ปลัด กทม.เผย 14 ก.ค.นี้ ข้อมูลสินบนอุโมงค์ระบายน้ำ 125 ล้าน ถึงมือ ยันจะยังไม่ไปร้องทุกข์ที่ดีเอสไอจนกว่าจะได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด ด้าน “ชาญชัย” ของขึ้น ถ้าสันดานเสียคงไม่ต่อราคาให้ กทม.ได้ประโยชน์ ด้านกรรมการพิจารณาการประมูล ระบุ ทุกขั้นตอนโปร่งใส ไม่เช่นนั้นศาลคงไม่รับรอง ส่วนชมรมข้าราชการและลูกจ้างเพื่อการพัฒนา กทม.ทำหนังสือด่วนถึงปลัดกทม.เร่งตรวจสอบสินบนข้ามชาติ
นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยความคืบหน้าการรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ กทม.เพื่อให้ได้รับงานโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-คลองลาดพร้าว ของสำนักการระบายน้ำ (สนน.) เป็นเงิน 400 ล้านเยน หรือกว่า 125 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจาก นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผอ.สนน.ซึ่งได้รับมอบหมายให้รวบรวมข้อมูลโครงการทั้งหมดว่าโดยข้อมูลทุกอย่างจะส่งถึงมือตนในวันจันทร์ที่ 14 ก.ค.นี้ โดยข้อมูลจะเริ่มตั้งแต่ที่มาที่ไปของโครงการ ขั้นตอนการประกวดราคา การพิจารณาผลการประกวดราคา
ขณะเดียวกัน ต้องรอให้สถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ประสานกลับมายัง กทม.หลังจากที่ตนได้ทำหนังสือให้ช่วยประสานหน่วยงานภายในญี่ปุ่น ประกอบด้วยบริษัท นิชิมัตซึ สำนักข่าวญี่ปุ่น และอัยการกรุงโตเกียว เพื่อขอข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเท่าที่จะสามารถให้ได้ จากนั้นจึงจะนำข้อมูลทั้งสองส่วนมาประมวลข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอให้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม.พิจารณาอีกครั้ง
นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งเจ้าหน้าที่มาประสานเพื่อขอเข้ามาพิจารณาข้อเท็จจริงนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ร้องขอให้ กทม.ช่วยส่งข้อมูลโครงการไปให้ ดังนั้น จึงต้องรอให้มีการประสานมาอีกครั้งก่อนจึงจะดำเนินการจัดส่งไปให้ ส่วนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมที่จะรับเข้าเป็นคดีพิเศษ แต่เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 ก่อนกฎหมายสอบสวนคดีพิเศษมีผลบังคับใช้ ต้องมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น ในส่วนของ กทม.คงยังไม่ดำเนินการถึงขั้นเป็นฝ่ายร้องทุกข์กล่าวโทษขนาดนั้น เพราะเบื้องต้น กทม.ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงให้ได้ครบถ้วนก่อน
นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผอ.สนน.กล่าวถึงกรณีที่ถูกบุคคลจากหลายฝ่ายสงสัยว่าอาจมีส่วนรู้เห็นกรณีรับสินบนจำนวน 125 ล้านบาท ว่า ถ้าหากกรรมการมีสันดานที่จะรับสินบนจริง คงไม่ต้องต่อรองราคาที่กิจการร่วมค้าไอเอ็น ระหว่างบริษัทอิตาเลี่ยนไทยและบริษัทนิชิมัตสึ คอนสตรัคชั่น ประจำเทศญี่ปุ่น ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางอยู่แล้ว ให้ต่ำลงไปอีกจนเหลือแค่ 2,094 ล้านบาท จากราคากลางกว่า 2,178 ล้านบาททำไม ซึ่งกว่าจะต่อรองได้ต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง
