xs
xsm
sm
md
lg

กทม.สั่งตรวจสอบสินบนยุ่น 125 ล. ให้เสร็จใน 7 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด กทม.สั่งตรวจสอบข้อเท็จกรณีสินบนยุ่น 125 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จใน 7 วัน พร้อมประสานทางการญี่ปุ่นขอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ “อภิรักษ์” ชี้ คอร์รัปชันฝังรากลึกในระบบการเมืองไทยมานานแล้ว ด้าน ผอ.สนน.ขอรูดซิปปาก เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเกี่ยวข้องระหว่างประเทศ ถ้าอยากรู้ข้อมูลให้ถามญี่ปุ่นเอง
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.
จากกรณีที่อดีตผู้บริหารบริษัทก่อสร้าง นิชิมัตซึ คอนสตรัคชัน (Nishimatsu Construction) ได้ให้การกับอัยการ เขตโตเกียว ว่า ในปี 2546 (ค.ศ.2003) บริษัทเคยให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ชาวไทยจำนวนมากกว่า 400 ล้านเยน หรือราว 125 ล้านบาท เพื่อแลกกับการได้งานในโครงการอุโมงค์ระบายน้ำท่วม แสนแสบ-ลาดพร้าว ซึ่งทางสำนักข่าวเกียวโด นิวส์ ได้รายงานข่าวอย่างครึกโครมนั้น

นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้ นายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัด กทม.ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยให้ดูรายละเอียดของโครงการทั้งหมดว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องที่มีการฟ้องร้องจากการประมูลโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งให้ประสานสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อขอข้อมูลจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นอกจากนี้ จะประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อช่วยดำเนินการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกทางหนึ่งทั้งกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพาณิชย์ญี่ปุ่น เพราะตอนนี้ตนเองทราบจากข่าวเท่านั้น

ด้านนายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัด กทม. กล่าวว่า ตนจะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุดโดยจะตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการ มีบุคคลใดร่วมดำเนินการในขั้นตอนใดบ้าง จนสิ้นสุดโครงการ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ทำหนังสือไปยังสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กระทรวงการพาณิชย์ประเทศญี่ปุ่น ที่ดูแลกรมศุลกากร เพื่อตรวจสอบและขอรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงๆ ต่างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งนี้ ในการตรวจสอบในส่วนของ กทม.จะใช้เวลาไม่นาน แต่ในส่วนของญี่ปุ่นต้องใช้เวลานานไม่สามารถตอบได้ว่าทางโน้นจะให้ข้อมูลกับเราได้เมื่อไหร่ เพราะต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ตรวจสอบได้ในเบื้องต้นช่วงที่มีการประมูลโครงการในปี 2546 มี นายธงชัย กลั่นกรอง เป็น ผอ.สนน.ซึ่งในขณะนั้นมีปัญหาด้านสุขภาพ จึงได้ขอลาปฏิบัติราชการ มีนายธีรเดช ตังประพฤติ์กุล นายนรา เทวคุปต์ และ นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ (ผอ.สนน ในปัจจุบัน) เป็นรอง ผอ.สนน.

ด้าน นายธีรเดช กล่าวว่า ตนในฐานะรอง ผอ.สนน.ในขณะนั้น มี นายธงชัย กลั่นกรอง เป็นผอ.สำนัก แต่เนื่อง นายธงชัย มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงขอพักราชการ ทำให้นายนรา รักษาการแทน แต่ในด้านงานเทคนิค ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้ดูแล แต่ก็ดูเฉพาะในภาพรวม แต่ในการพิจารณาผลประกวดราคา นายชาญชัย เป็นผู้รับผิดชอบไป

