ผู้จัดการออนไลน์ – อดีตผู้บริหารบริษัทรับเหมาก่อสร้างญี่ปุ่น "นิชิมัตซึ" สารภาพกับอัยการโตเกียว เคยจ่ายสินบนกว่า 400 ล้านเยนให้กับ กทม. เพื่อให้ได้โครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวในปี 2546 สมัยที่สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. และ สหัส บัณฑิตกุล เป็นรองผู้ว่าฯ
เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวเกียวโด นิวส์ ได้เผยแพร่รายงานข่าวระบุว่า อดีตผู้บริหารบริษัทก่อสร้าง นิชิมัตซึ คอนสตรัคชัน (Nishimatsu Construction) ได้เปิดเผยกับอัยการว่า ในปี 2546 (ค.ศ.2003) บริษัทเคยให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ชาวไทยจำนวนมากกว่า 400 ล้านเยน หรือราว 125 ล้านบาท เพื่อแลกกับการได้งานในโครงการอุโมงค์ระบายน้ำท่วม แสนแสบ-ลาดพร้าว โดยรายละเอียดของข่าวมีดังนี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า อดีตผู้บริหารของนิชิมัตซึ คอนสตรัคชัน ถูกสอบสวนโดยสำนักงานอัยการเขตโตเกียว กรณีต้องสงสัยว่าฝ่าฝืนกฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศโดยมีการนำเงินราว 100 ล้านเยนเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รายงานกับศุลกากร
นอกจากนี้ ด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างนิชิมัตซึ คอนสตรัคชัน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โตเกียว กับผู้รับเหมาท้องถิ่น ยังทำให้ในเดือนกันยายน 2546 บริษัทยังได้รับสัมปทานโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำให้ของทางกรุงเทพมหานคร โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าราว 6,000 ล้านเยน
หลังจากทำการปรึกษากับผู้บริหารของบริษัทรับเหมาของไทยที่เป็นคู่ค้ากัน พนักงานของนิชิมัตซึที่อยู่ที่ประเทศไทยเป็นผู้เตรียมเงินสินบนแหล่งข่าวกล่าว โดยเงินสินบนดังกล่าวถูกนำไปจ่ายให้กับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการประมูลโครงการในช่วงก่อนและหลังการประมูล
ผู้บริหารของบริษัท นิชิมัตซึ คนดังกล่าวยังกล่าวอ้างด้วยว่า ตัวเขาเองไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร แต่ยืนยันว่า “เพื่อตอบแทนในการให้โครงการก่อสร้างอุโมงค์ บริษัทได้จ่ายเงินมากกว่า 400 ล้านเยนให้กับข้าราชการไทย” แหล่งข่าวระบุ
“เงินค่าดำเนินการ (สินบน) ดังกล่าวจำเป็นอย่างมากเพื่อที่จะทำให้ได้โครงการจากหน่วยงานภาครัฐของไทย” เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัยการได้ทำการตรวจสอบสำนักงานใหญ่ของนิชิมัตซึในตำบลมินาโตะ ในกรุงโตเกียว ที่มีความเกี่ยวพันกับอดีตผู้บริหารของบริษัทที่ต้องสงสัยว่าละเมิดกฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยอัยการสงสัยว่าเงินจำนวน 100 ล้านเยนที่เขานำเข้ามาในญี่ปุ่นนั้นเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว
นอกจากกรณีข้างต้นแล้ว อัยการโตเกียวจะดำเนินการสืบสวนกรณีบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ชื่อ แปซิฟิก คอนซัลแตนท์ส อินเตอร์เนชันแนล (Pacific Consultants International) ที่ต้องสงสัยว่าจะทำการติดสินบนกับโครงการในประเทศเวียดนาม โดยโครงการดังกล่าวนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น
อ่านเพิ่มเติม : Tokyo contractor allegedly bribed Thai officials จากเว็บไซต์ The Japan Times Online
สำหรับ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั้น เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระหว่าง พ.ศ.2543-2547 นายสหัส บัณฑิตกุล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นรองผู้ว่าฯ ขณะที่ปลัดกรุงเทพมหานคร คือ นางณฐนนท ทวีสิน
ย้อนรอยโครงการอุโมงค์ส่งน้ำแสนแสบ-ลาดพร้าว
การประกาศผลการประกวดราคาโครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ซึ่งมีนายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 มีรายละเอียดดังนี้ คือ
มีการยื่นซองการประกวดราคาจากบริษัทที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค 3 บริษัท ทั้งนี้ กิจการร่วมค้าไอเอ็น หรือ บริษัทมหาชนจำกัด อิตาเลียนไทย และนิชิมัตซึ เป็นบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดในการก่อสร้างโครงการนี้ โดยเสนอที่ราคา 2,115,134,912 บาท ขณะที่ บริษัท ช.การช่าง จำกัดเสนอราคา 2,150,868,846 บาท และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด เสนอราคา 2,238,994,474 บาท
จากนั้นประธานคณะกรรมการฯ ได้ใช้เวลาเจรจาต่อรองกับผู้แทนกิจการร่วมค้าไอเอ็นเพื่อให้ลดราคาลง โดย กทม.ขอต่อราคาลง 49 ล้านบาท เพราะเห็นว่าบริษัทน่าจะไปลดราคา ในส่วนของปั๊มน้ำลงได้อีก แต่กิจการร่วมค้าไอเอ็นไม่ยอม หลังจากใช้เวลาต่อรองกันนานถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง กิจการร่วมค้าไอเอ็นตกลงยอมลดให้ 20 ล้านบาท เหลือที่ ราคา 2,094,995,500 บาท (อ่านข่าว : กทม.เปิดซองให้ “ไอเอ็น” รับเหมาสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแสนแสบ-ลาดพร้าว (4 ก.ค. 2546) )
สำหรับ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าวนี้ เป็นโครงการแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม ลาดพร้าว สวนหลวง และสะพานสูง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 150 ตารางกิโลเมตร โดยเป็นโครงการส่งน้ำจากพื้นที่ข้างต้นซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลให้ระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้รวดเร็ว ทั้งนี้ หากผู้ว่าฯ กทม.อนุมัติลงนามว่าจ้างกิจการร่วมค้าฯ ดำเนินการก็สามารถเริ่มก่อสร้างได้ทันที โดยระยะเวลาก่อสร้าง โครงการ 1,440 วัน ใช้งบประมาณ กทม.ปี 2544-2549
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศผลการประกวดราคาโครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และลาดพร้าว ได้ถูกร้องเรียนจากบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด และคณะ ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอเข้าประกวดราคาโครงการนี้แต่ไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค ว่าการประกวดราคาครั้งนี้ไม่โปร่งใส