่ดีเอสไอ จนกว่าจะได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด ด้านกรรมการพิจารณาการประมูล ระบุ ทุกขั้นตอนโปร่งใส ศาลรับรองได้ ระบุหากโดนก็ถือว่าซวย
นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยความคืบหน้าการรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ กทม.เพื่อให้ได้รับงานโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-คลองลาดพร้าว ของสำนักการระบายน้ำ (สนน.) เป็นเงิน 400 ล้านเยน หรือกว่า 125 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจาก นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผอ.สนน.ซึ่งได้รับมอบหมายให้รวบรวมข้อมูลโครงการทั้งหมด ว่า โดยข้อมูลทุกอย่างจะส่งถึงมือตนในวันจันทร์ที่ 14 ก.ค.นี้ โดยข้อมูลจะเริ่มตั้งแต่ที่มาที่ไปของโครงการ ขั้นตอนการประกวดราคา การพิจารณาผลการประกวดราคา
ขณะเดียวกัน ต้องรอให้สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ประสาน กลับมายัง กทม.หลังจากที่ตนได้ทำหนังสือให้ช่วยประสานหน่วยงานภายในญี่ปุ่น ประกอบด้วย บริษัท นิชิมัตซึ สำนักข่าวญี่ปุ่น และอัยการกรุงโตเกียว เพื่อขอข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเท่าที่จะสามารถให้ได้ จากนั้นจึงจะนำข้อมูลทั้งสองส่วนมาประมวลข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอให้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม.พิจารณาอีกครั้ง
นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเจ้าหน้าที่มาประสานเพื่อขอเข้ามาพิจารณาข้อเท็จจริงนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ร้องขอให้ กทม.ช่วยส่งข้อมูลโครงการไปให้ ดังนั้น จึงต้องรอให้มีการประสานมาอีกครั้งก่อนจึงจะดำเนินการจัดส่งไปให้ ส่วนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมที่จะรับเข้าเป็นคดีพิเศษ แต่เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 ก่อนกฎหมายสอบสวนคดีพิเศษมีผลบังคับใช้ ต้องมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น ในส่วนของ กทม.คงยังไม่ดำเนินการถึงขั้นเป็นฝ่ายร้องทุกข์กล่าวโทษขนาดนั้น เพราะเบื้องต้น กทม.ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงให้ได้ครบถ้วนก่อน
ด้าน นายพรพจน์ กรรณสูต รอง ผอ.สนน เปิดเผยว่า ตนเองในฐานะ 1 ในคณะกรรมการพิจารณาการประมูล ขอยืนยันว่าการพิจารณาเป็นไปด้วยความโปร่งใส และผ่านการตรวจสอบเรียบแล้วจากกระบวนการของศาลปกครอง เนื่องจากเรื่องนี้ บ.สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองและท้ายที่สุดทางศาลปกครองได้พิจารณาให้ กทม.ชนะคดี ซึ่งเท่ากับว่าการประมูลโครงการดังกล่าวมีความโปร่งใส ซึ่งในการฟ้องร้องครั้งนั้น ทาง บ.สี่แสงฯ ได้กล่าวอ้างว่านามสกุลของตนพ้องกับผู้บริหารของบริษัทที่เข้าร่วมประมูล คือ นายพลพัฒ กรรณสูต กรรมการผู้มีอำนาจ และ นายมานะ กรรณสูต กรรมการของ บ.นวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และ นายพลพัฒ ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นของ บ.อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้ากับบริษัท นิชิมัตซึ ที่ประมูลงานโครงการจาก กทม.ด้วย ซึ่งตนเองขอยืนยันอีกครั้งว่า ตนไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้บริหารทั้ง 2 ราย ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว ไม่เคยไปนับญาติ รวมถึงเรื่องงานก็ไม่เคยติดต่อกันเพราะโดยปรกติแล้วผู้ที่มาติดจะส่งลูกน้องมามากกว่าที่จะมาด้วยตัวเอง
“ช่วงที่ บ.สี่แสงฯ ไปฟ้องต่อศาลปกครองทางคณะกรรมการ ก็คิดมากเหมือนกันว่าถ้าทำจะมีปัญหาไหม แต่ว่าทางคณะกรรมการก็ได้พิจารณาเดินหน้าต่อ เพราะเราดำเนินการตามกฎเกณฑ์ทุกขั้นตอน และในที่สุด ศาลก็พิพากษาให้เราชนะ ส่วนเรื่องที่มีการจ่ายการรับสินบนจากเอกชนเพื่อให้ได้งานนั้น ผมก็ไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนเลย ตัวผมเป็นเพียงคณะกรรมการพิจารณาการประมูลก็ทำไปตามหน้าที่ให้คะแนนตามข้อดีข้อเสียของแต่ละบริษัทที่เสนอแบบมา และตอนนี้ผมก็ไม่ได้เก็บเอกสารอะไรไว้ด้วย และต้องโดนตรวจสอบในเรื่องนี้ก็ถือว่าซวย” นายพรพจน์ กล่าว