ส่วนที่สงสัยว่ามีการล็อกสเปก โดยการเปลี่ยนแบบก่อสร้างเดิมที่ออกแบบไว้ที่ท่อระบายน้ำจำนวน 2 ท่อ ท่อละ 2.5 เมตร เป็นท่อเดียว ขนาด 5 เมตรนั้น ตนไม่ทราบ และไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องภายในที่ทางการช่าง ที่มีนายธีรเดช ตังประพฤทธิ์กุล รองผอ.สำนักการระบายน้ำ ยุคนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่า กทม. เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนตนทำหน้าที่เปิดซองด้านเทคนิค และซองราคาเท่านั้น เพราะตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุ พ.ศ.2535 ระบุไว้ ข้อ 50 และ 51 เท่านั้น ทั้งนี้ข้อมูลที่รวบรวมได้ตนได้จัดส่งให้กับ นายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัด กทม.ในวันนี้แล้ว
“ผมรู้ว่านักข่าวตอนนี้จ้องมาที่ผม แทนที่จะไปจ้องว่าทางการญี่ปุ่นเขาว่าได้ให้สินบนกับใคร แต่กลับพุ่งเป้ามาที่ผมก็เชิญผมไม่หนักใจ และพร้อมที่จะชี้แจง เนื่องจากว่าคงมีผมคนเดียวที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ยังทำงาน และมีชีวิต ส่วนนอกนั้นต่างก็เกษียณ และตายไปหมดแล้ว ซึ่งผมก็ขอความเป็นธรรมกับสื่อที่จะให้ผมได้ชี้แจงในข้อเท็จจริงด้วย งานนี้หากมีการฮั้ว หรือ สมยอมกัน ราคาที่ว่าจ้างกิจการร่วมค้าไอเอ็น ก็จะสูงกว่าราคากลางมากกว่านี้” นายชาญชัย กล่าว
ด้าน นายพรพจน์ กรรณสูต รอง ผอ.สนน เปิดเผยว่า ตนเองในฐานะ 1 ในคณะกรรมการพิจารณาการประมูล ขอยืนยันว่าการพิจารณาเป็นไปด้วยความโปร่งใส และผ่านการตรวจสอบเรียบแล้วจากกระบวนการของศาลปกครอง เนื่องจากเรื่องนี้ บ.สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองและท้ายที่สุดทางศาลปกครองได้พิจารณาให้ กทม.ชนะคดี ซึ่งเท่ากับว่าการประมูลโครงการดังกล่าวมีความโปร่งใส ซึ่งในการฟ้องร้องครั้งนั้น ทาง บ.สี่แสงฯ ได้กล่าวอ้างว่านามสกุลของตนพ้องกับผู้บริหารของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลคือ นายพลพัฒ กรรณสูต กรรมการผู้มีอำนาจ และนายมานะ กรรณสูต กรรมการของบ.นวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และ นายพลพัฒ ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นของบ.อิตาเลี่ยนไทย ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้ากับบริษัท นิชิมัตสึที่ประมูลงานโครงการจากกทม.ด้วย ซึ่งตนเองขอยืนยันอีกครั้ง ว่า ตนไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้บริหารทั้ง 2 ราย ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว ไม่เคยไปนับญาติ รวมถึงเรื่องงานก็ไม่เคยติดต่อกันเพราะโดยปรกติแล้วผู้ที่มาติดจะส่งลูกน้องมามากกว่าที่จะมาด้วยตัวเอง
“ช่วงที่ บ.สี่แสงฯ ไปฟ้องต่อศาลปกครองทางคณะกรรมการฯก็คิดมากเหมือนกันว่าถ้าทำจะมีปัญหาไหม แต่ว่าทางคณะกรรมการก็ได้พิจารณาเดินหน้าต่อเพราะเราดำเนินการตามกฎเกณฑ์ทุกขั้นตอนและในที่สุดศาลก็พอพากษาให้เราชนะ ส่วนเรื่องที่มีการจ่ายการรับสินบนจากเอกชนเพื่อให้ได้งานนั้น ผมก็ไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนเลย ตัวผมเป็นเพียงคณะกรรมการพิจารณาการประมูลก็ทำไปตามหน้าที่ให้คะแนนตามข้อดีข้อเสียของแต่ละบริษัทที่เสนอแบบมาและตอนนี้ผมก็ไม่ได้เก็บเอกสารอะไรไว้ด้วย และต้องโดนตรวจสอบในเรื่องนี้ก็ถือว่าซวย” นายพรพจน์ กล่าว