ขณะที่นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผอ.สนน.ในฐานะประธานพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงหงุดหงิด ว่า หากจะถามเรื่องของบริษัท นิชิมัตสึ ตนจะไม่ตอบอะไรแล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องงานในโครงการของตน ดังนั้น จะไม่ตอบอะไรทั้งสิ้น เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่อง Sensitive ของหน่วยงานระหว่างประเทศ จะพูดอะไรต้องเช็กข้อมูลอย่างชัดเจนก่อน หากอยากรู้ต้องตรวจสอบไปที่ญี่ปุ่นเอง เพราะกระบวนการตรวจสอบขณะนี้ญี่ปุ่นเขาก็ตรวจสอบของเขาเอง ก็ให้เขาว่ากันไป มันเป็นคดีของที่นั่น ทั้งนี้ ยอมรับว่า ตนเป็นประธานพิจารณาผลการประกวดราคา แต่ดูในด้านเทคนิค ซึ่งตนไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะในการพิจารณาผลขณะนั้นได้พิจารณาในด้านเทคนิคและการทำงาน กำหนดผ่านเกณฑ์ที่ 75% ทั้งนี้ ได้มีผู้ซื้อซองประกวดราคา 4-5 ราย เมื่อพิจารณาผลเห็นว่ามีผู้รับเหมาผ่านคุณสมบัติ 3 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ช.การช่าง 2.กิจการร่วมค้า ไอเอ็น (ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย และบริษัท อิชิมัตสึ คอนสตรัคชั่น) และบริษัท เนาวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด ซึ่งกิจการร่วมค้า ไอเอ็น เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด กทม.จึงได้เรียกมาต่อรองราคา

นายชาญชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากกิจการร่วมค้า ไอเอ็น ได้เริ่มดำเนินการ ปรากฏว่า บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) ซึ่งไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ศาลปกครอง ข้อหาล็อกสเปกและกีดกันการเข้าประกวดราคา และต่อมาศาลปกครองได้ตัดสินให้ กทม.ชนะคดี ซึ่งหากตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องก็พร้อมที่จะชี้แจง

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแสนแสบ (คลองลาดพร้าว-สถานีสูบน้ำพระโขนง) มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท กทม.ได้เปิดประกวดราคาโครงการ เมื่อ ก.ค.2546 สมัย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีคุณหญิงณัษฐนนท์ ทวีสิน เป็นปลัด กทม.โดยในขณะนั้น กทม.มีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บางกะปิ คลองสามวา และมีนบุรี ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำลงสู่คลองแสนแสบให้รวดเร็ว จึงมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร ยาว 5.3 กิโลเมตร โดยกิจการร่วมค้า ไอเอ็น (บริษัทมหาชนจำกัด อิตาเลียนไทย และนิชิมัสซึ คอนสตรัคชั่น ) เป็นผู้ชนะการประมูลโดยเสนอราคาต่ำสุดที่ 2,115,134,912 บาท โดยโครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว เริ่มต้นโครงการจากบึงพระราม 9 และสิ้นสุดโครงการที่สถานีสูบน้ำพระโขนง รวมระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวคืบหน้าไปแล้ว 75% และกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมปีนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ จากบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด และคณะ ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอเข้าประกวดราคาโครงการนี้แต่ไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค ได้ร้องเรียนไปยังศาลปกครอง ว่า การประกวดราคาครั้งนี้ไม่โปร่งใสแต่ทางศาลปกครองได้พิจารณาชี้ขาดว่าไม่มีการล็อกสเปกโครงการดังกล่าวแต่อย่างใดจึงทำให้โครงการเดินหน้าต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ทางการญี่ปุ่นเข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็เป็นเพราะทราบข่าวที่บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) ได้ฟ้องร้องจนเป็นข่าวคึกโครม ซึ่งทำให้บริษัทอิชิมัตสึของญี่ปุ่นเสียหาย ทางการญี่ปุ่นจึงได้เข้ามาตรวจสอบจนทำให้มีการเปิดเผยการจ่ายสินบนให้กับบิ๊กข้าราชการ กทม.
กำลังโหลดความคิดเห็น