xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ไม่พบพิรุธสินบน 125 ล.อุโมงค์แสนแสบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพข่าวจากอินเทอร์เนต นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่ากทม. เดินทางไปตรวจงานอุโมงค์ระบายน้ำพร้อมทั้งดูแปลนแบบอุโมงค์
ผู้ว่าฯ “อภิรักษ์” ควงทีมผู้บริหาร กทม.แถลงข่าว เผยหลังสอบกรณี บ.ยุ่น ระบุ กทม.สมัย “หมัก” งาบสินบนอุโมงค์แสนแสบ 125 ล. ปรากฏไม่พบพิรุธแต่อย่างไร พร้อมส่งเรื่องชี้แจง ป.ป.ช.-กรรมาธิการ ป.ป.ช.รัฐสภา บ่ายนี้ แต่จะฟ้องกลับหรือไม่ต้องพิจารณาอีกครั้ง

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม. และนายสมศักดิ์ กลั่นเพชร รองปลัด กทม. ร่วมแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากที่สำนักข่าวเกียวโด นิวส์ ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ข่าวอดีตผู้บริหารนิชิมัตสึ คอนสตรัคชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ให้สินบนข้าราชการไทย จำนวน125 ล้านบาท เพื่อให้ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-ลาดพร้าว ของกทม. โดยนายอภิรักษ์ กล่าวว่า หลังจากครบ 7 วัน ที่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการดังกล่าวซึ่งปลัดกทม.ได้ส่งข้อมูลผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ตนเมื่อวานนี้ และตนจะได้นำข้อมูลดังกล่าวมอบให้กับสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันนี้พร้อมกับการไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ซึ่งตนได้มอบหมายให้ปลัดกทม.ไปชี้แจงแทนตน รวมถึงมอบให้ปลัดกทม.และสำนักการระบาย(สนน.) เจ้าของโครงการ ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ด้วยเช่นกัน

นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการประสานไปทางญี่ปุ่นเพื่อขอข้อมูลการจ่ายสินบนนั้น กทม. ได้ทำหนังสือไปถึงสถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอข้อมูล ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลส่งกลับมาแต่อย่างใด และตนก็ไม่ทราบว่าทางญี่ปุ่นจะส่งมาให้วันไหน ซึ่งหากทางสถานทูตญี่ปุ่นได้ส่งข้อมูลมาก็คงต้องตรวจสอบ และส่งให้กับ ป.ป.ช.ต่อไป ส่วนการประสานไปยังบ.นิชิมัตสึ ประเทศไทยนั้น ทางบริษัทได้แจ้งกลับมาว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำนั้นจะเดินหน้าต่อไปซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งในชั้นนี้เป็นข้อมูลทั้งหมดที่ กทม. ตรวจสอบ ตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เชื่อหรือไม่ว่ามีการเรียกรับสินบน นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวคงให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวไม่ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง แต่ถ้าหากมีจริงก็ต้องเข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบอย่างจริงจังต่อไปซึ่งเห็นว่าป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวบุคคลได้ดีกว่ากทม.แต่ถ้าไม่มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงเรื่องนี้ก็ทำให้กทม.เสียหาย ทั้งนี้ตนยอมรับว่าการทำงานที่ผ่านมา มีเรื่องการต่อสู้ในทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตโครงการต่างๆ ซึ่งตนก็ได้ย้ำกับคณะผู้บริหารว่าต้องชี้แจงให้เป็นที่ปรากฏ และสร้างระบบการตรวจสอบให้เกิดความมั่นใจ แม้ว่าหลายเรื่องจะเป็นเรื่องที่เกิดมาในอดีต แต่ทางกทม.จะไม่ปัดความรับผิดชอบอยู่แล้ว และจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่าจะมีการฟ้องร้องหรือไม่หากเรื่องดังกล่าวไม่เป็นจริง นายอภิรักษ์ กล่าวว่า คงต้องรอให้กระบวนการตรวจสอบยุติก่อน หลังจากนั้นก็จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในชั้นนี้อยากให้ผู้สื่อข่าวได้ติดตามกระบวนการเรื่องข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางญี่ปุ่น ซึ่งก็จะมีความสำคัญ หรือแม้แต่หลังการสอบสวนของ ป.ป.ช. ก็น่าจะทำให้เกิดความคืบหน้าในโครงการนี้

ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการรับสินบนครั้งนี้เป็นการโกงอย่างมืออาชีพ นายอภิรักษ์ ให้ความเห็นว่า กล่าวว่า คงให้ความเห็นเห็นไม่ได้และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งป.ป.ช. ,คณะกรรมาธิการป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฏร ที่จะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

ด้านนายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวว่า ขั้นตอนนี้เป็นการรวบรวมตัวโครงการทั้งหมดเสนอผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งเป็นขั้นตอนการปฏิบัติงานตามระเบียบ อาทิ การประกวดราคา การตั้งคณะกรรมการ การยื่นซอง และการร้องคัดค้าน ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการฟ้องร้องโดยบริษัท สี่แสงการโยธา(1979) จำกัด ซึ่งศาลก็ตัดสินให้ กทม. เป็นผู้ชนะคดี ฉะนั้นเรื่องนี้เบื้องต้นยังไม่พบเรื่องที่น่าสงสัยหรือเป็นเหตุที่จะนำไปสู่ประเด็นการเรียกรับสินบนที่เคยเสนอเป็นข่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ยังต้องรอข้อมูลข้อเท็จจริงจากทางสถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศเพื่อมาประกอบข้อมูลเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนข้อมูลที่รวบรวมเบื้องต้นจะส่งให้กับ ป.ป.ช. ต่อไป

สำหรับเอกสารโครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-คลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่กทม.ได้สรุปแจกจ่ายให้สื่อมวลชน มีรายละเอียดโดยสังเขปโดยเริ่มตั้งแต่ความเป็นมาของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกทม. ในพื้นที่น้ำท่วมเขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม ลาดพร้าว สวนหลวง สะพานสูงครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกทม.ได้อนุมัติให้สำนักการระบายน้ำ ดำเนินการจ้างเหมาโดยวิธีประกวดราคา ตามบันทึก กท 5012/6876 วันที่ 26 ก.พ.2546 วงเงิน 2,178,000,000 บาท และมีคำสั่งที่ กท 5012/354 แต่งตั้งคณะกรรมการประมาณราคากลาง และได้กำหนดราคากลางเสร็จเรียบร้อยเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,166,000,000 บาท

โดยการประกวดราคาเป็นไปตามข้อบัญญัติกทม. เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538 กำหนดให้มีการยื่นซองประกวดราคาแยกเป็น 2 ซอง คือข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านราคา โดยคณะกรรมการพิจารณาผลได้พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน จากนั้นจึงเปิดซองข้อเสนอด้านราคาเฉพาะรายที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอด้านเทคนิคเท่านั้น ซึ่งกทม.เปิดให้มีการยื่นซองประกวดราคา ในวันที่ 19 พ.ค.2546 มีผู้สนใจมายื่นเสนอซองประกวดราคา 5 ราย คือ บริษัทสี่แสงการโยธา(1979) จำกัด, บริษัท ช.การช่าง จำกัด, หจก.สามประสิทธิ์, กิจการร่วมค้า ไอ.เอ็น.(บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด กับบริษัท นิชิมัตสุ คอนสตรัคชั่น จำกัด) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด ซึ่งภายหลังการพิจารณา คณะกรรมการได้ประกาศผลข้อเสนอด้านเทคนิคและเปิดซองข้อเสนอด้านราคา วันที่ 26 มิ.ย.2546 ปรากฏว่ามีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก 3 บริษัท คือ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด เสนอราคา 2,238,995,223 บาท กิจการร่วมค้า ไอ.เอ็น 2,115,134,912 บาท และบริษัท ช.การช่าง จำกัด 2,150,868,846 บาท ขณะที่บริษัท สี่แสงการโยธา(1979) จำกัดและหจก.สามประสิทธิ์ คะแนนรวมไม่ถึง 70% จึงไม่ผ่านเกณฑ์

ซึ่งปรากฎว่าข้อเสนอของกิจการร่วมค้า ไอ.เอ็น เสนอราคาต่ำสุด คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ได้เชิญตัวแทนบริษัทมาเจรจาต่อรองราคา เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2546 และลดราคาเหลือ 2,094,995,800 บาท (ลดราคาลง 20,139,112 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลางของกทม.เป็นเงิน 71,004,200 บาท กทม.จึงได้อนุมัติจ้างกิจการร่วมค้า ไอ.เอ็น ตามสัญญา 119/2546 ลงวันที่ 22 ก.ค.2546 สิ้นสุดสัญญา 1 ก.ค.2550 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,440 วัน

อย่างไรก็ตาม สำนักการระบายน้ำ ได้เสนอขออนุมัติแก้ไขสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ เนื่องจากการแก้ไขรูปแบบของสถานีสูบน้ำให้เป็นระบบ Siphon และงานที่เกี่ยวข้องและวงเงินค่าจ้างเหมาลดลง 84,342 บาท รวมทั้งได้เสนอขอความเห็นชอบในหลักการและขออนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายละเอียดและเพิ่มวงเงินโครงการก่อสร้าง โดยเพิ่มสถานีไฟฟ้าย่อยขนาด 69 KV และปรับปรุงสายป้อน 24 KV ตามข้อเสนอของการไฟฟ้านครหลวง โดยเพิ่มเงินค่าก่อสร้างอีก 241,783,000

ทั้งนี้บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด ได้ฟ้องร้องกรุงเทพมหานครต่อศาลปกครองกลาง 3 คดี โดย คดีแรกฟ้องเมื่อวัยที่ 3 กรกฎาคม 2546 คดีหมายเลขดำที่ 953/2546 กล่าวหาว่ากำหนดเงื่อนไขการประกวดราคาเกี่ยวกับข้อเสนอด้านเทคนิคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้บริหารของผู้ประกวดราคารายอื่น พร้อมขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่มีคำสั่งว่าผู้ฟ้องคดีไม่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคให้พิจารณาซองข้อเสนอราคาของผู้ฟ้องคดีและให้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทสี่แสงการโยธาฯ ซึ่งคดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 คดีหมายเลขแดง ที่ 907 / 2546 ว่า มติของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ที่ไม่ให้บริษัทฯ ผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิค เป็นคำสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคำสั่ง ของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวด ราคาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาไม่พิจารณาข้อเสนอด้านราคาของบริษัทฯ จึงเป็นการกรทำที่ชอบตามข้อ 51 ของข้อบัญญัติกรุงเทแพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538

ส่วนอีก 2 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ 992/2546 ฟ้องเทื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 และคดีหมายเลขดำ ที่ 1135/2564 ฟ้องเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2546 โดยมีคำฟ้องและคำขอเช่นเดียวกันกับคดีที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจารสารบบความ
กำลังโหลดความคิดเห็น