ขณะที่ นายอภิชาต หาลำเจียก ส.ก.เขตดินแดง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนเป็นห่วงองค์กร กทม.ที่มีข่าวคึกโครมไปทั่วโลก เรื่องการรับสินบน ดังนั้นในฐานะที่เป็นฝ่ายตรวจสอบจึงอยากให้ผู้บริหาร กทม. ซึ่งมาจากพรรค ปชป.ด้วยกันเข้มงวดตรวจสอบเกี่ยวกับการประมูลต่างๆ เนื่องจากขณะนี้หลายหน่วยงานอาจจะเร่งรัดเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณให้ทันก่อนวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งจะสิ้นปีงบประมาณ 2551 โดยสำนักที่เป็นห่วงที่สุด คือสำนักการโยธา(สนย.) ซึ่งเป็นสำนักที่ต้องใช้งบก่อสร้างโครงการต่างๆ จำนวนหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอุโมงค์ ถนน สะพาน 16 โครงการ รวมมูลค่า 20,000 ล้านบาทที่ต้องชะลอไปก่อนหน้านี้ ก็จะมีเร่งรัดประมูลก่อนสิ้นปีนี้เช่นกัน
และล่าสุด ก็มีเรื่องฉาวกรณีการประมูลก่อสร้างอุโมงค์แยกมไหสวรรย์ มูลค่าเกือบพันล้านบาท ที่ผู้รับเหมา 10 ราย เสนอราคาใกล้เคียงกัน โดย 7 ราย ต่างกันแค่หนึ่งสลึง ส่วนอีก 3 รายต่างกันไม่ถึงสลึง ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยทั้งนั้น กลายเป็นข้อกังขาว่ามีการฮั้วหรือไม่ แม้สำนักงานกฎหมายและคดี จะตีความว่าไม่เข้าข่ายฮั้วก็ตาม เพราะยังไม่มีผู้ได้ประโยชน์ ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัททั้งหมด เคยได้รับงานโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก 15 โครงการ เมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการประมูลงานอุโมงค์ของ กทม.
ด้าน นายพิชิต ชนะกุล หัวหน้าฝ่ายทะเบียน เขตลาดกระบัง ในฐานะรองประธานชมรมข้าราชการและลูกจ้างเพื่อการพัฒนา กทม.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ตนได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงปลัด กทม.เพื่อให้เร่งตรวจสอบคดีสินบนข้ามชาติ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังใจของข้าราชการ กทม.เท่านั้น แต่ยังสรรางความเสื่อมเสียต่อคนไทยทั่วโลก ขณะที่เร็วๆ นี้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อาจทำให้คนทั่วโลกคิดว่าผู้บริหารที่จะเข้ามาบริหารอาจแสวงหาผลประโยชน์ไม่ได้ต้องการทำงาน และจะทำให้กทม. กลายเป็นองค์กรที่มีช่องทางแสวงหาผล เนื่องจากมีงบประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ หากปลัดกทม. ได้รับข้อมูลที่ ผอ.สำนักการระบานน้ำ รายงานมาแล้ว เพื่อดำเนินการต่อไป เช่น อาจตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ตนเห็นว่า ควรตั้งคนนอกเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ ไม่ควรให้รองปลัด ที่ดูแลสำนักการระบายน้ำ ผอ.และรอง ผอ.สำนักการะบายน้ำ มาร่วมเป็นกรรมการ เพราะจะทำให้เป็นข้อกังขา
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัท สี่แสงฯ สำนักงานใหญ่ที่บริเวณ 5 แยกปากเกร็ด ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหาร ถึงกรณีการฟ้องศาลปกครอง กรณีการประมูลอุโมงค์ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำที่มีการล็อคสเปค และกีดกันการแข่งขัน ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้รับการปฏิเสธ จากพนักงานรับโทรศัพท์ของบริษัทว่า ผู้บริหารมีนโยบายห้ามไม่ให้สัมภาษณ์เนื่องจากคดีดังกล่าวมีการชี้ขาดจากศาลปกครองสูงสุดแล้ว ที่ยืนยันว่ากทม. ดำเนินการถูกต้อง และบริษัทยอมรับในการตัดสินของศาล จึงไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ทั้งนี้ในการร้องเรียนดังกล่าวบริษัทได้ร้องเรียนในประเด็นเรื่องการล็อคสเปคไม่ได้มีการ้องเรียนเรื่องสินบน และปัญหาสินบนที่ปรากฏเป็นข่าว บริษัทไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก